สำรวจ “ต้นทุน” นักข่าวบูรณาการ

สำรวจ “ต้นทุน” นักข่าวบูรณาการ

อยาก “Upgrade”  ต้องจ่าย 5 หมื่น !

 

นับวันข้อมูลข่าวสารต่างๆ กำลังไหลบ่าท่วมถมตัวนักข่าวมากขึ้นทุกขณะ คนนั้นแถลงข่าว คนนี้ให้สัมภาษณ์ คนโน้นกำลังจะโทรศัพท์มาหา ไหนจะต้องนั่งฟังอภิปราย-สัมมนาของ “ขาประจำ” อีกไม่รู้จะกี่ขากี่คน แต่ตัวของนักข่าวไม่ว่าหญิงหรือชายก็ยังคงสองมือ สิบนิ้วเท่าเดิม แล้วมันจะไหวหรือ... ลำพังอุปกรณ์ประจำกาย ไม่ว่าปากกาหรือสมุดจด อันเป็นเครื่องมือหากินแต่โบราณ หรือเทคโนโลยีที่รู้จักกันดีอย่างเครื่องบันทึกเทป ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วย “ทุ่นแรง” ให้กับนักข่าวเท่าไหร่นัก

ไม่ต่างจากไพร่ราบทหารเลวที่ถูกเกณฑ์ ใครมีมีดมีดาบใกล้ตัว ก็คว้าฉวยติดมือตามแต่จะหาได้ หากไปเจอศัตรูที่เพียบพร้อมด้วยศาสตราวุธอันทันสมัย มีหวังได้แตกพ่ายกระจายไปคนละทิศทาง

พร้อมหรือยังที่เราจะมีเครื่องมือหากินที่ทันยุคสมัยดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมสร้างประสิทธิภาพให้เกิดเนื้องานที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องแลกด้วยเงินจำนวนมิใช่น้อย

เริ่มด้วยคำถามแรก... คุณมี “โทรศัพท์มือถือ” แล้วหรือยัง ? เพราะนี่คือปัจจัยพื้นฐานประจำชีวิตมนุษย์ไปเสียแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยใด เพศใด หรือมีอาชีพการงานใดก็ตาม  ยิ่งชีวิตนักข่าวแล้ว ถือเป็นเครื่องมือสามัญประจำกาย แม้นว่าคุณขาดปากกา ขาดสมุดจด ขาดเครื่องบันทึกเสียง แต่อาจยังทำหน้าที่ของตนได้อย่างปกติ เพียงแค่โทรศัพท์ไปหาแหล่งข่าวเพื่อพูดคุยหาประเด็น จากนั้นใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมรายงานข่าวจากความจำของเขาไปยังกองบรรณาธิการ แค่นี้ก็ได้งานหนึ่งชิ้นแล้ว แล้วยิ่งเวลานี้ราคาของมันถูกลงอย่างมาก นักข่าวใช้เงินเพียง 3,000-4,000 บาท  สำหรับเครื่องที่ใช้เพียงโทร.ออก-รับสายเข้า ก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว

แต่หากคุณเป็นนักข่าวที่ชอบพิมพ์ข่าวด้วยตัวเอง หรือขยันพิมพ์รายงานยาวๆ ที่ต้องใช้เวลาพิถีพิถันอย่างยาวนาน แน่นอนว่าเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่แต่ละหน่วยงานจัดเตรียมไว้สำหรับนักข่าวย่อมไม่เพียงพอต่อปริมาณนักข่าวอยู่แล้ว การที่ใครสักคนจะนั่งแช่พิมพ์ข่าว หรือปั้นรายงานชิ้นใหญ่เป็นวัน ๆ นั้น  อาจถูกเพื่อนนักข่าวนินทาแช่งชักหักกระดูกเอาก็ได้ หรือว่าจะรอตอนเย็นที่เครื่องคอมฯว่างก็ล่าช้าเกินไป เพราะบรรณาธิการท่านทวงข่าวยิก ประมาณว่า “ดูในโทรทัศน์ข่าวนี้ออกไปตั้งแต่เที่ยงแล้วนี่หว่า” ไอ้ครั้นจะส่ง “ข่าวพูล” ไปพร้อมกับคนอื่นเพื่อเน้นความรวดเร็ว เดี๋ยวก็จะโดนด่าอีกว่า “เหมือนผู้จัดการออนไลน์โว้ย ตกลงใครพิมพ์ ใครขอพ่วงกันแน่”

ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องหา “คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก” ไว้ประจำตัวสักเครื่อง  เพื่อให้เราได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสินค้าชิ้นนี้ก็คล้ายกับโทรศัพท์มือถือที่ราคาลดลงมากแล้ว แต่อย่างไรก็คงราคาที่หลักหมื่นอย่างเหนียวแน่น สำหรับสินค้ามือหนึ่ง โน้ตบุ๊ก “เมดอินไทยแลนด์” ราคาตกราว 36,000 บาท เรียกว่าพอจะควักกระเป๋ากันได้บ้าง  แต่หากต้องการราคาหลักพันคงต้องใช้ของมือสอง ซึ่งต้องรับความเสี่ยงเอาเอง ว่าไม่รู้มันจะเกเรเมื่อไหร่ เดี๋ยวติดเดี๋ยวดับ อ้าว...บูตไม่ขึ้นอีก อาจต้องส่งซ่อมกันทุกอาทิตย์ก็ได้ พวกเรานักข่าวประสีประสาเรื่องพวกนี้ซะเมื่อไหร่...

แต่หากนักข่าวคนไหนมีทั้งสองสิ่งพร้อมสรรพ จะเรียกความมั่นใจในการลงสนามข่าวได้มากโข

แต่หากคุณไม่ได้หยุดแค่นี้ อยากทันยุคสมัยไอที เป็นนักข่าวแบบ “บูรณาการ” (คำฮิตติดปากของทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียุคนี้)  ปรารถนาจะใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มขีดความสามารถ เพราะแม้ว่าคุณจะพกพาอุปกรณ์ประจำกายอันทันสมัยพร้อมใช้งานทุกขณะ แต่ทุกครั้งที่พิมพ์ข่าวเสร็จก็ต้องวิ่งหาสายโทรศัพท์บ้านอยู่ดี เพราะนักข่าวสมัยนี้ต้องส่งข่าวทางอีเมล์ แต่หากคนไหนที่มีภาระงานตามหัวเมือง เช่น ตามขบวนหาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง อย่าหวังเลยว่าจะเจออินเทอร์เน็ตคาเฟ่ได้ง่าย ๆ ตามข้างถนนแบบในกรุงเทพฯ  หากตัดใจใช้โปรแกรมส่งแฟกซ์จากโน้ตบุ๊ก ก็อาจถูกท่านบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าวบ่นเอาให้รำคาญใจได้ เพราะท่านขี้เกียจต้องมาพิมพ์ใหม่ให้เสียเวลา (เป็นงั้นไป)  ส่งเป็นอีเมล์มานั่นล่ะง่ายดี ก๊อบปี้เนื้อข่าวทั้งหมดปุ๊บ เอามาแปะทั้งบล็อกได้ปั๊บ...

หนทางการขจัดปัญหานี้คือทำให้ทั้งโทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊กสามารถเชื่อมต่อกัน นั่นคืออุปกรณ์ทั้งสองจะต้องมีพอร์ต “อินฟราเรด” หรือ “บลูทูธ” เป็นส่วนประกอบด้วย  หมายความว่านักข่าวบูรณาการจะต้องเพิ่มต้นทุนอีกเล็กน้อย ถ้าเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีเฉพาะอินฟราเรดตัวหนึ่งก็ราว 5,000-6,000 บาท แต่หากจะเอาบลูทูธซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า อาจจะต้องควักกระเป๋าเกือบหมื่น ส่วนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กนั้น หากใครลงทุนซื้อเครื่องแบรนด์อินเตอร์มักจะมีพอร์ตทั้งสองให้อยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็จะมีอินฟราเรดให้ แต่หมายความว่าคุณต้องทุ่มทุนในระดับ 4 หมื่นกว่าบาทขึ้นไป หรือไม่ก็ซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมมาเสียบเพิ่มกับโน้ตบุ๊กตัวเดิม ราคาจะต่างกันไปตามยี่ห้อ แต่ก็อยู่ประมาณพันกว่าบาท

สรุปแล้วการทำตัวเป็น “นักข่าวทันสมัย” อาจต้องใช้ต้นทุนที่สูงเกือบ 50,000 บาทต่อหัว (นักข่าว) เชียวนะ ใครล่ะ... จะเป็นคนจ่ายต้นทุนนี้ ? หากตัวนักข่าวเป็นคนควักกระเป๋าเองคงต้องพิจารณาสถานะทางเงินเดือนหรือโบนัสให้ดี เพราะบางคนอดข้าวอดน้ำ 2-3 เดือน ยังไม่พอจ่ายเลย หากจะทำตัวเป็น “ราชาเงินผ่อน” ก็ผ่อนกันเป็นปีๆ จนเทคโนโลยีมันตกรุ่นไปแล้วนั่นล่ะ ถึงจะหมดเวรหมดกรรม หรือจะให้นายทุนของหนังสือพิมพ์เป็นคนออกให้ บรรดาท่านทั้งหลายก็คงกุมขมับ ดีดลูกคิดว่าจะถอนหุ้นดีหรือเปล่านะ เพราะอย่างว่าล่ะ พอให้กับคนหนึ่งอีกคนหนึ่งก็ต้องอยากได้เป็นธรรมดามนุษย์ (ใช่แล้ว...นักข่าวก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน) แล้วแต่ละสำนักมีนักข่าวกี่คนล่ะ ก็คูณกันเข้าไป... นี่ขนาดไม่ต้องแบกต้นทุนค่าสัมปทานค่าประมูลคลื่นทั้งบนโต๊ะทั้งใต้โต๊ะแบบบางสื่อแล้วเชียวนะ

เอาล่ะ... สมมติว่าวินาทีนี้ทุกท่านเป็น “นักข่าวทันสมัย” มีอุปกรณ์พื้นฐานทางวิชาชีพเหล่านี้เป็นประหนึ่งอาภรณ์ประดับกายแล้ว แต่ขอโทษด้วย ว่ามันไม่ได้ช่วย “ใส่สมอง” ให้พวกท่านเลย ของอย่างหลังนี้ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคหน้า ทุ่มเงินมหาศาลขนาดไหนก็ไม่มีใครซื้อได้...

///////////////////////////