เมื่องานข่าวอยู่ในกำมือของนักข่าว

เมื่องานข่าวอยู่ในกำมือของนักข่าว

ในแวดวงคนทำงานข่าวจะจัดแบ่ง “ผลผลิต” ที่มาจากพื้นที่เป็นสองประเภทหลักคือ  “ข่าวรูทีน” (มาจากคำว่า routine) และ “ข่าวซีฟ” (กร่อนคำจาก exclusive)

ข่าวรูทีนนั้นเกิดในที่ “สาธารณะ” นักข่าวส่วนใหญ่ที่ทำงานใน “ท้องที่ข่าว” เดียวกัน เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ  สามารถรับรู้ได้ว่ามีข่าวนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการแถลงข่าว การสัมภาษณ์ การติดตามรับฟังการประชุมหรือสัมมนา ฯลฯ ถือเป็นหน้าที่ของนักข่าวที่จะต้องรายงานสิ่งเหล่านี้เข้าสู่กองบรรณาธิการ ขณะเดียวกันยังอาจแบ่งปันข่าวรูทีนให้กับเพื่อนนักข่าวคนอื่นได้ เนื่องด้วยบางคนอาจติดภารกิจงานที่จุดอื่นหรือเกิดเหตุบางประการจนไม่อาจมาอยู่ ณ “แหล่งกำเนิดข่าว” ได้  เมื่อข่าวรูทีนถือกำเนิดในที่สาธารณะจึงย่อมเป็น “สมบัติสาธารณะ” ของนักข่าวทุกคนในท้องที่นั้น

ขณะที่ข่าวซีฟหรืออาจเรียกอีกชื่อว่า “ข่าวเดี่ยว” เป็นไปในทางตรงข้าม  ข่าวประเภทนี้หาได้ปรากฏในที่สาธารณะ หากแต่ด้วยปัจจัยบางประการที่ส่งให้นักข่าวบางคนสามารถ “ทำข่าว” นี้ได้  เช่น ความสนิทสนมกับแหล่งข่าว เหตุบังเอิญ หรือเทคนิควิธีการทำงานที่ต่างจากคนอื่น ไม่ว่าการแอบดักรอแหล่งข่าว การเข้าพบเป็นการส่วนตัว ฯลฯ  ถือเป็นความชอบธรรมที่ไม่จำเป็นต้องเผื่อแผ่ข่าวซีฟให้กับนักข่าวคนอื่น เพราะถือว่าเป็น “สมบัติส่วนตัว” ของคนข่าวที่ “ทำข่าว” นี้ได้

แน่นอนว่าคุณค่าของข่าวซีฟย่อมถูกประเมินไว้เหนือกว่าข่าวรูทีน เพราะนักข่าวต้องแสดงศักยภาพของการทำงานเหนือกว่าระดับปกติ ที่สำคัญ ข่าวประเภทนี้ย่อมเป็นที่ต้องการของบรรณาธิการข่าว เพราะสามารถสร้างจุดขายให้กับหนังสือพิมพ์ของตนเองด้วยความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์อื่น ที่อุดมไปด้วยข่าวรูทีนซ้ำๆ กันแทบทุกฉบับ

เมื่อผู้เขียนเริ่มต้นวิชาชีพนักข่าวเป็นช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2539  ได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้ไปประจำที่องค์กรกลาง บ้านมนังคศิลา ช่วงเวลาสั้นๆ  เมื่อการเลืกตั้งจบสิ้น ภารกิจของหน่วยงานนี้ก็จบลง หลังจากนั้นผู้เขียนเร่ร่อนทำข่าวสัมมนาตามสถานศึกษาหรือโรงแรมต่างๆ  ได้ประสบความลำบากในการทำงานพอสมควร ด้วยเพราะไม่รู้จะหาเครื่องพิมพ์ดีดที่ไหน หากแต่ยังมีหนทางแก้ไขด้วยการใช้โทรศัพท์สาธารณะในการรายงานเนื้อหาเข้าสู่กองบรรณาธิการ ในเวลานั้นผู้เขียนยังไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ แม้ว่ามีความต้องการเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่ก็สู้ราคาไม่ไหว เพราะราคาในช่วงนั้นตกหลายหมื่นบาท อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงชิ้นเดียวที่ทางสำนักงานแจกคือ “เพจเจอร์”  ซึ่งเวลานี้ได้กลายเป็นอดีตของเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทยไปแล้ว

ท้ายสุด ผู้เขียนมาประจำท้องที่ข่าวรัฐสภา ซึ่งมีห้องนักข่าวอันกว้างขวาง มีเครื่องพิมพ์ดีดวางเรียงรายให้ใช้งานอย่างไม่ขัดสน ซึ่งมีทั้งดีบ้าง ชำรุดบ้างคละกันไป มีทั้งโทรศัพท์และโทรสารช่วยอำนวยความสะดวกอย่างพร้อมสรรพ เมื่อนักข่าวกระจายตัวกันไปทำข่าวตามห้องประชุม ห้องกรรมาธิการ หรือซอกหลืบต่างๆ ในอาณาบริเวณรัฐสภา ก็จะกลับมาพิมพ์ข่าว ส่งข่าวที่ห้องนักข่าว ในช่วงเวลาที่มีข่าวพรั่งพรูเข้ามาเป็นจำนวนมาก จะได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังประชันกันเหมือนดัง “ข้าวตอกแตก”

แม้ว่าตัวผู้เขียนจะได้รับหมายงานนอกรัฐสภา แต่สามารถกลับเข้ามาทำงานในห้องนักข่าวรัฐสภาได้ เพราะถือว่าเราเป็นคนประจำอยู่ที่แห่งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่ห้อง ไม่มีใครมองว่าเราเป็นคนแปลกหน้าหรือสงสัยว่าตัวเราเป็นใครแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าตัวของนักข่าวนอกจากจะต้องสังกัดกับสำนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งแล้ว ยังจำต้องสังกัดท้องที่ข่าวอย่างน้อยสักหนึ่งแห่ง เพื่อความสะดวกในการทำงานของตนเอง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักข่าวที่มีชีวิต “รายวัน”  ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา

ห้องนักข่าวรัฐสภาจึงเป็นแหล่งสมาคมของบรรดานักข่าวรัฐสภา การมีพื้นที่เฉพาะย่อมสร้างการรวมกลุ่ม นักข่าวแต่ละคนจึงสังเกตความเคลื่อนไหวของเพื่อนนักข่าวคนอื่นได้ และตัวเองก็ถูกสังเกตจากคนอื่นได้เช่นกัน เมื่อใครสักคนหายตัวจากห้องในเวลาที่สมควรจะอยู่ร่วมกัน คือช่วงที่ไม่มีงานข่าวรูทีน อาจทำให้นักข่าวคนอื่นคาดเดาว่าคนที่หายไปกำลัง “ไปซีฟข่าว”  เป็นที่น่าสังเกตว่า การทำข่าวซีฟหรือข่าวเดี่ยวนั้น นอกจากจะได้มาซึ่งข่าวเดี่ยวเฉพาะของตัวนักข่าวเองแล้ว กระบวนการได้มาของข่าวทำให้นักข่าวต้อง “โดดเดี่ยว” หรือ exclusive ตัวเองออกไปจากแหล่งชุมชนของนักข่าว การอยู่รวมกลุ่มกันไม่เอื้อต่อการทำข่าวซีฟ

แต่ดูเหมือนว่าวลี “ไปซีฟข่าว” ที่ติดปากนักข่าวรัฐสภา อย่างน้อยในช่วงที่ผู้เขียนเริ่มประจำที่นี่ใหม่ๆ  กำลังจะหายไป  แทบจะไม่ได้ยินนักข่าวคนไหนใช้อีกต่อไปแล้ว

ขณะเดียวกัน คำที่ได้รับความนิยมพุ่งสวนทางคือ “เช็กข่าว”  เข้าใจว่าคำนี้มีมาแต่เดิมแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันเริ่มใช้กันแพร่หลายจนติดปาก นักข่าวหน้าใหม่ที่มีอายุงานเพียงสองสามวันก็รู้แล้วว่า “เช็กข่าว” หมายถึงอะไร  เพราะเป็นเรื่องปกติที่นักข่าวหน้าใหม่ที่จะเริ่มชีวิตงานข่าวพร้อมกับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ไม่ต้องรอให้โรงพิมพ์จัดหาให้ เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนประกอบในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปเสียแล้ว บางคนใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จากเครื่องมือที่ใช้คุยกับเพื่อนฝูง-ส่ง sms -เล่นเกม  กำลังกลับกลายเป็นเครื่องมือประจำวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำ “ข่าวเช็ก”

พฤติกรรมเยี่ยงหมาล่าเนื้อที่นักข่าวต้องพุ่งหา “แหล่งกำเนิดข่าว” เพื่อ “หาข่าว”  ถือเป็นภาระหน้าที่อันแสนจะหนักหนา เพราะนักข่าวมิได้มีเวลา office hour ที่แน่นอนเฉกเช่นวิชาชีพอื่น ยิ่งนักข่าวรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่หลักในการติดตามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีจำนวนมากมายแล้ว แน่นอนว่าการเฝ้าติดตามสัตว์การเมืองในสนามการเมืองไทย ย่อมเต็มไปด้วยการเจรจาต่อรองทางผลประโยชน์ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น มีการวิ่งล็อบบี้อย่างวุ่นวายข้ามมุ้งข้ามวัง ทั้งการเปิดเซฟเฮาส์เป็นศูนย์บัญชาการของกลุ่ม ทั้งการเรียกประชุมมุ้งเพื่อเช็กชื่อแสดงพลังกดดันซึ่งกันและกันจนดึกดื่น การมีโทรศัพท์มือถือเป็นการผ่อนภาระหนักให้เบาบางลงได้ นับตั้งแต่ภาระของนายทุนข่าว เพราะจะให้แต่ละสำนักข่าวจัดหารถยนต์ส่วนตัวเพื่อการนี้ ต้องถือเป็นภาระทุนขนาดใหญ่ หากนักข่าวจะเดินทางด้วยตนเองก็ต้องเปลืองค่าแท็กซี่ สร้างความเดือดร้อนทางการเงินให้กับต้นสังกัดเช่นเดียวกัน แม้ว่านักข่าวบางคนหรือสำนักข่าวบางแห่งมีศักยภาพที่จะปฏิบัติได้ แต่ด้วยบริบทการจราจรอันแสนจลาจลของเมืองหลวง ทำให้เครื่องทุ่นแรงสี่ล้อมีข้อจำกัดทันที แต่เมื่อมีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว นักข่าวเพียงแค่นั่งอยู่กับที่ใช้นิ้วมือกดหมายเลขโทรศัพท์ของ “แหล่งกำเนิดข่าว” แล้วใช้การสนทนาเจรจาเพื่อค้นหา “เรื่องเล่า” ที่พอจะนำมาเป็นข่าวได้

ผู้เขียนในฐานะประจำท้องที่ข่าวรัฐสภา เคยตามข่าวของคณะสมาชิกวุฒิสภาซึ่งลงไปดูสถานที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส  โดยที่ผู้เขียนไม่ได้เดินทางร่วมคณะไปด้วย แต่ใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองสัมภาษณ์ ส.ว. ท่านหนึ่งก่อนขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ที่สนามบินหาดใหญ่ในเวลาประมาณสองทุ่ม อีกทั้งผู้เขียนก็ไม่ได้อยู่ในบริเวณรัฐสภาอันเป็นพื้นที่ที่รับผิดชอบ กลับนั่งรับประทานมื้อเย็นในร้านอาหารริมทางแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี เมื่อ “เช็กข่าว” ได้สาระมาครบถ้อยความ ก็ใช้โทรศัพท์เครื่องเดิมรายงานเนื้อหาทั้งหมดไปยังกองบรรณาธิการ

โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องช่วย “ย่นระยะ” ระหว่างตัวนักข่าวกับแหล่งข่าวได้  ความห่างไกลทางกายภาพไม่เป็นอุปสรรคสำหรับนักข่าวอีกต่อไป คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ไปได้ไกลแค่ไหน นักข่าวยังคง “ทำข่าว” ได้ไกลเท่านั้น สุดแท้แต่ว่าจะมีเบอร์โทรศัพท์ของแหล่งข่าวเป้าหมายหรือไม่

อาจกล่าวได้ว่า การทำงานข่าวที่พึ่งพาเทคโนโลยีทันสมัยในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร กำลังท้าทาย “ขนบ” ในการแบ่งสายงานของนักข่าวที่ให้รับผิดชอบตามท้องที่ข่าวสำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือกระทรวงต่างๆ  เพราะสำนึกความรับผิดชอบของนักข่าวรุ่นใหม่มิได้หยุดยั้งแค่รั้วของหน่วยงานท้องที่ข่าวเท่านั้น หากแต่ยังกว้างไกลออกไปภายนอก ตามแต่ประเด็นข่าวที่สามารถ “เช็ก” ได้  ดังที่ผู้เขียนซึ่งเป็นนักข่าวรัฐสภาแต่กลับทำหน้าที่เป็น “นักข่าวภูมิภาค” ไปในช่วงเวลาหนึ่ง  จนในบางครั้งอาจเกิดความซ้ำซ้อนของการทำงาน เช่น ข่าวทุจริตในหน่วยงานราชการที่คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของรัฐสภากำลังสอบสวนอยู่ นักข่าวรัฐสภากับนักข่าวกระทรวงของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน อาจ “เช็กข่าว” กับแหล่งข่าวคนเดียวกันในประเด็นเดียวกันก็เป็นได้

สิ่งที่ควบคู่กับการผ่อนภาระทาง “พื้นที่” คือเรื่องของ “เวลา” นั่นเอง  การที่นักข่าวไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหา “แหล่งข่าว” ในที่ห่างไกล  ย่อมทำให้มีช่องว่างของเวลาในการทำงานอย่างอื่น จากแต่เดิมเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการชุดสำคัญ นักข่าวจะต้องไปนั่งเฝ้ารอรอบห้องประชุม  คอยว่าเมื่อไหร่การประชุมยุติซึ่งเมื่อนั้นคือจุดเริ่มต้นที่นักข่าวจะได้เริ่มงานของตัวเองเสียที ในระหว่างนั่งรอก็คอยสังเกตว่ามีแหล่งข่าวคนไหนเดินเข้าออกบ้าง ก็จะเข้าประกบหาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเป็นการหา “ข่าวซีฟ” อีกวิธีหนึ่ง การรอคอยเช่นนี้ทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก ยิ่งหากได้ข่าวที่หาสาระสำคัญไม่ได้ ก็ทำให้เสียทุนทางเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ แทนที่จะนำเวลาที่รอคอยนี้ไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นต่อหน้าที่การงานของตน แต่หากมีโทรศัพท์มือถือ นอกจากนักข่าวจะไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองมายังแหล่งที่เกิดข่าวแล้ว ยังสามารถนั่งอยู่ที่เดิมซึ่งอาจจะเป็นห้องนักข่าว แล้วใช้โทรศัพท์มือถือโทร.หาแหล่งข่าวคนเป้าหมาย หรืออาจจะไปทำงานส่วนอื่นก่อน เพราะแม้ว่าจะเลิกประชุมไปแล้ว ก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือ “เช็กข่าว” จากแหล่งข่าวได้ แต่ก็ต้องขาดโอกาสที่จะพบปะหน้าตาของแหล่งข่าวคนนั้น ต่างจากเมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานข่าวใหม่ๆ  หากพบว่าการประชุมเลิกเร็วกว่าคาดหมาย เจอเพียงห้องประชุมที่ว่างเปล่า ไม่รู้ว่าจะตามหาคนเข้าประชุมได้ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์ก็ไม่มี โทรศัพท์มือถือก็ไม่มี สถานการณ์เช่นนี้อาจ “ตกข่าว” สำคัญได้ง่ายๆ

ที่สำคัญ เมื่องานข่าวรัฐสภาเป็นข่าวการเมือง จึงต้องให้ความใส่ใจในการใช้โวหารเป็นหลัก เครื่องมือสื่อสารที่ถ่ายทอดเฉพาะเสียงพูดอย่างโทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือที่เข้ากันด้วยดีกับข่าวประเภทนี้ ทุกวันนี้อาจพบเห็นนักข่าวบางคนที่มาทำงานตอนเที่ยง จากนั้นก็อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เพื่อเก็บรายละเอียดประเด็นข่าว แล้วโทรศัพท์ไปเช็กตามแหล่งข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอความเห็นตอบโต้ จากนั้นกางคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อพิมพ์ข่าวแล้วส่งทางอีเมล์ โดยอาจใช้เวลาในการทำงานเพียง 3-4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เป็นไปได้ว่านักข่าวบางคนอาจทำงานข่าวโดยผลิตเฉพาะ “ข่าวเช็ก” เท่านั้น

โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วย “ปลดปล่อย” นักข่าวให้หลุดพ้นพันธนาการของ “พื้นที่” และ “เวลา” ไปพร้อมๆ กัน

//////////////////////////////////////////