วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 17:27:33 น. มติชนออนไลน์
ข่าวบันเทิง: ทำให้ดีมีสาระ(ประโยชน์)ได้ไหม?
โดย...ธาม เชื้อสถาปนศิริ: นักวิจัยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
ผู้เขียนสังเกตทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจมานานแล้วในรายการ “ข่าวบันเทิง” ที่ออกอากาศอยู่ในจอโทรทัศน์ ดูมานานจนค้นพบว่า เนื้อหาสาระค่อนข้างที่จะวนเวียน ซ้ำซาก ไม่มีสาระเท่าที่ควรใจจริงไม่อยากสรุปว่าไร้สาระ แต่อยากจะบอกว่า ไม่มีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อวงการบันเทิงต่างหาก
เป็นข้อสรุปที่มีเหตุจาก “คุณภาพของเนื้อหาสาระ” ที่ผู้เขียนพบว่าเนื้อหามี 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
1) ข่าวโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของดารา นักร้อง เป็นเนื้อหาข่าวบันเทิงที่พบมากที่สุด เช่น ข่าวละครเรื่องใหม่ที่เตรียมเปิดกล้อง กำลังถ่ายทำ หรือควันหลงในกองถ่าย หรือฉาก/ตอนเด็ดต่างๆ ของละครเช่น ฉากเข้าพระเข้านางที่ต้องมีการกอด จูบ ตบ ตี หรือฉากบู๊ ปะทะคารมกันระหว่างตัวละคร
ข่าวโฆษณาละครแบบนี้มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ จนกว่าละครเรื่องนั้นจะฉายจนจบ
เนื้อหารายการจะนำ “ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ” และมีภาพของดารานำเรื่องนั้นๆ มาแขวะ จิก กัด และแซวกันว่า ฉากดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร สนุกสนาน มีมุขหลุด มุขฮาอย่างไรบ้าง
แล้วก็ตบท้ายด้วยว่าฝากให้ติดตามชมละคร และขอเรตติ้ง
มีบ้างที่พูดถึง “ความยาก ง่าย หรือเนื้อหาสาระของฉาก หรือความตั้งใจของผู้กำกับ” แต่น้อยมาก
หรือที่จริง “เราแทบจะไม่เคยเห็นผู้กำกับได้ออกมาพูดถึงละครของตัวเอง”
2) ข่าวเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของดารา พบรองลงมา เนื้อหาข่าวส่วนมากเกี่ยวกับชีวิตรักใคร่ส่วนตัว การทะเลาะ เบาะแว้งระหว่างดารา เบื้องหลังชีวิตส่วนตัว
รักๆ เลิกๆ คบๆ จากๆ ยิ่งข่าวลือดารายิ่งขายดีเทน้ำเทท่า ข่าวซุบซิบ และมี “ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์รักของคู่รักดารา” มาฟันธง คอนเฟริ์ม ว่าจะไปรอดไปไม่รอด
บ่อยครั้งเนื้อหาข่าวลักษณะนี้จะนำเอา “ข่าวลือ หรือ ข้อสงสัย” มาตั้งเป็นคำถาม เพื่อสร้างเนื้อหาแล้วจึงให้โอกาสดาราที่ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอะไร”
บางครั้งถึงขนาดไปสัมภาษณ์ เพื่อนดาราคนนั้น เพื่อค้นหาข้อมูลกันเลย
เสียเวลาไปนานหลายนาที
เนื้อหากลุ่มนี้ดูจะเป็น “ข้อกล่าวหา” ที่ทำให้รายการข่าวบันเทิงดูไร้สาระมากที่สุด
3) การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ พูดคุยเกี่ยวกับผลงาน เช่น ภาพยนตร์ ละคร อัลบั้ม เนื้อหากลุ่มนี้จะลงลึกถึงผลงานของดารา ศิลปินนั้นๆ ที่เป็นเจ้าของผลงาน อาจมีสัมภาษณ์ดารานำ และผู้กำกับบ้าง ส่วนจะลงลึกถึงระดับเนื้อหาได้แก่นสารสาระอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกึ๋นของผู้ถามและแนวทางของรายการ
บ่อยครั้งรายการสนทนาประเภทดารามาคุยเป็นช่องทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปในตัว
ข่าวบันเทิงบ้านเราจึงเต็มไปด้วย “ความฉาบฉวย รักส่วนตัวดารา และโฆษณาผลงาน” โดยที่ไม่ได้มี “เนื้อแท้แห่งสาระของวงการบันเทิง” เลย
ยิ่งดูข่าวบันเทิงบ้านเรามากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความเบาหวิวของสมอง
การทำแต่ข่าวบันเทิงที่ไร้สาระเช่นนี้จึงเท่ากับว่าคนวงการบันเทิงดูถูกคนในวงการบันเทิงด้วยกันเอง และยังดูถูกคนดูด้วยเช่นกัน
แต่ถามว่า “เนื้อแท้ของข่าวสารในวงการบันเทิง” นั้นจำเป็นต้องมีข่าว “ชีวิตรักดารา” ด้วยหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าจำเป็น เพราะ “เหตุผลที่มักอ้างกันจริงๆ” ก็คือ “ดาราเป็นบุคคลสาธารณะ” ใครๆ ก็อยากรู้เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของดารา และ “ความสนใจในชีวิตของคนดัง” ก็ดูเป็น “จริตของคนทั้งโลก” แม้ไม่ใช่ทุกคนก็ตามที
ทั้งหมดนี้คือ “เนื้อหาสาระ” ของข่าวบันเทิง
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้การันตีว่าข่าวบันเทิงมีสาระ
เพราะคำว่า “มีสาระ” กับ “ไร้สาระ” นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองและนิยามว่า อะไรคือสาระ อะไรคือไร้สาระ
โดยทั่วไปนิยามของคำว่า “มีสาระ” หมายถึง ได้ประโยชน์ มีคุณค่า ช่วยส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น ยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่คำว่าไร้สาระ ก็คือตรงกันข้าม
คำถามที่สำคัญคือ “จะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระของข่าวบันเทิงนั้นมีสาระ(ประโยชน์)ขึ้นมาบ้าง” และต้องมีสาระในมุมแบบบันเทิงๆ
ถามง่าย แต่ตอบยาก
ลองเปรียบเทียบกับข่าวอื่นๆ เช่น ข่าวการเมือง
ในมุมหนึ่ง ข่าวดารา/บันเทิงก็เหมือนกับข่าวการเมืองเช่นกันเพราะต่างก็เป็นบุคคลสาธารณะด้วยกันทั้งคู่
หากนักการเมืองถูกซักไซ้เรื่องส่วนตัว โกงกิน คอร์รัปชั่น ก็เพราะมีความสัมพันธ์กับ “ผลประโยชน์สาธารณะ” ของประชาชน คืองบประมาณรัฐ ทรัพยากร การจัดการ สิทธิ ฯลฯ ต่างๆ ที่รัฐพึงกระทำเพื่อประชาชนทุกคน
ดาราก็ถูกซักไซ้ร ค้นหาเรื่องราวชีวิตรักใคร่ ความลับปกปิดส่วนตัว ก็เพราะมีความสัมพันธ์กับ “ผลประโยชน์สาธารณะ” ของสาธารณชน “ผู้นิยม” ให้ความ “ชื่นชม ชื่นชอบ” กับดารา ซึ่งความนิยมนี้ เป็นมูลค่าทางจิตใจที่สามารถนำไปแปรค่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในต้นทุน ค่าตัวของดารานั้นๆ ได้เช่นกัน
เนื้อหา เป้าหมายของการขายข่าวชีวิตรักดารา หากมองในมุมดี (ดีมาก ดีสุดๆ ถึงดีมากที่สุด) ก็เป็นบทบาทของ “การเฝ้าระวัง” มิให้ดาราทำตัวออกนอกลู่นอกทางที่ควร
ข่าวดาราขายได้ด้วย ได้ทำหน้าที่เฝ้าระวังพฤติกรรมดาราด้วย ได้สนองความอยากรู้ส่วนตัวและของสังคมด้วย
ข่าว(ชีวิตรักใคร่)ดาราจึงยังสามารถอยู่ได้ อยู่ดี และอยู่ทนในวงการบันเทิง
สนุก แต่ดูจบแล้วไม่ได้สาระอะไร
บันเทิง แต่ไม่ได้พัฒนาอะไร
มีเนื้อหาสาระ แต่ไม่ได้มีสาระประโยชน์
ข่าวบันเทิงในช่อง 3-5-7-9 นั้นแตกต่างกับข่าวบันเทิงในช่อง 11 และ ทีวีไทย เพราะขณะที่ข่าวบันเทิงของช่อง 3-5-7-9 นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ดารา” (actors & actress/singers) แต่ข่าวบันเทิงของช่อง 11 และทีวีไทยนั้น เน้นไปที่ “ศิลปิน” (artist)
ที่เรียกว่าข่าวบันเทิงช่องของช่อง 11 และทีวีไทยนั้น แท้จริงเป็น “ข่าวศิลปะบันเทิง” ที่เน้นนำเสนอเรื่องราวในวงการบันเทิงที่ไม่ใช่เชิงพานิชย์ แต่กลับเป็นข่าว “ศิลปะ” เช่นเพลงที่ไม่ใช่จากนักร้องในค่ายใหญ่ หนังที่ไม่ใช่เพื่อการตลาด การแสดงที่ไม่ใช่เพื่อขายตั๋ว แต่เป็นศิลปินที่ไร้ค่าย เป็นนักเขียนภาพที่มีฝีมือ เป็นนักแสดงที่เปี่ยมสุนทรียศาสตร์ เป็นความบันเทิงที่มีสาระประโยชน์ที่ไม่ใช่ถูกผูกติดกับระบบตลาด
ข่าวบันเทิงใน 2 ช่องนี้จึงแทบไม่เห็นหน้า “ดารา” แต่จะเห็นหน้า “ศิลปิน”
พูดกันอย่างยุติธรรม ผู้เขียนคงไม่เสนอว่าช่องอื่นๆ ที่เลหือจะยกหน้าดารานักร้องออกจากหน้าจอข่าวบันเทิงเสียทั้งหมด แต่กำลังจะเสนอแนะว่า จะทำอย่างไรที่จะยกคุณภาพข่าวบันเทิงที่มีเรื่องดารานั้นให้มีสาระประโยชน์ ขึ้นได้บ้าง
ดังนี้
1) ข่าวบันเทิงประเภทโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงาน ที่มักเป็นเพียงการพูดคุยมุขตลกจากกองถ่าย จากขั้นตอนการทำงาน ก็น่าจะเพิ่มสาระลงไปเช่น การพูดคุยถึงเบื้องหลัง ความตั้งใจของละครที่ต้องการสื่อ (อย่าคิดว่าผู้ชมฉลาด ผู้จัด ดารา หรือพิธีกรข่าวบางคนชอบอ้างว่าอย่าดูถูกคนดู เขาคิดเองได้ อย่าสอนคนดู เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เคยเห็นผู้กำกับ ดารา ออกมาพูดถึงความตั้งใจในการทำงานของเขาที่มุ่งสื่อสารบางอย่างกับสังคม แต่จะขอเพียงให้ติดตามผลงานกันมากๆ เพื่อเรตติ้งเพียงเท่านั้น)
แน่นอนว่าการพูดถึง “เบื้องหลังของการทำงาน” อาจมีอะไรที่มากกว่าเบื้องหลังกองถ่าย แต่อาจสอดแทรกให้สาระความรู้แก่ผู้ชมให้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำ หน้าที่ของคนทำงานต่างๆ ในกองถ่าย กว่าจะได้บท ได้ขั้นตอน การคัดเลือกตัวแสดง การกำกับ (คำพูด คำสอน คำสั่ง คำแนะนำของผู้กำกับที่มีต่อกองถ่าย)
2) ข่าวเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของดารา หากทำให้ดี ก็คงต้องเอาให้ถึงที่สุด โดยที่ยังเคารพสิทธิส่วนตัวของบุคคลสาธารณะอยู่บ้าง ไม่ใช้วิธีการหาข่าวที่ผิด หรือเชยๆ เช่น นำเอาข่าวลือมาสอบถามแบบข่าวปิงปอง โต้กันไปมา ฟังความรอบด้านหลายฝ่ายแล้วก็ค้นพบว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แบบนี้เสียเวลาทำข่าวเสียเวลาผู้ชม น่าจะทำข่าวขุดคุ้ยแฉพฤติกรรมที่ไม่ดีของดารา ว่ากันตามความประพฤติที่ออกนอกลู่นอกทาง ความไม่เป็นมืออาชีพ (นักร้องลิปซิ้ง มั่วเซ็กส์ ติดยา ทำผิดฏหมาย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องต่างๆ) และต้องพิสูจน์ใหแน่ชัด
รายงานข่าวเพื่อการควบคุมพฤติกรรมและตรวจสอบ มิใช่รายงานข่าวเพื่อขายได้ เพื่อสร้างกระแส และสร้างโอกาสในทางเด่นดังของดาราที่ต้องการอาศํยกระแสอย่างที่เป็นอยู่ เช่นข่าวรักโปรโมททั้งหลาย
3) การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ พูดคุยเกี่ยวกับผลงาน ที่สามารถทำให้ดีขึ้นคือ การพูดคุยถึงคุณค่าของผลงาน ที่มา ที่ไป ขั้นตอนการผลิต บุคคลที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ เวลา ความทุมเท อาจสัมภาษณ์ให้มีลักษณะข้อมูลเชิงลึกมากกว่าที่เป็น ในสิ่งที่ทำให้ผู้ชมเห็นถึงคุณค่าของเนื้องาน สัมผัสถึงสุนทรียะ ศาสตร์ ศิลป์ ความงามที่ซ่อนอย่ในงานบันเทิง โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกมาในลักษณะเชิงสั่งสอน หรือดูถูกความคิดของผู้ชมก็ทำได้
เพราะที่เป็นอยู่นั้น คือการเด็ดยอด ตัดตอน เอาเฉพาะส่วนที่เป็นผลสำเร็จเสร็จสิ้นออกมาให้ดูให้ชม และไม่เคยมีรายการใดที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานบันเทิงที่ผลิตออกมาให้ ผู้ชมได้มีความรู้ในแง่มุมศิลปะหรือสุนทรียศาสตร์ความงามกันเลย
หรือตัวผลงานจริงๆ มันก็ไม่มีสาระให้พูดถึง?
ทั้งหมดที่นำเสนอ ก็พูดเชียร์เพื่อขาย พูดคุยเพื่อชวนเท่านั้นเอง
ไม่มีติ ไม่มีเตือน เพื่อสร้างสรรค์ มีแต่หยิกๆ กัดๆ แล้วก็แล้วกันไป
งานวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ อาจมีผู้เชี่ยวชาญทางละคร ดนตรี ภาพยนตร์ มาช่วยสกัด พูดคุย แสดงความคิดเห็น มิใช่เพื่อโปรโมท แต่เพื่อสรรค์สร้างความงามทางศิลปะที่เกิดขึ้นจากงานพานิชย์ศิลป์
แต่บ้านเราก็ไม่มีข่าวบันเทิงเช่นนี้เลย และดูจะเป็นเรื่องยากอย่างถึงที่สุด
การเพิ่มมูลค่าในรายการข่าวบันเทิงอย่างที่เสนอไปนั้น มิได้ทำให้ความน่าสนใจของรายการข่าวบันเทิงจะไม่สนุกหรือซีเรียสมากขึ้น
แต่จะทำให้ข่าวบันเทิงดูมีสาระประโยชน์พร้อมๆ กับแฝงไปด้วยสาระจากเรื่องราวในวงการบันเทิง หากทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อวงการบันเทิงเอง
ข่าวบันเทิง เรื่องราวรักใคร่ หรือโฆษณาหนัง-ละครเรื่องใหม่ ก็คงเป็นข่าวบันเทิงราคาถูก คุณภาพแย่ พอกับตัวผลงานของมัน แต่ข่าวบันเทิงที่ดี จะต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ผลงานของมันดีและมีคุณค่าเสียยิ่งกว่าข่าวที่รายงานออกไปเสียอีก