คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ
การปฏิรูปสื่อคืออะไร
หัวใจของการปฏิรูปสื่อ คือการยกเลิกการผูกขาดการครอบครองคลื่นความถี่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์โดยหน่วยงานของรัฐ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยไม่ต้องใช้ระบบการวิ่งเต้น และการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เหมือนเช่นในปัจจุบัน การปฏิรูปสื่อยังจะก่อให้เกิดเสรีภาพในการนำเสนอรายการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว รายการบันเทิง รายการส่งเสริมวัฒนธรรม หรือความเป็นท้องถิ่น โดยไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจการเมืองหรืออำนาจธุรกิจ
ในปัจจุบันนี้ สถานีวิทยุทั้งสิ้น 523 คลื่น ทั่วประเทศ ถือเป็นทรัพย์สมบัติของหน่วยราชการ การปฏิรูปสื่อจะนำไปสู่การกระจายการถือครองคลื่นเหล่านี้ไปยังภาคประชาชน และภาคธุรกิจ เพื่อทำให้เกิดความหลากหลายและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ในการให้บริการแก่ประชาชน
ใครบ้างจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปสื่อ?
ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปสื่อมากที่สุด ประชาชนจะได้รับฟังและรับชมรายการที่มีคุณภาพ ความหลากหลาย และสาระประโยชน์มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนยังจะสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์ แทนที่จะเป็นผู้รับสารแต่ด้านเดียวอย่างเช่นในปัจจุบัน
การปฏิรูปจะทำให้สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอรายการต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ถูกปิดกั้นจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและหลากหลาย
ประชาชนควรจะเตรียมตัวอย่างไร จึงจะมีส่วนร่วมในการบริหารคลื่นความถี่หลังการปฏิรูป
ประชาชนสามารถรวมตัวเป็นสมาคม/นิติบุคคล เพื่อร่วมขอจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งเพื่อการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์สำหรับชุมชนท้องถิ่น หรือแม้แต่เพื่อการพาณิชย์
แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องจับตากระบวนการปฏิรูปคลื่นความถี่ ทั้งในส่วนของการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และส่วนของการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และไม่ให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจการเมืองหรืออำนาจธุรกิจ
กสช. คืออะไร
กสช. เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปสื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นักจัดรายการและผู้ผลิตรายการอิสระจะตกงานเพราะการปฏิรูปสื่อจริงหรือไม่?
ไม่จริงเลย ตรงกันข้ามนักจัดรายการและผู้ผลิตรายการอิสระจะได้รับโอกาสมากขึ้นในจัดรายการและผลิตรายการให้กับสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากรายตามสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จะมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อม ๆ กับการหมดไปของระบบเส้นสาย และการจ่ายเงินใต้โต๊ะ
ผู้ผลิตรายการอิสระจะได้รับการคุ้มครองให้มีโอกาสในการผลิตรายการให้กับสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์มากขึ้น ในขณะที่การแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นและการเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่นภายใต้การปฏิรูปสื่อ จะทำให้ผู้จัดรายการอิสระมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น
ปฏิรูปสื่อแล้วจะเหลือแต่รายการข่าวหรือรายการที่มีแต่สาระ โดยไม่มีรายการบันเทิงจริงหรือไม่?
ไม่จริงเลย การปฏิรูปสื่อจะทำให้เกิดความหลากหลายของรายการต่างๆ มากขึ้น โดยจะทำลายการผูกขาดสัมปทานที่ปัจจุบันอยู่ในมือของนักธุรกิจบันเทิงไม่กี่กลุ่ม การแข่งขันที่เป็นธรรมจะทำให้รายการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวสารสาระ หรือรายการบันเทิง มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้ชมและผู้ฟังมากกว่าที่เป็นอยู่ และทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น
การปฏิรูปสื่อยังจะทำให้เกิดการส่งเสริมการผลิตรายการบันเทิงที่มีสาระ รายการที่เกี่ยวข้องการวัฒนธรรมท้องถิ่น รายการสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส และรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันถูกกีดกันโดยเจ้าของสถานีหรือเจ้าของเวลา ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ
กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับรายการบันเทิงต่าง ๆ เช่น นักร้อง นักแสดง และพิธีกร จะมีโอกาสในการใช้คลื่นความถี่มากขึ้น เพราะรายการต่าง ๆ จะมีความหลากหลาย และมีการแข่งขันกันอย่างเสรีมากขึ้น
Conflict of interest หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนคืออะไร
กลุ่มผู้ถือสัมปทานคลื่นความถี่บางกลุ่มและหน่วยราชการที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่บางหน่วยได้พยายามส่งตัวแทนเขาไปยึดครองที่นั่งใน กสช. ด้วยความหวังที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจะมีผลให้การปฏิรูปสื่อไม่เป็นไปตามเจตนรมณ์ของรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน และจะเป็นการปิดกั้นโอกาสของประชาชนที่จะได้เข้าไปมีส่วนในการใช้คลื่นความถี่อย่างแท้จริง
รัฐบาลและหน่วยราชการยังจะแทรกแซงสื่อได้อีกหรือไม่ หลังการปฏิรูปสื่อ
หากมีการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง รัฐบาล หรือหน่วยราชการไม่มีอำนาจทางกฏหมายที่จะแทรกแซงสื่อได้ เนื่องจากคลื่นความถี่ทั้งหลายจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสช.) ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของ กสช. จึงเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อ