มองหาสื่อสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์
สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ทำให้สื่อทุกสำนักรายงานข่าวความขัดแย้งทางการเมืองแบบวันต่อวัน นาทีต่อนาที ผู้ที่เป็นต้นตอของข่าว แหล่งข่าวที่มาจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายผู้ดูแลควบคุมสถานการณ์ ตำรวจ ทหาร นักวิชาการ พระ หมอ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มสตรี ต่างเดินแถวเข้ามาร่วมขบวนการการสร้างข่าวให้สื่อ สื่อจึงมีประเด็นข่าวใหม่ๆ ที่ดูจะสะท้อนให้สังคมเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ประเทศก็บอบช้ำขึ้นเรื่อย เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมองหาคนกลางแทบจะไม่มีสื่อมวลชน ถือเป็นตัวแพร่กระจายข่าวสารข้อมูลความเป็นไปให้สังคมรับรู้ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นผู้ที่สามารถกลั่นกรองสารออกสู่สาธารณะ เมื่อมองการประเมินคุณค่าของข่าว (News Values) คนที่ทำงานด้านสื่อ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ถือเป็นข่าวที่เด่นและมีคุณค่าอยู่ในระดับต้นๆ เพราะประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เป็นสิ่งทีส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน เช่น ข่าวการคอรัปชั่น และอาชีพนักข่าวเองก็ต้องทำหน้าที่อยู่บนความขัดแย้งอยู่อย่างเสมอ เพราะสื่อถือว่าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้แก่สังคม เป็นเวทีสาธารณะให้กลุ่มที่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่เสียประโยชน์และกลุ่มที่ได้ประโยชน์ได้นำเสนอมุมมองความคิดที่แตกต่าง หากแต่ผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวท่ามกลางความขัดแย้งนั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุ ที่มาของความขัดแย้งอย่างถ่องแท้เสียก่อนจึงจะสามารถตั้งคำถามและแนวทางในการค้นหาคำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ปัจจุบันสื่อมวลชน โดยเฉพาะการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ยังทำหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งแบบวันต่อวันเท่านั้น ยังไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นทางออกอย่างมีสติ เหตุผลที่สู่ความมีสันติภาพได้ สื่อควรต้องบอกสาเหตุของปัญหาที่เกิดความขัดแย้งเหล่านั้นว่ามีประเด็นความขัดแย้งใดมาเกี่ยวข้องบ้าง สาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมีน้ำหนักในประเด็นใดบ้าง และมีพื้นฐานมามาจากอะไร ผลที่ตามมาของการตัดสินใจแก้ปัญหาจะมีปัจจัยด้านบวก ด้านลบและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับประชาชนคนธรรมดาที่เป็นกลุ่มใหญ่ของคนในประเทศได้บ้าง การให้ข้อมูลของสาเหตุของความขัดแย้งแก่ประชาชนก็เพื่อได้ นำไปวิเคราะห์ ใช้วิจารณญาณ ถือเป็นการให้สติ ปัญญาแก่คนในสังคมและถือเป็นทำหน้าที่สำคัญของสื่อในการประสานสามัคคี กล่าวคือ การให้บุคคล กลุ่ม และประชาชนในชาติได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความสมานฉันท์ให้แก่สังคมได้
ที่มาของสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งนั้น เกิดจากการที่คนหรือกลุ่มคนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน มีเป้าหมายในความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้มิจำเป็นต้องจบด้วยความรุนแรงเพียงทางเดียว ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม คนบางคนชอบเปลี่ยนแปลง และอีกกลุ่มไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม
สาเหตุของความขัดแย้งมีหลายปัจจัยแต่หัวใจสำคัญคือ การขาดการสื่อสารระหว่างกัน ขาดการสื่อสารระหว่างกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ การไม่ยอมรับที่จะหันหน้าเข้าหากันต่างฝ่ายต่างมีวิธีคิดความเชื่อ มีเหตุผลที่จะมาสนับสนุนความเชื่อกลุ่มของตน ทั้งความขัดแย้งนั้นยังเป็นผลมาจากการกระทำที่ผ่านมาทั้งสิ้น ความขัดแย้งหลักๆเกิดจากอำนาจที่ไม่เป็นธรรม อำนาจที่เอนเอียง ไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ความขัดแย้งยังรวมไปถึงการพูด ภาพลักษณ์ที่นำเสนอ และความเชื่อในอุดมการณ์ หรือเป้าหมายของกลุ่ม ซึ่งได้แก่
ความไม่พอใจในภาษาหรือคำพูดที่รุนแรง เช่น การกล่าวหา วัฒนธรรมการแสดงออกด้านการสื่อสารด้วยภาษา คำพูดที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อคุณสมัครกล่าวในรายการเช้าวันนี้ พาดพิงองค์มนตรีว่าไม่เป็นกลาง หรือการที่ผู้นำประเทศใช้ภาษาในการพูดผ่านสื่อ ว่า โจรกระจอก มีคนไปนั่งเห่าอยู่หน้าสวนลุม กุ๊ย ไม่ออกรอชาติหน้า ในขณะที่กลุ่มที่ต่อต้านก็ใช้ภาษาที่รุนแรงเช่นกัน เช่น เหลี่ยมจัด โกงชาติ ทรราช ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้เหยี่ยบย่ำ หมิ่นเหม่ และถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ความเกลียดชาวต่างชาติ คนในชาติใดชาติหนึ่งเกลียดกลัวและอาจจะสร้างภาพในทางที่ผิดและยุยงส่งเสริมความคิดผิดๆ เช่นกลัวการครอบงำผ่านทางวัฒนธรรมจากเกาหลี เมื่อคนนิยมดูละครแดจังกึม หรือการต่อต้านการเปิดเสรีการค้าเอฟทีเอกับอเมริกา รวมไปถึงการต่อต้านสินค้าจากประเทศสิงค์โปร์ในกรณีกลุ่มเทมาเสคซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น หากสื่อสารไม่เข้าใจก็สามารถถูกยุยงให้เกลียดชาติเกาหลี อเมริกาและสิงค์โปร์ได้
การสร้างวีรบุตร (สร้างภาพตัวแทน) กรณีที่สังคมที่มีความคลั่งไคล้ดารา นักร้อง หรือมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่สามารถสร้างความเกลียดให้กับอีกชาติหนึ่งได้ เช่น กรณีการเผาสถานฑูตไทยในเขมร อันเนื่องมาจากการคลั่งไคล้ดารา กบ สุวนันท์ คงยิ่ง การเผาหุ่นทักษิณที่หน้าทำเนียบ การมีกลุ่มหลากหลายมามอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจนายก ถือเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นวีรบุตรให้กับผู้นำได้ทั้งสิ้น
สงครามศาสนา การต่อสู้ทางความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น กรณีสื่อเดนมาร์กเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดาศาสนาอิสลามทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านการดูหมิ่นศาสนารลุกลามไปทั่วโลกอยู่ขณะนี้
การคอรัปชั่น การตัดสินใจของรัฐบาลในนโยบายหรือกิจการใดๆถูกโน้มน้าว โดยการ จากกลุ่มธุรกิจหรือครอบครัวที่มีเครือข่ายโยงใย การที่คนในสังคมมีความเชื่อว่ารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายโดยอิงผลประโยชน์ของพวกพ้อง และเครือญาติ อันเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยจนมีคำที่เรียกว่า คอรัปชั่นเชิงนโยบาย
โครงสร้างของระบบไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของระบบนิติบัญญัติหรือโครงสร้างของระบบสื่อมวลชนที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ องค์กรอิสระ หรือองค์กรทางรัฐสภามีความเข็มแข็งไปในทางใดทางหนึ่ง ที่มิอาจสร้างสมดุลของการตรวจสอบได้ โครงสร้างของระบบทำให้คนในสังคมรู้สึกไม่เป็นธรรม เกิดความแตกแยก ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดพื้นที่ทางการเมืองที่จะใช้สื่อสารหรือการขาดพื้นที่ทางการสื่อสารที่ทุกกลุ่มคนในสังคมให้สามารถออกมาตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจจากรัฐบาลได้ เช่น กรณีการประท้วงให้นายกรัฐมนตรีลาออก สื่อโทรทัศน์และวิทยุมิได้นำเสนอข่าวเท่าใดนัก ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ได้นำเสนอภาพข่าวแทบทุกฉบับ
สาเหตุของความขัดแย้งที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันมีสาเหตุการก่อตัวของความขัดแย้งอยู่แถบทุกประเด็น ส่วนที่เป็นปัญหาหลักของสังคมไทยก็คือ ปัญหาคอรัปชั่น และโครงสร้างของระบบที่แต่ละกลุ่มมีความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อโดยปัจจัยที่เป็นตัวหนุนนำคือ ความไม่พอใจในภาษาที่ทั้งผู้นำผู้ต่อต้านและบุคคลสาธารณะในสังคมต่างใช้คำพูดอันช่วยเพิ่มความรุนแรงและความแตกแยกในสังคมได้ ซึ่งทั้งหมดนี้หากสื่อสามารถคัดกรองไม่นำเสนอภาพข่าว การใช้ภาษาของหนังสือพิมพ์ ถ้อยคำที่ไม่หวือหวาสู่สาธารณะได้ก็จะช่วยลดอุณหภูมิของความขัดแย้งลงได้
สื่อในฐานะ นายประตูข่าวสาร ( Gate Keeper ) ต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกประเด็น คัดเลือกภาพข่าว กลั่นกรองภาษา ในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งนี้อย่างระมัดระวังว่าการนำเสนอข่าวในแต่ละประเด็น จะเกิดผลกระทบ หรือ ผลข้างเคียงต่อใคร กลุ่มใด และสังคมไทยอย่างไรบ้าง การนำเสนอข่าวผ่านผู้นำทางสังคม หรือ ผู้ที่เป็นตัวเอกของข่าว เช่น องค์มนตรี นายกทักษิณ โฆษกรัฐบาล โฆษกฝ่ายค้าน รองนายกชิดชัย สนธิ มหาจำลอง นายสุริยะใส พระเปรมศักดิ์ พระพยอม หลวงพ่อคูณ ถือเป็นประโยชน์ในด้านการให้ข้อมูลความเป็นไปของเหตุการณ์ ซึ่งบางครั้งก็เพียงเพื่อใช้ในการหักล้างข้อมูลของอีกฝ่าย และเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มเท่านั้น มิได้เป็นการนำเสนอเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมเท่าใดนัก สื่อมวลชนควรจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ข้อเท็จจริง และเลือกบุคคลที่จะให้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีให้แก่สังคมได้ นั่นคือ
1. การนำเสนอความจริง ( Fact ) เกี่ยวกับที่มาที่ไปของปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง การเกิดม็อบและการขยายตัวทำให้มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มอาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประเด็นทางจริยธรรมของผู้นำ หรือประเด็นการปฏิรูปการเมือง เพราะเหตุใดจึงต้องมีการปฏิรูป การปฎิรูปก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งเกิดผลกระทบแตกต่างกันอย่างไร
2. การลดการนำเสนอข่าวสารที่จะยั่วยุให้เกิดความแตกแยก การนำเสนอภาพการหาเสียงของแต่ละฝ่ายที่มีลักษณะยั่วยุ การสาดโคลน หรือ ลากไส้กันและกัน โดยหวังเพื่อลดความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย
3. การนำเสนอในทุกมิติของสังคม ไม่เฉพาะมิติทางการเมือง มิติทางสังคม ซึ่งรวมถึงสังคมชนบท และสังคมเมือง และสังคมโลก การเรียนรู้ของภาคประชาชนต่อการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มิติทางจริยธรรมของผู้นำประเทศสำคัญอย่างไร มิติด้านความมั่งคงซึ่งไม่เฉพาะแต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ต้องมองถึงประเด็นทางด้านความมั่นคงทางสังคม การอยู่ดีมีสุขของคนทุกภาคส่วน
4. การนำเสนอข่าวสารต้องโยงใยให้เห็นได้ว่า การแก้ปัญหาที่ฝ่ายพันธมิตรต้องการให้นายกลาออก หรือ เว้นวรรคทางการเมืองนั้น จะเกิดผลดี ผลเสียอย่างไร และการที่นายกไม่ลาออกเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยนั้นจะช่วยให้สังคมก้าวเข้าสู่สันติสุข เกิดความสามัคคีของคนในชาติได้หรือไม่
การนำเสนอข่าวสารในภาวะความขัดแย้งนี้ สื่อที่ดีจะต้องรอบคอบในการเสนอข่าวความขัดแย้งซึ่งมีความละเอียดอ่อน การนำเสนอข้อมูลของผู้สื่อข่าวนั้นต้องไตร่ตรองประเด็นข่าวสารที่จะนำเสนออย่างรอบคอบอันจะช่วยให้สังคมหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งอย่างนุ่มนวลมากกว่าที่จะจุดไฟสุ่มเพิ่มระเบิดเวลาให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การนำเสนอควรจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่คนในบ้านเมือง ตรวจสอบข่าวสารแหล่งที่มาของข่าวอย่างละเอียด เพื่อไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีในยุคที่สังคมมีความสับสน ข่าวสารแข่งกันที่ความเร็ว ความสดมากกว่าความถูกต้อง ยิ่งทำให้สังคมเหนื่อยหน่าย หมดหวัง สื่อมวลชนถือเป็นอาชีพที่ช่วยค้ำชูไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่เป็นผู้ร่วมกันหาทางออกเพื่อจะให้เหตุการณ์ความขัดแย้งสงบลงด้วยสันติวิธีได้
(บทความเมื่อปี พศ.2549)