พลันที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชุมนุมยืดเยื้อเป็นหนังยาวม้วนเดียวจบพร้อมลั่นจะปิดบัญชีการชุมนุมครั้งนี้ให้ได้ในวันที่ 8 เม.ย. 52 นี้ ต่อมความคิดก็กระตุกขึ้นอย่างเร็วพร้อมทั้งครุ่นคิดว่า “นักข่าว” ต้องทำงานหนักอีกแล้วหรือนี่
ในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมระหว่างวันที่ 26 มี.ค.- 13 เม.ย. “ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เป็นการคุกคามสื่อแยกเป็นสองช่วง ช่วงแรกก่อนเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ 26 มี.ค.-10 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่แกนนำระดมประชาชนเรือนแสน และ ช่วงหลังวันที่ 10เม.ย.- 14 เม.ย.หรือช่วง “แดงจลาจล”
เหตุเกิดหน้าบ้านป๋า
สัญญาณการคุกคามสื่อเกิดขึ้นในวันชุมนุมใหญ่ 8 เม.ย. คนเสื้อแดงร่วมแสนคนปิดล้อมรอบทำเนียบรัฐบาลเลื้อยไปถึงบ้านพักสี่เสาเทเวศน์ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่เป็นเป้าหมายขับไล่ของคนเสื้อแดง
สมโภช โตรักษา ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นนักข่าวคนแรกที่กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเปิดฉากคุกคาม สมโภชเล่าข้อเท็จจริงว่า
{xtypo_quote}"ขณะนั้นเวลา 11.45น. ผมได้สัมภาษณ์สด นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ซึ่งได้สอบถามนายจตุพรถึงแนวทางการชุมนุม โดยไม่ได้มีการพูดถึงจำนวนผู้ชุมนุมซึ่งตอนรายงานข่าวก็ไม่ได้พูดถึงจำนวนคนที่ร่วมชุมนุม ซึ่งช่วงนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น นายจตุพร และผู้ชุมนุมยังเข้ามาจับไม้จับมือกับชื่นชมว่ารายงานดีตรงไปตรงมา... แต่หลังจากนั้นนานไม่ถึง 5 นาที ได้มีกลุ่มเสื้อแดงอีกกลุ่มประมาณ 30 คน กรูเข้ามาล้อมที่รถ ทีมงานพร้อมต่อทันทีว่ารายงานข่าวได้อย่างไรว่าผู้ชุมนุมไม่ถึงพันคน พร้อมปาขวดน้ำ ทำให้การ์ดเสื้อแดง เข้ามาช่วยเคลียร์ แต่ไม่สามารถเคลียร์ได้ การ์ดเห็นท่าไม่ดี จึงขอให้ผมและทีมงานออกจากพื้นที่ดังกล่าว และยังระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเสื้อแดงเทียม เข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่"{/xtypo_quote}
คล้อยหลังไม่ถึงชั่วโมงหลังเกิดเหตุกับนักข่าวช่อง 7 กลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนได้กรูกันเข้าไปยังรถข่าวช่อง 3 อีก ครั้งนี้รถข่าวช่อง 3 ถูกผู้ชุมนุมเจาะยางแบนราบทั้ง 3 คัน
วารุณี ซื่อสัตย์สกุลชัย นักข่าวภาคสนามช่อง 3 รายงานสดขณะนั้น ลำดับเหตุการณ์
{xtypo_quote}"เหตุเกิดเมื่อเวลา 11 โมงกว่า ทีมข่าวได้ตั้งรถรายงานข่าวข้างวัดเทวราชกุลชร จู่ๆ ก็มีผู้ชายใส่เสื้อสีแดงตะโกนใส่เราว่า ‘รายงานข่าวให้ดีหน่อย’ หลังจากนั้นก็มีผู้ชายอีกคนเดินเข้ามาสบทบกับผู้ชายคนแรกและมาตะโกนอีกว่า ‘เป็นนักข่าวต้องมีจรรยาบรรณ’ เราก็ไม่ได้สนใจอีก เพราะช่วงนั้นต้องขึ้นรายงานข่าวแล้ว ซึ่งทางทีมงานฝ่ายข่าวของช่อง 3 ได้แนะนำว่าควรขึ้นไปรายงานข่าวบนหลังคารถดับเพลิงจะปลอดภัยกว่า จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ทยอยกันมาเป็นจำนวนมากเข้ามาล้อมรถดับเพลิงที่ใช้รายงานข่าวและก็ใช้น้ำสาดขึ้นมา และหลังจากที่รายงานข่าวเสร็จก็ได้ให้ช่างภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ทั้งหมด และถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาระงับเหตุก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมา”{/xtypo_quote}เธอยืนยันว่าไม่ได้รายงานข่าวบิดเบือนหรือผิดเพี้ยนโดยเฉพาะเรื่องตัวเลขผู้ชุมนุม จากแสนคนเป็นหมื่นคน ทุกครั้งที่อ่านข่าวจะไม่พูดแบบนี้ ถ้าผู้ชุมนุมสงสัยก็ให้ไปเพลย์เทปตรวจสอบดูได้ แต่นี่เป็นการฟังจากการลือแบบปากต่อปาก
กรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า เป็นการคุกคามสื่อโดยกลุ่มมวลชนที่เป็นแกนนำผู้ชุมนุมไม่สามารถรองรับความปลอดภัยได้ ซ้ำร้ายยังโยนให้เป็นเรื่องของกลุ่มเสื้อแดงเทียมทุกครั้ง อ้างว่า แอบมาปะปนชุมนุมสร้างความวุ่นวาย
การคุกคามสื่อถูกยกระดับขึ้นช่วงเหตุการณ์จลาจลกรุงเทพ การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นภาพช๊อคโลก สร้างความสะเทือนใจให้กับทุกฝ่ายแม้แต่ สื่อต่างชาติ สหภาพยุโรป รวมทั้งยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตำหนิการก่อจลาจลของกลุ่มผู้ชุมนุม
ย้อนไปในเช้าวันเสาร์ที่ 11 เม.ย. ไม่มีใครคาดคิดว่าเวทีการประชุมอาเซียนซัมมิทที่โรงแรมรอยัลคลิปบีช พัทยาจะจบลงด้วยการที่กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในโรงแรมเพื่อยุติการประชุมของเหล่าผู้นำอาเซียนได้อย่างง่ายดาย
อานุภาพข่าวลือ
จีรพงศ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าข่าวอย่างเร่งด่วนให้ไปสบทบกับเพื่อนผู้สื่อข่าวที่เดินสายไปก่อนหน้านี้
{xtypo_quote}“ทันทีที่ผมไปถึงโรงแรมรอยัลคลิปบีช ก็เห็นทหารตั้งกองกำลังอยู่หน้าโรงแรมที่ใช้จัดการประชุม ซึ่งผมไม่คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะฝ่าด่านทหารเข้ามาในโรงแรมได้ แต่ผมคิดผิดเพราะเมื่อผมเข้าไปทักทายเพื่อนผู้สื่อข่าวได้ไม่นาน เสียงกระจกก็แตกดังเพล้ง กลุ่มผู้ชุมนุมกรูกันเข้ามาภายในโรงแรมง่ายดายเหมือนไม่มีด่านทหารกั้น และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นถึงการทำงานของอานุภาพข่าวลือ ซึ่งก่อนที่ผู้ชุมนุมจะบุกพังเข้ามาในโรงแรมนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดงได้บุกเข้ามาขอใช้สถานที่ในการแถลงข่าว ระหว่างการแถลงได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงข้างนอกตะโกนปลุกเร้ากันตลอดว่า ‘อริสมันต์โดนจับตัวแล้ว พวกเราบุกเข้าไปเลย’ ผมได้ยินการปลุกเร้าในลักษณะเช่นนี้หลายครั้งจนที่สุดกลุ่มคนเสื้อแดงก็สามารถบุกเข้ามาในโรงแรมได้สำเร็จ”{/xtypo_quote}เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้ยุติแค่นั้น เช้าวันสงกรานต์วันจันทร์ที่ 13 เม.ย.การชุมนุม กลับเพิ่มอุณหภูมิมากขึ้น แกนนำกลุ่มเสื้อแดงได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีหน้าทำเนียบรัฐบาล ปลุกระดมให้ผู้ชุมนุม ตอบโต้ สื่อมวลชน โดยให้เหตุผลว่าสื่อมวลชนบิดเบือนในการรายงานข่าว และประกาศไม่รับรองความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ซึ่งถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสถานการณ์ก็ว่าได้
การประกาศบนเวทีของแกนนำ ทำให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หลังเวทีใหญ่ทำเนียบรัฐบาลต้องถอยร่นออกมายังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเพราะเกรงไม่ได้รับความปลอดภัยเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีการโยนขวดน้ำมาที่รถถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์บางช่องแล้ว ขณะที่ ช่างภาพบางสำนักที่อยู่บริเวณลานพระรูปทรงม้า ก็ถูกกระชากกล้อง ทำให้สื่อมวลชนและช่างภาพบางส่วน ต้องอพยพไปรวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภา
ออรีสา อนันทะวัน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นยอมรับว่า คำประกาศไม่รับรองความปลอดภัยของแกนนำทำให้ผู้สื่อข่าวทำงานยากลำบากมากขึ้นอีก และยืนยันว่า การทำข่าวกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงตามที่กล่าวหา
จุดเปลี่ยน - แกนนำไม่รับรองความปลอดภัย
เนริศา เนยเขียว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น อยู่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นกัน เธอว่า ขณะอยู่หลังเวทีของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดไว้ให้สื่อมวลชน รับรู้ได้ทันทีถึงบรรยากาศไม่ปรกติกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีท่าทีที่เกรี้ยวกราดกับสื่อมาก ซึ่งอาจเป็นผลต่อการที่แกนนำประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายสื่อมวลชน เราเดินไปถามการ์ดหลังเวทีว่า “เราสามารถเข้าไปทำข่าวได้หรือไม่” แต่การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมถามกลับด้วยน้ำเสียงดุดันว่าเรามาจากฉบับไหน ก็ตอบกลับไปว่า “เรามาจากสำนักข่าวเนชั่น” การ์ดยิ่งเพิ่มเสียงดังพร้อมกับขู่ตะคอกเราว่า “ไม่ให้เข้า” แต่เมื่อบอกว่า มากับเพื่อนที่อยู่ไทยรัฐ การ์ดจึงยอมให้เข้า
เธอบอกว่า ได้ตั้งคำถามยังนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำผู้ชุมนุม ว่าทำไมถึงปลุกระดมมวลชนให้ออกมาทำร้ายสื่อแบบนี้ ซึ่งนายจตุพร แก้ตัวกับสื่อไทยว่าเป็นการเข้าใจผิด
{xtypo_quote}“การปฏิบัติของแกนนำผู้ชุมนุมระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างชาติกลับแตกต่างกันอย่างลิบลับ พวกเราต้องทำข่าวด้วยความยากลำบากทั้งที่เสนอความจริงทุกแง่มุม เราต้องอยู่บนความหวาดระแวง ว่าจะมีผู้ชุมนุมเข้ามาทำร้ายเราเพราะการปลุกปั่นของแกนนำ เราอยากบอกว่ายิ่งคุณทำร้ายและกีดกันสื่อมากเท่าไหร่ความจริงก็จะยิ่งถูกกีดกันมากเท่านั้น และในเมื่อคุณปิดกั้นการทำหน้าที่ของเรา ด้วยการปลุกระดมให้มวลชนมาทำร้ายสื่อมวลชนจนทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้กำแพงที่ถูกก่อขึ้นโดยแกนนำผู้ชุมนุมเองกลับเป็นการปิดกั้นข่าวสารของผู้ชุมนุมที่ประชาชนควรได้รับทราบ เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้จะมาบอกว่าพวกเราไม่นำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงไม่ได้”{/xtypo_quote}ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเนชั่นกล่าว
นอกจากสื่อหนังสือพิมพ์จะได้รับผลกระทบต่อการทำหน้าที่ สื่อโทรทัศน์ก็เป็นเป้าหมายที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้จู่โจมเช่นกัน
เสาวลักษณ์ วัฒนสิน ผู้สื่อข่าวสายการเมืองทีวีไทยเล่าว่า ทันทีที่แกนนำประกาศทำร้ายสื่อ นักข่าวภาคสนามก็หารือทันทีว่า เราจะทำข่าว ณ สถานการณ์แบบนี้ได้ต่อไปอีกหรือไม่จนได้ข้อสรุปว่าควรถอนกำลังออกนอกพื้นที่ เพราะแกนนำไม่สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ และก่อนหน้านี้ช่างภาพของทีวีหลายช่องก็ถูกคุกคามด้วยการขอตรวจค้นร่างกาย เราในฐานะนักข่าวภาคสนามขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจรรยาบรรณของเรา เราเห็นอย่างไรก็รายงานอย่างนั้น
ความรู้สึกของเสาวลักษณ์คงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของเพื่อนร่วมสังกัดเดียวกัน วีระยุทธ วิริยะสัจจะกุล ผู้สื่อข่าวการเมืองทีวีไทยบอกว่า ช่วงนั้นได้รับหน้าที่ให้ตระเวนดูความรุนแรงในหลายพื้นที่และก็ทราบข่าวจากทางเอสเอ็มเอสว่าแกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมทำร้ายสื่อมวลชน ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะการทำหน้าที่ต้องระมัดระวังตัวอยู่แล้ว
{xtypo_quote}“ผมตระเวนตั้งแต่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ผ่านฟ้า แยกอุรุกพงษ์ นางเลิ้ง แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อผมไปถึงแยกอุรุกพงษ์ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่เสื้อสีดำผูกพ้าพันคอสีแดง ตรงเข้ามาหาผมและช่างภาพ พร้อมอาวุธครบมือ และชี้หน้ามาที่พวกผมบอกว่า ‘นักข่าวใช่มั้ยออกไปเลยไอ้พวกอคติเอนเอียง’ เขาประกาศไล่พวกผม และเดินเข้ามาหา ตอนนั้นเราตกใจมาก แต่ก็เอาตัวรอดได้ด้วยการตะโกนตอบกลับไปว่า ‘ผมเป็นสื่อต่างชาติ’ ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวถึงได้ล่าถอยไป….ผมเข้าใจได้ว่าในสถานการณ์นั้นย่อมทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเครียดและอาจทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด ความจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงการทำหน้าที่ของตนเองเช่นกัน สำหรับผม คิดว่าได้ทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวภาคสนามตัวเล็ก ๆ อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว”{/xtypo_quote}
ปากคำที่นางเลิ้ง
เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 13 เม.ย.ไล่ระดับความรุนแรงมากขึ้น การยึดรถเมล์และนำรถแก๊สขู่ระเบิดบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุดกลับเป็นบริเวณแยกนางเลิ้ง
วรพล กิตติรัตนวรางกูร ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งบาดเจ็บที่แขนซ้ายระหว่างวิ่งหนีกระสุนปืนที่ชุมชนนางเลิ้ง เล่าเบื้องหลัง
{xtypo_quote}“คืนของวันที่ 13 เม.ย.ประมาณสี่ทุ่มผมกับนักข่าวไทยโพสต์อีก 4 คนและเพื่อนนักข่าวอีกกลุ่มตระเวนรอบพื้นที่การชุมนุม จนสุดท้ายไปอยู่บริเวณหน้าตลาดนางเลิ้ง หลังจากที่พวกผมลงรถก็มีประชาชน 100 กว่าคน ยืนอยู่กลางถนน หลายคนยืนพร้อมกับมอเตอร์ไซด์ ปิดถนนตรงแยกนางเลิ้ง ชาวบ้านเล่าด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะมา เผารถเมล์ ซึ่งบริเวณนั้นเป็นบ้านไม้และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เชื้อไฟลุกลาม จึงขอให้เสื้อแดงเอารถเมล์ออกไป ทำให้พวกการ์ดของเสื้อแดงไม่พอใจรวมตัวกันไล่ยิงคนนางเลิ้งซึ่งก็มีคนได้รับบาดเจ็บ....ชาวบ้านยืนยันว่า คนยิงเป็นคนเสื้อแดงนั่งมอเตอร์ไซด์กราดกระสุดยิงใส่ชาวบ้านและในระหว่างที่ผมฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านนั้น ก็บอกให้น้องนักข่าวที่มาด้วยกันจดข้อมูลทุกอย่างให้ละเอียด เพราะชาวบ้านบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ยังไม่มีนักข่าวมาทำข่าว ชาวบ้านบอกเล่าอีกว่าได้โทรแจ้งตำรวจหลายครั้งแล้วก็ไม่มีตำรวจจากสน.ไหนมาระงับเหตุ ระหว่างนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นโดยเป้าหมายพุ่งมาที่เราและชาวบ้าน เสียงปืนดังและรัวนานมาก ขณะนั้นพวกผมและชาวบ้านวิ่งหนีไม่คิดชีวิต ระหว่างผมวิ่งก็พยายามจับจุดว่าเสียงปืนมันดังมากจากตรงไหน
....ตามสัญชาตญานเราทุกคนต้องวิ่งหาที่กำบัง ซึ่งก็เป็นตรอกซอกซอยตรงบริเวณนางเลิ้ง ผมจำไม่ได้ว่าล้มลงตรงบริเวณปากทางที่จะเข้าที่กำบัง และในขณะที่ผมกำลังจะลุกขึ้นอีกก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกครั้งคราวนี้ยิ่งรัวนานและนานมากกว่าเดิม พวกผมพยายามวิ่งเข้าซอยแต่เสียงปืนก็ยังดังไล่หลังพวกเรามาเรื่อยๆ ขณะนั้นพวกผมวิ่งไปเจอโรงแรมกรีนโฮเต็ลที่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณไม่กี่ก้าวทั้งที่เสียงปืนก็ยังดังไล่หลังเรามาต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงแรมทุกคนช่วยเหลือพวกเรามาก เขาเปิดโรงแรมให้ นักข่าวเข้าไปหลบข้างใน ขณะที่พวกผมเข้าไปหลบในโรงแรมเสียงปืนก็ยังดังต่อเนื่องไม่สิ้นสุด พวกเราใช้เวลาหลบในโรงแรมนานถึง 30 นาทีกว่าจะตั้งสติได้และสำรวจสภาพร่างกายตัวเอง จนมารู้สึกตัวว่า ได้รับบาดเจ็บที่แขนเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นต่างฝ่ายต่างตกใจและพยายามห้ามเลือดซึ่งเจ้าหน้าโรงแรมก็ได้ช่วยห้ามเลือดที่แขนผมด้วยพร้อมเอายาแดงมาทาให้
“เหตุการณ์ที่พวกผมได้ประสบกับครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ผมและน้องได้ทำงานอย่างเต็มที่ไม่มีอคติและบิดเบือน ทุกวันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นางเลิ้งสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้ภาพที่ชัดกว่าประชาชนที่ถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้โดยโทรศัพท์มือถือ ในฐานะการทำข่าวหน้าที่ของผมในครั้งนี้ผมถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของ นักข่าวที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงทีที่เกิดขึ้นให้สมบูรณ์ที่สุด ผมได้ทำหน้าที่ของผมเต็มที่แล้ว” {/xtypo_quote}
นอกจาก วรพล ที่ผ่านวินาทีชีวิตมาอย่างฉิวเฉียดแล้ว อัญชลี อับดุล ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทยก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งนั้นด้วย
{xtypo_quote}“เรารู้สึกว่าชีวิตเฉียดความตายมาก ตอนที่วิ่งเราคิดตลอดว่าถ้าเราตายไปแล้วแม่จะอยู่ยังไง เสียงปืนดังมาก เราไม่รู้ว่ายิงมาจากทางไหน หลังจากตั้งสติได้เราก็เดินออกมาดูบรรยากาศที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะกลัวแต่เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ มีกระปลอกกระสุนปืนหล่นเต็มพื้นที่เป็นจำนวนมาก มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราพยายามสลัดความกลัวให้หลุดออกจากหัว และเริ่มจับปากกาบันทึกเหตุการณ์ลงบนสมุดจดข่าว”{/xtypo_quote}เหล่านี้เป็นความรู้สึกเพียงบางส่วนของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ที่ยากยิ่ง บนความเสี่ยงในชีวิต ซึ่งยังมีอีกหลายคนที่เสี่ยงภัยไม่แพ้กัน และถูกคุกคามทั้งทางตรงทางอ้อม ปากคำสื่อมวลชนนี้ถือเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยข่าวลือ การบิดเบือนและความจริงที่หวังเอาชนะกันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
หมายเหตุ - สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โทร 02-6689422, 086-3351069