“สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร”-ชวิดา วาทินชัย

“สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร”


ทุกวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และมักเป็นวาระที่บรรดาสื่อมวลชนทั่วโลกรวมทั้งไทย ใช้วันนี้ประเมินสถานการณ์และรณรงค์เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน โดยอ้างว่า เพราะ “เสรีภาพของสื่อมวลชน คือ เสรีภาพของประชาชน”


สำหรับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ ข้าพเจ้าในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งกลับรู้สึกอ่อนล้าและสิ้นหวังกับวิชาชีพของตัวเอง ที่ไม่สามารถสื่อสารให้คนไทยหยุดแบ่งแยก และเข่นฆ่ากันเอง โดยสื่อบางแห่งกลับใช้เสรีภาพที่มี เลือกนำเสนอข่าวสารด้านเดียว และบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งยั่วยุปลุกปั่นให้คนรับสารหลงเชื่อคล้อยตาม ไม่ต่างกับการชมละครหรือภาพยนตร์ จนมารวมตัวชุมนุมกัน ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า ม็อบสีต่างๆ ซึ่งสื่อประเภทนี้ คือ สื่อเพื่อการเมือง หรือ สื่อเลือกข้าง(สี) หรือที่นักวิชาการสื่อบางสถาบันจะจงใจเรียกให้สวยหรูว่า สื่อทางเลือก ก็ตาม


หากวันนี้จะมีใครกล่าวหาว่าสื่อประเภทนี้มีส่วนพาให้คนมาตาย ก็ไม่น่าจะผิด ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราสื่อมวลชนควรทบทวนบทบาทและการทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะสื่อมวลชนนั้นไม่ใช่อาชีพทั่วไป แต่จัดว่าเป็นวิชาชีพ เช่นเดียวกับแพทย์ ที่ต้องมีจริยธรรมและจรรยาบรรณ เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับมวลชน ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีองค์กรวิชาชีพควบคุมการประกอบวิชาชีพและพฤติกรรมให้เป็นตามกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณ


ขณะที่แพทย์มีแพทยสภาควบคุมดูแลและมีอำนาจเอาผิดแพทย์ที่ไร้จรรยาบรรณได้ แต่สื่อมวลชนเองมีองค์กรวิชาชีพตั้งขึ้นมากมาย อาทิ สมาคมนักข่าวฯ สภาวิชาชีพข่าวฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯเป็นต้น แต่กลับไม่สามารถปรามและยุติการนำเสนอข่าวอย่างไร้จรรยาบรรณได้เลย ทุกวันนี้ยังคงปล่อยให้สื่อเลือกข้าง หรือ สื่อทางเลือกเหล่านี้ ร่วมเป็นกรรมการบริหารและสมาชิกในองค์กรวิชาชีพ  โดยปล่อยให้ประชาชนผู้รับสารใช้วิจารณญาณเอง ว่าสื่อใดน่าเชื่อถือหรือไม่
การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว หรือบิดเบือน ย่อมไม่ต่างกับการที่แพทย์ให้ยาคนไข้ไม่ครบ หรือให้ยาผิด การเสพรับข่าวสารลักษณะนี้จึงไม่ต่างกับการได้รับยาพิษ แล้วเหตุใดองค์กรวิชาชีพจึงมองข้ามภัยจากสื่อเหล่านี้ต่อชีวิตประชาชน นักสื่อสารมวลชนมักกลัวนักกลัวหนากับการแทรกแซงและการปิดสื่อ แต่กลับละเลยว่าสื่อเสรีทุกวันนี้ทำลายชาติ แล้วจะหวังให้ร่วมสร้างสันติภาพได้อีกหรือ หากองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีเป็นเพียเสือกระดาษ ไม่สามารถดูแลให้สื่อบางแห่งทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพได้ ก็ควรแยกประเภทของสื่อเลือกข้าง ที่เป็นสื่อเพื่อการเมือง ออกจาก สื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ในการรับสารของประชาชนเอง
สื่อเสรีนั้นร่วมสร้างสันติภาพได้ ขอเพียงแต่ใช้เสรีภาพนั้นควบคู่กับจรรยาบรรณ และคุณธรรม โดยยึดถือประโยชน์มวลชนและชาติเป็นสำคัญ ไม่ใช่อ้างว่าที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ถูกปิดกั้นในการนำเสนอข่าวสาร พอสบโอกาสได้พื้นที่ ได้คลื่นความถี่ ก็ใช้เสรีภาพเต็มที่อย่างไร้ขอบเขต เลือกเสนอตามความคิด ความชอบ ความเชื่อ และความอยาก แล้วก็ให้เหตุผลว่าประชาชนที่รับสารมีวิจารณญาณและปัญญาแยกแยะได้


ท่ามกลางสังคมบ้านเมืองที่ขัดแย้งสูง สื่อเสรีจึงน่าจะใช้เสรีในทางสร้างสรรค์ นำเสนอสารที่ช่วยให้สติ ให้ทางออก และทางเลือกสำหรับทุกฝ่ายในชาติ  เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายในการคิดหาทางออก ไม่ใช่โต้เถียงขัดแย้ง แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสื่อเสรีนั้นต้องปราศจากอคติ ไม่มีความเกลียดชัง อาฆาตแค้นฝ่ายใด หากผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนวางจิตใจตนได้เช่นนี้ ก็จะถือว่าเป็นสื่อเสรีที่จะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างแน่แท้


โดย ชวิดา  วาทินชัย
ช่อง 9 อสมท
โทร 081 -424 6657