รางวัลที่ 3
การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2553
โดย นายปัณณวิชญ์ นันทโชคเนตินันท์
ทุกคนปรารถนาให้เกิดสันติภาพขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองของตนตลอดจนถึงทั่วสากลโลก แต่ในโลกที่ความคิดถึงกันกว้างไกล ยากจะปิดบังซ่อนเร้นหรือควบคุมกำกับให้เป็นเนื้อเดียวกัน ก็น่าสงสัยว่า หากสันติภาพจะเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนรักใคร่กลมเกลียว มีความเห็นลงรอยกันไปทุกอย่างเป็นเงื่อนไขเดียวเท่านั้น เรายังจะถามหาสันติภาพกันได้อยู่หรือไม่ อีกประการหนึ่ง หากสันติภาพต้องมีลักษณะที่ปราศจากความขัดแย้งโต้เถียงใดๆ ก็น่ากลัวว่า สื่อเสรีจะเป็นปฏิปักษ์ต่อสันติภาพจำพวกนี้
ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับให้ทุกคนคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เพราะเพียงโดยนิสัยธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นสัตว์มีและใช้ความคิดตลอดเวลา หากยังเพราะในสังคมทุกวันนี้ ข้อเรียกร้องผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มนั้นมีความหลากหลาย ในกรณีประเทศไทย คนในเมืองและคนในชนบทก็มีความต้องการในทางเศรษฐกิจสังคมต่างกัน เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เจริญเติบโตก้าวกระโดด ย่อมเป็นผลดีต่อคนเมือง แต่จะกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวชนบทที่ปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น บางท่านเมื่อได้ยินเช่นนี้ก็จะเห็นว่าเป็นความเห็นผิดที่จะมาแบ่งประเทศเป็นไพร่เป็นกระฎุมพีอย่างนั้นอีก แต่นี้ก็เป็นความจริงที่สังคมมีความแตกต่าง และความแตกต่างนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในอุดมการณ์หรือความคิดเห็นเปล่าๆ บนแผ่นกระดาษ แต่มีรากเหง้ามาจากลักษณะของผลประโยชน์ที่ขัดกัน
กลไกที่จะเข้ามาสมานประสานความแตกต่างที่ว่านี้ให้เกิดเป็นสันติสุขในสังคมจึงต้องเป็นเวทีแสดงความเห็นหรือข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน ไม่ใช่กลไกที่เข้าไปกดข่มความแตกต่างเหล่านั้นอันจนอัดอั้นขึ้นเป็นความคับแค้นแล้วระเบิดออกเป็นความรุนแรงในภายหลัง กลไกที่ว่านี้ “สื่อเสรี” มีส่วนสำคัญอย่างไร
สื่อจะเป็นกลไกที่นำความทุกข์ยากคับแค้นของแต่ละฝ่ายออกมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ได้ เงื่อนไขสำคัญคือสื่อต้องมีความเสรี คำว่า “สื่อเสรี” นี้มองลงไปแล้วก็มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่ ๒ ประการ หนึ่งคือเป็นสภาพของสังคมหรือการปกครองที่ไม่ปิดกั้นสื่อ เปิดโอกาสให้สื่อของทุกฝ่ายขึ้นมามีพื้นที่ในการรับรู้ของพลเมืองได้ สองคือเป็นสภาพของตัวสื่อเองที่เป็นอิสระจากการครอบงำกำกับไม่ว่าจะโดยรัฐหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มักมีวาระซ่อนเร้น สามารถที่จะรายงานความเป็นไปของสังคมได้อย่างสื่อตรงต่อจรรยาบรรณและตามข้อเท็จจริง ความหมายของ “สื่อเสรี” ทั้งสองระดับนี้ เกื้อกูลสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นถ้าสังคมอนุญาตบางสื่อ แล้วปิดกั้นสื่ออีกพวก ลงท้ายแล้วสื่อที่ได้รับอนุญาตก็ต้อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” (Self-Censorship) เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ สังคมที่ตั้งต้นว่า มีบางสื่อผิดพลาดมาตั้งแต่ก่อตั้ง ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเป็นเท็จจงใจปลุกปั่นสร้างความไม่สงบ ต้องปิดเสีย สังคมอย่างนี้ก็ไม่อาจจะมีสื่อเสรีได้
ถ้าเราได้บรรยากาศของ “สื่อเสรี” แล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ อะไรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อเสรี เพราะสื่อนั้นมีอิทธิพลอำนาจควบคุมความคิดของมหาชน กระทั่งระดมคนขึ้นมาจัดตั้งเป็นองค์กรใช้ฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามก็ยังได้ ดังนั้น ยิ่งสื่อมีเสรีภาพเท่าไหร่ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ก็จะต้องยิ่งหนักขึ้นเท่านั้น สื่อเสรีมีเสรีภาพที่จะเข้าถึงและนำเสนอข้อเท็จจริง แต่สื่อเสรีก็ต้องรู้จักอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับสาร เพราะเชื่อว่ามนุษย์แล้วไม่ได้มีเหตุผลเป็นเครื่องวินิจฉัยตลอดเวลา หากความจริงบางอย่างที่มีแนวโน้มบ่มเพาะความเกลียดชังและความรุนแรง สื่อก็ต้องมีวิจารณญาณชัดว่า จะนำเสนอได้มากน้อยเพียงไร อย่างไร ถ้าคิดว่า เป็นสื่อเสรีแล้ว ก็ควรใช้เสรีภาพนั้นเสนอทุกสิ่งที่เป็นข่าวที่เป็นจริงห้ามลดทอนบิดเบือน สื่อเสรีก็เป็นหายนะของสังคม สื่อเสรีเองไม่ใช้เป้าหมายที่ต้องยึดมั่นไว้อย่างเหนียวแน่น สื่อเสรีเป็นเพียงเครื่องมือนำไปสู่สันติภาพ และแม้สื่อเสรีจะซื่อตรงเพียงใด ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะนำเสนอทุกอย่างอย่างรอบด้านไร้ข้อบกพร่อง เพราะแม้กระจกที่ดีที่สุดไม่อาจสะท้อนภาพข้างหลังได้ในเวลาเดียวความรอบคอบระมัดระวังจึงเป็นคติที่สำคัญไม่แพ้ความเสรี หากสื่อประสงค์จะนำมาสันติภาพสู่สังคม
นอกจากสื่อจะเป็นผู้นำเสนอข้อเท็จจริงแล้ว สื่อเสรียังต้องทำหน้าที่เป็นเวทีรับฟังและระบายความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายสูงเกินกว่าจะกดให้เป็นเนื้อเดียวกัน อีกประการหนึ่ง โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ย่อมพอใจที่ได้รู้ฟังความคิดที่ว่า ฟังความข้างเดียวจะได้ปกครองง่ายขึ้นนั้น ไม่สมสมัยที่การศึกษาได้เจริญมากขึ้นแล้ว
เป็นไปได้ไม่นาน ที่จะสันติภาพตั้งอยู่บนการกดข่มให้เห็นเนื้อเดียวกันที่ปราศจากความแตกต่างใดๆ แต่เป็นไปได้ ที่ในท่ามกลางความแตกต่างเราจะยังอยู่โดยสันติ การที่จะให้ผู้คนที่คิดเห็นแตกต่างกันไปยอมรับฝ่ายอื่นๆ ได้โดยมีวิธีเดียวคือการได้รับข้อมูลจากอีกฝ่ายอย่างเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม และวิธีนี้ต้องอาศัยสื่อเสรีเป็นกลไกอย่างขาดไม่ได้ สื่อเสรีที่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและรู้ที่หน้าที่เบาจะเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการสถาปนาสันติภาพให้สถาพรในสังคม