รางวัลที่ 2
การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2553
โดย นางสาววลัยพร แสงนภาบวร
‘’สันติภาพ’’ คือ ภาวะของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตรงข้ามกับ ’’สงคราม’’ ซึ่งมุ่งทำลายล้างกันและนำไปสู่หายนะในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสงครามรูปแบบล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียและความทุกข์ แม้ชาวโลกจะเรียกร้องหาสันติภาพแต่ก็ยังมีสงคราม การต่อสู้ และการก่อการร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้า ชุมชนทั่วโลกสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างสะดวกและรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ภาพที่ได้เห็นผ่านการรายงานของสื่อเกือบทุกวันคือ ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก ไม่เว้นแม้ในประเทศไทยที่เคยได้ชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม (Land of Smile )
ประเทศไทยเคยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร คนไทยรักความสงบและภูมิใจว่าไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจใดๆ ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเผชิญความทุกข์ยากจากสงครามอย่างแสนสาหัส แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วประเทศไทยกลับเดินเข้าสู่วิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตบ้านเมือง วิกฤตทางสังคมและวัฒนธรรม จนถดถอยและล้าหลังกว่าหลายประเทศในอาเซียน ล่าสุดความขัดแย้งทางความคิดและการเมืองได้นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะเดียวกันเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลข่าวสารที่คนไทยได้รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ในแต่ละวันจึงเต็มไปด้วยเรื่องของความรุนแรงจนมองไม่เห็นทางว่าจะออกวิกฤตนี้ได้อย่างไร
‘’สื่อเสรี’’ คือกลไกหนึ่งที่พอจะเป็นความหวังของสังคมในการนำพาชาติออกจากวิกฤต เพราะมีบทบัญญัติรองรับไว้ทั้งโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน ซึ่งได้กำหนดให้สื่อมีสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซง ปัจจุบันนี้สื่อมีรูปแบบหลากหลายและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น มีทั้งสื่อของรัฐและเอกชน หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งเว็บไซต์ ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของสื่อทุกชนิดได้ในระบบออนไลน์สื่อที่มีเสรีภาพเหล่านี้มีอิทธิพลพอที่จะกระตุ้นให้เกิดสงครามหรือสันติภาพก็ได้
สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร จากกรณีเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้งของประเทศไทยโดยเฉพาะตั้งแต่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนถึง ๑o เมษายน ๒๕๕๓ คงเป็นบทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่าการใช้สื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จและการใช้สื่อในการปลุกระดมมวลชนมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเกลียดชังและการใช้ความรุนแรง และคงต้องยอมมีรับว่าการแข่งขันรายงานอย่างดุเดือดของสื่อได้สร้างแรงกดดันให้กับทุกฝ่ายทำให้อุณหภูมิของความขัดแย้งสูงขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับโหราศาสตร์มากเกินไปก็อาจทำให้สังคมงมงายและขาดเหตุผล ผู้เขียนมีความเห็นว่าท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้สื่อเสรีสามารถร่วมสร้างสันติภาพได้โดยลดการเสนอภาพรุนแรง ลดการเสนอคำทำนาย ลดการสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง การเผชิญหน้า และความตีบตันในการหาทางออก แต่เสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเป็นเวทีสาธารณะให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาชาติ สื่อต้องยืนหยัดในหลักการของผู้ประกอบอาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสื่อสาร การประชุม และการเจรจากัน ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องฟังเหตุผลและหาข้อสรุปร่วมกัน
ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะสถาบันวิชาชีพก็ต้องสร้างหลักเกณฑ์กติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ต้องส่งเสริมการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องแสดงบทบาทในการขอให้ทุกฝ่ายระงับยับยั้งการใช้สื่อเป็นเครื่องมือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง ต้องประณามการใช้สื่อไปในทางบิดเบือนข้อเท็จจริงและยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ดูหมิ่นเหยียดหยาม รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ตลอดจนคัดค้านการคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมและตรวจสอบการใช้สื่อทุกประเภทให้เป็นไปตามบทบัญญัติ เพื่อให้สื่อของไทยมีมาตรฐานเช่นเดียวกับสื่อโลกที่มีระบบทำงานแบบมาตรฐานสากล คือ เป็นอิสระจากการเมืองและกลุ่มนายทุน มีความเป็นกลาง และเสนอสาระที่เป็นความจริง วิเคราะห์ด้วยเหตุผลและหลักฐาน ทำให้เป็นสถาบันที่สังคมเชื่อถือได้
นอกจากนี้ สื่อเสรีสามารถสร้างสันติภาพและความเจริญมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนได้ โดยทำหน้าที่ ’’ครูมวลชน’’ ในการให้ความรู้และสาระที่เป็นประโยชน์สำหรับคนในชาติ เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เสริมสร้างความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับค่านิยมที่พึงประสงค์ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และการมีจิตสาธารณะ เป็นต้น ถ้าสื่อสามารถเสนอความรู้เพื่อช่วยยกระดับสติปัญญา (Intelligence) และวุฒิภาวะ (Maturity) ของคนไทย ก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เป็นสังคมที่ใช้เหตุผลและวิจารณญาณ ไม่อ่อนไหวไปตามข่าวลือ ไม่นิยมใช้อารมณ์และความรุนแรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากอย่างประเทศไทยนี้ สื่อเสรีควรตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมไทย คือ ความเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อม และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ของชาติและเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ ดังนั้น สื่อเสรีต้องกล้าบอกความจริงแก่สังคมว่าอะไรถูกอะไรผิด ช่วยกันสร้างคำนิยมที่ถูกต้อง และเสนอแนวทางเพื่อปฏิรูปสังคมไทยให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังที่กวีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า สื่อต้องทำหน้าที่เป็นทั้ง ‘’คันฉ่อง’’ และ ‘’โคมฉาย’’ ให้กับสังคม คือเป็นทั้งกระจกสะท้อนความจริง และเป็นแหล่งความรู้ที่ให้แสงสว่างทางปัญญาแก่มวลชน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพโดยสื่อเสรีได้ก็คือ “จิตสำนึก” ของสื่อและองค์กรสื่อ ซึ่งเป็นจิตสำนึกในอันที่จะทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดของสาธารณชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งขายข่าวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา หากสื่อได้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาชีพแล้วก็เชื่อได้ว่าจะนำไปสู่สันติภาพในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างแน่นอน