ปรากฏการณ์ drive A ;
วัฒนธรรมการทำข่าวที่เปลี่ยนไป
“…เห็นได้ชัดว่า วู้ดเวิร์ดกับเบิร์นสไตน์คือนักข่าวคนสำคัญที่ทำข่าววอเตอร์เกต และสำคัญมากจนเราเริ่มเรียกเขาสองคนรวมกันว่าวู้ดสไตน์ แต่คนที่มีบทบาทอยู่ในโพสต์ที่ช่วยสนับสนุนการทำข่าวเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในฐานะของบรรณาธิการอำนวยการ เบ็น จึงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่แบกรับความรับผิดชอบ เขากำหนดกฎพื้นฐานต่างๆ โดยเร่งด่วน และเร่งให้ทุกคนรุกคืบไปอีกก้าวหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด เพื่อติดตามข่าวอย่างไม่ย่อท้อ ท่ามกลางการประณามที่กระหน่ำโจมตีเราไม่เลิกรา และแผนร่วมมือกันคุกคามเราให้เกิดความกลัว …”
นี่คือฉากการทำข่าวเจาะคดีวอเตอร์เกต ฉากหนึ่งที่ “แคเธอรีน เกรแฮม” เขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “บันทึกหน้าหนึ่ง” (Personal History) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ข่าวอื้อฉาวของ วอชิงตันโพสต์ ทำให้ ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1974
อีกฉากหนึ่งเป็นบรรยากาศการทำข่าวของสื่อมวลชนไทยยุค พ.ศ. 2493 !
“...วันหนึ่งเวลาบ่าย สภาผู้แทนราษฎรได้เลิกประชุมค่อนข้างเร็วเป็นพิเศษ และมีผู้แทนราษฎรซุบซิบกันอยู่ที่เชิงบันไดสภาหินอ่อนแห่งพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกลุ่มๆ และที่สโมสรสภาที่ข้าพเจ้านั่งอยู่เป็นประจำนั้น ก็มีการจับกลุ่มซุบซิบกัน เสียงซุบซิบเหล่านั้นฟังได้ว่า นายพลเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจไทย กำลังดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อสร้างรากฐานการเมืองทางพลเรือนให้แก่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นิยมเล่นการเมืองโดยใช้กองทัพเป็นกำลังหลักมาตลอดชีวิต
....ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า บ่ายวันนั้นเป็นบ่ายที่มีอากาศดีทีเดียว แต่ดินฟ้าอากาศนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอย่างคาดไม่ถูกเหมือนกัน และก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเหตุการณ์ คือ ข่าวย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะและทุกฤดูกาลเสียด้วย นักข่าวสภาได้ทยอยกันกลับสำนัก หรือเร่ไปทางอื่น ข้าพเจ้ากับคุณชิต วิภาสธวัช และคุณทินกร บำรุงรัฐ ยังป้วนเปี้ยนอยู่ที่สภา เพื่อหาข่าว อาหารยังชีพของพวกเรา
....สมาชิกสภาคนหนึ่งได้มากระซิบว่า! วันนี้ คุณเผ่าเชิญพวกผู้แทนที่เป็นแฟนของรัฐบาลปฏิวัติรัฐธรรมนูญไปชุมนุมที่สวนอัมพร
....คำกระซิบสั้นๆ นี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข่าวใหญ่กำลังเกิดขึ้นแล้ว เราทั้ง 3 คน คิดอย่างเดียวกัน และเมื่อเป็นข่าวก็ต้องไปดูด้วยตาตัวเอง และคุณชิตและคุณทินกรซึ่งเป็นตากล้องหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่างประชาธิปไตย ก็ขึ้นรถออสตินรุ่นปู่ขับลับไป...”
....นี่คือฉากการทำข่าวของคุณพิทย์ บุณยพุทธิ เมื่อ 54 ปีที่แล้ว (จากหนังสือ “เผ่า สารภาพ” ของคุณชิต วิภาสธวัช)
ทั้งสองฉากคือบรรยากาศและสีสันในการทำข่าวที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองฉากมีความเหมือนกันตรงที่เรื่องราวดังกล่าวสามารถสะท้อนจิตวิญญาณของนักข่าวได้อย่างเปี่ยมล้นและทรงพลังยิ่งนัก
แล้วนักข่าวหนุ่มสาวในปี พ.ศ. 2547 มีฉากชีวิตแห่งการงาน ด้วยการทำข่าวที่ไหนและอย่างไร ?
**วัฒนธรรม drive A ; เบ่งบาน
เริ่มต้นที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย แต่ไม่พัฒนาอย่างเด่นชัด ห้องนักข่าวติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำข่าวครบครัน ทั้งคอมพิวเตอร์ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์สาธารณะหลายสิบเครื่อง
นักข่าวยุคใหม่มีความพร้อมในการทำงานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยอุปกรณ์เสริมมากมาย โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ โน้ตบุ๊กส่วนตัว พ็อกเกตพีซี และที่สำคัญ อุปกรณ์ในการทำข่าวจะต้องทันสมัย ใครใช้อุปกรณ์ตกรุ่นอาจกลายเป็นพวกหลุดแนว
ส่วนยุทธวิธีการทำข่าวได้พัฒนาไปสู่ระบบพูล (Pool) อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฉากของนักข่าวที่กรูกันสัมภาษณ์แหล่งข่าวโดยมีนักข่าวขาประจำเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เป็นคนยิงคำถาม จากนั้นก็แยกย้ายกันถอดเทป นักข่าวบางกลุ่ม บางคนจะเข้าสู่กระบวนการนำวัตถุดิบที่ได้พิมพ์ใส่จอคอมพิวเตอร์ โดยมีเพื่อนรุ่นพี่นั่งเล่นเกมออนไลน์เป็นกำลังใจ
เมื่อพิมพ์ข่าวเสร็จ นักข่าวกลุ่มดังกล่าวจะส่งข่าวออนไลน์ผ่านเครือข่าย hotmail หรือ yahoo เข้าไปที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ให้กับนักข่าวในสังกัดกลุ่มนั้นๆ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
วันหนึ่งๆ อาจผลิตข่าวร่วมกัน 3-4 ชิ้น แล้วก็เก็บกระเป๋าเดินออกจากทำเนียบรัฐบาล พร้อมๆ กับข้าราชการ ยกเว้นวันอังคารซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี อาจต้องผลิตข่าวมากชิ้นขึ้น
นักข่าว “รุ่นน้อง” บางคนต้องตกอยู่ใต้ “อำนาจ” ของนักข่าวรุ่นพี่ไปโดยปริยาย ด้วยการทำหน้าที่พิมพ์ข่าว “รูทีน” วันละหลายข่าว ส่งให้เกือบทุกสำนักพิมพ์ เพราะนักข่าวรุ่นพี่ “มีอำนาจW ในการเช็กข่าวเอ็กซ์คลูซีฟมากำนัล หรือตอบแทนไม่ให้ “ตกข่าว” เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น
นักข่าวรุ่นน้องที่ “ขบถ” ต่อวัฒนธรรม dirve A ไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจรุ่นพี่ รุ่นน้า อาจกลายเป็นพวกไม่มีเพื่อนในวงการ
เสร็จจากการทำข่าวร่วมกัน ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้าน หรือไปใช้ชีวิตส่วนตัวดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือบางกลุ่มอาจไปนั่งกินนั่งดื่มต่อ แล้วแต่รสนิยมของแต่ละกลุ่ม
ขณะที่บรรณาธิการข่าว หรือหัวหน้าข่าวที่นั่งอยู่ในโรงพิมพ์ บางแห่งก็มีพฤติกรรมที่แย่ไม่แพ้กัน เช่น นักข่าวที่ตัวเองส่งไปทำข่าว ยังไม่ได้ส่งข่าวเข้ามาเลย แต่หัวหน้าก๊อบปี้ข่าว Breaking News จากเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ หรือ เนชั่นออนไลน์ และ Mcot .net ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเร็ว ไปเรียบร้อยทั้งดุ้น บางทีลอกข่าวเพลิน ลืมลบคำว่า “สำนักข่าวไทย” ยังเคยปรากฏมาแล้ว
นักวิชาการที่สอนอยู่ในคณะวารสารศาสตร์ วิจารณ์ว่า “ยุคนี้ ทั้งนักข่าวและหัวหน้าข่าว ต่างมักง่ายพอกัน”
**ข่าวพูลรุ่ง...ข่าวเจาะตาย
นักข่าวอาวุโส อายุงาน 15 ปีผู้หนึ่ง กล่าวว่า เชื่อหรือไม่ว่า นักข่าวใหม่ๆ บางคนพิมพ์ข่าวกัน 6-7 แผ่น แต่ไม่รู้ว่า “ประเด็น” อยู่ตรงไหน ประเด็นอะไรใหม่ หรือประเด็นเก่า พิมพ์ใส่เข้ามาหมด การทำงานของพวกเขาเริ่มด้วยการใช้ไมค์ หรือเทปจ่อปากแหล่งข่าว เสร็จแล้วก็ถอดเทปร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ
เบื้องหลังการทำข่าวแบบอุตสาหกรรมข่าวเช่นนี้เอง ทำให้ข่าวแต่ละฉบับเหมือนกันไปหมด ชนิดที่เรียกว่าแทบทุกตัวอักษร
ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาคือ นักข่าวรุ่นใหม่เขียนข่าวไม่เป็น ภาษาข่าวไม่สละสลวย เพราะไม่ได้เขียนข่าวเอง แต่ให้เพื่อนเขียนข่าวให้ ตัวเองมีหน้าที่ฟังเทปแล้วบอกให้เพื่อนพิมพ์ข่าว
นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเคยเล่ากันว่า เมื่อก่อนในวงการนักข่าวถือเรื่องนี้กันมาก หากข่าวใดนักข่าวไม่ได้ทำเอง เขาจะไม่นำข่าวนั้นไปตีพิมพ์ในฉบับของตนเองเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการเสียศักดิ์ศรี และไม่มีความภาคภูมิใจ
เมื่อสิบปีก่อนมีเรื่องเล่าว่า นักข่าวคนหนึ่งไปสัมภาษณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่บ้านพักริมปิง จ.เชียงใหม่ หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ อาจารย์หม่อมถามว่า “จะเอาข่าวไปลงตีพิมพ์ที่ไหน” นักข่าวบอกว่า 2 ฉบับคือ ฉบับของตัวเอง และส่งข่าวให้เพื่อนด้วย 1 ฉบับ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกกับนักข่าวคนที่ไปสัมภาษณ์ว่า “อย่าไปส่งข่าวนี้ให้เพื่อนอีกสำนักพิมพ์ เพราะมันไม่ได้ทำข่าวเอง มันไม่มีสิทธิ์ได้ข่าว” พร้อมกับโทรศัพท์ไปสั่งโรงพิมพ์ของเพื่อนนักข่าวคนนั้นว่า “ห้ามลงข่าวนี้ ...เด็ดขาด”
ปรากฏการณ์ที่ใช้ระบบพูลข่าว ทำให้นักข่าวบางคนที่ไม่ได้ไปทำข่าว แต่หนังสือพิมพ์ของตนเองมีข่าวที่แหล่งข่าวพูดครบถ้วน ถูกแหล่งข่าวต่อว่า “ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์คุณสักหน่อย ...คุณเอาข่าวไปลงได้อย่างไร มันผิดจริยธรรมอย่างแรง คุณรู้มั้ย”
นี่คือภาพแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
*** “การเฝ้าข่าว”…วัฒนธรรมที่หายไป
ทุกวันนี้ไม่น่าแปลกที่นักข่าวรุ่นใหม่จะไม่รู้จักอดทน อดกลั้น รอคอยโอกาส พวกเขาไม่รู้จักการเฝ้าข่าว และที่สำคัญ วัฒนธรรมการทำข่าวเจาะสูญหายไปท่ามกลางความทันสมัยและไฮเทค
ภาพสะท้อนที่ชัดเจนเกิดขึ้นในการทำข่าววันประชุมสภา กล่าวกันว่า การทำข่าวประชุมสภาจะสะท้อนความอดทนของนักข่าวได้อย่างดีที่สุด เพราะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ จะต้องใช้เวลาประชุมยาวนาน บางครั้งต้องพิจารณาข้ามวันข้ามคืน เมื่อก่อนจะเห็นทั้งนักข่าวและช่างภาพนั่งรอข่าวกันไม่ยอมถอย
แต่ พ.ศ.นี้ ภาพการทำข่าวเช่นนั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะนักข่าวจะใช้ระบบพูล จัดคิวกันไปฟังการประชุม แล้วสลับกันลงมาพิมพ์ข่าว เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ drive A ; ถ้าข่าวผิดก็จะผิดเหมือนกันหมดทุกฉบับ
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำข่าวงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อก่อนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จะปิดห้องประชุมลับ นักข่าวเข้าไปทำข่าวไม่ได้ ต้องเจาะข่าวจากกรรมาธิการแต่ละคนที่เดินมาเข้าห้องน้ำ
แต่หลังจากประตูห้องกรรมาธิการงบประมาณเปิดกว้างให้นักข่าวเข้าไปนั่งฟังการประชุม ปรากฏว่าไม่มีนักข่าวสนใจเข้าไปทำข่าว ขนาดเอกสารงบประมาณยังไม่มีนักข่าวสนใจจะหยิบไปอ่าน เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เจาะลึกไส้ในของงบประมาณ
นักข่าวรัฐสภา ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของนักข่าวการเมืองมาเกือบ 20 ปี เล่าว่า “นักข่าวยุคนี้ทำงานสบาย บางคนมาทำงานเกือบเที่ยง หรือบ่ายโมง มาถึงสภาปั๊บก็เปิดโน้ตบุ๊ก อ่านข่าวออนไลน์ โดยเลือกอ่านข่าวกระแสเพียงไม่กี่ข่าว จากนั้นก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง โทรศัพท์เช็กแหล่งข่าว และพิมพ์ข่าวอีกชั่วโมง เป็นอันเสร็จภารกิจประจำวัน พวกนี้ใช้เวลาทำงานเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น”
***ยุคของ พี.อาร์.ภิวัตน์
เมื่อวัฒนธรรมของนักข่าวบางกลุ่ม บางคน มุ่งไปสู่ความทันสมัย แต่ไม่พัฒนา ทำให้นักข่าวเลือกอะไรที่ง่ายๆ เร็วๆ โดยไม่ต้องใช้หัวสมองคิดมากนัก ปรากฏการณ์ “มักง่าย” ทางสติปัญญา จึงกลายเป็นกระแสหลักร่วมสมัย
คนที่อ่านเกมนี้ออกและได้ประโยชน์จากเกมนี้มากที่สุด คือ นักประชาสัมพันธ์ หรือ พี.อาร์. ซึ่งหลายคนกลายพันธุ์มาจากนักข่าว หรืออดีตนักข่าว ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข่าวสาร และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักข่าวหลายสำนัก
ทุกวันนี้นักข่าวชอบ “ข่าวแจก” เพราะ พี.อาร์.ผู้ชำนาญการ ล้วนเป็นนักข่าวเก่าที่มีประสบการณ์สูงในการเลือกประเด็นข่าวที่น่าสนใจ เนื้อข่าว และพาดหัวข่าว กล่าวกันว่า พวกเขาสามารถเขียนข่าว พี.อาร์.ให้เป็นข่าวหน้า 1 ได้อย่างสบายๆ ไม่แพ้คนที่นั่งในกองบรรณาธิการ
งานของ พี.อาร์.อย่างง่ายที่สุด คือ การล็อบบี้เพื่อนๆ น้องๆ ให้ไปทำข่าว ด้วยการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว ยิ่งนักข่าวไปทำข่าวมากเท่าไร ยิ่งเป็นการเพิ่มบารมีและเพิ่ม Power ให้แก่ พี.อาร์. และแน่นอนว่า “แหล่งข่าว” ย่อมพอใจ และยินดีที่จะตอบแทน “ค่าประสานงาน” ให้แก่ พี.อาร์.ขาใหญ่เป็นตัวเลขหลายหลัก
หลายครั้ง พี.อาร์.ขาใหญ่มักจะนัดให้นักข่าวได้สัมภาษณ์พิเศษ “แหล่งข่าว” หากบทสัมภาษณ์ได้ตีพิมพ์ลงหน้า 1 ย่อมทำให้ พี.อาร์.นำไปอ้างเป็นผลงานได้อย่างสบายๆ นับว่าสมประโยชน์กันดี ระหว่าง พี.อาร์.ผู้เจนโลกกับนักข่าวผู้นิยมความมักง่าย
จากนั้น พี.อาร์.มักจะคืนกำไรให้แก่น้องๆ นักข่าว โดยการพาไปเลี้ยง พาไปร้องเพลงคาราโอเกะ
ปรากฏการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ “แหล่งข่าว” บางคนมีภาพลักษณ์ที่ดูดีเกินจริง และแหล่งข่าวพวกนี้สามารถครองพื้นที่ข่าวหน้า 1 ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เบื้องหลังซ่อนสิ่งปฏิกูลไว้มากมาย แต่เมื่อนักข่าวคุ้นเคยกับ “ข่าวแจก” มากกว่า “ข่าวเจาะ “
ปรากฏการณ์ของนักข่าวพันธุ์ใหม่ drive A ; อาจเป็นผลพวงของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่ข่าวสารที่ผู้บริโภคได้รับจากการอ่านหนังสือพิมพ์มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ ...ยังน่าสงสัย ?