เป็นข่าวร้ายต้นปีของวงการสื่อมวลชนไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ถือว่าเป็นรายแรกๆ หลังจากก่อนหน้านี้ธุรกิจหลายแห่งพากันปิดตัว ลอยแพพนักงาน เลิกจ้าง กันทั่วประเทศ
นั่นคือการปิดตัวลงของสถานีข่าว “บิสซิเนส เรดิโอ” FM 98 ที่กุมบังเหียนโดย “ดนัย เอกมหาสวัสดิ์” สื่อมวลชนรุ่นเก๋าส์ ผู้ผ่านมาแล้วทั้งการทำหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ซึ่งให้นิยามกับตัวเองว่า “หมาแก่” ในการจัดรายการข่าวยามเช้าที่มีเรตติ้งอยู่ในอันดับต้นๆ อย่าง “เจาะลึก ทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์”
“ราชดำเนิน”เปิดใจ”หมาแก่-ดนัย เอกมหาสวัสดิ์”ในวันที่”ใจช้ำๆ”ยังปรากฏให้เห็นตลอดช่วงการสัมภาษณ์แต่น้ำเสียงเขายืนยันว่าการ ”ปิดตัวเอง”ของบิสซิเนส เรดิโอ 98 เอฟเอ็ม ที่เสนอข่าวสารการเมือง-ธุรกิจ-สังคม และรายการnews talk มา 12 ปีเต็ม คือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
ปัญหาของบิสซิเนส เรดิโอคืออะไร เพราะอยู่ดีๆ ก็ยุติการนำเสนอโดยคนฟังไม่รู้ข่าวล่วงหน้าหรือพอเห็นสัญญาณใดๆมาก่อน ?
ดนัย- ขออธิบายให้เข้าใจความเป็นมาก่อนที่จะตัดสินใจเช่นนั้น คือสัญญาณเรื่องเศรษฐกิจที่ดิ่งติดลบแล้วเกิดผลกระทบกับองค์กร มันเริ่มให้เห็นตั้งแต่ปี 2549 ไล่เรื่อยมาปี 2550 2551 จนถึงต้นปี 2552 สื่อก็ถูกผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่มาสุกงอมเอาต้นปี 2552
แต่ข้อเท็จจริงก็คือสื่อได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยรวม ปัญหาของสื่อสะสมให้เห็นตั้งแต่ปี 2550 คือรัฐบาลที่เข้ามาในภาวะจำยอม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ยอมทำอะไรก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่
อาการมันเริ่มเห็น ถัดมาปี 2551 จริงอยู่เรามีการเลือกตั้งมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็มีภาวการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดทั้งปี ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ตั้งต้นจากสหรัฐอเมริกามันเริ่มแสดงอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวิกฤตราคาน้ำมัน ฟองสบู่เศรษฐกิจสหรัฐมันเริ่มใกล้แตก มันส่ออาการตั้งแต่ปี 2551 ไม่ใช่แค่บิสซิเนส เรดิโอ เพียงแต่ไม่เป็นข่าว ใครทนได้มาก ใครทนได้น้อย เรื่องลดคน ในแวดวงสื่อรู้กันตั้งแต่ปี 2551 แต่เขาไม่พูดกันไม่เป็นข่าวออกมา
และที่เริ่มออกอาการก็เป็นค่ายใหญ่ด้วย ลดกันแบบซึมๆ แต่ไม่เป็นข่าวมีโครงการเออรี่ลีไทร์ มีการตัดค่าใช้จ่ายในการทำข่าว ไม่รับคนเพิ่ม ลดต้นทุนการผลิต
ตอนที่เริ่มได้รับผลกระทบ มีการตั้งรับแก้ปัญหาไว้หรือไม่ ตอนนั้นคิดไหมว่าสถานการณ์ไม่น่าจะมีบทสรุปแบบในปัจจุบัน?
ดนัย- จีจีนิวส์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่เผชิญปัญหา แต่เราก็กัดฟันทนกันมาเรื่อย แต่พอมาต้นปี 2552 ก็มาถึงวันที่สถานการณ์มันสุกงอมแล้ว ตลาดโฆษณาตก รายได้มันหายไป
แม้เราจะพยายามคุมค่าใช้จ่ายกันเต็มที่แล้ว สิ่งที่เราคุมได้เราคุมได้เฉพาะค่าใช้จ่ายในการบริหารงานข่าว บริหารองค์กรทั่วไป ต้องขอบคุณน้องๆพี่ๆ ในบิสซิเนส เรดิโอที่เข้าใจสถานการณ์ คุมค่าใช้จ่ายในทุกด้าน คนขาดนักข่าวขาดที่เหลือก็พยายามทำแทนกัน ช่วยกันแบบที่ทุกคนรับรู้ปัญหา
พวกเราก็ช่วยๆกันแบกกันมาตลอด ยุคหนึ่งในสนามข่าวอาจเคยเห็นคนของจีจีนิวส์เต็มสนาม แต่ปี 2551 ไม่ได้เห็นภาพแบบนั้นแล้ว เราก็อยู่กันแบบนี้ คือไม่ได้รับคนเพิ่ม
แล้วมาถึงจุดที่แบกรับไม่ได้อย่างไร ในฐานะที่เป็นคนข่าวเศรษฐกิจตอนนั้นได้ประเมินไว้หรือไม่ว่า ทิศทางเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น การฟื้นตัวน่าจะเกิดได้หากพยายามอยู่ให้รอดไปก่อน?
ดนัย-แม้จะพยายามอย่างไรก็ปรากฏว่าเอาไม่อยู่ ต้องยอมรับว่าสื่อวิทยุต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์มีความสามารถในการปรับตัวให้มีความคล่องตัวได้มากกว่ายามเมื่อเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุน
ถ้าหนังสือพิมพ์ ไม่มีโฆษณา เขาก็ลดค่าใช้จ่ายหลักด้วยการลดหน้า ลดกระดาษมีการปรับตัวกันมากปีที่ผ่านมาใครก็เห็น หลายเล่ม ลดหน้า ลดsize ลดขนาด
การปรับตัวของหนังสือพิมพ์ทำให้ประหยัดได้ 10% เป็นพิมพ์นิยมกันเกือบทุกฉบับ บางลงไปเยอะ ขนาดค่ายหลักหยิบขึ้นมายังเบาไปเยอะ หนังสือพิมพ์เขาบริหารต้นทุนได้ง่ายกว่า
แต่วิทยุโทรทัศน์มันมีข้อจำกัด อย่างวิทยุต่อให้มีโฆษณาหรือไม่มีโฆษณา ต้นทุนค่าเช่าสถานีเท่าเดิมไม่มีทางลด ไม่สามารถบอกเจ้าของสถานีว่าปีนี้โฆษณาน้อย ขอลดเวลาจะขอออกอากาศน้อยลงที่เหลือซึ่งไม่มีโฆษณาขอคืนสถานี มันทำไม่ได้ นี่คือจุดตายของคนทำสื่อวิทยุ
ดูเหมือนปัญหาเรื่องการประมูลคลื่น เรื่องต้นทุนสถานี จะเป็นปัญหาที่คนวิทยุแก้กันไม่ตก?
ดนัย- ต่อให้มือเซียนขนาดไหนเจอโจทย์แบบนี้ก็ตาย มันเป็นโจทย์ยากมันแก้ยาก ต้นทุนค่าสถานีแม้ตอนนี้จะลดลงมาแต่ก็สูงเกินจริงกับสภาวะเศรษฐกิจปี 2551 จนมาถึงปีนี้
มันเป็นความข่มขืน ไม่มีการโทษกัน ไม่ว่ากันเมื่อเราทำตรงนี้แล้วรับกติกาไม่ได้ เราก็ต้องหยุด ไม่ตีโพยตีพาย มันเปล่าประโยชน์ เมื่อถึงจุดนั้นเกมส์จบก็ต้องโอเวอร์
คุยกันนานไหมก่อนจะถึงบทสรุปว่าเกมส์โอเวอร์ แล้วการเข้ามาเพิ่มทุนของเครือโพสต์ไม่ได้ช่วยทำให้ดีขึ้นหรือ?
การตัดสินใจจบข่าวเป็นเรื่องที่เราพูดกันในกลุ่มผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร เมื่อมองไปข้างหน้าก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าเกมส์มันต้องโอเวอร์ ถามว่าจะโอเวอร์ตอนนั้น จะเลือกหลอกตัวเองแล้วไปจบในช่วงที่องค์กรไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว แบบนั้นมันเป็นการทำร้ายเพื่อน ทำร้ายพนักงาน ก็สู้เกมส์โอเวอร์ในจังหวะที่พอรวบรวมเงินจ่ายค่าชดเชยแล้วดูแลเพื่อน พี่น้องมันไม่ได้กว่าหรือ คุณจะหลอกตัวเองไปถึงไหน จะลากไปจนกระทั่งองค์กรไม่เหลือเงินแม้แต่บาทเดียวหรือ
เงินชดเชย เงินดูแลพนักงานก็ไม่มี พนักงานก็เสียโอกาสอยู่กับคุณหลายเดือน วันนี้รู้ว่าไปไม่ได้พอมีเงินเหลือ เราก็ตัดสินใจเอาเงินที่เหลือไปดูแลพนักงานดีกว่า อย่างน้อยเขามีเวลาคิดเท่ากับจำนวนเงินที่เขาได้รับ เราก็จ่ายตามกฎหมายแรงงาน มีค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินชดเชยก็จ่ายตามกฎหมายให้ทุกคนโดยดูจากอายุงาน ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร เขาก็มีเวลา ที่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยมีเงินก้อนนี้ไปหล่อเลี้ยง ถ้าเขาจะตกงานสัก 1 - 2 เดือนก็ยังมีเงินก้อนนี้ดูแลดีกว่าจะไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว เงินชดเชยก็ไม่มี และเขาเสียเวลากับเราด้วย เราก็ช่วยๆกันหาแหล่งที่เขาพอจะไปได้ ก็พยายามช่วยเหลือไปฝากให้องค์กรอื่น พยายามหางานให้ ก็พบว่ามีเด็กของเราหลายคนก็ได้งานแล้วบ้าง บางแห่งก็บอกจะรับพิจารณา ก็ทำได้แค่นี้ นี่คือข้อเท็จจริงทั้งหมด
ผมบอกได้ว่า นี่คือความเจ็บปวด นี่คือทางเลือกสุดท้ายจริงๆ ต้องรับว่าบิสซิเนส เรดิโอ ทำมา 12 ปี ออนแอร์ครั้งแรกที่ 96.5 จากที่เป็นคลื่นเพลง ไม่มีใครคิดเลย แต่มันก็คือความเจ็บปวดของมืออาชีพ
ไม่ใช่แค่เรา แต่หลายคนเจอมาแล้ว กับปัญหาเดิมๆ แบบนี้อย่างพี่ระวิ โหลทอง (เจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่สยามสปอร์ต ) ทำสปอร์ตเรดิโอFM 99 ของอสมท.จากที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็นคลื่นกีฬาที่ฮอทที่สุด มีเรตติ้งมากที่สุด แต่สุดท้ายพี่ระวิก็ต้องเจ็บปวดก็ต้องเลิก
ตอนทำบิสซิเนส เรดิโอครั้งแรกที่คลื่น 96.5 ตอนนั้นคลื่นนี้เดิมเป็นคลื่นเพลงเราก็เข้าไปสร้างมันขึ้นมาใหม่เปลี่ยนคอนเสปต์เป็นวิทยุคลื่นเศรษฐกิจ ทำอยู่หลายปีเขาก็ขอคืน
หรือกรณีเสี่ยแหบ วิทยา ศุภพรโอภาส ก็ไปสร้างวิทยุคลื่นลูกทุ่งที่ 95 เอฟเอ็มจนดังทะลุฟ้าแต่สุดท้ายก็ต้องระหกระเหิน มันก็คือความเจ็บปวดของมืออาชีพ
การตัดสินใจที่ออกมาแบบนี้มันเจ็บปวดทั้งกับองค์กรและคนในองค์กร แต่เมื่อมันถึงเวลาตัดสินใจ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด รากฐานที่เราวางไว้ตั้งแต่ปี 2539 เรามีการเปลี่ยนคลื่นไปมาหลายครั้ง จาก 96.5 ก็ไปFM 94 พอเราทำไปได้สักปีก็มีคนอยากได้ 94 เราก็สู้เขาไม่ได้ ก็หมุนไปที่คลื่น 98 จนต้นปี 2552 มันก็ไม่ไหว ต้นทุนสถานีมันสูงเกินจริงกับสภาพเศรษฐกิจ มันก็ต้องจบ
ปัญหาของจีจีนิวส์มันขาดทุนมานานหลายปีแล้ว ยืดเยื้อข้ามปี จนกระทั่งมกราคม 2551 ทางโพสต์ที่กำลังต้องการขยายมาวิทยุเขาก็มาคุยกันแล้วมาร่วมเป็นพันธมิตร มาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในตัวบิสสิเนส เรดิโอ ที่เป็นชื่อตัวสำนักข่าว แต่ชื่อบริษัทคือ Flash news โพสต์ก็เข้ามาช่วงนั้นแต่ช่วงปี 2551 สถานการณ์มันก็หนักเกินเอาอยู่ เงินเพิ่มทุนจากทางโพสต์ก็ช่วยค้ำสถานการณ์และทำให้ปัญหาการขาดทุนและปัญหาเศรษฐกิจที่เรามีอยู่และได้รับในปี 2551 พอไปไหว
แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่และต่อเนื่องมากุมภาพันธ์ 2552 มันก็ถึงจุดต้องโอเวอร์ เพราะเรามีโจทย์สองข้อที่แก้ไขไม่ได้เลยคือ 1. ต้นทุนสถานี มันไม่สามารถขอให้ลดลงได้ 2.มองไปข้างหน้า ถ้าทุกคนไม่หลอกตัวเอง ไม่สะกดจิตตัวเอง เศรษฐกิจของไทย ของโลก อาจจะดิ่งลงจนถึงสิ้นปี จะทรุดข้ามปีหรือไม่ยังไม่มีคำตอบได้
ผมมองไปข้างหน้าไม่เห็นแสงสว่างสักเท่าไหร่ จะไปตั้งคำถามกับโพสต์ก็ไม่แฟร์ การที่เขามาช่วยเพิ่มทุนในปี 2551แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ เงินช่วยเพิ่มทุนก็หมดแล้ว ถ้าเขาจะเอาต่อเพิ่มทุนต่อ เราก็ต้องแก้โจทย์สองข้อดังกล่าวข้างต้น
แต่มองไปแล้วแก้ไม่ได้ และมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้ กับการเป็นคลื่นข่าวแนวสาระและเรื่องสภาวะเศรษฐกิจมองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ฟ้าทะมึน ไม่รู้ว่าถึงสิ้นปี 2552 ฟ้าจะเปิดหรือเปล่าไม่มีใครตอบได้ ก็แปลว่ามันจะขาดทุนยืดเยื้อยาวนาน ลากข้ามปี พูดตรงๆก็คือถมไม่เต็ม มันทนไม่ไหว เมื่อไม่ไหวมันจะจบข่าวกันอย่างไร ก็อย่างที่บอกจะทำอย่างไร ก็ดูแล้วว่ายังพอจะมีรายได้เช่นเก็บค่าโฆษณาที่ค้างอยู่ มีเงินเหลือ ได้เงินจำนวนหนึ่งจ่ายเงินชดเชยพนักงานมันจะดีกว่าไหม ดีกว่าจะลากไปจนบาทสุดท้ายก็ไม่เหลือ แล้วจะเอาเงินที่ไหนจ่ายชดเชยพนักงาน
มันหลอกตัวเองไม่ได้ ถ้าจะอยู่กับแบบนั้นก็ทำร้ายเพื่อนทั้งที่รู้ว่าวันหนึ่งมันต้องเลิก มันทำร้ายเขาเปล่า ต้องกล้าตัดสินใจแม้เจ็บปวด
หมาแก่ดนัย เจ็บปวดเสียยิ่งกว่าใคร ผมเป็นคนสร้างมันมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว ผมอยู่กับมันมา 12 ปี ไม่ใช่เรื่องตัดสินใจได้ง่ายๆ ในที่สุดก็ต้องเรียกสติกลับมา ก็เห็นว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุด ทางบอร์ดก็เห็นว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดในการเยียวยา
ตอนนี้ปรับตัวอย่างไร แล้วจะมีวันที่คลื่นข่าวเศรษฐกิจเต็มตัวจะกลับมาได้อีกหรือไม่ ?
ดนัย-เวลานี้บิสซิเนสเรดิโอ ก็ต้องพักรบชั่วคราว แต่จีจี นิวส์ Flash news ก็ยังไม่ได้หายไปไหน รอวันกลับมา แต่วันนี้เราก็ลดสภาพการบริหารทั้งสถานี ก็ไปหาเวลาสถานีทำเป็นรายการ ทำเป็นช่วงๆ ก็ย้ายบางรายการไปที่คลื่น 97 เอฟเอ็มเช่นเจาะลึกทั่วไทย ตอนนี้ก็ทำแบบนี้ไปก่อนเพื่อรักษาให้องค์กรยังคงอยู่และรอวันกลับมา
เมื่อใดที่สถานการณ์เริ่มคลายตัว สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ผมขอยืนยันว่าบิสซิเนสเรดิโอจะต้องกลับมาบนคลื่นหน้าปัดวิทยุอีกครั้งแน่นอน