คำกล่าว-นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5 มีนาคม 2559

 

ท่านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล

ท่านอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย

และแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

ในวาระครบรอบปีที่ 61 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ วันนักข่าว 5 มีนาคม 2559 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯได้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทั้งของสื่อมวลชนและประชาชน ตลอดจน รณรงค์ให้มีการวางหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบ อีกทั้งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพสื่อ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นแกนกลางสร้างเครือข่ายวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยการร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ตลอดจนสมาคมฯได้ดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสมาชิก   และร่วมมือองค์กรสื่อในภูมิภาคอาเซียนก่อตั้งสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อในเอเซียอาคเนย์(South East ASEAN Press Alliance-SEAPA) ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมและเฝ้าระวังด้านสิทธิเสรีภาพสื่อในอาเซียน

ในรอบปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยอยู่ในบรรยากาศที่ไม่สดใสนัก ด้วยสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อยังตกท่ามกลางการกดดัน ควบคุม แทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอำนาจรัฐตลอดจนสถานการณ์”การปฏิรูปสื่อ”ยังไม่มีความชัดเจนที่จะเป็นความหวังให้กับวงการสื่อมวลชนและสังคมไทยได้ และคาดว่า ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อในปีนี้ยังจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญอยู่

ขณะเดียวกันธุรกิจสื่อมวลชนยังเผชิญปัญหาหนัก ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังถดถอย ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของธุรกิจสื่อจากการเกิดขึ้นของทีวีดีจิตอล 24 ช่อง และการแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทุกทีของสื่อออนไลน์

การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อจำนวนไม่น้อยถูกตำหนิเรื่องที่ละเลยและละเมิดต่อจริยธรรมสื่อ ทั้งในการทำหน้าที่เกินเลยของนักข่าวและการนำเสนอของตัวสื่อด้วยข่าวหรือภาพที่ไม่เหมาะสม หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการนำเสนอเนื้อหาที่ไร้สาระ มอมเมาผู้คน หวังผลเพียงเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายของสื่อสิ่งพิมพ์ ยอดวิวของสื่อออนไลน์ หรือเพิ่มเรตติ้งของสื่อทีวี แต่กลับละเลยต่อการสืบหาข้อเท็จจริง ทำข่าว ในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ตามคุณค่าที่แท้จริงของการเป็น”สื่อมวลชน” ส่งผลต่อศรัทธาของสังคม จนเกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์สื่ออย่างมาก

นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่แวดวงสื่อมวลชน“คนข่าว”จะต้องตระหนัก และร่วมมือร่วมใจกันหาทาง”ปฏิรูปตัวเอง”กันอย่างจริงจัง เพื่อเรียกศรัทธาแห่งวิชาชีพกลับคืนมา แทนที่จะรอให้คนอื่น โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐเข้ามา”ปฏิรูปสื่อ”ในแนวทางทางที่บิดเบี้ยวไปจากหลักการที่ควรจะเป็น ทั้งยังจะส่งผลไปให้ฝ่ายอำนาจนิยมที่จ้องจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ใช้เป็นข้ออ้างในการออกกฎกติกาที่ส่งผลกระทบต่อสื่ออย่างมากได้

รอบปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทยในนาม 4 องค์กรสื่อ ได้เฝ้าติดตามเรื่องปฏิรูปสื่อ  เพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ หวังให้การ”ปฏิรูปสื่อ”ออกมาในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อและสังคมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็มีแนวความคิดที่จะต้องผลักดันให้”ปฏิรูป”กันเองก่อน ตั้งแต่ภายในองค์กรวิชาชีพสื่อ ตามหลักการของการกำกับดูแลกันเอง

สำหรับงานสมาคมนักข่าวฯกับโครงการ 60 ปีสมาคมนักข่าวฯภายใต้แนวคิด”ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ”ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมา 2 ปี โดยสอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านของสมาคมคือ ยุทธศาสตร์สิทธิเสรีภาพสื่อ,ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพนักข่าว,ยุทธศาสตร์การดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว,ยุทธศาสตร์สร้างภาคีสื่อและเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกให้กับสังคม และยุทธศาสตร์การหาทุน

ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งกองทุน 60 ปีสมาคมนักข่าวฯเพื่อผลักดันแนวความคิด”ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ”ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา สามารถจัดงานระดมทุนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นทุนประเดิมสำหรับการผลักดันงานให้เป็นตามวัตถุประสงค์ ทั้งในด้านของการพัฒนาศักยภาพนักข่าว,การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปเ็รูปสื่อ,กองทุนส่งเสริมจริยธรรม,กองทุนสวัสดิการนักข่าว,กองทุนโครงการตำราวารสารศาสตร์ และการปรับปรุงอาคารสมาคมใช้เป็นศูนย์รวมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

สมาคมนักข่าวฯในปีที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว ยังมีภารกิจหนักรออยู่เบื้องหน้า ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกันไม่เพียงแต่กรรมการบริหารชุดใหม่ แต่รวมถึงสมาชิกและทุกผู้คนในแวดวง”นักข่าว” จึงหวังว่า จะได้เกิดความตระหนักและร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันฟันฝ่าปัญหาท้าทายต่างๆ เพื่อเรียกคืนเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็น”สื่อมวลชน”ที่แท้จริง ยังประโยชน์ต่อสังคมสืบไป