เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยฯ

เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยฯ ร่วมรณรงค์
“ประชาธิปไตย  เห็นต่างได้ไม่ใช้ความรุนแรง”
ธีรยุทธ ชี้ สังคมจะสงบสุขได้  ต้องชื่นชม ความแตกต่าง
หวังสร้างเยาวชนเป็นกำลังหลักแนวคิดประชาธิปไตย  
แก้ปัญหาความขัดแย้ง

วันนี้ (25 ก.ค.)เมื่อเวลา 9.30 น.  ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ดอกไม้บานหลากสีที่กรุงเทพมหานคร  โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจจำนวนมากอาทิขบวนรณรงค์ “แต้มสีดอกไม้บานทั้งแผ่นดิน”     การจัดประกวดวาดภาพ “ดอกไม้บานหลากสีที่กรุงเทพฯ” โดยมีนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย และอุดมศึกษาเข้าร่วมประกวดกว่า 300 คน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ) กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรมที่เครือข่ายดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นำประชาธิปไตยมาสื่อสารผ่านงานศิลปะ และการที่เด็ก ๆ เยาวชนมีความกระตือรือร้นที่อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และเพื่อนครูที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้จะนำไปประยุกต์ในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนนักศึกษา ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็มีอยู่แล้วในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนนักศึกษา แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการที่แต่ละสถาบันจะนำเสนอ ซึ่งโรงเรียนสามารถนำแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยเข้าร่วมบูรณาในการเรียนการสอนได้ และเด็กสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางศิลปะที่เป็นการบ่มเพาะทางประชาธิปไตย

ด้านพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า  การจัดงานครั้งนี้เป็นความพยายามของเครือข่ายในการจัดหาพื้นที่ในการทำกิจกรรมของเยาวชนผ่านงานศิลปะ เพื่อทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของเยาวชนโดยไม่มีการแบ่งกลุ่มหรือแบ่งข้างแต่เป็นของทุกกลุ่ม ซึ่งจะมีโครงการภายใต้เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยฯ อีกหลายโครงการ โดยโครงการต่อไปก็จะเป็นการจัดดนตรี และงานวิชาการอีกมากมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปข้างหน้า

“ขณะนี้ประเทศของเรามีความขัดแย้งอย่างมาก เราต้องปลูกฝังเด็กให้รับรู้ว่าการขัดแย้งไม่เกิดประโยชน์เราจะต้องให้ความรู้เชิงป้องกันมากกว่าให้ความรู้ระยะสั้น ไม่ใช่ว่าขัดแย้งแล้วจะมาแก้ปัญหา”ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าว

ด้านนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า  ความสมานฉันท์ก็พยายามทำกันมาตั้งนานแล้ว แต่ขณะเดียวกันมันก็มีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็จะทำให้เกิดการพัฒนา และประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้น แก่นแท้ของมันคือความอดทนอดกลั้น ต่อความแตกต่าง ซึ่งขั้นต่อมาก็คือการยอมรับความแตกต่างและชื่นชมความแตกต่าง เรายอมรับว่ามันเป็นความดีความงามได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการต่อสู้ทางการเมืองกันมากว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2516 ในที่สุดก็จะพัฒนาไปสู่ความหลากหลายความแตกต่างทาง

ความคิด ความเชื่ออุดมการณ์ผลประโยชน์ทัศนคติ วิธีแก้ปัญหาก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าความอดทนอดกลั้นเหมือนที่ตนได้บอกไว้

“งานวันนี้ก็เอาธรรมชาติของเด็กมาใช้ เพราะเด็กชอบความงามแบบหลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้ เหมือนหลากหลาย แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก พอโตมามีจริตจะกร้านมากสีเหล่านี้ก็หายไป เพราะฉะนั้นการแสดงออกที่งดงามมักจะเป็นการแสดงออกของเด็ก พอแก่ตัวไปก็จะมีกรอบความคิดมีทฤษฏีที่ทำให้ความคิดแข็งมากขึ้น  และตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ที่ทำกันมาประชาธิปไตยก็ยังไม่งอกงาม และตอนนี้เราจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องรากฐานคือเด็กและเยาวชนมากขึ้น เราควรสอนให้เด็กเคารพสิทธิตัวเองและสิทธิของผู้อื่น เคารพตัวเองก็ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองและสิทธิของผู้อื่นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการตัดสินการประกวดวาดภาพ “ดอกไม้บานหลากสีที่กรุงเทพฯ” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับปรากฎผลดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นรางวัลชนะเลิศได้แก่ด.ญ.ภัคจิรา เอกสิริ ชั้นม.3 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย  ระดับมัธยมศึกษาศึกษาตอนปลายรางวัลชนะเลิศได้แก่นายณัฐวุฒิ ชูมโนทรรศน์  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ระดับอุดมศึกษารางวัลชนะเลิศได้แก่ นายเสฏสิทธิ์ เสนนีย์วงศ์ ณ อยุทธยา คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยด.ญ. ภัคจิรากล่าวถึงภาพวาดว่า ภาพวาดของตนนั้นแสดงให้เห็นถึงจิ๊กซอของสังคมไทยที่มาช่วยกันต่อจิ๊กซอ และทำให้เกิดความรู้สึกของความสามัคคีร่วมกันโดยภาพวาดนี้ตนได้รับแรงบันดาลใจ จากกรณีที่สังคมไทยในปัจจุบันนี้มีแต่ความรุนแรง

ขณะที่นายณัฐวุติกล่าวว่า ภาพวาดของตนเป็นภาพวาดของปากที่มีดอกไม้หลุดออกมาจากปากของผู้พูด ซึ่งหมายความว่าถึงจะมีความคิดที่แตกต่างกันอย่างไรก็ขอให้พูดกันดี ๆ เพราะปัจจุบันนี้ทุกฝ่ายมีแต่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

นายเสฏสิทธิ์กล่าวว่า ภาพวาดของตนเป็นภาพสัตว์ประหลาดที่อยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเป็นตัวปัญหาทำลายประเทศ แต่พอเห็นคนในประเทศมาทำลายกันเอง ตัวสัตว์ประหลาดที่อยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็เห็นว่าตนไม่ต้องทำหน้าที่สัตว์ประหลาดแล้ว เพราะคนในชาติเป็นสัตว์ประหลาดที่ทำร้ายกันเองแทนแล้ว
ขณะที่นายสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธรกล่าวว่า สำหรับภาพของเด็กที่ชนะเลิศในแต่ละระดับนั้น ในแต่ละแนวคิดแตกต่างกันการตัดสินจึงต้องแตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นความหมายของภาพยังไม่เด่นชัด แต่ในรุ่นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นสามารถตัดสินได้อย่างง่ายดายเพราะการสื่อความคิดค่อนข้างเด่นมาก ส่วนระดับอุดมศึกษานั้นจะมองในเรื่องแนวคิดของความเป็นหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และความคิดประชาธิปไตยเป็นหลักในการพิจารณาควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นนอกจากความงามและเทคนิค

อย่างไรก็ตามสำหรับการรณรงค์แต้มสีดอกไม้ประชาธิปไตย ทั้งแผ่นดินมีการกระจายทีมงานเยาวชนไปตามพื้นที่ต่างๆของ กทม. โดยมีป้ายผ้าให้ประชาชนได้ร่วมระบายสีดอกไม้ประชาธิปไตยตามความต้องการ โดยกลุ่มเยาวชนได้เป็นตัวแทนในการร่วมรณรงค์ในหัวข้อ ประชาธิปไตยเห็นต่างได้  ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างกระแสให้กับประชาชนใน กทม .เพื่อเป็นการส่งต่อให้กับประชาชนในพื้นที่อื่นๆทั้งประเทศ  โดยมีพื้นที่ 7 จุดหลักคือ  บริเวณลานพาร์คสยามพารากอน ,  หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง,   ท่าพระจันทร์, วังหลัง,ท่าช้าง,  บริเวณตลาดนัดจตุจักร และบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีการนำป้ายผ้าที่ประชาชนร่วมระบายสีทั้ง5จุดมาขึงต่อกันที่ลานสกายวอล์ค  หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง
///////////////////////////////////////////////////////

 

รางวัลยอดเยี่ยม ม ตัน
เด็กหญิงภัคจิรา เอกศิริ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
รางวัลยอดเยี่ยม ม ปลาย
นายณัฐวุฒิ ชูมะโนวัฒน์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
รางวัลยอดเยี่ยม อุดมศึกษา
นายเสฏฐสิทธิ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยศิลปากร


รางวัลดีเด่น ม.ต้น
1.    เด็กหญิงปัญจพร อภิชาตวิญญูชน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศเบญจมราชาลัย
2.    เด็กชายชาตะวัน พรหมศร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
3.    เด็กหญิงพรนัชชา ภู่นุ่ม โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
4.    เด็กชายสัณทวัฒน์ มีชัย โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม
5.    เด็กหญิงทิพย์อุษา สุ่มมาตย์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

รางวัลดีเด่น ม ปลาย
1.    นางสาวชิราวรรณ กอกหวาน โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์
2.    นางสาวชุติมา ปินะโต โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
3.    นางสาวปรางนภา มหาวัง โรงเรียนหอวัง
4.    นายชาณุ เจริญรุ่ง โรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ
5.    นายธนเทพ สุขรอด โรงเรียนนาคประสิทธิ์


รางวัลดีเด่น อุดมศึกษา

1.    นายพงศธร เฉลิมทรัพย์ มหาวิทยาลัยบูรพา
2.    นางสาววิริน เชาวนะ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3.    นายอัมรินทร์ ทองโอษฐ์ มหาวิทยาลัยบูรพา
4.    นายจตุพร แพงแซง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (เพาะช่าง)
5.    นายจินตนาการ มณีรัตน์ มหาวิทยาลัยศิลปากร