วอนรัฐสางปมไอที (1) : ช่วยทำอะไรสักอย่างกับกูเกิล
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มิถุนายน 2552 18:40 น.
บทความชุด"วอนรัฐสางปมไอที"เกิด ขึ้นเพื่อรวบรวมคำขอร้องหน่วยงานรัฐบาลของแหล่งข่าวในวงการไอทีไทย ซึ่งมองเห็นปมปัญหาที่รัฐบาล กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างนิ่งเฉยละเลย จริงอยู่ที่การนำปัญหาเหล่านี้มาประกาศต่อสาธารณชนจะไม่ได้ทำให้ปมปัญหาถูก คลี่คลายอัตโนมัติ แต่อย่างน้อย ประชาชนคนไทยก็จะได้เปิดหูเปิดตา รับรู้ว่ายังมีปัญหาอะไรที่เป็นปมขมวดขวางทางการเติบโตของไอทีไทยในอนาคต
"วอนรัฐสางปมไอที"ขอประเดิมบทแรกด้วยชื่อตอนว่า "ช่วยทำอะไรสักอย่างกับกูเกิล" คำขอร้องรัฐบาลเกี่ยวกับเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ระดับโลกนี้อัดแน่นด้วยคำตัดพ้อต่อว่าภาครัฐอย่างถึงพริกถึงขิงแต่เป็นเรื่องจริง คำขอนี้มาจากแหล่งข่าวนักวิจัยไทยที่อึดอัดเต็มทนกับการแผ่อิทธิพลของกูเกิลที่อาจทำให้ประเทศไทยเสียเอกราชในโลกไอที!!
เพราะกูเกิลกำลังจะเป็น"เทสโกโลตัสออนไลน์"
เป็นที่รู้กันว่าร้านโชว์ห่วยมีสิทธิ์กอดคอกันตายหากซูเปอร์สโตร์ทุน หนาจากต่างประเทศแห่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทย แล้วอาศัยกลยุทธ์จำหน่ายสินค้าราคาถูกกว่า สำหรับโลกไอที แหล่งข่าวมองว่ากูเกิลกำลังจะกลายเป็นซูเปอร์สโตร์ที่ดึงดูดใจผู้ใช้ด้วย บริการดีและฟรี โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้รู้ตัวเลยว่ากำลังทำลายอุตสาหกรรมท้องถิ่นไทยให้ ย่ำแย่ลง
" กูเกิลกำลังจะเป็นเทสโกโลตัสออนไลน์ ให้บริการฟรี แต่ทำให้อุตสาหกรรมไทยลำบาก ไทยเราใช้กูเกิลมากจนตอนนี้คนไทยจะซื้อโฆษณาออนไลน์ต้องผ่านกูเกิลหมด ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของไทยเราเป็นเครื่องมือให้เค้า สัดส่วนรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่กับวงการโฆษณาออนไลน์ของไทยมีมันมีแต่ตัวเลข เม็ดเงินจริงๆไปอยู่ที่กูเกิล"
กูเกิลเป็นบริการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ที่หารายได้จากการโฆษณา ความนิยมใช้กูเกิลของคนไทยออนไลน์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทำให้กูเกิลสามารถเก็บเงินจากบริษัทสัญชาติไทยเป็นมูลค่าสูงมาก จุดนี้กูเกิลไม่เคยให้ข้อมูลรายได้จากประเทศไทยโดยอ้างว่าเป็นกฏของบริษัท ซึ่ง แหล่งข่าวเชื่อว่าน่าจะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท เป็นการได้เงินแบบเนื้อๆไม่ต้องเสียภาษี เพราะเหตุผลว่ากูเกิลไม่มีสำนักงานในประเทศไทย
ขณะที่บริษัทโฆษณาออนไลน์ในไทย ทำเงินได้น้อยกว่าแต่ต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมีสำนักงานในประเทศไทย กลายเป็นความไม่เท่าเทียมที่น่าคับข้องใจเหลือเกิน
" รัฐต้องปกป้องคนไทย ด้วยมาตรการอะไรก็แล้วแต่ อย่างภาษี สรรพากรจะอ้างก็ได้ว่ากูเกิลเป็นบริษัทออนไลน์ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย แต่ต้องคิดว่า อีกหน่อยทุกคนก็ออนไลน์กันหมด บอกว่าไม่มีสำนักงานในไทยไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าตั้งต้องเสีย บริษัทพวกนี้ก็ไปตั้งที่อื่นกันหมด สิงคโปร์ มาเลเซีย เพราะขั้นตอนมันน้อยกว่า ไม่ต้องเสียภาษีมาก ไม่มีใครตั้งในประเทศไทย ถ้ามีก็มีน้อยมาก แล้วถึงวันนั้นสรรพากรจะทำยังไง ไม่รู้จะทำยังไงก็มาขึ้นภาษีกับคนในชาติอย่างนั้นหรือ สุดท้ายประเทศก็ไม่รอด"
อีกสิ่งสำคัญคือ สรรพากรไทยกำลังละเลยการสำรวจข้อมูลที่ควรรู้
"ตรงนี้ก็เหมือนกัน สรรพากรไม่รู้ตัวเลขรายได้ที่กูเกิลทำได้จากประเทศไทย ทั้งที่มันเกินพันล้านแน่ๆ คุณบ้ารึเปล่า ไม่รู้ตอนนี้แล้วจะไปรู้ตอนไหน"
อย่ามาอ้าง
" อย่าอ้างว่าไม่รู้ การจ่ายเงินโฆษณาออนไลน์พวกนี้ จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งนั้น คุณมีอำนาจไปตามได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีข้อมูล ถามคนลงโฆษณากับกูเกิลว่าจ่ายเงินไปเท่าไหร่ต่อเดือน แล้วคนไทยที่ได้เงินจากกูเกิล ที่ส่งเช็คมาที่บ้านนั่นเสียภาษีไหม ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีข้อมูลพวกนี้ได้แล้ว"
แหล่งข่าวระบุว่ารัฐบาลมีอำนาจในการสั่งการเพื่อให้การค้ายุติธรรม เกิดขึ้นในประเทศไทย และไม่ใช่การออกมาตรการทางภาษีอย่างเดียว แต่ภาครัฐต้องทำให้การแข่งขันเสรีเกิดขึ้นจริง เพื่อให้คนไทยมีทางเลือก ให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ไทยที่เหลือมีมาร์เก็ตแชร์มากขึ้น
"อาจจะทำเป็นกฏหมาย หามาตรการว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าแฟร์ ไม่ใช่เล่นหักภาษีเงินเดือนประชาชนก่อนเลย อย่างน้อย ก็ต้องมีการแทรกให้สาธารณชนรู้ว่า ไอ้ที่ฟรี มันใช้ฟรีก็จริง แต่มันทำให้เค้ามีรายได้ เราต้องให้ความรู้คนไทย ว่าอย่าใช้เสิร์ชเอนจิ้นฟุ่มเฟือย เพราะเมื่อใช้ฟุ่มเฟือยกูเกิลก็จะรู้ข้อมูลคนไทยหมด ตอนนี้อาจจะมีข้อมูลมากกว่าหน่วยงานสำรวจในประเทศไทยด้วยซ้ำ ซึ่งหากกูเกิลวิเคราะห์พฤติกรรมคนไทยได้ จะน่าเป็นห่วงมากกว่านี้"
แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า การผลิต "เสิร์ชเอนจิ้นแห่งชาติ" ยังมีความคุ้มค่าน่าทำมากกว่าการทำโอเอสแห่งชาติ
"เสิร์ชเอนจิ้นแห่งชาติเชื่อว่าคุ้มถ้าทำจริง ถามว่าถ้าทำออกมาแล้วไม่มีใครใช้ แล้วคุณจะปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆเหรอ นักวิจัยเลิกคิดได้แล้ว ต้นแบบระบบล้ำสมัยแต่ไม่มีทางเกิดเป็นโปรดักต์ ถ้าจะทำเสิร์ชเอนจิ้นต้องตั้งเป็นมูลนิธิ รัฐเป็นผู้ลงทุนให้ ขีดเส้นเลยว่า 5 ปีต้องอยู่ได้ ห้ามของบตลอดปีตลอดชาติ มองว่าถ้ารัฐสนับสนุนจริงจังไม่ใช่แค่พูด รวบรวมบุคลากรที่เชี่ยวชาญเสิร์ชเอนจิ้นมารวมกันก็ทำได้ ตรงนี้ต้องรีบ ต้องหาทางแก้ ข้อมูลของเราเองแท้ๆกลับเอาไปให้ต่างชาติ"
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
อวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีอากร (Tax Partner) กลุ่มบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ
สรรพากรปัดไม่ยอมตอบ
ผู้จัดการไซเบอร์ได้สอบถามไปยังโฆษกกรมสรรพากร ถึงนโยบายการเก็บภาษีของบริษัทออนไลน์ต่างชาติที่ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย ปรากฏว่าหน้าห้องของท่านโฆษกได้แต่ผัดผ่อน ไม่ยอมตอบคำถามโดยระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล กระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนจึงให้คำตอบว่า ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามได้
ผู้จัดการไซเบอร์จึงสอบถามไปยังสมาคมบัตรเครดิต ตัวแทนสมาคมระบุว่าไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตแก่กู เกิลของบริษัทเอกชนไทยได้ เนื่องจากฐานข้อมูลขั้นต้นไม่มีการจำแนกข้อมูลไว้
นายอวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีอากร (Tax Partner) กลุ่มบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ผู้ให้คำปรึกษาด้านภาษีอากรสำหรับบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีบริษัทออนไลน์ข้ามชาติว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยต่างประเทศไม่ได้ใช้วิธีเก็บภาษีแต่ใช้วิธีส่งเสริมการเติบโตของภาพรวม
"ไม่ใช่กูเกิลเจ้าเดียว ธุรกิจออนไลน์ขยายตัวมาก สามารถทำธุรกิจข้ามประเทศได้แบบไร้พรมแดน ตรงนี้ในประเทศอื่นๆก็มีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย ใช้การส่งเมล แฟ็กซ์ และการโทรศัพท์โดยไม่มีการตั้งร้าน ทางออก คือสรรพากรต้องเข้าถึงระบบให้มากกว่านี้ ต้องดูว่ามีการขายยังไง จะได้ดูช่องทางการแก้กฏหมาย อาจจะร่วมมือกับแบงค์ชาติ เพื่อหามาตรการที่ไม่กระทบการเติบโต เชื่อว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือทำอย่างไรให้การแข่งขันกับต่างประเทศไม่เสียเปรียบ เราควรต้องวางแผนกลยุทธ์ของประเทศ ให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้เราแข่งขันกับคนอื่นได้ จะได้ดึงรายได้เข้ามาในประเทศ"
อวยพรอธิบายว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะมีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อน หลักใหญ่ใจความของอนุสัญญาคือการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อนหากมีธุรกรรมใดๆเกิด ขึ้น เช่น หากเก็บภาษีที่ต้นทางแล้วจะไม่มีการเก็บภาษีที่ปลายทางอีก อนุสัญญานี้ทำให้โอกาสการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์เป็นไปได้น้อยมาก
"อย่างกูเกิล อย่าลืมว่าเค้าก็เสียภาษีเหมือนกันที่สหรัฐฯ อาจจะเสียมากกว่าหากจะต้องเสียที่ประเทศไทยก็ได้ การเก็บภาษีมีข้อดีเพียงส่วนเดียว ทำได้ก็ดีแต่อาจจะมีปัญหาตามมา กฏหมายเราตอนนี้ทำได้บางอย่างเท่านั้น ควรหาทางพัฒนาการค้าเราให้ดีจะดีกว่า อีกอย่างคือทิศทางการเก็บภาษีกำลังกลายเป็นเรื่องรองในตลาดโลก เพราะตอนนี้มีแต่นโยบายที่ทำให้การเก็บภาษีอยู่ในอัตราต่ำที่สุด เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม"
นาย ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ไอที เวิร์กส์ ( ซ้าย) และ พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการประจำประเทศไทย กูเกิล (ขวา) ประจำการที่ออฟฟิศกูเกิลในประเทศสิงคโปร์
ข้อมูลล่าสุดจากกูเกิลในขณะนี้คือ Google AdWords (โปรแกรมการบริหารจัดการโฆษณาออนไลน์ผ่าน Google Search Mass Media และ Niche Media สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME เริ่มให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548) มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการ SME ไทยจำนวน 858,291 ราย หรือราว 85% ของธุรกิจทั้งหมด ประเทศไทยถือเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มียอดผู้โฆษณาผ่านทางกูเกิลด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 98.75% พันธมิตรร่วมเครือข่ายโฆษณา Google AdWords รายใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ Tarad.com, weloveshopping และ Netdesign เป็นต้น
ต้องยอมรับว่า Google AdWords เป็นที่นิยมของบริษัทมากมายเพราะความมีศักยภาพในการโฆษณาสูงมาก นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ไอที เวิร์กส์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านระบบตรวจสอบลายนิ้วมือและใบหน้าที่เป็นลูกค้า Google AdWords เคยให้สัมภาษณ์ว่าทำโฆษณากับ Google AdWords มานาน 5 ปี และพบว่าหาก เลือกคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมและสร้างแคมเปญที่สร้างสรรค์ ทุกๆ 10 บาทที่ลงเงินผ่าน Google AdWords จะทำให้บริษัทได้รับรายได้กลับมาตั้งแต่ 100-150 บาท
“แต่ละปีเราจะใช้งบโฆษณาโดยรวมเป็นตัวเลข 7 หลัก มีงบไม่พอที่จะลงสื่อทีวี แต่ลงพรินต์แอดเพื่อเน้นเรื่องของแบรนดิ้ง งบส่วนใหญ่จึงเป็น Google AdWords ซึ่งขณะนี้อยู่ในสัดส่วนประมาณ 60-70% เพราะช่วยลดต้นทุนลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์”
ถึง บรรทัดนี้คงจะบอกได้คำเดียวว่า เมืองไทยเราเหลือทางเลือกอยู่ 2 ทาง หนึ่งคือปล่อยให้รูปการณ์เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ สองคือการเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้อุตสาหกรรมไอทีไทยลืมตาอ้าปากได้ ในอนาคต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Google AdWords เจาะเอสเอ็มอีไทย เพิ่มยอดขาย-ต้นทุนต่ำ
ไอทีเวิร์กส์ใช้ศักยภาพกูเกิลแอดเวิร์ดส์ สร้างธุรกิจเอสเอ็มอีมีรายได้100ล.ต่อปี
กูเกิลทดสอบระบบโฆษณาใหม่ อิงตามความสนใจไม่ใช่คีย์เวิร์ด