เสวนากลุ่มนักหนังสือพิมพ์อาวุโส-“อุดมการณ์คนข่าวอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต”

เสวนากลุ่มนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

"อุดมการณ์คนข่าวอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต"

เขียนโดย ศศิชา อิสระศรีโรจน์

ภายใต้สถานการณ์ที่สื่อในยุคปัจจุบัน ได้เปลี่ยนจากยุคอนาล็อกเป็นยุคดิตอล ทำให้เกิดการหลอมรวมสื่อต่างๆ เกิดขึ้น กลายเป็นพื้นที่สื่อใหม่  อาทิ ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี หนังสือพิมพ์ออนไลน์ วิทยุออนไลน์ วิทยุท้องถิ่น และโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ได้ทำให้นักข่าวยุคใหม่ต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของแวดวงสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น นักข่าวยุคปัจจุบันได้มีการนำเสนอข่าวสาร ที่เน้นการช่วงชิงพื้นที่ข่าวที่เน้นความฉับไว จนความลุ่มลึกของเนื้อหาข่าวถูกลดทอนลง โดยเฉพาะอุดมการณ์ของนักข่าวที่เปลี่ยนไปที่ความเข้มข้นในการต่อสู้เพื่อ สิทธิ และเสรีภาพ เหลือน้อย เต็มที

ต่อเรื่องดังกล่าวนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชนในการรับรู้และแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ในวันนี้ครบ 60ปี และยังถือกำเนิดเป็นวันนักข่าว หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีที่ผ่านมา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงจัดให้มีงานเสวนากลุ่มนักหนังสือพิมพ์อาวุโส หัวข้อ “อุดมการณ์คนข่าวอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” ณ ห้องอาหารจีน ชั้น 5โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท ประตูน้ำ เขตพญาไท กรุงเทพฯโดยมีคุณยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล ทำหน้าที่บรรยายสายข่าวการเมือง คุณสันติ เศวตวิมล  อดีตหัวหน้าข่าวสายสังคม-บันเทิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา แม่ช้อยนางรำ ทำหน้าที่ บรรยายสายข่าวอาชญากรรม  คุณศุภเกียรติ ธารณกุล จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำหน้าที่บรรยายสายข่าวเศรษฐกิจ คุณประกิต หลิมสกุล ที่ปรึกษาหัวหน้ากองบรรณาธิการไทยรัฐและคอลัมน์นิสต์ กิเลนประลองเชิง ทำหน้าที่บรรยาย สายช่างภาพ โดยมีคุณบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน และรองโฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ การรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์ ระดับครูของวงการสื่อมวลชนครั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดถึงประสบการณ์วิชาชีพในการทำข่าว ที่แต่ละคน คร่ำหวอดผ่านสมรภูมิ ทำข่าวเสี่ยงเป็น เสี่ยงตายในอดีต เจอทั้งถูกข่มขู่ คุกคาม เกือบเอาชีวิตไม่รอด หรือแม้กระทั่งความยากลำบากที่อาชีพสื่อมวลชน เงินน้อย แต่ด้วยความที่มีสายเลือดวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่เต็มเปี่ยม จึงทำให้ในวันนี้ วงการหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อแรกที่ถือกำเนิดขึ้น ยังคงดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน ด้วยเกียรติ์และศักดิ์ศรี

สันติ เศวตวิมล อดีตหัวหน้าข่าวสายสังคม-บันเทิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ย้อนรำลึกไปถึงสมัยที่หนังสือพิมพ์ยังมีอิทธิพลมากกว่ายุคปัจจุบัน โดยครูสันติได้พูดในวงเสวนาให้ฟังถึงเรื่องรายได้โฆษณาภาพยนตร์ที่นสพ.ไทยรัฐ มีการแข่งขันดุเดือด ถึงกันสั่งเก็บ

“การแข่งขันลงโฆษณาหน้าบันเทิง นสพ.ไทยรัฐ ราคาสูงลิบ ก่อนที่ผมจะมาดูแลในส่วนนี้ ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ในชีวิตการทำงานของผมก็ว่าได้  ตอนนั้นผมทำหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แล้วมีอยู่วันหนึ่งผอ.ไทยรัฐมาหาผม บอกไว้ใจผมที่สุด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้าบันเทิงมีการแข่งขันรายได้โฆษณากันดุเดือด ถึงกับจะฆ่ากันตาย

“ซึ่งผมได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญ โดยดูแลหน้า 13 ของไทยรัฐ ซึ่งหน้า 13 ในอดีต เป็นหน้าบันเทิง ผอ.พูดกับผมว่า ‘กูต้องเอาคนของกู เพราะหน้านี้มันคอร์รัปชั่น แดกกันเยอะ กูรู้ เพราะว่ากูเคยเป็นเจ้าของบริษัท กุหลาบทิพย์ ภาพยนตร์ อยู่ท่าพระจันทร์มาก่อน และเป็นหน้าที่กูหาเงินได้มากที่สุด' อาจเรียกได้ว่า โฆษณาหนังสือพิมพ์ รายได้หลักอยู่ที่โฆษณาหนังไทย และก็หน้า 12 ทั้งหน้า ที่ต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเดือนนะครับ และก็ค่าจองแพงที่สุดในนี้ เดลินิวส์คู่แข่งรู้ดี”

ครูสันติเล่าต่อไปว่าการเข้ามาดูแลในส่วนหน้าบันเทิง ยังมีจุดเริ่มต้นที่สร้อยคอ ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังคงใส่อยู่ ซึ่งเป็นเสมือนโซ่ตรวนคล้องใจ ที่ได้ประกาศถึงความเป็นลูกพี่ ลูกน้องร่วมสายเลือด ของสำนักพิมพ์หัวเขียว แห่งนี้

“ผมก็ได้สร้อยคอจากผอ.มา และมีอยู่ 3 คนเท่านั้นที่ได้  ผอ.บอก ‘ไอตี่มึงเป็นหมาของกู มึงต้องถูกล่ามโซ่ สร้อยนี้มึงถอดไม่ได้ เพราะมึงเป็นเด็กของกู ใครเตะหมากูเท่ากับเตะกูด้วย' ทีนี้ผมก็ไม่กลัวใครล่ะครับ ผอ.ใหญ่จริง เป็นเหมือนลมใต้ปีกของผม”

ต่อมาครูสันติก็ได้ดูแลหน้า 13โดยมีนโยบายที่กำชับเรื่องติดสินบนสื่อมวลชน แหล่งข่าวให้ของอะไรมาจะพิจารณาแต่ความเหมาะสม ว่าควรรับ หรือไม่รับ  โดยเฉพาะถ้าเป็นเงินเมื่อไหร่ ถือว่าคอร์รัปชั่น นั่นจึงทำให้ตลอดระยะเวลา 50 ปี ของการเป็นสื่อมวลชน ครูสันติยึดหลักการนี้มาตลอด  คือ ไม่รับสินบน

จนมาถึงเหตุการณ์ที่ไปมีเรื่องกับมาเฟียที่ครูสันติเล่าว่า โดนสั่งให้ลงข่าวแจก หน้า 1แต่ได้ขยำข่าวนั้นทิ้ง จนทำให้เกิดเรื่องใหญ่ตามมา

“ตอนนั้นมีข่าวแจกส่งเข้ามา เขียนระบุว่า ‘ลงวันนี้ ฉบับนี้ด้วย ขอขึ้นหัว’ ถึงตรงนี้ ผมทำงานมาเกือบ 30 ปี ยังไม่เคยเห็นมีสำนักพิมพ์ที่ไหน บริษัทไหน หรือองค์กรที่ไหน บังคับให้ลงข่าวหัว หน้า 1 ทีนี้ก็ไม่ลง ขยำทิ้งเลย ก็เลยเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น

เจ้าพ่อบันเทิงโทรศัพท์มาข่มขู่ ครูสันติในวันนั้น

“เฮ้ย มึงแน่นักหรอ กูสั่งให้ลง ทำไมไม่ลง”

ครูสันติจึงพูดด้วยความเป็นเหตุเป็นผลถึงการไม่ลงข่าวให้ในครั้งนี้ จะมาข่มขู่บังคับ ไม่ใช่วิถีของนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งนั่นก็ได้แสดงให้เห็นถึง การรักษาเกียรติ์ และความถูกต้องของวิชาชีพสื่อมวลชนเอาไว้

“ผมบอกเฮียครับ การที่ขอลงข่าวอ่ะครับ หนังสือพิมพ์ก็ต้องลงให้ แต่ว่าเป็นการไปบังคับขอข่าวหัว มันไม่ได้ มันเกินไป เขาก็บอกมึงเจอกูแน่ ทีนี้ผมเจอเป็นชุดเลยครับ ครั้งแรกถูกลอบยิง เขาปิดล้อมยิงผมที่โชคชัยคลับ แต่ตอนนั้นโชคดีที่ว่าผมมีเพื่อนช่วยไว้ได้ ก็เลยรอดตายมาได้”

และก็มีอีกครั้งหนึ่ง ที่ครูสันติเกือบโดนเก็บ เป็นจังหวะที่นั่งรถเบนซ์ไปกับผอ.ไทยรัฐ

“ผมนั่งอยู่หน้า และมีคนยิงมาทางผอ.นี่คืออาชญากรรมจริงๆ แต่ว่าธรรมะรักษาผู้ประพฤติธรรม ทำให้ไม่เป็นอะไร รอดตายมาได้”

การทำอาชีพสื่อมวลชนเรียกได้ว่า อะไรก็ตามที่มีผลประโยชน์แอบแฝง สิ่งนั้นจะมีอาชญากรรมตามมาเพราะวงการบันเทิงในอดีตผลประโยชน์มหาศาล และยังเต็มไปด้วยมือปืน นักเลง ไปจนถึงระดับเจ้าพ่อวงการบันเทิง

ครูสันติได้พูดถึงมิติสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันที่ความเข้มข้น ที่จะกล้างัดข้อกับนายทุนที่เข้ามาแอบแฝงผลประโยชน์ ที่นักหนังสือพิมพ์จะรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีให้สง่างามเฉกเช่นนักหนังสือพิมพ์ในอดีต เลือนรางเต็มที โดยเฉพาะเรื่องรับสินบน หรือทำข่าวแสวงหาผลประโยชน์ก็ตาม

“นักหนังสือพิมพ์มันควรจะสง่างาม และรักษาศักดิ์ศรีเอาไว้ประดับวงการสื่อมวลชน มันจึงจะเข้มแข็ง อย่าให้นายทุนมาซื้อตัวเราไปได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากนักข่าวรุ่นใหม่ คือการรายงานข่าวอย่าให้เหมือนก็อปปี้กันมา บางครั้งที่เห็นเขียนเหมือนกับนิยายไปเลยก็มี คือ วัน เวลา สถานที่ ไม่มีระบุ ซึ่งต่างกับในอดีตที่ฉบับไหนมีสกู๊ป จะเป็นเรื่องที่ฮือฮามาก แล้วมันก็จะตัดสินแพ้ ชนะกันด้วยสกู๊ปนั่นเอง”

ครูสันติยังฝากไปถึงนักข่าวสมัยนี้ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำข่าว อย่าให้เทคโนโลยี ลดความสามารถในการทำข่าว ที่ไม่ใช่ว่าจะอาศัยแต่เทคโนโลยี แต่ทักษะรายงานข่าวยังต้องฝึกฝน

“ในอดีต นักข่าวจะทำทุกอย่างทั้งถ่ายภาพ จดข่าวใส่กระดาษ ผมว่าคุณภาพของนักข่าว ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นพี่ เก่งกว่าผมเยอะ นักข่าวรุ่นใหม่ต้องทำให้ได้”

นั่นจึงถือว่าเป็นการต่อสู้ ในเรื่องการทำข่าว ที่ครูสันติได้ให้ข้อคิด และสะท้อนให้นักข่าวรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้

ศุภเกียรติ ธารณกุล หนังสือพิมพ์อาวุโส จากนสพ.ไทยรัฐ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายสายข่าวเศรษฐกิจต่อไปว่าสำหรับบทบาทอาชีพของนักข่าวสายเศรษฐกิจในอดีต เวลาเดินเข้า ออกธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนกับไปทำจารกรรมข้อมูลเลยว่าได้ ทั้งยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก ที่ต้องเสียสละ ถึงขนาดยอมควักเงินส่วนตัว เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าทำข่าวในการเดินทาง และเลือกที่จะคืนซองขาวแก่นายทุน

“การเริ่มต้นเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจ ในอดีต สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นได้ถือกำเนิดขึ้น แต่ก็ไม่มีนักข่าวไทยที่รู้เรื่องหุ้นมากนัก อีกทั้งหนังสือพิมพ์ไทยก็ไม่มีหน้าข่าวเศรษฐกิจ ปีหนึ่งจะลงข่าวเศรษฐกิจ แค่หนสองหนเท่านั้น จะเป็นข่าวพวกงบประมาณรายจ่ายประจำปี และข่าวที่มีการพัฒนาใหม่ๆเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่”

ครูศุภเกียรติเล่าให้ฟังถึงจังหวะที่โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องน้ำมัน ทำให้เกิดความคิดที่ว่า น่าจะมาตั้งกลุ่มนักข่าวสายเศรษฐกิจขึ้นมา

“พอรวมกลุ่มกันได้แล้ว ทีนี้ปรากฏว่า ตอนไปทำข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อไหมเหมือนกับไปทำจารกรรมข้อมูลไม่มีผิด เพราะไม่มีหน่วยประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูล ให้ความรู้แก่เรา พอถามเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไทยมีเท่าไหร่ เงินสะพัดในท้องตลาดมีเท่าไหร่ ไม่มีใครเขาบอกข้อมูล ต้องพยายามหากันเอง เพราะข่าวด้านการเงินเป็นความลับหมด ฉะนั้นนักข่าวสายเศรษฐกิจจึงเหมือนนักจารกรรมข้อมูล  จนกระทั่งต่อมาได้มีกลุ่มประชาสัมพันธ์ในเรื่องข้อมูล มาให้ความรู้แก่พวกเรา”

ต่อมาจึงทำให้มีคนเข้าชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จาก8 คน เป็น 16 คน และมากกว่า 30 คน และก็มีประชาชนให้ความสนใจข่าวเศรษฐกิจกันมากขึ้น

“เมื่อก่อตั้งกลุ่มนักข่าวเศรษฐกิจขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นความยากลำบากเลยก็คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย ขณะที่วงการโลกภายนอกเมื่อเห็นเรารวมตัวกันขึ้นแล้ว นายทุนเขาประชิดเราไม่ปล่อย ในเรื่องของผลประโยชน์ แต่เราก็ยึดหลักการวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องมีความซื่อสัตย์ โดยเราได้หาเงินเข้ากลุ่มนักข่าวเศรษฐกิจกันเอง เพื่อผดุงฐานะของกลุ่มนักข่าวเอาไว้ จนทำให้ในวันนี้ ฐานะของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีเงินไม่รู้กี่ล้านบาท เพราะจากการเติบโตมาจากชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จากสโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ แล้วขึ้นมาสู่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย โดยทั้งสามขั้นตอน ใช้เวลาดำเนินการเกือบ 20 ปี”

การที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีวันนี้ได้ สิ่งหนึ่งที่น่ายกย่อง คือ ความซื่อสัตย์ ที่ไม่รับเงินแหล่งข่าวที่เป็นวิธีการไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะมอบให้โดยต่อหน้าหรือลับหลัง ยื่นซองขาวให้ ครูศุภเกียรติก็รวบรวมไปคืนให้หมด นั่นคือสิ่งที่ได้เน้นย้ำให้ฟัง ในวงเสวนา

ครูศุภเกียรติได้เล่าให้ฟังต่อไปว่ายังจำเหตุการณ์ตอนที่เก็บเงินภายในชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เพื่อเช่ารถเดินทางไปประชุมกันเอง และได้เอาเงินที่เก็บรวบรวมตรงนั้น มาจ้างแม่ครัวทำกับข้าวกิน ในกลุ่มผู้สื่อข่าวด้วยกันเอง ซึ่งก็เป็นความประทับใจ มิรู้ลืม

“เหตุการณ์ตอนนั้นได้เช่ารถบัสมาคันหนึ่ง โดยได้เก็บเงินคนละ 10 บาท เพื่อเป็นค่ารถในการเดินทางไปประชุมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และยังได้ไปจ้างแม่ครัวคนหนึ่ง ที่ขายข้าวแกงอยุ่ใต้ถุนกรมประชาสัมพันธ์ ใครๆก็เรียก' เจ๊หล่า' จ้างให้มาแกงเนื้อหนึ่งหม้อ และก็หุงข้าวหม้อใหญ่ ตักกินกัน เอร็ดอร่อย”

และทำให้ในวันนี้เรียกได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หลายที่ในปัจจุบัน แทบจะมาโอบอุ้มผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่ครูศุภเกียรติได้บอกว่ามีตั้งแต่ให้ไปดูกิจการกระบวนการผลิต หรือแม้กระทั่งจะให้ไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน เป็นในรูปแบบนี้  บ่อยครั้ง

นอกจากนั้นภายในวงเสวนาครูศุภเกียรติยังได้ฝากข้อคิดในการดำเนินงานไปถึงคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจคนใหม่ โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีประเทศไทย มีแค่ 0.7 เปอร์เซ็นเท่านั้น อย่าคิดว่าเป็นตัวเลขเพื่อปลอบใจ เพราะขณะที่อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ  กำลังแข็งข้อต่อสู้กับอเมริกา

“เงินบาทมันถูกอาเซียนด้วยกัน 10 ประเทศ ที่ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นจริงมีการซื้อขาย กันด้วยเงินบาทสดๆ ตามชายแดนนอกประเทศเรา ที่มีมานานกว่า 50 ปี เราควรจะถือโอกาสนี้เปิดให้เงินบาท เป็นเงินกลางของ 10 ชาติอาเซียน

“และในขณะที่เงินบาทของไทยแข็งค่าเกินไป ถ้าให้ดีต้องมีการควบคุมเงินบาทให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะที่ทำการเงิน การธนาคาร ควรจะกระทุ้งเรื่องนี้ให้มาก ว่าเราควรจะเปิดการใช้เงินบาทในกลุ่มอาเซียน เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ”

ประสบการณ์วิชาชีพของผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ แน่นอนว่า ต้องเผชิญกับการล้มลุกคลุกคลานมิใช่น้อย แต่สิ่งหนึ่งก็คือ การรักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ ไม่รับซองขาวที่ได้เชิดหน้า ชูตา ในวงการสื่อมวลชนอย่างน่ายกย่อง

ยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล ได้บรรยายสายข่าวการเมืองให้ฟังเป็นอันดับถัดมา โดยการทำข่าวเต็มไปด้วยความท้าทาย และน่าตื่นเต้น ทำให้รู้เหตุการณ์ได้ก่อนใคร อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงจุดหมายได้รวดเร็ว เพราะชื่นชอบการทำงานที่ฉับไว กระฉับกระเฉง

“ในอดีตผู้สื่อข่าว อย่างรุ่นเดอะ เป็นแบบอย่างที่ดีนะ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นอย่างที่ใครเขาว่าอาชีพนักข่าวจะไส้แห้ง โดยเฉพาะนักข่าวหญิงสมัยก่อนนี่ดังมาก เพราะได้มีโอกาสเข้าเฝ้า และสัมภาษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระองค์ท่านทรงชักชวนให้ไปทำประโยชน์ ไปสร้างโรงเรียนตชด. ทำให้ตอนนั้นมีความประทับใจว่าเราได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม และภูมิใจกับอาชีพนักข่าวมาโดยตลอด

ครูยุวดีบอกเล่าถึงการเข้าสู่สนามนักข่าวที่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีนักข่าวหญิงที่จะตามข่าวการเมือง แต่สำหรับครูยุวดีนั้นชื่นชอบ จนกระทั่งตอนหลังได้แยกเป็นนักข่าวการเมืองกับสายทหาร จากนั้นก็ลุยงานการข่าวมาตลอด

“ในอดีต ช่วงที่เราทำข่าวการเมือง กับสายทหาร ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับความทุกยาก เศรษฐกิจตกต่ำ ต้องปิดไฟเป็นเวลา ตอนนั้นพล.อ.อ. ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ท่านอยากได้เอฟ -16 เป็นหน้าเป็นตา ทำยังไง ในฐานะที่พวกเรานักเป็นนักข่าว ก็ช่วยกันเชียร์จนทหารซื้อมาได้ ซึ่งนั่นก็คือความสามารถของนักข่าวที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาตินั่นเอง”

ทว่าไม่เหมือนกับยุคปัจจุบันที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ

ครูยุวดียังเน้นย้ำถึงการทำข่าวการเมืองที่สมัยก่อนทำงาน ก็ต้องสร้างข่าว สร้างความไว้วางใจ แต่เมื่อมามองเห็นนักข่าวยุคปัจจุบัน ตรงกันข้ามสิ้นเชิง ที่แต่ละสำนักข่าวก็ปล่อยนักข่าวทำงานโดยไม่มีการตรวจสอบ การรายงานข่าวให้ถี่ถ้วน

“อยากฝากไปถึงนักข่าวรุ่นใหม่ด้วยว่าเดี๋ยวนี้เป็นยุคดิจิตอล ที่ก็อปปี้กันเป็นว่าเล่น แล้วไปรีไรท์กันนิดหน่อย ขอให้ปรับเปลี่ยนใหม่ สนใจทำข่าวเจาะกันหน่อย เพราะมันเหลือน้อยลงเต็มที”

อีกทั้งครูยุวดียังฝากข้อคิดไปถึงนักข่าวรุ่นใหม่ว่าการเป็นสังคมก้มหน้า ใช้เทคโนโลยีในการเขียนข่าว ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบ เพราะเขียนค่อนข้างผิดกันเยอะ แหล่งข่าวคนนี้เป็นใคร  ตำแหน่งอะไร จากที่ไหน ตัวย่อนี่มันหมายถึงใคร

“หาไปเถอะว่าสมชาย นามสกุลอะไร เขาเป็นใคร อ่านจนย่อหน้าหนึ่งแล้วยังไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใคร นึกขำเหมือนกันว่าอะไร แล้วเขาก็ปล่อยข่าวออกมาได้ โดยไม่ตรวจตรา มันน่าห่วงนะ ในยุคปัจจุบัน ถ้าเราปล่อยให้มีนักข่าวแบบนี้ วิชาชีพสื่อมันจะหมดไป แล้วในการต่อสู้ รุ่นพ่อ รุ่นพี่ ซึ่งถ้าถัดจากรุ่นเรายังพอได้อยู่นะ ซึ่งถ้าหมดรุ่นนี้ไปก็คงไม่เหลืออะไรในวงการวิชาชีพสื่อมวลชน”

ครูยุวดีทิ้งท้ายในวงเสวนาว่าขอให้ความเป็นวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงอยู่ต่อไป  ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ

“สิทธิ เสรีภาพของประชาชนต้องดำรงอยู่ ถ้าสิ่งเหล่านี้มันหายไป สังคมจะอยู่ยังไง ทุกอย่างนักข่าวจะต้องมีการตรวจสอบ ประชาชนจะได้รับรู้ รับทราบ ข้อเท็จจริง และอยากจะฝากไปถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศ ยังไงก็ตาม สื่อประชาธิปไตยต้องมีทางออก ไม่มีระบอบไหนไม่มีทางออก และนักการเมืองก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด ขอให้อดใจรอ อีกทั้งนักข่าวรุ่นใหม่นี้ ต้องเป็นเสาหลักที่จะดูแลสังคม ตรวจจับพิรุธ ที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่าลืมว่าเรามีสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ต้องปกป้อง ดูแล”

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นสื่อมวลชน ที่นักหนังสือพิมพ์ ระดับครูแห่งวงการสื่อมวลชนได้พูดให้ฟังถึงการทำงาน ที่ล้วนต้องต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรมมาโดยตลอด

และบทบาทสื่อมวลชนอย่างสายช่างภาพเองนั้น ในอดีตก็นับว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักข่าวภาคสนาม จะถ่ายภาพข่าวต้องคิดแล้ว คิดอีก ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง และองค์ประกอบต้องลงตัว โดยเฉพาะในอดีตการชิงส่งภาพข่าว เป็นเรื่องที่ยากมาก

ประกิต หลิมสกุล จากนสพ.ไทยรัฐ และเจ้าของคอลัมน์กิเลนประลองเชิง ได้มาบอกเล่าในฐานะสื่อมวลชน สายช่างภาพในอดีตที่มีความยากลำบาก ในการช่วงชิงส่งภาพข่าวกันดุเดือดระหว่างสำนักพิมพ์ไทยรัฐ กับเดลินิวส์ ทว่าบรรยากาศแบบนั้นได้หมดสิ้นไปทันทีหลังจาดเปลี่ยนเป็นยุคดิจิตอล

“สมัยผมเป็นนักข่าว สายช่างภาพ ความเป็นมืออาชีพตัวจริงต้องต่อสู้ด้วยค่าใช้จ่ายในการถ่ายภาพที่ในอดีต ค่าใช้จ่ายมันสูง และยังมีการแข่งขันทั้งด้านเวลา และมุมมองภาพระหว่างไทยรัฐกับนสพ.คู่แข่ง อย่างเดลินิวส์ เพื่อให้ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น

“แต่ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาท เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกของนักข่าวยุคปัจจุบัน การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม จึงหายไปตามยุคสมัย ซึ่งในอดีตนับว่า สื่อมวลชน สายช่างภาพ กว่าจะได้ภาพแต่ล่ะภาพ ต้องมีทักษะ ความชำนาญการถ่ายภาพที่ต้องมีมุมมองที่ดี รวมถึงการจัดองค์ประกอบให้สวยงาม ลงตัว”

ครูประกิตได้เล่าในวงเสวนาถึงประสบการณ์การทำข่าวตั้งแต่สมัยเป็นช่างภาพอยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยตอนนั้นเป็นนักข่าวประจำอยู่ที่จ.ยะลา และช่างภาพหนังสือพิมพ์ก็สตางค์น้อย โดยตอนนั้นกล้อง 35 ม.ม. ใครใช้นี่ทันสมัยดูโก้มาก อีกทั้งกล้องรีเฟล็กเลนส์คู่ ฟิมล์สามยุค สามารถถ่ายได้ 6 มิติ ชูหัวถ่ายลงต่ำก็ได้ ห้อยคอมองข้างล่างก็ได้ ทีเผลอได้ดีที่สุด นี่คือความคลาสสิคของยุคสมัยช่างภาพ ในสมัยก่อน

“สมัยที่ทำข่าวในอดีต กล้องตัวแรกของผมซื้อที่โรงรับจำนำราคา 600 บาท มันยากตรงที่ผมไม่มีสตางค์ และมันยิ่งไม่มีสตางค์เพิ่มขึ้นเมื่อลงทุนทำข่าว ในการผลิตภาพข่าวนั่นเอง โดยในช่วงสิ้นปี 2518 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ผมอยู่ที่ยะลา 8 เดือน ผมทำข่าวตอนนั้นเดลินิวส์ให้ ผม700 บาท  และก็มีครั้งหนึ่งที่ให้ผม 400 บาท ทั้งข่าว ทั้งภาพ ช่วงนั้นผมจำนำทั้งสร้อย ทั้งของมีค่าที่มีอยู่ในตัวทั้งหมด”

จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ชิงภาพข่าวแข่งกับนสพ.ไทยรัฐ ในงานแข่งขันชิงแชมป์มวยโลก ที่จัดขึ้นที่จ.จันทบุรี โดยตอนนั้นข่าวมวยไม่มีการถ่ายทอดสด และประเด็นข่าวมีการแข่งขันกันรุนแรงมาก

“ประสบการณ์ที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม คือ ไทยรัฐกับเดลินิวส์ซึ่งเป็นสื่อคู่แข่งกัน ได้มีการเช่าเครื่องบินเหมาลำ เพื่อแข่งขันในการส่งภาพข่าว โดยการเช่าเครื่องบินตอนนั้นไทยรัฐยังเคยหิ้วกระเป๋าฟิลม์ แล้วอาศัยขึ้นเครื่องบินของเดลินิวส์กลับไป เพื่อเอาฟิล์มมาอัดขยาย แข่งกันกันระหว่างไทยรัฐกับเดลินิวส์”

การชิงไหวชิงพริบในการถ่ายภาพข่าว เกิดขึ้นในงานชกมวยของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ที่ป้องกันแชมป์โลกที่จ.หาดใหญ่ โดยครูประกิตได้เล่าให้ฟังอย่างมีอรรถรสว่า เริ่มสังเกตการณ์และเหมาเครื่องบิน เพื่อต้องการชิงภาพข่าวของแสนศักดิ์ แข่งขันกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

“ก็ไปเช่าเครื่องบินแอฟโร่ที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง แต่ไทยรัฐเช่าเครื่องโบอิง ซึ่งมีระยะเวลาเดินทาง เพียงแค่ชั่วโมงเดียว และแน่นอนว่า มันต่างกันสองเท่า และเดลินิวส์เองก็เลยเกิดการชิงไหวชิงพริบขึ้นมา โดยคิดแผนการไปอุ้ม ปริม ประภาพร ภรรยาสาวสวยของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ไปด้วย

“ทีนี้พอเครื่องบินเราไปถึงปรากฏว่าข่าวรั่ว ปริม ประภาพร ถูกอุ้มขึ้นรถตู้ จากนั้นก็เป็นที่ฮือฮา เพราะแสนศักดิ์หายตามปริม ประภาพรไป เนื่องจากสามเดือนก่อนเขาไม่ได้นอนกับแฟนเขาเลย ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ฮือฮากันในแวดวงสื่อมวลชนอย่างมาก”

ตอนนั้นทุกฉบับล้อมกรอบแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์หาย นักข่าวช่างภาพทุกคน งงกันหมด โดยเฉพาะไทยรัฐ และตอนนั้นผมในฐานะนักข่าว ที่ไปดักรอเฝ้าห้องแสนศักดิ์ กับปริม ประภาพรที่อยู่ด้วยกันทั้งคืน เพื่อที่จะรอถ่ายภาพพิเศษ แต่แสนศักดิ์ดันหนีออกทางลิฟท์ตัวเล็กไปเสียก่อน”

และนั่นจึงถือว่าเป็นสงครามชิงภาพข่าว และชิงเวลาทันทีที่มวยยกแรกยังไม่ทันขึ้นชกกัน สำหรับนักข่าว สายช่างภาพ ในอดีต

ทั้งนี้ ครูประกิตได้ให้ข้อคิดกับนักข่าวยุคปัจจุบันว่าภาพหนึ่งภาพมันสั่นคลอนคนดู เพราะฉะนั้นการชิงภาพ การแข่งขันในอดีตยิ่งใหญ่มาก ทว่ามันก็จบสิ้นไปทันทีเมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นเครื่องมือของนักข่าวยุคปัจจุบัน การชิงภาพข่าว ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศการแข่งขันเช่นนั้น หายไปหมดสิ้น

“การชิงไหวชิงพริบในการบันทึกภาพ ส่งหนังสือพิมพ์นั้น จนถึงวันนี้ ผมเคยไปดูโปรโมตฉายหนัง ผมไปยืนคุยกับใครสักคนเมื่อ7วันที่แล้ว และมันมีคนบันทึกภาพผมไว้ได้ และส่งมาให้ ตอนนั้นเองที่ผมได้มองเห็นว่าวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การแข่งขันการถ่ายภาพ จบสิ้น”

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของนักข่าว สายช่างภาพแต่เดิมไม่มีหลงเหลือเพราะคนทั้งโลกนี้ ทำหน้าที่แทนหมดแล้ว โดยกลายเป็นโลกโลกาภิวัฒน์ โลกโซเชียลมีเดีย

ดังนั้น นักข่าวยุคปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือ ในการรายงานข่าว ที่ทำหน้าที่ทั้ง เขียนข่าว ถ่ายภาพ และอัพเดท ด้วยเทคโนโลยีเพียงครื่องเดียว

นั่นคือสิ่งที่คนหนังสือพิมพ์ยุคก่อนสัมผัสได้ถึงการอภิวัฒน์สื่อ และหวังจะเห็นนักข่าวยุคปัจจุบัน ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่อุดมกาณ์ การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม ยังต้องดำรงอยู่ เฉกเช่นคนหนังสือพิมพ์ในอดีต ที่ปูทางเอาไว้ ให้ดำเนินสืบไป