จากความยุ่งยากสู่ภาวะท้าทายคนทำข่าว

 

จากความยุ่งยากสู่ภาวะท้าทายคนทำข่าว

 

ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา คนทำข่าวต้องผ่านเหตุการณ์ร้อนหนาวหลายอย่าง ตั้งแต่การถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมจากกรณีอีเมล์ฉาวในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นไม่นาน ก็เข้าสู่ช่วงมหาอุทกภัยที่คนทำงานข่าวต้องประสบความยุ่งยากทั้งในการรายงานข่าวและอีกจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร และระดับคนทำงานข่าวที่ต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบและช่องทางรายงานข่าวที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงผลกระทบของสื่อออนไลน์ที่เริ่มส่งผลต่อยอดจำหน่ายของหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับจนทุกค่ายต่างต้องเริ่มปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มากับเทคโนโลยีการสื่อสารที่นับวันจะทำให้พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชนมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าสื่อไหนสามารถปรับตัวให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมก็รักษาเม็ดเงินโฆษณาที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงสื่อทั้งหลายตลอดมา

เมื่อองค์กรสื่อที่เป็นธุรกิจได้รับผลกระทบ คนทำงานข่าวก็ย่อมได้รับผลกระทบในด้านรายได้และสวัสดิการเช่นเดียวกัน ดังนั้น งานสำคัญเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ การส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานข่าวหรือที่หลายคนเรียกตัวเองว่า “นักข่าวภาคสนาม” สามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกในการคุ้มครองและดูแลสวัสดิการที่พึงจะได้รับจากต้นสังกัดอย่างเป็นธรรมและอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจกัน

การที่นักข่าวไม่ได้รับสวัสดิการที่พอเพียงและสมน้ำสมเนื้อกับงานที่ทำอยู่ย่อมส่งผลถึงคุณภาพของงานข่าว รวมทั้งอาจมีปัญหาในด้านจริยธรรมตามมาอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้ หรือที่หลายคนตั้งคำถามว่า อาชีพนักข่าวนั้น ทำหน้าที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนทั้งสังคม แต่พอถึงเรื่องของตัวเองกลับไม่มีใครมาช่วยดูแล

ที่ผ่านมานักข่าวไทยอาจจะโชคดีกว่านักข่าวในประเทศอื่นๆ ที่ต้นสังกัดส่วนใหญ่ให้การดูแลด้านสวัสดิการดีพอสมควร ในยาวที่องค์กรต้องประสบภาวะยากลำบาก ก็มีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอีกหลายองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนทำข่าวเท่าที่ควร

ดังนั้น ภารกิจในการส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติงานข่าวเพื่อสร้างกลไกการดูแลด้านสวัสดิการ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จะต้องร่วมกันสานต่อให้เป็นรูปธรรม

นอกจากปัญหาด้านสวัสดิการที่เป็นปัญหาท้าทายที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแล้ว งานด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคล ก็ยังคงถือเป็นงานหลักของสมาคมฯ ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบของการแทรกแซงจำกัดเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมามีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลทางการเมืองที่แทรกซึมเข้าไปกำหนดให้อิทธิพลทางธุรกิจเข้ามาแทรกแซงองค์กรสื่อ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงปัญหากลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นที่นับว่าจะกลายเป็นอุปสรรคในการรายงานข่าวปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นทุกที

จากความซับซ้อนของการแทรกแซงสื่อดังกล่าว ทำให้การทำหน้าที่ของคนทำข่าวมีความยุ่งยากและท้าทายความเป็นมืออาชีพของคนทำข่าวมากขึ้น เพราะการผลิตผลงานข่าวคุณภาพที่เน้นการตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลในแวดวงต่างๆ ของสังคมไทย ย่อมยากลำบากมากขึ้นตามไปด้วย

หนทางที่คนทำข่าวในวันนี้ จะก้าวผ่านความท้าทายทั้งหลายไปได้อย่างสง่างามคือ ต้องผนึกกำลังกันตั้งคำถามกับสภาพการทำงานในปัจจุบันและร่วมกันถกคิดหาทางออกที่นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติของวิชาชีพร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การที่คนข่าวส่วนใหญ่ยังสามารถดำรงศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพเอาไว้อย่างเหนียวแน่นท่ามกลางภาวะความยุ่งยากในปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรแก่การยกย่องชื่นชมและถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าพวกเราจะสามารถก้าวผ่านความท้าทายที่อยู่ข้างหน้าไปได้ด้วยกันในที่สุด...

 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

(สารจากนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในหนังสือวันนักข่าว ปี 2555)