ปี 2552 เป็นปีที่การคุกคามสื่อเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ซับซ้อน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไม่นับรวมปัญหาสื่อเลือกข้างในภาวะสังคมแตกแยกขณะนี้
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคนใหม่ บอกเล่า ภารกิจ ความมุ่งหวังที่จะทำในวาระ 1 ปี ว่า จริงๆ แล้ว สมาคมมีกิจกรรมมากอยู่แล้ว และกิจกรรมของสมาคมรวมทั้งองค์กรเครือข่าย เช่น สถาบันอิศราก็มีกิจกรรมที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพของผู้สื่อข่าว ซึ่งเราจะไม่แตะเพราะมันดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะเน้นพิเศษมีสองเรื่องหลักๆ คือ
หนึ่ง จริยธรรม หรือ จรรยาบรรณ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวและภาพที่ไปละเมิดบุคคลอื่นในเรื่องส่วนตัว เช่น เด็ก สตรีและคนด้อยโอกาสรวมถึงเหยื่อ อาชญกรรมต่างๆ ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งในทางสากลเขาระมัดระวังสูงมาก แต่สื่อไทย ไม่ค่อยระมัดระวังและกระทบกับประชาชนโดยตรง
ตรงนี้ต้องเน้นเป็นพิเศษเพราะเวลาเราถูกวิจารณ์มักจะถูกปนไปกับเรื่องการเมือง ซึ่งมันคนละส่วน นักการเมืองชอบเอาเราไปว่า ละเมิดสิทธิ์คนอื่น ดังนั้น ถ้าเราควบคุมเรื่องนี้ได้ดีก็น่าจะดีขึ้นเพราะทุกวันนี้ความน่าเชื่อถือของเราสำรวจทีไรตกต่ำทุกที
วางกรอบจริยธรรมสื่อ – วิทยุชุมชน
ผมเห็นด้วยที่นักวิชาการส่วนหนึ่งมาเรียกร้องให้สื่อระมัดระวังเรื่องการนำเสนอภาพข่าว ซึ่งหลังจากนั้น หน้าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ดีขึ้น แต่สมาคมต่างๆ ก็ต้องช่วยกันติดตาม ผมอยากเสนอให้คณะกรรมการอาวุโสของสภาการหนังสือพิมพ์ เฝ้าระวังถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็อยากให้คนเหล่านี้ออกหนังสือเตือน ทราบว่า หลังจากเกิดเรื่องขึ้น สภาการฯก็มีมาตรการอยู่ เช่น มีการมอนิเตอร์ว่า หนังสือพิมพ์ไหนเสนอภาพอุจาด ลามก กี่เปอร์เซ็นต์จะได้ให้ชัดเจนเลยเพื่อให้สังคมช่วยด้วย เป้าประสงค์ของสมาคมไม่ต้องการโจมตีใคร แต่ต้องการให้สังคมยอมรับในตัวหนังสือพิมพ์ที่สามารถนำเข้าบ้านได้ เด็กดูได้ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
สอง เมื่อเราสามารถทำให้ยอมรับได้ สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ คือ เรื่องเสรีภาพ ที่จริงเสรีภาพมันมีสองส่วน ประชาชนมีเสรีภาพในการดูทีวีหรือไม่ เช่น ดูรายการน้ำเน่า มีเสรีภาพในการดูการเล่าข่าวทุกช่อง (หัวเราะ) แต่ที่เป็นปัญหา คือ เรื่องวิทยุชุมชน รัฐบาลอาจใช้อำนาจในการเลือกปฏิบัติ รัฐธรรมนูญบอกแล้วว่า คลื่นเป็นทรัพยากรของชาติ แต่ทุกวันนี้คลื่นวิทยุทั้งหมด ยกเว้นวิทยุชุมชนที่ตั้งไม่ถูกกฎหมาย เป็นของรัฐหมดซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น มันทำให้ระบบเสรีภาพเรามีปัญหา ฉะนั้น เราก็คิดตั้งกองทุนเสรีภาพสื่อขึ้นมาเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปสื่อ
แต่อันที่ละเอียดอ่อนมากคือ เรื่องอินเตอร์เนต ผมยังคิดไม่ออกว่า ความเหมาะสมตรงกลางที่จะเจอกันเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าอินเตอร์เนตมีหลากหลาย การไปนั่งสแกนไล่จับคงลำบาก แล้วจะมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติและก็จะเกิดการกลั่นแกล้งตามมาอีก ตรงนี้ถ้าทำให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน รวมทั้งเรื่องเสรีภาพสื่อที่เปลี่ยนรัฐบาลที มีปัญหาที โดยเฉพาะสื่อของรัฐ จะถูกควบคุมตลอดมันก็ช่วยให้ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ เรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทที่เราใช้ปะปนกัน สื่อตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทด้วยประมวลกฎหมายอาญาเหมือนกัน เราควรจะมีข้อยกเว้นไหม มีการคุ้มครองไหม เช่น อาจมีข้อยกเว้นว่า ถ้าเราตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กฎหมายเฉพาะ คือ ต้องพิจารณาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวนำก่อนที่จะดูว่า หมิ่นประมาทก่อน แล้วค่อยใช้ข้อยกเว้นตามกฎหมายอาญา หรือ แม้แต่กฎหมายคุ้มครองกองบรรณาธิการที่รัฐธรรมนูญบอกว่า ให้มีเสรีภาพได้ เราควรจะใช้กฎหมายแยกออกจากกฎหมายแรงงานหรือไม่ ซึ่งหลายหน่วยงานก็ศึกษาอยู่ แต่ผมก็ไม่ได้หวังว่าต้องเสร็จในสมัยผม แต่ถ้ามีการวางรากฐานก็ดี
สองส่วนนี้ คือ การละเมิดคนอื่น เรื่องสิทธิเสรีภาพและเรื่องกฎหมายเฉพาะสองเรื่องก็โอเคแล้ว
แล้วบทบาทของสมาคมจะอยู่ตรงไหน กรณี สื่อแบ่งสีแบ่งค่าย?เรื่องนี้มีคำถามมาก ผมคิดว่า มันซับซ้อนกว่าที่สมาคมจะดูแล เพราะต้องยอมรับความจริง ว่า สมาคมเป็นตัวแทนจากนักข่าวซึ่งก็คือ ลูกจ้าง มันซับซ้อนมากเกินกว่าที่บรรดานักข่าวที่เป็นกรรมการสมาคมจะเข้าไปดำเนินการได้ด้วยตัวเองเพราะมันมีผลประโยชน์หลายเรื่อง เช่น ผลประโยชน์ทางการเมือง ผลประโยชน์ทางธุรกิจและเรื่องความแตกแยกนี้ไม่ใช่เรื่องสื่ออย่างเดียว เรารู้ว่า กลุ่มพรรคการเมืองมีเป้าประสงค์ทางการเมืองเพื่อใช้สื่อ อันนี้เรารู้ แต่มันแก้ไม่ได้ อย่างในระดับชาติก็แก้ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องใครคนใดคนหนึ่งแก้ แต่ก็อยากให้สังคมโดยรวม องค์กรต่างๆ ที่เห็นความไม่ถูกต้องในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมืองต้องช่วยมาช่วยกัน ไม่ใช่ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งทำ เช่น โอ้ย เอ็งทำซิ....มันก็เกี่ยงกันตลอดเวลา
สื่อแบ่งขั้ว-ให้สังคมกดดัน
ถ้าเห็นว่า สื่อไหนไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ให้ใช้วิธีบอยคอต ไม่ซื้อ ไม่เสพ ไม่ดู ซึ่งเรายินดีถ้ามันมีรูปธรรมที่ชัดเจน และไม่ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายมากขึ้น ไม่ใช่เที่ยวประฌามว่า ใครเลวกว่าใคร ผมคิดว่า เราพร้อมจะทำให้มาตรฐานสื่อของเราได้รับการยอมรับในทุกๆ ด้าน
ลำบากใจอย่างไรต่อแรงปะทะจากสังคมหรือจากสื่อทั้งสองขั้ว
ผมไม่หนักใจอะไร ที่ผ่านมาสมาคมก็ถูกวิจารณ์เรื่องนี้มาตลอดว่าเลือกปฏิบัติไม่ทำคนนั้นคนนี้ ทั้งที่เราพยายามที่จะไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่งอยู่แล้ว พอไม่เลือกข้างก็โดนด่า พอทำ ก็บอกว่าไปทำฝ่ายนั้นซิ ผมว่าธรรมดาเพราะคุณมีเป้าหมาย มีวาระซ่อนเร้นทั้งสองฝ่าย คุณจะคิดอย่างไรก็เรื่องของคุณ แต่ไม่ควรบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนคุณ
ในสมาคมเราก็มีกรรมการเกือบทุกฉบับ ฉบับไหนที่เรามองว่า เป็นสีนั้น เขาก็ดีมาก เขาไม่เคยอาเรื่องนี้มาปะปนเกี่ยวกับการทำงานเพราะคนทำงานด้วยกันเข้าใจ แต่คนอื่นซึ่งแม้จะอยู่ฉบับเดียวกัน ก็อาจจะไม่เข้าใจ...ก็เรื่องของเขา แต่ว่าเราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพราะเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ บางฉบับของอีกสีหนึ่ง ด่าสมาคมตลอด แต่พอไปดูเนื้อในไม่มี เขาไปอ้างคำพูดของคนที่อ้างว่าเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่มีใครเอา ก็ช่าง...ไม่เป็นไร
แต่ที่ผ่านมากิจกรรมของสมาคม ได้รับการยอมรับมากจากนักวิชาการ ประชาชน ดูจากผลสำรวจของเอเบคโพลล์ล่าสุด แม้ส่วนใหญ่ 40% จะไม่มีคอมเม้นท์ แต่ส่วนที่คอมเม้นท์ก็ยังยอมรับสมาคม ผมคิดว่า เราพยายามวางตัว ไม่โต้ตอบในเรื่องที่ไร้สาระ แต่เราต้องชี้แจงในเรื่องที่สำคัญ ก็น่าจะไปได้ ไม่หนักใจอะไร เพราะเราไม่มีผลประโยชน์อยู่แล้ว
คำวิจารณ์ทุกสมัยว่า สมาคมหรือ สภาการหนังสือพิมพ์ก็เป็นแค่เสือกระดาษที่ทำอะไรไม่ได้
ผมไม่เคยเชื่อเรื่อง การสร้างกลไกอะไรขึ้นมาแล้วควบคุมกันเอง หรือมีอำนาจที่จะตรวจสอบกันเอง ถ้ากลไกนั้นหรือสังคมไม่ได้รับการสนับสนุน เช่น คุณบอกว่า ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อโดยเฉพาะ และก็มีสภาแบบแพทย์สภา หรือ สภาทนายความเพื่อให้ควบคุมกันเอง หรือ ให้มีอำนาจกฎหมายอย่างปปช. เพื่อตรวจสอบนักการเมือง แล้วจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ผมว่า ใส่อำนาจกฎหมายก็ควบคุมกันไม่ได้ สุดท้ายคุณก็ยังมีแพทย์นอกรีต และคนก็ยังรู้สึกว่าแพทย์สภานี่ช่วยเหลือแพทย์ด้วยกันเอง เพราะคุณเหมือนกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุณเข้าไม่ถึง
ฉะนั้น ผมคิดว่า ข้อบังคับที่ให้อำนาจกฎหมายรองรับ มันไม่ใช่ประเด็น สื่อเป็นองค์กรที่สัมผัสกับสาธารณะ มีลูกค้าโดยตรงคือ ประชาชน และถ้าเกิดประชาชนไม่ใส่ใจในสิ่งที่ตนเองต้องรับ เฉยๆ ชาชิน ขณะเดียวกันสื่อเองก็ไร้ความรับผิดชอบ มันก็ไม่มีทางเจอกันได้ ฉะนั้น การทำงานอย่ามองว่าเป็นแค่เกียรติ ตำแหน่ง แต่ต้องเข้ามาเพื่อทำหน้าที่จริงๆ และทำให้ดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ง่ายนัก และถ้าสังคมเข้าใจและสนับสนุนมันก็ไปได้ ในส่วนโครงสร้างสภาการหนังสือพิมพ์ ก็ต้องปรับปรุงให้มีคนนอกเพิ่มขึ้นเหมือนต่างประเทศ ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อแก้ขัด
ทั้งหมดจะให้มันได้ 100% คงเป็นไปไม่ได้ เพราะที่เราเห็นเรายังไม่พอใจเลย แต่การเดินสู่จุดนั้นมันไม่ง่ายเพราะเราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือ เราเป็นหมา เราไม่ได้จะมาฟาดฟันใคร แต่ที่เราเห็นหน้าเห็นตาเนี่ย การไม่มีสมาคมหรือไม่มีสภาการหนังสือพิมพ์กับมีทั้งสององค์กร คุณคิดว่าอันไหนดีกว่ากันหล่ะ
การมีสมาคมหรือสภาการฯ ผลที่ได้อย่างน้อยคนที่มานั่งเป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์ มาจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่หนังสือพิมพ์ฉบับของตัวเองสมมติว่า ยังละเมิดจริยธรรมตลอดเวลา ผมว่า เขาก็มีความอาย อย่างน้อยที่สุด คุณต้องไปบอกคนในโรงพิมพ์คุณว่า เฮ้ย เบาๆ..หน่อยซิ ถ้าส่งผมไปอยู่ตรงนี้แล้ว ก็ต้องเกรงใจผมบ้างเป็นการพูดกันภายใน มันก็ยังดีกว่าที่ไม่มีกลไกอะไรมาคานกันเอง หรือจะให้ฟ้องกันด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทลูกเดียว ซึ่งไม่มีทางดีขึ้นแน่
ผมว่ามาตรการทางสังคมมันมีผลมากที่สุด ทำไมเมืองนอกได้ผล เช่น รัฐมนตรีญี่ปุ่นดูเหมือนแถลงข่าวเมาเหล้า ส แค่นั้นก็ลาออกแล้ว นั่นคือ การควบคุมจากสังคมที่ได้ผล แต่ถ้ามีกฎหมายก็อีกอย่าง และกฎหมายเมืองไทยก็ไม่มีความหมาย
อะไรที่เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสิ่อขณะนี้
ตอบยาก ตัวคุณภาพคนหรือจริยธรรมหล่ะ ตอนที่แกรมมี่จะมายึดมติชนก็มีคนเสนอว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อให้กองบรรณาธิการ (กองบก.) เป็นอิสระ มันก็มีสองส่วน หนึ่ง เสนอกฎหมายอย่างที่บอก ต้องแยกออกจากกฎหมายแรงงาน จะมาไล่คนออกซี้ซั้วตามกฎหมายแรงงานไม่ได้ สอง เราทำแบบต่างประเทศดีไหม เช่น กองบก.กับเจ้าของต้องมีข้อตกลง และประกาศลงในเวปไซต์ไปเลยว่า กองบก.นี้ได้มีข้อตกลงกับเจ้าของว่า การปฏิบัติหน้าที่จะไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันด้วยขอบข่ายดังต่อไปนี้....หรือถ้ามีเรื่องสำคัญก็ปรึกษากันในระดับที่เหมาะสม แล้วเราก็คอยดูว่า คุณได้ละเมิดกับสิ่งที่คุณประกาศกับประชาชนไว้หรือไม่
ส่วนระบบทุน ถามว่า เราปฏิเสธระบบทุนหรือไม่ ผมว่าสื่อต่างประเทศที่คุณว่าเจ๋งๆ ก็ถูกขู่ตัดโฆษณาเหมือนกัน ทีนี้ถามว่า นายทุนสื่อไทยมีความเป็นห่วงเรื่องความอยู่รอดหรือไม่...คำตอบคือ มี แม้แต่เราก็ห่วงเรื่องความเป็นอยู่ ตรงนี้เป็นความละเอียดอ่อนที่จะทำอย่างไรให้เส้นแบ่งนี้มีความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด มันไม่ง่ายนะโดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจที่ตลาดโฆษณาเป็นเจ้าของสินค้า ก็สามารถจะเลือกได้ และความอยู่รอดกับทุนนิยมจะทำอย่างไร มันก็ต้องทำให้เกิดสมดุลมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผมว่าเป็นศิลปะหลายอย่าง อยู่กับนิสิยใจคอเจ้าของ อยู่กับอำนาจต่อรองของกองบก.กับเจ้าของ
ภาวะที่สื่อวิกฤตจนตกงานเช่น จีจีนิวส์ สมาคมกับการดูแลเบื้องต้นเป็นอย่างไร
ปี 2540 เราก็เคยช่วยเปิดท้ายขายของ หลายคนก็มากู้เงินสมาคมไป หลายคนอาจตั้งตัวได้ แต่ไม่เคยคืนเงินก็มี อีกอย่างเราต้องยอมรับว่า มันเกินกำลังของสมาคมที่จะไปจ่ายสวัสดิการแทนเขาเพราะเงินเราก็มีจำกัด แต่สิ่งที่เราช่วยเหลือได้ถ้าคุณยังเป็นสมาชิกอยู่ ผมว่า ค่าเจ็บป่วย ทุนการศึกษาบุตรจ่ายได้ แต่ถ้าคุณไม่มีสังกัด แต่เป็นสมาชิกวิสามัญเราก็จะจ่ายทุนการศึกษาลูก แต่จะให้จ่ายเป็นรายเดือนคงไม่พอ สิ่งที่ทำได้คือ เจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องช่วยก่อน ถ้าจะตกงานก็ต้องยอมรับเรื่องการลดเงินเดือนก่อน หากเราโวยวายอันนี้ไม่ยอม อันนั้นก็ไม่ได้ มันก็ต้องตกงาน แต่ถึงขั้นตกงานแบบจีจีนิวส์มันก็กระทันหันมาก