“บทเพลงแห่งหวงเหอ”

“บทเพลงแห่งหวงเหอ”

ศรัทธาแห่งความรักชาติของ “เสี่ยน ซิง ไห่

“บทเพลงแห่งหวงเหอ” หรือ “หวง เหอ ต้า เหอ ชั่ง” ผลงานประพันธ์ของ “เสี่ยน ซิง ไห่” คีตกวีชื่อก้องชาวจีนยุคเก่าแก่ที่สุดที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีคลาสสิคตะวันตก ผู้รังสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลงเกือบ 300 เพลง และมีอิทธิพลต่อนักดนตรีหลายยุคหลายสมัยของจีนมาอย่างต่อเนื่อง

เสี่ยน ซิง ไห่ เกิดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 1905 ทีมาเก๊า แต่ครอบครัวมรรากฐานมาจากกวางตุ้ง ช่วงวัยเด็กเสี่ยนต้องย้ายตามครอบครัวบ่อยครั้ง ขณะที่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก โดยเมื่ออายุได้ 6 ปี เขาย้ายตามมารดาไปอยู่ที่สิงคโปร์และเข้ารับการศึกษาชั้นต้นซึ่งขณะนั้นเองเขาก็ได้เริ่มฉายแววพรสวรรค์ทางด้านดนตรี จนได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาทั้งการฝึกฝนเครื่องดนตรี การการประพันธ์ ภายหลังก็ได้ย้ายกลับมาศึกษาต่อที่กว่างโจว และศึกษาดนตรีอย่างจริงจังเริ่มจากคลาริเน็ต ไวโอลิน และเปียโน จนปี 1929 เขาก็ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปี 1934 เขาได้กลายเป็นนักเรียนจีนคนแรกที่ได้รับเลือกให้ศึกษาต่อด้านการลำดับเพลงชั้นสูงที่โรงเรียนดนตรปารีส

อย่างไรก็ตาม ในปี 1935 เสี่ยนตัดสินใจทิ้งอนาคตทางดนตรีอันรุ่งเรือง หน้าที่การงานที่มั่นคง ความสุขสบายทั้งปวงในฝรั่งเศส เดินทางกลับประเทศจีนบ้านเกิด ซึ่งขณะนั้นกองทัพญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ายึดครองพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแล้ว (สงครามจีนญี่ปุ่น 1937 - 1945) โดยเขาใช้ความสามารถทางดนตรีเป็นอาวุธในการต่อต้านผู้รุกราน

ปี 1938 เสี่ยน ซิงไห่ ได้เป็นคณบดีภาควิชาดนตรีที่ Lu Xun Institute of Arts และช่วงเวลานั้นเองเขาได้ประพันธ์เพลงหวง เหอ ต้า เหอ ชั่ง หรือ บทเพลงแห่งหวงเหอ หรือ Yellow River Cantata ขึ้นมาโดยบทเพลงชุดนี้แบ่งเป็น 7 ตอน กับอีก 1 โคลงกลอน ในส่วนของบทเพลงที่เสี่ยนประพันธ์นั้นใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้นในการเรียบเรียงขึ้นมา

“ชาวเรือหวงเหอ” เป็นตอนแรกในบทเพลงแห่งหวงเหอ บรรยายถึงความเข้มแข็งในการต่อสู้กับคลื่นของหวงเหอ หรือแม่น้ำวิปโยค เป็นการเปรียบเปรยว่ามีแรงใจที่จะต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานจะกระทั่งใกล้จะสำเร็จแล้ว จากนั้นก็จะเป็น “สรรเสริญหวงเหอ” เป็นการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำหวงเหอ และประชาชน 2 ฝั่งที่รักชาติก่อนจะคั่นด้วยคำกลอน ที่เป็นโคลงปลุกใจของชาวจีน ก่อนจะมาถึง “เพลงพื้นบ้านหวงเหอ” ที่พูดถึงประชาชน 2 ฝั่งหวงเหอซึ่งเดิมมีชีวิตที่สุขสบาย ชาวนา 2 ฝั่งทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ แต่พอศัตรูมารุกราน ฆ่าฟัน ย่ำยี ก็สร้างความทุกข์เข็ญมหาศาล ต่อจากนั้น “หวงเหอร่ำไห้” เป็นเรื่องราวของหญิงคนหนึ่งที่สามีถูกศัตรูฆ่าตาย ลูกก็ตาย ตัวเองไม่มีอะไรเหลือ แล้วยังจะถูกย่ำยีโดยศัตรู จึงคิดว่าปลิดชีพตัวเองด้วยการกระโดลงแม่น้ำหวงเหอ ถัดจากนั้นเป็น “สนทนาริมน้ำ” เนื้อหาเป็นการสนทนากันระหว่างชาย 2 คน เป็นพ่อค้า กับชาวนา ซึ่งทั้งสองได้หนีจากบ้านเกิดที่ถูกรุกรานไป แล้วได้มาพูดคุยกัน จึงได้ตัดสินใจกลับมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิด และมาถึงไฮไลต์ของบทเพลงแห่งหวงเหอ คือตอน “ปกป้องหวงเหอ” ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจที่เร้าใจมาก ทั่วประเทศจีนร้องเพลงนี้กันได้หมด พอร้องแล้วก็จะรู้สึกหึกเหิมมีกำลังในการต่อสู้กับเรื่องต่างๆ และปิดท้ายที่ “คำรามเถอะหวงเหอ” ซึ่งเรียกร้องให้ประชาคมโลกลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสันติภาพของโลกเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ในปี 1940 เสี่ยน ซิงไห่ เดินทางไปสหภาพโซเวียต ก่อนออกเดินทาง ประธานาธิบดีเหมา เชตุง ได้เชิญเขามาร่วมรับประทานอาการด้วย ในปี 1941 เยอรมนีเริ่มรุกรานโซเวียตส่งผลต่อการทำงานของเขาที่นั่น จึงมีความพยายามคิดจะกลับจีนโดยผ่านทางซินเจียง  แต่ขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในท้องถิ่นปิดกั้นเส้นทางทำให้เขาติดอยู่ในอัลมา เอตา คาซัคสถาน ที่นั่นเองเขายังประพันธ์เพลงสำคัญเกี่ยวกับการปลดปล่อยชาติขึ้นมาอีก และเป็นช่วงเวลาที่เริ่มถูกวัณโรคปอดคุกคาม จากการทำงานหนัก และขาดสารอาหาร จนเมื่อสงครามสงบ เขากลับไปมอสโกอีกครั้งเพื่อรับการรักษา แต่น่าเสียดายไม่สามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายขาดได้ จนวันที่ 30 ต.ค. 1945 เสี่ยน ซิง ไห่ นักดนตรีอัฉริยะผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยความรักชาติก็จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น

“ผุสดี คีตวรนาฏ” นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทเพลงแห่งหวงเหอนั้น เป็นบทเพลงที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่เพียงแต่คณะนักร้องจีนเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐฯ รัสเซีย ก็มีคณะนักร้องประสานเสียงที่เป็นชาวตะวันตกร่วมร้องบทเพลงชุดนี้ด้วย ซึ่งนอกจากความยิ่งใหญ่ของบทเพลงชุดนี้ ที่จะทำให้เรารู้ถึงความเป็นนักสู้ของชาวจีนกว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคนานนับประการในการสร้างชาติจนก้าวขึ้นมาสู่การเป็นมหาอำนาจของเอเชีย และหนึ่งในมหาอำนาจของโลกในวันนี้แล้ว การถ่ายทอดออกมาผ่านการร้องประสานเสียงยังเป็นอีกแง่หนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงการรู้รักสามัคคี ซึ่งในเวลานี้เหมือนจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สังคมไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะการร้องประสานเสียงไม่ใช่การโชว์ตัวเอง หากแต่ต้องร่วมมือกันเป็นหมู่คณะจึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังคำว่าว่า “ไม่มีฉัน มีแต่เรา”

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย กับจีนในปีนี้ คนไทยก็จะมีโอกาสได้รับฟังบทเพลงชุดนี้ ผ่านการขับร้องของคณะนักร้องประสานเสียงผสมไทยจีนกว่า 200 ชีวิต จาก ซัวเถา  เฉิงตู  และปักกิ่ง บรรเลงเพลงโดยวงบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา ในงาน “คอนเสิร์ตบทเพลงแห่งหวงเหอฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 40 ปี ไทย-จีน” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่โรงละครอักษรา คิงพาวเวอร์  ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม ที่จะถึงนี้