“สื่อโป๊…พลิกวิกฤติสู่โอกาส”

เวทีประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชนภาคตะวันตก/ตะวันออก
โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ
วันที่ ๑๙-๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(ที่มา teenpath.net)

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

สื่อโป๊...พลิกวิกฤติสู่โอกาส”

วิทยากร ๑. อ.สมยศ  ไชยภูมิสกุล  โรงเรียนบ้านรางสีหมอก  ราชบุรี

๒. คนสอนสื่อ ผศ.รุจน์  โกมลบุตร  คณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์

๓. คนเสพสื่อ คุณศยามล  ลิ้มตระการพงษ์  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ผู้ดำเนินรายการ อ.สุขใจ  ตวงประเสริฐ  ศึกษานิเทศก์ สพท.ฉท.๒

 

สมยศ ไชยภูมิสกุล โรงเรียนบ้านรางสีหมอก ราชบุรี นำเสนอเรื่องสื่อโป๊ว่า “จริงๆ แล้วสื่อโป๊เป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นศิลปะ แต่สื่อลามกเป็นความหยาบคาย เป็นภาพไม่สวยมีท่าแปลกพิสดาร แต่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างไร จะมีวัตถุประสงค์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่ทำเพราะความสะใจ ความชอบของครู

การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศสำหรับเด็ก จึงต้องมีการประชุมชี้แจงเพื่อให้เด็กๆ รู้ว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องเพศอะไรบ้าง เช่น เรื่องเยื่อพรหมจรรย์ หรือเส้นสองสลึง การสำรวจความต้องการที่นักเรียนอยากเรียนรู้และนำมาแยกแยะว่าเด็กควรจะได้เรียนรู้อะไรตามลำดับ และสร้างข้อตกลงก่อนที่จะเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่

เราจะนำเอาสื่อโป๊เข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ เป็นโอกาสดีที่ครูจะนำมาใช้ในการดูแลและปกป้องเด็ก ถ้าสื่อโป๊มีฉลากแนะนำการใช้และเสพ แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบันสื่อมีภาพโป๊อย่างเดียวหรือ การเขียนและอ่านแล้วทำให้เสียวขึ้นมาจะถือว่าเป็นสื่อโป๊ไหม หรือการตอบคำถามเรื่องเพศของหมอในคอลัมน์ต่างๆ ที่อธิบายอย่างละเอียดลออถือเป็นสื่อโป๊หรือเปล่า

เราสามารถสร้างสื่อการเรียนรู้เรื่องเพศจากสื่อโป๊ได้ ด้วยการนำสื่อโป๊มากำหนดวัตถุประสงค์โดยบูรณาการไปใช้ในวิชาอื่นๆ ได้นอกจากวิชาเพศศึกษา”

 

ศยามล ลิ้มตระการพงษ์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สะท้อนทัศนะในฐานะผู้เสพสื่อโป๊คนหนึ่งว่า “ตัวเองเคยอ่านสื่อโป๊ตอนที่อายุ ๑๔ และเคยได้ยินว่าเกือบทุกบ้านจะมีสื่อโป๊ จริงไหม เพราะเพศศึกษาไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ที่เด็กอยากรู้มากๆ คือเรื่องเพศสัมพันธ์ เพราะทัศนะของครูทำให้คนอยากเรียนรู้เรื่องอารมณ์ทางเพศ การจัดให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสัมผัส ลูบไล้ หรือการฉายหนังโป๊ในห้องเรียน อาจจะไม่ทำให้เด็กมีอารมณ์ เพราะบริบทมันแตกต่างกัน ครูเจอเด็กพกสื่อโป๊ ครูจะริบเอาไปดูเอง ทำให้เกิดมาตรฐานเชิงซ้อนขึ้นมา ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คือผู้ใหญ่ดูสื่อโป๊ได้แต่เด็กห้ามดู

ตัวเองเคยเห็นใครบางคนแล้วรู้สึกพึงพอใจ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เมื่อเราอ่านสื่อโป๊แล้วมีอารมณ์เพศ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนทำกันอย่างไร แต่ตอนเด็กมักจะถูกบอกว่า “ยังไม่ควรดู” จะต้องรอจนกว่าจะมีสามี แต่คิดว่าสื่อโป๊ก็มีมุมมืด เช่น การล่วงละเมิดและข่มขืน การสร้างทัศนะทางเพศระหว่างหญิงชาย เช่น เรื่องขนาดอวัยวะเพศ เรื่องทัศนะด้านลบ การริบสื่อจะทำให้เด็กไปหาสื่อใหม่มาดูแต่เราไม่มีทางจะปิดบังได้ เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้แยกแยะว่าอะไรคือจินตนาการ ความรื่นรมย์ การแสดง ข้อเท็จจริง หรือการกระทำบางอย่างเป็นการไปล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น”

ผศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายปรากฎการณ์สื่อโป๊ในมุมมองวิชาการ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามผู้ฟังว่า ”ใครเคยดูสื่อโป๊คนเดียว หรือดูหลายคน เพื่อชวนคุยในประเด็นเรื่องการเข้าถึงสื่อโป๊นั้น เราสามารถเข้าถึงสื่อโป๊ได้แต่จะมีความรู้สึกผิดบาปที่จะเปิดดู แม้มันไม่มีตัวตน แต่มันมีองค์ประกอบ ๒ เรื่อง ที่มากำกับพฤติกรรมทางเพศและกดทับความรู้สึกของเราได้ คือ หนึ่ง ความเชื่อที่มาจากพระเจ้า ที่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องผิดบาป และ ๒ ความเชื่อที่มาจากยุคสมัยกรีกโบราณ ที่บอกว่าการที่จะเป็นมนุษย์เต็มตัวจะต้องไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือความเป็นเหตุผล

เช่นเดียวกับที่รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องความชอบธรรมในการมีเซ็กส์ ๗ ประการ ซึ่งลองนำมาเทียบเคียงได้กับการดูสื่อโป๊ ดังนี้

๑.      คนจะมีเพศสัมพันธ์ได้ต้องแต่งงาน

๒.     การมีผัวเดียวเมียเดียว

๓.     ผู้หญิงต้องเงียบๆ ไม่แสดงออกในความหฤหรรษ์

๔.     ต้องมีเซ็กส์เพื่อสืบพันธุ์

๕.     จะต้องมีความโรแมนติค

๖.      เด็กไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กส์

๗.     เรื่องเพศห้ามเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ปรากฏในสื่อโป๊ทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม จึงทำให้เรารู้สึกผิดบาป

อึดอัดและไม่สะดวกใจที่จะดูสื่อโป๊

งานวิจัยเชิงคุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไปสัมภาษณ์คนเสพสื่อโป๊เพศชาย ๕ คนและเพศหญิง ๕ คน พบสิ่งที่น่าสนใจคือ

๑.       คำถามว่าเพศไหนควรเสพสื่อโป๊ คำตอบ คือ ผู้ชายบอกว่าผู้ชายควรใช้สื่อโป๊และผู้หญิงไม่ควรใช้ เนื่องจากไม่ดีงาม และคำตอบผู้หญิงบอกว่าผู้ชายใช้สื่อโป๊ได้ แต่ตัวผู้หญิงเองไม่ควรใช้

๒.      ใช้เพราะอะไร ทั้งสองเพศตอบคล้ายกันว่าเพื่อตอบสนองอารมณ์เพศและเป็นความทันสมัย

๓.       วิธีการใช้อย่างไร ทั้งสองเพศตอบว่า ใช้สื่อผ่านอินเทอร์เน็ต

๔.       ตอนใช้สื่อโป๊ทำอะไร เพศชายตอบว่าสำเร็จความใคร่ แต่เพศหญิงตอบว่าแชทไปด้วยและช่วยตัวเอง

นักวิจัยสรุปไว้ว่า “ผู้วิจัยไม่เชื่อว่าสื่อโป๊จะสามารถทำให้เสียคน เพราะคนที่ถูกสัมภาษณ์ทั้งหมดเป็นคนที่ทำงานดีแม้ว่าทุกคนจะเคยใช้สื่อโป๊”

 

สมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คิดว่าที่สื่อโป๊แพร่ระบาดไปเร็ว เพราะสอดคล้องกับความอยากรู้อยากเห็นและตอบสนองความต้องการทางเพศโดยใช้สื่อ และการตลาดทำให้สื่อแพร่หลาย เพราะทำให้คนเข้าถึงง่าย ขายถูกและเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ พอผู้ใหญ่ซื้อสื่อมาดูแล้วไม่เก็บให้ดีเด็กจึงเอามาเปิดดูกันแล้วนำไปสู่ปัญหามั่วสุม”

 

ศยามล แสดงทัศนะต่อการดูสื่อโป๊ว่า “รู้สึกว่าทำไมต้องตั้งคำถามมากมายกับการเห็นคนมีเพศสัมพันธ์กัน หรือคนจูบกัน คิดว่า ระบบเซ็นเซอร์ทำให้ไม่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันได้ในสื่อโป๊ การทำให้คนคิดเป็น แยกแยะได้กับเรื่องที่ในชีวิตจริงเราทำไม่ได้ น่าจะสำคัญกว่าการทำให้คนไม่กล้าบอกความรู้สึกความต้องการในการแสดงอารมณ์ทางเพศ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้เกี่ยวกับการเสพสื่อโป๊ประเภท “แอบถ่าย” เพราะคนในภาพเขาไม่รู้ตัวว่าจะให้คนอื่นดูกันอย่างแพร่หลาย คนชอบดูแล้ววิพากษ์วิจารณ์แต่ดูแล้วสำเนาส่งต่อโดยไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นการสร้างความรุนแรงกับคนอื่น เด็กไม่มีทางเลือกให้มีเพศสัมพันธ์ได้ เขาจึงไปแอบมีเพศสัมพันธ์กันในสวนสาธารณะทำให้คนไปแอบดูและแอบถ่ายนำมาเผยแพร่ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ถูกแอบถ่าย”

 

ผศ.รุจน์ เพิ่มเติมและสรุปในตอนท้ายว่า ”เมื่อกฎกติกาไม่อนุญาตให้ใช้สื่อโป๊ แต่นักเรียนเสพสื่อโป๊ เราซึ่งเป็นครูจะมีทางเลือกในบทบาท ๓ แบบ คือ หนึ่ง เจอที่ไหนริบแม้จะรู้ว่าเด็กมีรหัสผ่าน สอง ทำไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องสนใจเพื่อทำให้ความอยากรู้ อยากเห็นและท้าทายครูของเด็กลดลงจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา และสามคือมองให้สื่อโป๊เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาซึ่งน่าจะทำได้ เช่น ชวนเด็กดูสื่อแล้วชวนคุย ดังนี้

๑.      ดูความไม่จริงในหนังโป๊ (ขนาด การครวญคราง การหลั่งข้างนอก น้ำกาม ฯลฯ)

๒.     ดูบทบาทผู้หญิงผู้ชายกับเรื่อง Gender

๓.     ชวนคิด ไม่ใช่แค่ถามเด็กว่าดูหรือยัง แต่เปลี่ยนเป็นควรดูหรือไม่ เพราะอะไร

๔.     ชวนคุยเรื่องอุตสาหกรรมทำหนังโป๊ ซึ่งทำให้เห็นเรื่องธุรกิจและโอกาสเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน

สรุปว่าเรื่องเพศกับเรื่องสื่อโป๊ไม่แตกต่างกัน ขึ้นกับมุมมองและทัศนคติต่อเรื่องเพศของบุคคล

เพราะเคยถามเด็กที่ดูหนังโป๊ว่าดูแล้วเป็นอย่างไร เด็กตอบว่าเฮฮา ทำในหอพักตอนเช้าก็มาเรียน แต่เมื่อถามว่าคิดอย่างไรถ้าน้องชาย หรือน้องสาวจะดูหนังโป๊ เด็กตอบว่าไม่อยากให้ทำ เพราะกลัวพลาด ทั้งที่ตัวเองทำแล้วยังเรียนดี แต่ด้วยความห่วงใย แม้จะเป็นวัยรุ่นด้วยกันก็ยังห่วง เพราะกติกา ๗ ข้อ ที่บอกว่า ”ไม่ถูกต้อง” ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าตัวเองทำและเคยผ่านมาได้ แต่ไม่คิดว่าถ้าน้องทำแล้วจะผ่านได้ ในขณะเดียวกันเรื่องเพศขายได้ แต่มาตรฐานไม่เท่ากัน เพราะสื่อโป๊ขายได้แต่เรื่องถุงยาง เรื่องความรื่นรมย์ทางเพศพูดไม่ได้”