การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร-รางวัลชมเชย

รางวัลชมเชย
การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2553
โดย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่)

        สื่อมวลชนเป็นสถาบันสาธารณะที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเพื่อสร้างสันติภาพ(Peace) อันหมายถึงความสงบ มิใช่เพื่อสร้างความขัดแย้งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แม้สังคมจะตั้งความหวังไว้สูงต่อบทบาทดังกล่าว แต่สื่อก็ยังไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ กระนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลยที่สื่อจะเป็นกลไกในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม

      สื่อกระแสหลักมีหลายแขนง ที่สำคัญคือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือโทรทัศน์ วิทยุที่เป็นสื่อของรัฐ แม้บริษัทเอกชนจะได้สัญญา สัมปทานจากทางสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ก็ยังถือว่าอยู่ภายใต้กรอบของความเป็นสื่อของรัฐนั่นเอง กับสื่อของเอกชนซึ่งได้แก่หนังสือพิมพ์ที่กล่าวได้ว่ามีอิสระและเสรีภาพมากกว่า

      สื่อทั้ง2ประเภทนี้ถูกแทรกแซง ปิดกั้นการเสนอข้อมูลข่าวสาร จากรัฐ ขณะเดียวกัน ทุนของธุรกิจก็มีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับคนทำสื่อแต่ละแขนงแต่ละสำนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลได้-ผลเสียของสาธารณชนและสังคม ประกอบกับรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารและสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จึงต้องตระหนักว่า ประโยชน์ของประชาชนจากการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่ง

      การทำหน้าที่ของสื่อเพื่อใช้”เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับข่าวสาร”หรือ”เสรีภาพแห่งสื่อ”กับการเป็น”สื่อเสรี”หรือ”ความอิสระของสื่อ”ความมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

      ทั้งนี้ สื่อจะมีเสรีได้ก็ต่อเมื่อสื่อและคนทำสื่อไม่ยอมสยบสิโรราบให้กับอำนาจรัฐ และอำนาจทุนจนทำให้การทำหน้าที่ของสื่อเบี่ยงเบนไปจากการเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

      สังคมไทยในปัจจุบันมีความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความไม่สงบ บ้านเมืองอยู่ในสภาวะโกลาหล ไร้ขื่อแปไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 ขังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมา 6 ปีเศษ มีผู้เสียชีวิตราว 4,000 ศพ บาดเจ็บ พิการจำนวนมาก เหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อสีต่างๆที่เรื้อรังมา 4 ปีเศษ เกิดเหตุปะทะกันเองของมวลชนที่ต่างความเห็นและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารถึงขึ้นจลาจลนองเลือดมาแล้วหลายครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปไม่น้อย ล่าสุด คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ถนนราชดำเนิน มีผู้เสียชีวิตทั้งคนเสื้อแดงและนายทหารรวมทั้งสิ้น 24 ศพ บาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัสราว 840 ราย กลายเป็นแผลร้าวลึกอันเจ็บปวดและขมขื่นของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่งที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง

      เมื่อสังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มจะบานปลายออกไปทุกขณะจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ กลายเป็น ‘’สงครามกลางเมือง’’ สื่อต่างๆไม่ว่าจะแขนงใด สำนักไหนจะต้องกลับมายืนอยู่ในจุดของความเป็นสื่อเสรีควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อจริยธรรม ทำหน้าที่สร้างสันติภาพหรือความสงบให้บังเกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้

      การร่วมสร้างสันติภาพหรือความสงบนั้น ประการหนึ่ง สื่อเสรีต้องพยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพความขัดแย้งที่เป็นการเอาชนะคะคานของฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการกล่าวหาคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่ม องค์กรใดว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาแต่เพียงคนเดียวหรือฝ่ายเดียว หลีกเลี่ยงการใช้คำด่าทอ ตำหนิประณามอย่างรุนแรง เช่น เลวทรามต่ำช้า เถื่อน ถ่อย กฎหมู่ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ตีตราให้อย่างไม่เป็นธรรม เสนอข่าวสารอย่างถูกต้อง รอบด้าน สมดุล เป็นธรรม คัดค้านการก่อวินาศกรรมและการใช้อาวุธเข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

      เหนืออื่นใด สื่อเสรียังต้องแสดงออกถึงความเป็นกลาง หมายถึง ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง ไม่ว่าจะลำอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ(ฉันทาคติ)ลำเอียงเพราะเกลียด โกรธ(โทสาคติ) ลำเอียงเพราะหลง เขลาเบาปัญญา (โมหคติ) หรือลำเอียงเพรากลัว (ภยคติ)

      อีกประการหนึ่ง สื่อเสรีจะต้องให้ความสำคัญกับนำเสนอข่าวสาร ข้อมูลเชิงโครงสร้าง(Structural)ให้มากขึ้น ซึ่งโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) หรือมีเดียมอนิเตอร์ได้เสนอไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การอธิบายถึง สาเหตุ ที่มาของปัญหาความขัดแย้ง  2.สภาพบริบทแวดล้อมตัวเหตุการณ์ ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งเชิงโครงสร้างมากกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพที่มองเห็น 3. ทางออกสำหรับปัญหาความขัดแย้ง 4. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งและความรุนแรงในบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เน้นผลลัพธ์ที่มองไม่เห็นจากปัญหาความรุนแรงมากกว่าฉายภาพความรุนแรงจากการปะทะ การทำร้ายร่างกาย/สิ่งของ และ5.เสนอแนะความคิดร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งคืออะไร อย่างไรและควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งบ้าง
 ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ สื่อต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงยังไม่ได้ทำหน้าที่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ทำให้สาธารณชนไม่เข้าใจปัญหาแก่นแท้ของความรุนแรงอย่างแท้จริงรวมไปถึงฝ่ายที่ขัดแย้งก็มุ่งแต่จะหักโค่นและทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยใช้สื่อเป็นอาวุธเพื่อโฆษณาชวนเชื่อและบิดเบือนผ่านภาพและข่าวสาร โดยที่สื่ออาจไม่รู้ตัว หรือรู้ตัว แต่ไม่รู้จะทำย่างไร เพราะปัญหามีความซับซ้อนทั้งในส่วนของสื่อเองและปัญหาขัดแย้งที่เกิดความรุนแรง ส่งผลให้การแสดงสันติภาพโดยการแสดงของสื่อเป็นไปได้ยาก

 การเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีสำนึกรับผิดชอบทางจริยธรรมเพื่อสร้างสันติภาพ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ควรจะเริ่มต้นที่องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกันศึกษาวิจัย ฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สื่อต่างๆเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง มีองค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆมีความกล้าที่จะนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในเชิงโครงสร้างตาม ข้อเสนอของ มีเดียมอนิเตอร์อย่างเป็นระบบ มีทิศทาง ข้อมูลข้าวสารและภาพที่เผยแพร่สู่สาธารณะต้องมีพลังอำนาจจนเกิดเป็นกระแสสังคมที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายซึ่งขัดแย้งยามลงทิฐิ หันหน้าเข้าหากันแล้วร่วมมือแก้ปัญหาโดยถือเอาความเป็นสันติเป็นเป้าหมาย

 ทำได้ดังนี้ สื่อเสรีก็จะได้ชื่อว่า มีส่วนรวมอย่างสำคัญในการป้องกันหรือระงับ ยับยั้ง มิให้เกิดโศกนาฏกรรมจากความรุนแรง พร้อมกันนั้น สันติภาพหรือความสงบ ปลอดจากสงครามกลางเมืองก็จะค่อยๆปรากฎขึ้นและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน