สำรวจทางรอดนสพ.ไทยท่ามกลางพิษเศรษฐกิจโลก

ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่แรงงานทั่วโลกตกงานอย่างถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศทุนนิยมตะวันตกทั้งหลาย ในจำนวนนี้อาชีพ “สื่อมวลชน” เป็นหนึ่งในทำเนียบคนตกงานกับเขาเช่นกัน

พิษเศรษฐกิจลามไปทั่วทุกภูมิภาค “ไทย” ก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับอานิสงค์นี้อย่างเต็มๆ แม้ว่า 12 ปีที่แล้วคนไทยจะมีประสบการณ์น่าสะพรึงกลัวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ศึกครั้งนี้ดูจะไม่แตกกันเท่าใดนัก

เวลาเพียงไม่นานที่พิษเศรษฐกิจวิ่งเข้าชนสังคมไทย ตัวเลขของผู้ตกงานก็ลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง ไม่เว้น “องค์กรสื่อ” ที่ได้รับผลกระทบพอควร บางองค์รับมือไม่ทันก็ต้องปล่อยให้องค์กรพังพาบลงต่อหน้า ดังนั้นจึงถึงเวลาสำรวจความเป็นมืออาชีพ (ความอยู่รอด) ของแต่ละองค์กรข่าวว่าจะสามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้งในช่วงเศรษฐกิจทรุดตัวได้อย่างไร

“ฐานเศรษฐกิจ” เป็นองค์กรที่เห็นสัญญาณความทรุดตัวของเศรษฐกิจมากว่า 2 ปี โดยมีข้อมูลระบุว่าผู้บริหารระดับสูง ต้องการขยายวงจรสื่อจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อครบวงจร จึงหันความสนใจไปสร้างนวัตกรรมใหม่ในสื่อทีวีและวิทยุ แต่ด้วยความไม่ถนัดจึงเกิดผลตรงกันข้าม ประกอบกับช่วงปลายปี 2551 สังคมไทยตกอยู่ในภวังค์ความวุ่นวายทางการเมือง

ปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากการโฆษณาจากหน่วยงานต่างๆ เป็นรายได้หลัก ซึ่ง ไชยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เราเห็นสัญญาณเด่นชัดที่สุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจจึงเบรกการโฆษณา ทำให้รายได้ลดลงอย่างน่าใจหาย เมื่อเห็นท่าทีเช่นนั้นฝ่ายผู้บริหารก็เตรียมรับมือด้วยการลดใช้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการขายตึกฐานเศรษฐกิจเพื่อลดภาระหนี้สินและลดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจการจัดเลี้ยงไปในตัว

“ตอนนี้หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ย้ายกองบก.มาอยู่ที่สำนักงานใกล้โรงพิมพ์ย่านวัดเสมียนนารีและตอนนี้เรายังไม่มีนโยบายลดการจ้างงาน พนักงานในส่วนกองบก.ฐานเศรษฐกิจยังอยู่ครบ 260 คน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจอยู่มาได้เกือบจะ 30 ปีแล้ว เราจึงเชื่อมั่นว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เราจะผ่านมันไปได้ แต่บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาก็ย้ำเตือนให้เราต้องระวังตัวและใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท” ไชยวัฒน์ กล่าวด้วยเสียงหนักแน่น

ส่วน “เครือมติชน” ซึ่งมีหนังสือในสังกัด อาทิ มติชนรายวัน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ สำนักพิมพ์มติชน ฯลฯ ที่มีกระแสข่าวว่า รายได้การโฆษณาลดลงและมียอดขายลดลงจากวิกฤตการทางการเมืองทำให้ผู้บริหารระดับสูงของเครือมติชนเตรียมออกมาตรการลดกำลังและลดค่าใช้จ่ายนั้น เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจาก สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชรบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชนรายวันว่า การลดกำลังคนยังไม่มีการพิจารณา แต่ไม่มีการเพิ่มกำลังคน โดยหนังสือพิมพ์มติชนยังสามารถประคองสถานการณ์ไปได้เรื่อยๆ แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นผลมาจากนอกประเทศจึงทำให้เราประเมินสถานการณ์ยาก แต่ทีมผู้บริหารก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“เรายึดหลักการเดิม คือ การประหยัด ซึ่งการลดขนาดหนังสือพิมพ์ให้แคบลงก็ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร สำหรับแนวโน้มรายได้จากค่าโฆณาถือว่ามีความอ่อนตัวลง แต่หนังสือพิมพ์มติชนก็ยังได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐ การลงโฆษณาจึงยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่วิกฤตครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้นการประเมินจึงยากพอสมควร การดำเนินการต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง”นายสุวพงศ์ กล่าวและว่า สำหรับข่าวเพื่อนร่วมอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้รู้สึกเห็นใจและถือว่าสถานการณ์เช่นนี้ก็บั่นทอนขวัญกำลังใจของเพื่อนร่วมอาชีพเช่นกัน

ขณะที่ “เครือโพสต์” อันประกอบด้วยหนังสือพิมพ์หัวนอกอย่าง Bangkok Post และ โพสต์ทูเดย์ ก็รัดเข็มขัดแน่นด้วยมาตรการ เช่น ลดรายได้พนักงาน ในส่วนของผู้บริหารจนถึงหัวหน้าข่าว โดยลดค่าตำแหน่งประมาณ 30% ถึงสิ้นปี

ส่วนนักข่าว ช่างภาพ ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด สายส่ง และพนักงานอื่นๆ ที่มีค่ารถ ได้ปรับฐานการคิดอัตราการรถโดยอิงราคาน้ำมันรถจากเดิมเทียบจากเบนซิน 95 เป็นเบนซิน 91 ส่งผลให้ค่ารถแปรผันตามราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยืนยันว่าจะไม่ลดในส่วนเงินเดือน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยังไม่มีนโยบายปลดพนักงานขณะนี้

ในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต โพสต์ ทูเดย์ ลดหน้าไปแล้ว 4 หน้า ซึ่งลดรายจ่ายได้สิบล้านบาท

ส่วนเงินโบนัส จะไม่มีกลางปี แต่ส่วนปลายปียังกันเงินไว้ให้

สำหรับการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งประเมินว่าต้องมีกำไรแน่นอน จะปรับแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับช่วงไตรมาส 4 เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น บริษัทต่างๆ จะต้องโหมโฆษณา ฉะนั้นจะเร่งรุกชิงส่วนแบ่งการตลาด คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4 จะเป็นบวกและจะยังคงผลประกอบการตลอดปีเป็นบวกได้