พรุ่งนี้… นกยังโผบิน / ธีรเดช เอี่ยมสำราญ



พรุ่งนี้... นกยังโผบิน

 

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมในวงการหนังสือพิมพ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นับจากยุคพิมพ์ดีดมาสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางความทันสมัย คนทำหนังสือพิมพ์ถูกวิจารณ์ว่า “ไม่พัฒนา” แถมยังทำงานหยาบลงด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยู่ภายในและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ อุดมการณ์ของคนทำหนังสือพิมพ์

5 ปีที่แล้ว “ขรรค์ชัย บุนปาน” ผู้อาวุโสในวงการหนังสือพิมพ์ เขียนถึงบทบาทของสื่อมวลชนได้อย่างลุ่มลึกและแยบคายว่า การเมืองเมืองไทยเปลี่ยนจากอำนาจเผด็จการเจือเครื่องแบบ มาสู่อำนาจท้องถิ่น อำนาจของส่วนกลาง และอำนาจข้ามชาติ

เศรษฐกิจเมืองไทยปรับตัวก้าวกระโดดตามอำนาจรัฐที่เปลี่ยนแปลง ตามกระแสโลกทุนนิยมที่คิดว่าจะได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าปราศจากกระแสอื่น แต่อาจลืมไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันกลืนกินตัวเองได้

สังคมเมืองไทยพลิกจากหลังตีนเป็นหน้ามือ แล้วก็กลับไปใต้ฝ่าตีนอีกครั้ง ตราบใดที่อุดมศึกษามิได้สอนสั่งสมความรู้ให้เต็ม ในฐานะสื่อต้องถือวัตรปฏิบัติเป็นเบื้องแรก และประการเดียวตลอดว่า ทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงภายในให้สอดคล้อง ตั้งรับหรือรุกกับสถานการณ์ตามแต่ละห้วงเวลา ถือเป็นเรื่องปกติ

มิได้หมายความถึงองค์กรของหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้เพียงฝ่ายเดียว หากหมายถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากผู้รับผิดชอบหนักข้อขึ้นด้วย

ยิ่งเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ฯลฯ ซับซ้อน สับสน พังพาบ พับเพียบ เพียงใด หน้าที่ของสื่อยิ่งต้องเป็นกระจกเงาใส สะท้อนข้อเท็จจริงให้ประชาชน คนอ่านรับรู้ และตัดสินใจต่อความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปรวดเร็วเพียงนั้น

โลกนี้มีผู้บริโภค โลกนี้ก็มีผู้ถูกบริโภค

หลายทศวรรษที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จนบันทึกไม่ทันว่าโดนเข้าไปกี่คดี แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับหน้าที่ปกติของหนังสือพิมพ์ ที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้ถูกบริโภค

ในอนาคต โทรศัพท์มือถืออาจเล็กแค่หน้าปัดนาฬิกาข้อมือ การค้าขายข้ามชาติจะอยู่บนหน้าจอเล็กๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์

รถขุด รถคราดไถ จะถูกบังคับด้วยเครื่องกลไกปราศจากผู้คน โลกทั้งลูกจะเล็กลงด้วยความเร็วและเครื่องมือสื่อสาร

แน่นอนว่าพลโลกจะเป็นโรคประสาทมากขึ้น การปกป้องผลประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหน้าที่อย่างเดียวของหนังสือพิมพ์เห็นจะไม่พอ จะต้องเป็นยาแก้โรคประสาทระหว่างกันด้วย

ยาที่ชะงัดที่สุดของทศวรรษนี้คือ ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ต้องเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

โอวาทของ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ถือเป็นดอกไม้และกำลังใจให้แก่นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หน้าที่และอุดมการณ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือวิธีการทำข่าวอย่างไรให้เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

ประเด็นนี้ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ฟันธงไว้ในหนังสือ “ข่าว-เจาะ” (สำนักพิมพ์ open book) ว่า การทำหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) จะเป็นการหยุดยั้งคอร์รัปชั่นที่ชะงัดที่สุด

ศ.น.พ.ประเวศกล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาจะเห็นบทบาทของสื่อมวลชนในการเปิดโปงนักการเมืองที่ขาดจริยธรรม ทั้งนี้โดยอาศัยการสืบสวนสอบสวน เช่น ทำให้ปลัดบัญชาการของประธานาธิบดีไอเซ็นฮาว ต้องเด้งออกจากตำแหน่ง

ทำให้ เนลสัน ร็อกกี้ เฟลเลอร์ ไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดี เพราะแกหย่าเมียซึ่งอยู่กันมานาน แล้วไปแต่งงานกับอดีตภรรยาของหมอที่เคยทำงานกับร็อกกี้ เฟลเลอร์

ทำให้ เอ็ดเวิร์ด เคเนดี้ ไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดี เพราะขยับตัวทีไร หนังสือพิมพ์ต้องประโคมข่าวเรื่องเขาเคยพาผู้หญิงชื่อ โจแอน โคเปคเน ไปจมน้ำตายที่ชาปปาคควิดดิก แล้วไม่รีบแจ้งความ

ทำให้วุฒิสมาชิก แกรรี่ ฮาร์ต แห่งโคโลราโด ต้องถอนตัวออกจากการเป็นผู้แข่งขันท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่กำลังมีคะแนนนำ เพราะหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์รูป แกรี่ ฮาร์ต เอาผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยามานั่งตัก ! เป็นต้น

ทุกวันนี้คอร์รัปชั่นไม่กลัวความเห็น แต่กลัวความรู้

ความเห็นก็อย่างที่เคยอภิปรายกันในสภา เท่าไรๆ ก็จับคนโกงไม่ได้ เพราะมันเป็นความเห็น แต่ความรู้ที่ได้มาจากการสืบสวนสอบสวนจนมันเป็นความจริง อย่างนี้นักคอร์รัปชั่นกลัว เพราะความจริงมันทำให้สาธารณะเข้ามาดูและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ความจริงมันทำให้นักคอร์รัปชั่นจนมุมกลางกระดานได้

ในสังคมอำนาจอย่างบ้านเราจะใช้ความเห็นมากกว่าความรู้

ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นด้วย คอร์รัปชั่นจึงเฟื่องฟูเต็มแผ่นดิน เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนประเทศไทย คอร์รัปชั่นนั้นซับซ้อน ซ่อนเงื่อน โดยเฉพาะคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย การดูเพียงผิวเผินไม่สามารถรู้ความจริงได้ แต่ต้องอาศัยการวิจัยหรือการสืบสวนสอบสวน เพื่อขุดหรือกลั่นเอาความจริงออกมาให้ได้

สื่อมวลชนของเรายังขาดวัฒนธรรมและความสามารถในการรายงานแบบสืบสวนสอบสวน จึงขาดพลังในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่น การรายงานเพียงการสัมภาษณ์ว่า ใครมีความเห็นหรือว่าใครมีอะไร ไม่มีพลังแห่งการใช้ความจริง เป็นเพียงความหวือหวา (Sensational) หรือความสะใจเท่านั้น หามีน้ำหนักในการหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นไม่

ข้อเสนอของ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี นับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และเอาเข้าจริง การทำข่าวในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่มีเครื่องมือการสืบค้นข้อมูลที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลผู้ถือหุ้นบริษัท และการเจาะเครือข่ายขององค์กรต่างๆ

ตลอดจนการเข้าถึงการตรวจสอบงบดุลของบริษัทได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่กดปุ่ม เครื่องมือในการทำข่าวยุคไอทีน่าจะมีส่วนทำให้การทำข่าวสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพียงแค่ สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับข่าวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น

เหล่านี้คือโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในวงการหนังสือพิมพ์ที่ไม่เคยจางหายไปจากวิญญาณนักข่าว