เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของกองบรรณาธิการวารสารราชดำเนินที่ชอบชอนไชใจเหยี่ยวข่าว ซึ่งโฉบเฉี่ยวโบยบินประกบเกาะติดรายงานภารกิจของนายกฯ เพื่อนำเสนอร้อยเป็นถ้อยคำสู่สายตาผู้อ่าน
ฉบับนี้พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะทุกฉบับที่กองบรรณาธิการฯเขียนถึงพี่น้องพ้องเพื่อนนักข่าวที่ตามติดนายกฯ ล้วนปักหลักทำข่าวอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลมานาน จนหลับตายังเดินรอบทำเนียบรัฐบาลได้สบายแฮ วัฒนธรรมการทำงานจึงสอดรับและกลมกลืนจนไร้ที่ติ และส.ส.ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯในรอบ 8 ปีก็มีรากเหง้าจากสายพันธุ์พรรคไทยรักไทย
แต่เมื่อโลกหมุน มุมดวงดาวเปลี่ยน การเมืองไทยก็กลับตาลปัตรสลับขั้วสายพันธุ์พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในช่วงปลายปี 2551
แรงกระเพื่อมทางการเมืองกระทบต่อนักข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักข่าวแขนงต่างๆที่ส่งนักข่าวฝังตัวเกาะติดทำข่าวประจำอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประจำอยู่ที่รัฐสภา ต้องสลับสายปักหลักทำข่าวจากรัฐสภาไปที่ทำเนียบรัฐบาล ประกบติดภารกิจของนายกฯ ทำให้ความยากลำบากอาจเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวได้ เพราะนายกฯมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน จะพูดอะไร จะทำอะไร หรือเคลื่อนไหวอะไรล้วนเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทั้งหัวใจสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว ได้รับทราบ
หลังจากนักข่าวที่เฝ้าโยงทำข่าวอยู่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเปลี่ยนสาย จากที่มีบทบาทตามผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องเล่นบทใหม่ไปตามนายกฯ ความคุ้นเคย ความเป็นกันเองของนักข่าวประจำค่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่มีต่อนายกฯคนใหม่ และนายกฯคนใหม่ที่มีต่อนักข่าวประจำค่ายพรรคประชาธิปัตย์ กลับไม่ได้สร่างซาจางลงตามหัวโขนที่เปลี่ยนเล่นบทไป
เมื่อไปตามได้ไม่กี่วันวงการนักข่าวการเมืองหลากหลายค่ายประจำทำเนียบรัฐบาลก็แอบจับกลุ่มกัน จนกระฉ่อนหลุดออกมาจากรั้วทำเนียบรัฐบาลถึงฉายาที่พี่น้องพ้องเพื่อนบางคนร่วมกันตั้งให้นักข่าวหน้าเก่า แต่เป็นน้องใหม่ในการตามนายกฯ มองดูอาจขำๆ คล้ายหยิกแกมหยอก
แต่เจ้าตัวซิ..ที่ได้รับฉายามีความหมายแปลไทยเป็นไทยว่า มีความหนิดหนมนายกฯหนุ่ม “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือนิกเนมว่า “มาร์ค” ว่า เอ็ม1 …เอ็ม 2… เอ็ม3… และเอ็ม4…ซึ่งล้วนเป็นนักข่าวผู้หญิงจะขำๆด้วยหรือเปล่า หรือจะเรียกว่างานเข้าก็ต้องลองไปคลำจังหวะการเต้นระบำของหัวใจว่ารู้สึกอย่างไรกับฉายาที่ถูกเพื่อนๆในวงการตั้งให้
น่าเสียดายอย่างยิ่งยวดที่เพื่อนของเราคนหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งฉายา“เอ็ม1..”ไม่ได้เขย่าความรู้สึกผ่านกล่องเสียงให้เราได้รู้ความในก้นบึ้งของหัวใจ
แต่ไม่เป็นอะไร ยังมี “บุษยา อุ้ยเจริญ” หรือ “พี่อ้อ” ช่อง9 ไม่ได้ทิ้งโอกาสนั้น ได้เปลือยอกเปิดใจถึงประเด็นร้อนฉ่าที่วงการนักข่าวการเมืองเมาท์สนั่นลั่นทำเนียบรัฐบาล ถึงฉายานักข่าวเอ็ม1 เอ็ม2 เอ็ม3 และเอ็ม4 ว่า ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าถามว่าคุ้นเคยไหม ตามมาไม่รู้กี่ปีไม่คุ้นเคยก็อายเขาเหมือนกันนะ
ถ้าตามเค้ามาไม่รู้กี่ปีแล้วขอสัมภาษณ์พิเศษไม่ได้เนี๋ย ถ้าเราเป็นนักข่าวต้องถามตัวเองนะ คือถามพี่ว่าฉายาพวกนี้พี่เฉยๆ เพราะเราทำงานไม่ได้เอาเปรียบใคร ทำงานเพื่อองค์กร เป็นประเด็นขององค์กร และรับเงินเดือนขององค์กร ที่บอกเราไม่ได้เอาเปรียบ เพราะนัดล่วงหน้า ถามนายกฯดูได้ ไม่มีมาเสียบต่อนู้นต่อนี้ หรือตอดนิดตอดหน่อย บางเรื่องที่รู้มาก็บอกทุกคนด้วยซ้ำ…
วันแรกที่ไปเนี๋ยบอกตรงๆว่าเราเริ่มจากว่าช่อง 9 มีโอบี(รถถ่ายทอดสด) หรือช่อง 7 มีโอบี ด้วยความที่เราอาจชินในสมัยที่ตามตั้งแต่สมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน มีโอบี ไปพรรคประชาธิปัตย์ เฝ้าพรรค มีประเด็น นายกฯทำงานอยู่ในสมัยที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ทำงานอยู่ เราก็ใช้วิธีนี้ว่า ว่างไหมลงมาให้สัมภาษณ์หน่อยได้ไหมค่ะ เรามีโอบี อยากได้ข่าวจะได้ทันข่าวเที่ยง
ด้วยความกรุณาของท่านเหล่านี้ที่ให้มา ณ วันที่เราไปอยู่ทำเนียบรัฐบาล เราก็ยังทำเหมือนเดิม แต่เราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เขาทำกันอย่างไร เพราะเราขนของออกจากทำเนียบพร้อมกับคุณชวน หลีกภัย ในสมัยที่เป็นนายกฯ อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร เราตามแป็บเดียวจริงๆ หรือคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เราก็ตามเฉพาะวันหยุด ฉะนั้นเมื่อเราไปอยู่ตรงนั้น มีโอบี เบิกโอทีทั้งแต่ 7 โมงเช้า หัวหน้าขึ้นกำหนดการ แปดโมงเพราะนายกฯไปทำงานเช้า กินเงินเขาไปทั้งแต่กี่ชั่วโมงแล้ว คุณยังไม่หาข่าวเหรอ มันไม่ใช่ไง…
เราก็ใช้วิธีเดิมโทรศัพท์ไป ใหม่ๆโทรไปนายกฯบอกว่า แต่เขาไม่ให้หนูขึ้นตึกนะค่ะ ท่านนายกฯเดินลงมาได้ไหม้ค่ะ เพราะขึ้นไม่ได้ และเราก็บอกคนอื่น ปรากฎว่าอยู่ๆก็มีคนมาถามว่าใครเป็นคนจัดแจงเนี๋ย ตั้งแต่เช้าเลย ซึ่งเราก็รู้สึกอย่างเจ๊ยุ (ยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโส)ก็มาถาม เราก็บอกไปว่าเจ๊ไม่มีใครจัดแจง แต่ทำอย่างนี้นะ อธิบายให้เขาฟัง แต่เราไม่สามารถเดินอธิบายให้กับทุกคนได้…
เรื่องฉายาที่ตั้งกันก็รู้เหมือนกันฉายาเอ็ม1 เอ็ม2 เราก็บอกว่าเข้าใจ เราสนิทกับเอ็ม 1 เขาไม่ได้สนิทกับนายกฯแค่การสัมภาษณ์ เขามีการดิวกันถึงเรื่องการทำหนังสือด้วย อะไรด้วย แต่ถามว่า เขาก็ไม่เคย อย่างบอกว่า พี่หนูมีสกู๊ปวันเด็กนะ พี่เขาสั่ง หนูจะทำนะ ก็บอกกัน แต่มันไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องเดินไปบอกทุกคนนะว่าเฮ้ย…กูจะทำสกู๊ปนะ… คือเขาคิดประเด็นก็คิดได้ เป็นสิทธิของเขาที่จะถาม คนอื่นอยากได้บ้างก็นัดซิ …ขอซิ… นายกฯไม่เคยไม่ให้… ถ้ามีเวลานะ นายกฯคนนี้พี่คอนเฟริม์ แม้ข้างในบอกว่าอยากทำสกู๊ปเรื่องน้องปราง(ลูกสาวนายกฯ) นายกฯนี้น่ารักม๊ากๆนะ เขาให้แม้กระทั่งว่า ท่านนายกฯไม่มีรูปเลยกลับไปบ้านเขาให้คนเซฟไฟล์รูปน้องปราง คือถ้าอะไรที่เขาโอเค ก็ให้คนไปรอเอารูปที่บ้านเค้า คือถ้าขอ เค้าเป็นคนใจดีไง เพียงแต่ว่าไม่รู้อื่นข้างในเขาอย่างได้หรือเปล่า หรือทำหรือเปล่า ไม่รู้ไง แต่ถ้าขอนายกฯให้อยู่แล้ว
ถามว่าซีเรียสกับฉายาเอ็มแค่ไหน…ก็เฉยๆ ไม่ได้ใส่ใจ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าเรียกกันต่อหน้า และมารู้ว่ามีการตั้งฉายาก็เพราะมีคนบอก มีเอ็ม1 เอ็ม2 เอ็ม3 แต่ถามว่าไม่กล้าเรียกต่อหน้า แล้วรู้สึกว่าเรารับเงินเดือดองค์กร แล้วไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำให้ใครเดือนร้อน ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร สำหรับพี่..เราทำงาน เราไม่ได้เอาเปรียบใคร
“บุษยา”ยังพูดถึงความสนิทสนมกับแหล่งข่าว ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวที่ดีในการตั้งคำถามหรือทำหน้าที่ตรวจสอบ เราไม่เคยชงคำถาม เราถามว่าการทำงาน ไม่ว่ากับใคร นายกฯคนไหนมันก็ต้องเริ่มจากคำถามซอฟ..ถูกไหม ไม่รู้เป็นสไตล์ของแต่ละคนถูก…ป๊ะ ถ้าคุณถามคำถามวงแตก เขาเดินหนี ในอดีตก็เคยมี มีน้องนักข่าวไปถามก็ถูกเพื่อนนักข่าวด้วยกันเองด่าอีก และถ้าคุณรู้สึกคำถามเราชง คุณจะไม่เอาก็ได้นิ… ถ้าคุณรู้สึกมันชง ถูกไหม… ทุกคนมีสิทธิ์เลือก ข่าวมีซอตเดียวกัน แต่ถ้ารู้สึกว่าคำถามโหลยโถย… ไร้สาระ… คุณเป็นสื่อมีสิทธิ์เลือกที่จะเอาหรือไม่เอา คุณไม่จำเป็นต้องไปโปร์ คนตอบต้องตอบเอาคะแนนให้ตัวเองอยู่แล้วถูกป๊ะ ถ้าถามพี่คนเป็นนักการเมืองไม่มีใครตอบด่าตัวเองหรอก
สำหรับ“เค็ม”หรือ “รุ่งฟ้า ทรัพย์พร้อม” นักข่าวสาวร่างซูโม่ ช่อง 3 ค่ายบีซีเทโร บอกว่า ตอนแรกไม่ทราบรายละเอียด มาทราบตอนหลัง คนตั้งฉายาอาจจะมองในเรื่องนักข่าวที่มีความสนิทสนมกับนายกฯจนได้ฉายาว่าเอ็ม 1 เอ็ม 2 เอ็ม 3 เอ็ม 4 หรือเอ็มอะไรก็แล้วแต่ ของเค็มได้รับฉายาเอ็ม 3
“เค็ม” หัวเราะเอิ๊กอ๊ากพลางเล่าต่อ
คงเพราะถูกมองว่า มีความสนิทสนมกับนายกฯ เพราะติดตามทำข่าวผู้นำฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน เอ็ม 1 เอ็ม 2 อาจติดตามมานานกว่าจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่า ตรงนี้ก็แล้วแต่มุมมอง เรื่องนี้ไม่ซีเรียส… เป็นเรื่องขำขำ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้อยู่ในแรงกดดันตรงนั้นด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ และในความที่เราเป็นเด็ก พี่ๆผู้สื่อข่าวก็ไม่ได้อะไรกับเรา เราไม่ได้มีบทบาทอะไร เราก็ขำขำ ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำที่เขาพูดถึง ก็ยังนั่งขำกับวงที่คุยกัน จนเขาบอกว่าเอ็ม3 คือ..มึง.. จึงรู้ว่าเป็นตัวเอง
นักข่าวทีวีบ้านเราก็จะมีปัญหากระทบกระทั่งกันได้อีกในกรณีแย่งชิงแหล่งข่าวออกสดรายการทีวี ในส่วนของเค็มการจะให้แหล่งข่าวออกสดรายการต้องนัดหมายไว้ล่วงหน้า และเราเคารพกติกากันว่า เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ทุกช่องมีโอบี ก็ขึ้นอยู่กับคิวว่าใครนัดแหล่งข่าวก่อน โอเค..คิวนัด แต่เมื่อมีการดึงตัวก็ขึ้นอยู่กับแหล่งข่าวด้วยว่าจะไปออกสดช่องไหน ตรงนี้ในส่วนของเราก็ไม่ได้ติดใจ..จบคือจบ บางที่การทำงานอาจกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะบางอย่างเราได้ประสานเขาจริง แต่ข้างในสถานีโทรทัศน์ช่องนั้น หรือตัวพิธีกร อาจจะมีเพาร์เวอร์มากกว่าเราในการเทียบเชิญแหล่งข่าว
“ตอนนี้ไม่ทราบมีกี่เอ็ม ตอนแรกก็ยอมรับว่าได้รับฉายาเอ็ม4 เพราะทำข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ถูกมองว่าเป็นอย่างนั้น แต่หลังจากไปอยู่ทำเนียบรัฐบาลได้ระยะหนึ่งฉายาเอ็ม4ก็หายไป เป็นเอ็ม3 แทน”
ขณะที่ “อ้วน”หรือ “เสาวภา ชาติก้อน” นักข่าวสาวร่างเล็ก รุ่นน้องจากค่ายทีวีไทย ก็ยอมรับถึงฉายาเอ็ม 4
…แรกๆเข้าไปต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำข่าวที่แตกต่างกันระหว่างนักข่าวที่เกาะติดทำข่าวพรรคประชาธิปัตย์กับนักข่าวที่เกาะติดทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล พอมีปัญหาแบบนื้ เราเป็นเด็กเราก็ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน เริ่มมากการแบ่งพวกว่าพวกทำเนียบรัฐบาล กับพวกพรรค เราเป็นเด็กก็ไม่รู้จะอยู่ตรงไหนเหมือนกัน เราก็นิ่งๆเฉยๆอยู่สักระยะหนึ่ง ไม่กล้าที่จะถาม เพราะด้วยบรรยากาศที่เวลาความแบ่งเป็นซีก มันจะแย่งกันถาม ฝั่งพรรคก็จะถามสไตล์นี้ ฝั่งทำเนียบรัฐบาลก็จะถามสไตล์นี้ ด้วยความที่เป็นนักข่าวเด็กๆเนี่ย…จะไม่ค่อยกล้ายิงคำถามเข้าไป ทำให้เราเป็นเด็กก็คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้ถามเลยเหรอ จะถูกเพ่งเล็งเหรอถ้าถามคำถามอะไรไป หรือว่าเราคุยอะไรอย่างเนี่ย
การที่เราไม่ถามกลับกลายเป็นว่าดีแล้ว ไอ้ท่าทีของคุณที่คุณไม่ถามอะไรกับใครดีแล้ว เราก็ติดใจเหมือนกันว่าบางทีมันก็ไม่ใช่ แต่ตอนนี้เริ่มมีบ้างแล้วที่ยิ่งคำถาม พอได้ถามก็ดีใจว่าวันนี้เราได้ถามแล้วอะไรอย่างเนี๊ย แต่ตอนหลังๆบรรยากาศดีขึ้น และได้เห็นบรรยากาศที่ว่าเด็ก น้องวิทยุหลายคนๆก็กล้าที่จะถามแล้ว เพราะพอผ่านไประยะหนึ่งความแรงระหว่างสองขั้วที่มันมีอยู่ เริ่มคลายไป เด็กๆรุ่นใหม่ก็กล้าถามมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวนายกฯเขาคงรับรู้ปัญหา ได้ปรับท่าที หลังจากที่มีพี่อยู่คนหนึ่งจี้ถามอยู่คนเดียว
“แต่ตอนหลังมาเนี๋ยพอพี่คนนี้ถามม๊ากๆ และมีเสียงนักข่าวคนอื่นถามมา นายกฯก็จะหันไปมองตาแล้วก็จะไปตอบกับเสียงของนักข่าวคนนั้น จะไม่หันตอบแค่คนเดียวแล้ว คือ รับฟังเสียงนักข่าวแวดล้อมวงที่สัมภาษณ์ แกก็จะหันไปตอบ ต่างคนต่างปรับตัว” อ้วนไทยทีวี ทิ้งท้าย
พี่อ้อ” “เค็ม” และ “อ้วน”ต่างยอมรับสภาพตรงกันว่าการติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรีเหนื่อยกว่าการติดตามการทำข่าวสมัยอภิสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านมาก เพราะงการขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร มีอำนาจในมือ ทุกย่างก้าว ทุกคำพูด ทุกถ้อยคำ สีหน้า แววตา เสื้อผ้าอาภรสวมใส่ สามารถหยิบยกขึ้นมาจับเป็นประเด็นข่าวได้หมด ไม่เว้นแม้กระทั้งคนรอบตัว ข้างกาย และนักข่าวที่เฝ้าติดตามต้องทำการบ้านเยอะมาก เพื่อประกอบเป็นข้อมูลซักถามให้ได้มุมกว้าง ลึก และลงรายละเอียดในเรื่องนั้นที่ต้นสังกัดต้องการนำเสนอสู่สาธารณชน