เศรษฐกิจฟุบ หยุดลมหายใจนสพ. สื่อมะกันเบนเข็มเปิดเวบข่าวออนไลน์

ข่าวการล้มครืนของกิจการหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับแนวโน้มเปลี่ยน “ตัวสื่อ” ข้อมูลข่าวสารจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ไปสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ กำลังบ่งชี้ถึงอนาคตแวดวงคนรายงานข่าว คนทำหนังสือพิมพ์ในศตวรรษที่ 21 อย่างไร และใครจะเป็นผู้อยู่รอด

ข้อมูลจากโครงการสำรวจการบริโภคสื่อประเภทข่าวจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ที่เปิดเผยออกมาเมื่อเดือน ก.พ. 2552 ผ่านการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคข่าวของชาวอเมริกันตลอดปี 2551 เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในยุคปัจจุบันที่กำลังสร้างทั้งความท้าทายและเป็นโจทย์หัวข้อใหญ่สำหรับคนทำข่าวทำหนังสือพิมพ์

เมื่อผลสำรวจระบุว่า คนอเมริกันผู้นิยมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปเสพข่าวทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความนิยมอ่านข่าวบนอินเตอร์เน็ตของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจชดเชยกับตัวเลขผู้อ่านข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ที่ลดลงไปได้

จากการสำรวจพบว่า มีชาวอเมริกันอ่านข่าวทั้งจากหนังสือพิมพ์และจากข่าวออนไลน์ในปี 2551 คิดเป็น 39% จากการเสพข่าวผ่านสื่อต่างๆ และลดลงจากการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2549) ที่มีสัดส่วนคนอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์ 43%

ในจำนวน 39% ของผู้อ่านข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์ในปี 2551 ยังพบด้วยว่า คนเลือกอ่านข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ลดลงเหลือเพียง 25% จาก 34% เมื่อปี 2549

โดยคนอเมริกัน 14% หันไปบริโภคข่าวออนไลน์มากขึ้น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2549 ซึ่งมีผู้อ่านข่าวออนไลน์อยู่ที่ 9%

ในจำนวนนี้ยังพบว่า มีคนอ่านข่าวออนไลน์เพียงสื่อเดียว 9% และอ่านข่าวทั้งในแบบหนังสือพิมพ์กับเวบไซต์ข่าว 5% ซึ่งส่วนหนึ่ง ไม่ได้อ่านผ่านเวบไซต์ของสำนักข่าวโดยตรง แต่อ่านผ่านเวบไซต์เสิร์ช เอนจิ้น เช่น กูเกิ้ล หรือ ยาฮู ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของช่วงอายุของผู้อ่านข่าวกับการเลือกบริโภคข่าวสารผ่านสื่อที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ คนเจเนอเรชั่น วาย (ผู้ที่เกิดหลังปี 2520) มี 16% ที่อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือทั้งในแบบเวบไซต์ข่าวและในแบบสิ่งพิมพ์ ขณะที่คนวัยนี้อีก 14% บอกว่า พวกเขาหรือเธออ่านข่าวในอินเตอร์เน็ตเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นข่าวออนไลน์หรือข่าวที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตและถูกพิมพ์ออกมาก็ตาม

อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2549 ยิ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจครั้งนั้น เจเนอเรชั่น วาย อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ 22% แต่อ่านข่าวบนสื่ออินเตอร์เน็ตเพียง 9%

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ต่างจากพฤติกรรมเสพข่าวของคนในวัย 33-44 ปีหรือที่ศูนย์วิจัยพิวจัดอยู่ในกลุ่มคนเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2508-2519) ซึ่งพบว่า 21% อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และอีก 18% อ่านข่าวจากเวบไซต์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2549 กลับพบว่า คนเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ในตอนนั้นอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ 30% แต่อ่านข่าวจากเวบไซต์เพียง 13%

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ช่องว่างของจำนวนผู้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์กับอ่านข่าวจากเวบไซต์อย่างเดียวในการสำรวจปีล่าสุดนั้นเริ่มแคบลง

โดยในเจนฯ วายสัดส่วนคนอ่านหนังสือพิมพ์กับคนอ่านข่าวในเวบไซต์อยู่ที่ 16% กับ 14% ส่วนในเจนฯ เอ็กซ์ 21% กับ 18% ต่างจากเมื่อปี 2549 ซึ่งมีช่องว่างในเจนฯ วาย 22% ต่อ 9% ส่วนเจนฯ เอ็กซ์ 30% ต่อ 13%

อีกทั้งคนในเจนฯ เอ็กซ์และ เจนฯ วายต่างลดการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ลงเรื่อยๆ แล้วหันไปอ่านข่าวในเวบไซต์เพิ่มขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่คนในวัยที่เรียกว่า เบบี้ บูมเมอร์ หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-63 ปี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมอเมริกันที่ให้เวลาและความสนใจบริโภคข่าวสารมากที่สุด กลับพบว่า มีพฤติกรรมการเสพข่าวสารลดลงจาก 47% ในปี 2549 เป็น 42% ในปี 2551 อีกทั้งยังอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ลดลงจาก 42% ในปี 2549 เป็น 34% ในปี 2551

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของผู้คนในสังคมอเมริกัน ได้สะท้อนผ่านตัวอย่างรูปธรรมในสถานการณ์ไม่ปกติทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ได้รับผลกระทบจากยอดลงโฆษณาที่ลดลง เนื่องจากธุรกิจหลายสาขาประสบปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจ ลดงบประมาณด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์

หนังสือพิมพ์หลายหัวในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงเนื่องจากประสบภาวะขาดทุน คนซื้ออ่านก็น้อย แล้วยอดลงโฆษณาก็ลดลง

จึงทำให้ตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงขณะนี้ มีธุรกิจหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 4 แห่งในสหรัฐอเมริกาจำใจต้องโบกมือลาวงการและยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรีบูน โค เจ้าของหัวหนังสือพิมพ์ ชิคาโก ทรีบูน และ ลอส แองเจลีส ไทม์ส, บริษัท เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส โค., บริษัท อี.ดับเบิ้ลยู. สคริปส์ โค. เจ้าของหนังสือพิมพ์ ร็อคกี้ เมาน์เทน นิวส์ ในเดนเวอร์ และ บริษัท แกนเนตต์ โค.

ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในรัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเติล ที่ชื่อ ‘เดอะ ซีแอตเติล โพสต์-อินเทลลิเจนเซอร์’ หรือ เดอะ พี-ไอ ซึ่งดำเนินกิจการผลิตหนังสือพิมพ์หัวนี้ยืนยาวมาได้ถึง 146 ปี

ในที่สุดฝ่ายบริหารก็ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจากการผลิตหนังสือพิมพ์กระดาษไปเป็นข่าวออนไลน์ขายทางเวบไซต์เพียงช่องทางเดียวแล้วเมื่อ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากต้องเผชิญกับการขาดทุนเมื่อปีก่อนหน้ามูลค่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผลจากการเปลี่ยนแปลงของเดอะ พี-ไอ ครั้งนี้ บริษัท เฮิร์สท คอร์ป เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ระบุว่า บริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานเดอะ พี-ไอ ที่มีอยู่เดิม 181 ชีวิตออกไป แล้วเหลือคนทำงานผลิตข่าวผ่านเวบไซต์เพียง 40 คน โดยจำนวนนี้จะมีผู้สื่อข่าวรวมกับบรรณาธิการเหลืออยู่เพียง 20 คนเท่านั้น

ขณะที่รายงานจากโครงการวิจัยพิวเพื่อหนังสือพิมพ์ชั้นเยี่ยม หรือ Pew Project for Excellence Journalism ระบุว่า เมื่อปี 2551 บุคลากรในกิจการหนังสือพิมพ์สหรัฐอเมริกาถูกปลดออกจากงานไปแล้วกว่า 5,000 ราย หลังจากรายได้จากโฆษณาในอุตสาหกรรมนี้ลดลง 16% และ ยังเตือนไว้ด้วยว่า ปีนี้ (2552) จะเป็นปีที่แย่ที่สุด (สำหรับคนในวงการหนังสือพิมพ์)

แล้วการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของเดอะ พี-ไอ ด้วยเช่นกัน ที่ทำให้นักวิเคราะห์สื่อจากเอาท์เซลล์ อิงค์ เคน ด็อคเตอร์ กล่าวว่า พวกเขา (เดอะ พี-ไอ) เป็นหนังสือพิมพ์ประจำเมืองใหญ่เจ้าแรกที่ผันตัวเองไปเสนอข่าวผ่านเวบไซต์เพียงช่องทางเดียว และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นต้นแบบที่สำคัญสำหรับคนทำหนังสือพิมพ์รายอื่นๆ ว่า การทำข่าวผ่านเวบไซต์เพียงช่องทางเดียวจะอยู่รอดในทางธุรกิจหรือไม่

เมื่อรายงานผลสำรวจการบริโภคข่าวจากศูนย์วิจัยพิว ประจำปี 2551 อีกเช่นกันที่พบว่า ผู้บริโภคข่าวออนไลน์เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้จากหลายช่องทางบนโลกไซเบอร์ โดยไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าไปอ่านข่าวจากเวบไซต์ของสำนักข่าวโดยตรง แต่ยังสามารถคลิกอ่านข่าวบนอินเตอร์เน็ตผ่านเวบไซต์ประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น เสิร์ช เอนจิ้นต่างๆ เป็นต้น

โดย 50% ของผู้บริโภคข่าวออนไลน์ระบุว่า เขาหรือเธอนั้นจะคลิกหาหัวข้อข่าวที่สนใจก่อนจะเข้าไปถึงเวบไซต์ของสำนักข่าวต้นทาง และในกลุ่มผู้บริโภคข่าวออนไลน์ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี พบว่า 64% มักจะเปิดเข้าไปอ่านข่าวบนอินเตอร์เน็ตในหัวข้อต่างๆ ผ่านเวบไซต์อื่นๆ ก่อนจะเข้าไปที่เวบไซต์สำนักข่าวโดยตรง

ส่วนเวบไซต์ที่เผยแพร่ข่าวสารแต่ไม่ได้มีสำนักข่าวของตนเองที่ได้รับความนิยมใช้งานในกลุ่มผู้บริโภคข่าวออนไลน์อเมริกันได้แก่ ยาฮู 28% เอ็มเอสเอ็น/ไมโครซอฟท์ 19% และอีก 17% ระบุว่า คลิกเข้าไปดูข่าวทีวีออนไลน์ในเวบไซต์ของซีเอ็นเอ็นมากกว่าเวบไซต์ของสำนักข่าวหนังสือพิมพ์

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า เวบไซต์ข่าวออนไลน์ยังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในขนาดที่แตกต่างกันตามระดับการศึกษา กล่าวคือ คนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะสนใจอ่านข่าวผ่านเวบไซต์สำนักข่าวเพื่อข้อหาข่าวสารข้อมูลเป็นสัดส่วน 28%

ขณะที่ คนที่อ่านข่าวออนไลน์อีก 16% เป็นกลุ่มผู้ได้วุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือมัธยมปลาย และมีสัดส่วนของผู้ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาแบบทางการอ่านข่าวทางอินเตอร์เน็ตน้อยมาก

ข้อมูลการบริโภคข่าวสารในสหรัฐอเมริกา ที่มีประชากรเกือบ 300 ล้านคน และ 99% ของประชากรสามารถอ่านออกเขียนได้ มีสัดส่วนผู้มีคอมพิวเตอร์ครอบครอง 76.2% และในประชากร 1,000 คน เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์และต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ 830.8 คน จึงเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม ถึงอนาคตแวดวงคนทำข่าวทำหนังสือพิมพ์ในประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ว่าจะไปในทิศทางใด

โดยเฉพาะในยุคเครือข่ายไร้สายและข่าวสารไม่ได้ถูกจำกัดบนพื้นที่หน้าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป