ความเสื่อมของวิชาชีพ

ต้นฉบับ/หนังสือวันนักข่าว/ ปี พศ. 2548

เรื่อง ความเสื่อมของวิชาชีพ

 

สำรวจพฤติกรรมนักข่าว drive A

กลางกระแสเชี่ยวกรากวัฒนธรรมทุน

วัฒนธรรมกระแสทุนที่ไหลบ่าเข้าสู่วงการสื่อมวลชน  ทำให้วิธีคิด วัฒนธรรม  จริยธรรม และค่านิยมของนักข่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ต่อไปนี้คือการสำรวจสภาพแวดล้อมและการพยายามอธิบายปรากฏการณ์ของนักข่าวในแต่ละหน่วยงาน แต่เพื่อมิให้บทความนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงไม่ขอระบุชื่อหน่วยงาน  เพราะเราต้องการเพียงสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

เริ่มต้นที่กระทรวงหนึ่ง พฤติกรรมการทำข่าวของนักข่าวยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง    นักข่าวกระทรวงนี้ถูกมองว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักข่าวอย่างรุนแรงแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นช่องว่างให้ข้าราชการและนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากนักข่าวอย่างหลากรูปแบบ

มีทั้งการใช้วิธีรอข่าวจากทีมงานหน้าห้องรัฐมนตรี ที่จะส่งอีเมล์มาให้และโทรศัพท์เข้ามาบอก  ช่วงไหนนักข่าวอยากได้ข่าวลงหนังสือพิมพ์กรอบหวยออก  ข่าววันหยุด ถ้าบอกล่วงหน้า ทีมงานเหล่านี้จะจัดให้   นอกเหนือจากช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่มักจะมีการหาข่าวเก็บไว้ให้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวประเภทประชาสัมพันธ์ผลงานเจ้านายตัวเอง

ระบบเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร   คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ทำให้นักข่าวไม่ต้องออกหาข่าวหรือไปทำข่าว  แม้กระทั่งการดักรอแหล่งข่าว  หรือรอผลประชุมก็ตาม    นักข่าวยุคนี้สามารถนั่งเล่นเกมรอ  เมื่อใกล้เวลาแถลงข่าวจะมีทีมงานของรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปตาม  บางรายก็ใช้วิธีรอข่าวจากทีมงานของรัฐมนตรีที่จัดพิมพ์แบบสำเร็จรูปส่งอีเมล์มาให้

รัฐมนตรีบางคนใช้วิธีการให้ทีมงานที่ปรึกษาพิมพ์เป็นข่าวสำเร็จรูปแจกจ่ายให้กับนักข่าว   โดยที่นักข่าวไม่ต้องคิดประเด็น  หรือเสียเวลาไปสัมภาษณ์  แต่ทีมงานเหล่านี้จะมีการจัดหาข่าวแจกให้เป็นประจำทุกสัปดาห์  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง   มีการจัดหาข่าวให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ยิ่งช่วงใดเป็นวันหยุดต่อเนื่องจะมีการทำข่าวสำเร็จรูปให้ล่วงหน้าตามจำนวนวันหยุดด้วย  ข่าวที่เกิดขึ้นจึงไม่มีการลงไปขุดคุ้ยหรือตรวจสอบเหมือนกับการทำข่าวในอดีต

ยิ่งนักข่าวที่ทำงานมานาน และมีน้องๆ “เด็กใหม่ในสังกัด”  ก็จะให้เด็กใหม่เหล่านี้เป็นตัวแทนออกไปหาข่าวมาส่งให้  ส่วนนักข่าวรุ่นพี่จะทำหน้าที่รีไรต์ข่าวจากน้องๆ และส่งเข้าโรงพิมพ์เท่านั้น  ข่าวบางชิ้นมีข้อมูลผิดพลาดและบิดเบือน  กลายเป็นข่าวผิดไปทั้งหมดทุกฉบับ  แต่นักข่าวเหล่านี้จะไม่สนใจ เพราะถือว่าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ลงผิดเหมือนกัน  แล้วก็แล้วกันไป

ผลประโยชน์อำพราง

“กินหรู อยู่ดี มีข่าวลง”

นอกจากนี้มีนักข่าวบางคนเรียกร้องให้พานักข่าวไปสังสรรค์ ร้องเพลง หากไม่สนองตอบก็จะมีการขุดคุ้ย หรือเขียนข่าวในเชิงลบเพื่อโจมตีนักการเมืองคนนั้น  บางรายถึงกับประกาศว่า จะต้องหาทางสั่งสอนรัฐมนตรีคนนี้บ้าง ในฐานะที่ไม่รู้จักเข้าหานักข่าว

สิ่งที่เลวร้ายกว่าการไม่ทำข่าว หรือรอลอกข่าวแล้ว ยังมีพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น การขโมยข่าว  โดยอาศัยสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ให้ติดตั้งระบบที่สามารถเข้าถึงหรือขโมยข่าวของนักข่าวคนอื่นได้   กล้าหาญขนาดที่ สามารถนำเสนอข่าวนั้นออกไปทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนสัมภาษณ์หรือทำข่าวในเรื่องนั้นๆ  รวมทั้งการนำข่าวดังกล่าวไปเผยแพร่แจกต่อให้กับสำนักข่าวต่างๆ

สำหรับนักข่าวที่มีคอลัมน์เขียนประจำ หรือต้องรับผิดชอบในการปิดหน้าข่าวนั้น ก็มักจะแสดงอำนาจอวดอ้างให้รัฐมนตรีเห็นว่า ตนเองนั้นเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าวได้  สามารถที่จะเลือกว่าจะนำข่าวใดมาลงหรือไม่นำมาลงก็ได้  ทำให้รัฐมนตรียิ่งให้ความสำคัญกับนักข่าว หรือหัวหน้าข่าวคนนั้นมากขึ้น รัฐมนตรีบางคนกลับจากต่างประเทศ  ต้องมี “ของฝาก”   แทนคำขอบคุณ

เคยมีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางรายรู้ว่ารัฐมนตรีคนไหนเกรงใจหัวหน้าของตนเป็นพิเศษ ก็จะ “ลืมตัว” หากรัฐมนตรีไม่ให้ข่าวในประเด็นที่ตนเองต้องการ หรือ “ให้ข่าว” กับนักข่าวที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มเดียวกัน ก็จะว่ากล่าวรัฐมนตรีคนนั้นอย่างไม่เกรงใจ  รัฐมนตรีบางราย “ไม่อยากมีเรื่อง”  ถึงกับต้องยอมขอโทษก็เคยมี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ได้ชื่อว่าสปอร์ตมากที่สุด  หากต้องพานักข่าวไปต่างประเทศจะดูแลอย่างดี กินหรู อยู่หรูทีเดียว  มีการจ้างบริษัททัวร์ไปจัดนำเที่ยว แม้จะต้องจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว   จึงมักจะมีการแย่งกันไปทำข่าวนี้ บางสำนักพิมพ์ “ล็อบบี้”  รัฐมนตรีให้ไปขออนุญาตหัวหน้าให้ด้วย

ไม่รวมผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เช่น การขอบัตรโดยสารรถ  บ.ข.ส. รถไฟ บางรายที่ขึ้นเครื่องบินก็จะขอบัตรลดราคา   หากเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนคอนเสิร์ตหรือการแสดงโชว์ต่างๆ ก็อาจมีการขอบัตรฟรี แม้จะรู้ว่านักการเมืองคนนั้นจะต้องเสียเงินไปซื้อบัตรมาให้ก็ตาม   ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับสื่อบางฉบับ และนักข่าวเองก็มักจะมองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะระดับหัวหน้าหรือบรรณาธิการข่าวก็ทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดานั่นเอง

ที่ปรึกษานักการเมืองบางคนมีหน้าที่คอยจัดหาข้อมูล  หรือข้อมูลอินไซด์ตลาดหุ้นให้ด้วย

ย้อนตำนาน “ลอกข่าวลวง”

สู่การตั้งบริษัท “ผลิตข่าว”

ณ ห้องนักข่าวในอีกกระทรวงหนึ่ง  เคยมีตำนานดัดหลังนักข่าวที่ชอบลอกข่าวและจ้องขโมยข่าวของเพื่อน  โดยการเขียนข่าวที่ไม่มีมูลความจริง เช่น เรื่องนโยบายการขึ้นราคาก๊าซ  ปรากฏว่ามีนักข่าวรายหนึ่งลอกข่าวและนำไปพาดหัวเป็นข่าวใหญ่โต   ทำให้เกิดความเสียหายต่อหนังสือพิมพ์มาแล้ว

ส่วนพฤติกรรมของนักข่าวอีกกระทรวง  ที่ถูกโจษขานกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณีที่มีนักข่าวรายหนึ่งร่วมกับเพื่อนตั้งบริษัทรับจ้างทำประชาสัมพันธ์   เข้ามารับงานในกระทรวง โดยอาศัยความเป็นสื่อทำให้หน่วยงานในองค์กรเกรงใจและว่าจ้างบริษัทดังกล่าว  บางครั้งที่ “ไม่ได้งาน”  ก็จะฟ้องรัฐมนตรี จนอาจต้องเปลี่ยนบริษัทมาแล้ว

และสิ่งที่แตกต่างจากสายข่าวอื่นๆ ก็คือ นักข่าวกระทรวงนี้จะได้รับเบี้ยเลี้ยงและเงินค่ารถเมื่อต้องออกไปทำข่าวต่างจังหวัดด้วย  โดยมีการเบิกจ่ายเป็นหลักฐานชัดเจนเช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีนักข่าวบางคนที่อยากจะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็จะเสนอให้รัฐมนตรีกำหนดโปรแกรมที่จะเดินทางไปดูงานต่างจังหวัดควบไปกับการท่องเที่ยวด้วย

พฤติกรรมการทำข่าวของกระทรวงนี้  ในยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีแต่ข่าว พี.อาร์. หรือข่าวประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐมนตรี  ไม่มีข่าวขุดคุ้ยหรือตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง  ในขณะที่แหล่งข่าวที่เป็นข้าราชการ ยุคนี้ก็ไม่กล้าให้ข้อมูลกับนักข่าว เพราะไม่ไว้ใจ  เกรงว่าจะนำข้อมูลที่ได้ไปบอกฝ่ายการเมือง อาจถูกปลดพ้นจากตำแหน่งได้

ทางด้านนักข่าวสายรถยนต์  เป็นสายที่มีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เนื่องจากสื่อมวลชนสายนี้ ส่วนใหญ่เป็นทั้งผู้สื่อข่าว คนทำหนังสือ คนขายโฆษณา คนทำวิทยุ คนทำทีวี คนจัดงานมอเตอร์โชว์ หรือแม้แต่คนขายรถยนต์ก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง  พฤติกรรมของสื่อมวลชน “บางราย” ในสายนี้จะเป็นในลักษณะไปขอให้แหล่งข่าวซื้อโฆษณา ขอซื้อรถยนต์ในราคาถูก เดินทางไปเลี้ยงดูปูเสื่อกันในต่างประเทศ จนถึงขั้นคอลัมนิสต์หรือพิธีกรที่เห็นหน้าในทีวีบ่อยๆ บางคน ได้รับการอุปการะจากผู้บริหารบริษัทรถยนต์ในการให้ทุนการศึกษาบุตร จนกระทั่งไปเรียนต่อต่างประเทศ และแม้ว่าเรียนจบแล้วก็ยังสามารถมาเข้าทำงานที่บริษัทรถยนต์นั้นได้อีก

บางรายไปทำข่าวในต่างประเทศ ต้องระบุกับแหล่งข่าวว่า ต้องนั่งเครื่องบินในชั้น First class เท่านั้น และหากต้องไป Test Car ในต่างจังหวัด ก็ขอที่พักสุดหรูแล้วพาครอบครัวไปร่วมขบวนด้วย

ส่วนทางด้านนักข่าวสายโทรคมนาคม ในปัจจุบันมีจำนวนนักข่าวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ แต่งตัวสีสันแฟชั่นสุดอลังการ นักข่าวหญิงบางคน “ใส่สายเดี่ยวเอวลอย” ไปทำข่าว สัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทตามโรงแรมใหญ่กลางกรุง บางครั้งแหล่งข่าวแทบจะแยกไม่ออก ว่าคนไหนเป็นนักข่าว

รูปแบบการเสนอ “ผลประโยชน์” ก็ไม่ต่างจากสายอื่นๆ แหล่งข่าวบางรายให้สิทธิการซื้อโทรศัพท์ราคาพิเศษ   บางครั้งก็มีการนำโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ มาให้นักข่าวทดสอบการใช้งานฟรี นักข่าวคนใดสนิทกับผู้บริหารหรือ พี.อาร์.ก็จะได้สิทธิใช้โทรศัพท์ฟรีบ่อยครั้ง

นักข่าว “นอกรีต”  แบบนี้เป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนมัวหมอง

 

สายบันเทิงน่าห่วง

ถึงขนาด “เต้าข่าว”

พฤติกรรมของนักข่าวสายบันเทิง มีเสียงสะท้อนจากนักแสดงหลายคนว่า ข่าวส่วนใหญ่มักจะมีการใส่สีตีไข่เพื่อให้ข่าวนั้นสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ได้มากที่สุด  โดยมิได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อผู้อื่นเช่นการ  “เต้าข่าว” หรือบางข่าวเพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากคนอื่น  หรือเป็นเพียงข่าวลือ  แต่ก็นำมาเขียนเป็นข่าวกันได้   โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่ตกเป็นข่าว ว่าเป็นเรื่องจริงเท็จอย่างไร

แต่ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นนักข่าวเด็กใหม่  ไฟแรง  แต่ไม่ค่อยเข้าถึงแหล่งข้อมูล คือไม่สนิทกับดารานักแสดง  เมื่อได้ข่าวมาจึงมักจะไม่มีการตรวจสอบข้อมูล ว่าเท็จจริงอย่างไร  แต่จะใช้วิธีการเขียนข่าวเปิดประเด็นไปก่อน  แล้วใครที่ตกเป็นข่าวก็มาตามแก้ทีหลัง บางรายใช้ชื่อย่อจนเกร่อ ไม่สนใจว่าเรื่องนั้นจะจริงหรือเท็จ เพราะส่วนใหญ่จะรู้ว่านักแสดงจะไม่เอาเรื่องถึงขั้นฟ้องร้องให้เสียเวลา

สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของนักข่าวขณะนี้  คือการเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ  พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้ภาพหรือข่าว เช่น การจ้างวานเด็กในกองถ่ายหรือนักแสดงบางคนให้แอบถ่ายภาพหลุดๆ ของนักแสดงที่มีชื่อเสียงกำลังเป็นที่นิยม โดยเสนอส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้  หรือนักข่าวที่พยายามสร้างข่าวขึ้นมาเอง เช่น การแอบถ่ายภาพชีวิตประจำวันของนักแสดงบางคน ว่ากำลังคบหากับนักแสดงอีกคน  เป็นต้น

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมกระแสทุนครอบงำสื่อไปทั่วทั้งวงการ

แต่อย่างไรก็ตาม  สื่อที่ดี  สื่อที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพ  สื่อที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ยังมีอยู่มากกว่าสื่อบางคนที่ออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง  เพราะหลงทางไปในกระแสวัฒนธรรมทุน

เราเชื่อว่า ถึงที่สุด ชุมชนนักข่าวจะยังคงเป็นความหวังและพลังที่เสริมสร้างอนาคตสังคมไทย