เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผนึกกำลังจัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016”
ดึงองค์กรต้นแบบการจัดการน้ำระดับโลก ร่วมหาทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งของไทย
กรุงเทพฯ : 20 มิถุนายน 2559 – เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ผนึกกำลังจัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้และความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน พร้อมเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำจาก 3ประเทศต้นแบบ ได้แก่ อิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ส่งต่อองค์ความรู้ระดับโลกสู่ชุมชน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า จากการที่เอสซีจีได้ดำเนินโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” มากว่า 10 ปี เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ป้องกันปัญหาในอนาคต และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์น้ำ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เราเห็นปัญหาที่น่าวิตกจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งสลับกันบ่อยครั้ง การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
การจัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขเพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน นอกจากนี้ เราจะได้เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารงานของหน่วยงานหรือองค์กรด้านน้ำจาก 3 ประเทศ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมที่ดี ได้แก่ ประเทศอิสราเอล กับการสร้างวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสำรองน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมให้มีมากเพียงพอ ประเทศสิงคโปร์ กับนโยบาย “น้ำคือความมั่นคงของประเทศ” พร้อมมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมจากข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มด้วยการสูบน้ำอย่างเป็นระบบ และการสร้างสมดุลระหว่างน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำใต้ดินได้อย่างลงตัว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยพึ่งพาน้ำเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ เรามีปริมาณน้ำจากฟ้าจำนวนมาก แต่เก็บไว้ใช้ได้ในปริมาณที่น้อย โดยประเทศไทยของเรามีที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 70,400 ล้าน ลบ.ม. แต่ทั้งปีน้ำไหลลงเขื่อนเฉลี่ย 42,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำต่อปี มากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม. และในอนาคตข้างหน้ามีแนวโน้มว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 35 ความสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำ และปริมาณการใช้น้ำให้เกิดความสมดุลให้ได้
การสร้างความสมดุลของทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และการบริหารจัดการน้ำ “จากภูผาสู่นที” คือต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การพัฒนารูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำแล้งและน้ำหลากนอกเขตชลประทาน และอีกหลายแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำไปใช้ในชุมชนได้จนประสบความสำเร็จ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบและนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องไปใช้อย่างจริงจัง สร้างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อตัวเรา ประเทศของเรา และลูกหลานของเราในอนาคต
นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีสองปีมานี้ นับเป็นข่าวสำคัญที่สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่ก่อความเดือดร้อนอย่างมหันต์ให้กับคนไทยในหลายสิบจังหวัด และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของชาติ ขณะที่ย้อนหลังไป เมื่อ 5 ปีก่อน ในปี 2554 วิกฤติการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้คนไทย และเป็นข่าวใหญ่ยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงเข้าร่วมจัดการสัมมนาครั้งนี้ ไม่เพียงในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่มุ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนเท่านั้น แต่ด้วยความคาดหวังอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาทั้งของต่างประเทศและในประเทศ จะเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ร่วมกันให้เกิดแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทุกมิติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะได้นำเสนอข้อสรุปการสัมมนาให้กับรัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
สำหรับการจัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ซึ่งมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน ที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคต่างๆ และภาคประชาสังคม นักวิชาการ ที่สนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน นี้ ประกอบไปด้วยการแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางด้านการบริหารจัดการน้ำขององค์กรต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการน้ำแล้งและน้ำท่วม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทั้งด้าน Water Supply, Water Management และ Water Demand เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม
สามบทเรียนการบริหารจัดการน้ำจากสามประเทศ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอซีจี กล่าวเปิดงานว่า ประเทศไทยที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประชาขนและเศรษฐกิจของประเทศ และอีกสามปีต่อมาเราก็ประสบปัญหากับภัยแล้ง ดังนั้นไทยจะต้องมีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ ต้องวางแผนในระดับผังเมืองด้วยเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ของประเทศไทย อาจใช้การแบ่งเป็นโซนนิ่งเพื่อให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน การประชุมวันนี้จึงเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำได้ดี ซึ่งเราจะต้องเลือกมุมและวิธีการจัดการปัญหาจากตัวอย่างในทั้ง 3 ประเทศ โดยหวังว่าในวันนี้จะสามารถหารือในหลายเรื่องที่สำคัญเพื่อพัฒนาและปรับปรุงนำมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยได้จริง ทั้งนี้จากการเดินทางไปดูการบริหารจัดการน้ำทั้งสามประเทศ เช่น อิสราเอล พบว่า เขามีการบริหารจัดการที่ดีทั้งที่ความต้องการน้ำมีมากเป็นสองเท่าของน้ำที่มีอยู่ อีกทั้ง สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญคือ ตนประทับใจในจิตสำนึกของประชาชนที่สำนึกและตระหนักว่าน้ำมีความสำคัญขนาดไหน
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสนอตัวอย่างบทเรียนการจัดการน้ำในประเทศต่างๆ โดย Dr.Weinberger Gavrial Director of the Hydrological Service, The Governmental Authority for Water and Sewage ตัวแทนจากประเทศอิสราเอลระบุว่า นโยบายการจัดการเป็นการมองน้ำทุกส่วนเป็นทรัพยากรสาธารณะ และหมายรวมถึงน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำฝน น้ำบาดาลและน้ำในท่อระบายน้ำ ดังนั้นต้องได้รับการบริหารจัดการตามกฎหมายของประเทศ โดยรัฐมีนโยบายทางด้านนี้มากว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการบริหารน้ำเพื่อความอยู่รอดของประเทศ เพื่อให้คนในประเทศมีน้ำใช้อุปโภคและบริโภคได้อย่างเพียงพอ จากเดิมที่ใช้น้ำได้อย่างจำกัดก็สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ หากดูจากปริมาณฝนนั้นในอิสราเอลฝนตกน้อยกว่า 33 มิลลิเมตรต่อปี อีกทั้งยังมีอัตราการระเหยที่สูงมาก ทำให้ปริมาณน้ำจากธรรมชาติแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาน้ำจากที่อื่น
Dr.Weinberger Gavrial กล่าวอีกว่า จะต้องมองการบริหารน้ำทั้งระบบ ต้องเข้าใจระบบทั้งหมดอย่างชัดเจน เช่น น้ำบาดาล หากเรานำมาใช้อย่างพอดีก็จะเกิดประโยชน์ แต่หากนำมาใช้อย่างเดียวโดยไม่คำนึงและบริหารจัดการให้ดีอาจเกิดโทษได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความต้องการน้ำในอิสราเอลสูงถึงปีละกว่า 2,000 ล้านลบ.ม. แต่ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณน้ำธรรมชาติและปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้มีเพียงปีละประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม.ต่อปี เท่านั้น ซึ่งเมื่อปี 2547 อิสราเอลเกือบจะต้องซื้อน้ำจากประเทศตุรกีแล้ว เพราะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง ดังนั้นในปี 2550 จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำขึ้นมา เพื่อดูแลการใช้น้ำทั้งระบบทั้งหมดและมองถึงการผลิตน้ำขึ้นมาใช้เองจากน้ำทะเล โดยในปี 2554 อิสราเอลได้สร้างโรงผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลขึ้นเป็นแห่งแรก จนปัจจุบันมีจำนวนถึง 39 โรงงาน และในปี 2556 ที่ผ่านมาอัตราการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลทั้งหมดอยู่ที่ 580 ล้านลบ.ม. และวางแผนว่าอนาคตจะสามารถผลิตได้มากกว่านี้อีกเพื่อรองรับการใช้น้ำในอนาคต ซึ่งการผลิตน้ำใช้เองนี้เราสามารถส่งน้ำไปให้ทั่วประเทศใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศนั้น ภาคประชาชนต้องการน้ำอยู่ที่ร้อยละ 34 ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องการร้อยละ 53 ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ
Dr.Weinberger Gavrial กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำทั้งหมดกลับมาใช้อีกครั้ง โดยอิสราเอลสามารถบำบัดน้ำได้ถึงร้อยละ 86 ของน้ำที่ใช้ทั้งหมด ถือเป็นอันดับหนึ่งในโลก แต่ทั้งนี้เราก็ต้องวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต กรณีการเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์อื่นๆ ดังนั้นเราจึงจัดทำหน่วยงานที่มีหน้าที่พยากรณ์ คาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตขึ้นมาเพื่อให้เตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้าได้
ด้าน Mr.Ridzuan Bin Ismail, Director of Catchment & Waterways,PUB,Singapore’s national water agency ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า เราบริหารจัดการน้ำภายใต้หลักการ 3 ข้อ คือ เก็บน้ำให้ได้ทุกหยด น้ำที่ใช้แล้วก็ต้องเก็บและต้องรีไซเคิลน้ำให้มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่ง การบริหารจัดการน้ำต้องพิจารณาทุกปัจจัยตั้งแต่ เรามีน้ำมากแค่ไหน การนำเข้าน้ำจากประเทศอื่น และน้ำที่บำบัด ซึ่งทุกส่วนรวมไปถึงประชาชนต้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำด้วย โดยสิงคโปร์เป็นเกาะ มีฝนตกประมาณปีละ 2,330 มิลลิเมตรต่อปี ถือว่าไม่น้อย มีประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องน้ำท่วม โดยมีการวางแผนแก้ปัญหาโดย มีโครงสร้างที่นะบายน้ำก่อนที่จะมีการพัฒนาระบบอสังหาริมทรัพย์ มีการกำหนดเกณฑ์ตามกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และต้องมีการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีระบบเก็บน้ำเพื่อเป็นการกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้ เรื่องสำคัญคือการมองการดำเนินการอย่างบูรณาการ กับทุกๆฝ่าย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ รวมไปถึงจะต้องมีระบบที่ยืดหยุ่นสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต และทำให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของน้ำ นำน้ำมารีไซเคิลให้ได้ทั้งหมด โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบน้ำ มาร่วมติดตามการใช้น้ำและเพื่อให้ลดการสูญเสียน้ำจากระบบ โดนอนาคตมีแผนจะเพิ่มการรีไซเคิลน้ำจากน้ำที่ใช้แล้วจากปัจจุบัน ร้อยละ 30 ให้เป็นร้อยละ 55 ในปี 2060
ด้าน Mr.Tjittle A. Nauta,Strategic Advisor Intergrated Water Management, Deltares ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการบริหารจัดการน้ำหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศทั้งจากทะเลและจากแม่น้ำ โดยจะใช้โปรแกรม จำลองสถานการณ์โดยนำปัจจัยต่างๆมาเป็นตัวร่วม ในการกำหนดสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ความรุนแรง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ในระดับที่ละเอียด เพื่อการรับมือที่ดีมีประสิทธิภาพ การวางแผนรับมือน้ำท่วมจะต้องมีทางที่ 1,2,3 หรือมากกว่านั้น โดยแสดงข้อมูลที่แท้จริงว่าจะเกิดความเสียหายด้านใด อย่างไรบ้าง หรือจะเกิดผลกระทบกับใครอย่างไรบ้างในแต่ละแนวทาง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทางเลือกได้ว่าทางเลือกใดจะดีที่สุด อีกทั้งเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ซึ่งจะเกิดผลกระทบในการตัดสินใจทำแผนบริหารจัดการเข้ามาร่วมพูดคุย ให้ข้อมูลทั้งหมด นอกจากนี้จะต้องว่งแผนผังเมืองเพื่อใช้การได้อย่างเป็นระบบ คุ้มค่า เช่น เป็นลานจอดรถใต้ดินในเวลาปกติ แต่เมื่อมีน้ำหลากหรือฝนตกก็ใช้เป็นที่กักเก็บน้ำแทน เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้านบน ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอมาถึงประเทศไทยว่า ควรจะต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก โดยต้องวางแผนระยะยาวเป็น 100 ปี ไม่ใช่เพียง 5-50 ปี อีกทั้งต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมกันบูรณาการเพื่ออนาคต วางแผนอย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรีบการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย
ดร.สุเมธ ชึ้ประเทศไทยไม่ขาดแคลนน้ำ แต่ขาดบริหารจัดการน้ำ คาดอีก 10 ปีตัวเลขความต้องการน้ำพุ่งอีก 35% หรือราว 1 แสนล้านลบ.ม.ต่อปี จี้นำพระราชดำรัส "ในหลวง"ปลุกชุมชนจัดการน้ำด้วยตัวเอง พบนำร่อง 603 แห่งสำเร็จจริง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องสถานการณ์น้ำของประเทศไทย โดยบอกว่าตัวเลขปริมาณน้ำฝนที่ตกโดยเฉลี่ยในแต่ละปีมีมากถึง 7.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำเพียงแค่ 5.7% ที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประ เทศ หรือเพียง 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 70,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ตัวเลขประชากรไทยในปีอีก 10ปีหรือพ.ศ. 2567 จะมีมากถึง 67 ล้านคน มีการศึกษาความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตรหรือเพิ่มขึ้น 35 เปอร์ เซ็นต์ แบ่งเป็นภาคการเกษตรสัดส่วนเพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสากรรมเพิ่มขึ้น 97 เปอร์เซ็นต์
ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ บอกว่า สรุปว่าต้องทบทวนวิธีการใช้น้ำ เพราะถ้าดูจากโครงสร้างน้ำหลักตอนนี้ ชัดเจนว่าบัญชีออมทรัพย์น้ำไม่สมดุล หากยังบริหารแบบเดิมจะเกิดปัญหาในอนาคต และโจทย์คือจะทำอย่างไรเก็บกักน้ำได้มาก โดยหนึ่งในความสำเร็จคือการลุกขึ้นมาจัดการน้ำในระดับชุมชน แก้ปัญหาและภาระจะไม่ถูกส่งมาที่ส่วนกลาง โดยจากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25กค.54 ทรงรับสั่งเรื่องน้ำชุมชนว่าหาก
เห็นความสำเร็จในบางชุมชน ให้ชาวบ้านที่ทำแล้วเกิดผลขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ในการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม พบว่าตอนนี้มีชุมชนเข้าร่วม 603 แห่ง และจากการสำรวจในช่วงภัยแล้งปีนี่คร่าวๆจาก23 ชุมชนมี21 แห่งมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน ถือว่าน่าทึ่งถ้าชุมชนลุกขึ้นมาลงมือทำ จะเกิดความสำเร็จ และลดการพึ่งพาการจัดการน้ำจากภาครัฐ
" ตัวอย่างน้ำใน 3 ชุมชนที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำจนประสบความสำเร็จครอบคลุมทั้ง แก้น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำแล้งได้จริง เช่นลุ่มน้ำแม่ลาว เวียงป่าเป้า เชียงราย พระองค์เคยเสด็จไป 30 ปีก่อน ชาวเขาจะตัดไม้ พระองค์ทรงเห็นว่าถ้าจะปล่อยไว้คนข้างล่างไม่มีชีวิต เพราะขาดน้ำ กระทั่งวันนี้ชุมชนได้จัดการน้ำตอนนี้มีการทำฝาย จำนวนกว่า 2,000 ฝาย ชาวบ้าน รายได้8หมื่นบาทต่อครัวเรือน ส่วนภาคอีสาน ชุมชนบานลิ่มทอง อ.นางรอง บุรีรัมย์ เดิมน้ำฝนไหลหลากลงไปหมด แต่เมื่อชาวบ้านร่วมกันจัดการน้ำด้วยการช่วยกันขุดคลองยาว 48 กิโลเมตร ทำถนนให้น้ำเดินระบายน้ำท่วม และทำแก้แล้งเป็นจุดๆ สำรองน้ำทำให้ชาวบ้านไม่ขาดน้ำสรุปว่าความสำเร็จมาจากการสำรวจ ปัญหาในชุมชน เข้าใจและพัฒนา จึงจัดการน้ำได้"
รัฐ เอกชน ประชาชนร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออก และวิธีจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ในเวที Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 เน้นสำนึกการมีส่วนร่วม โดยหลักประชารัฐ ให้ประชาชนเป็นแกนนำ รัฐสนับสนุน เอกชนส่งเสริม
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน "Thailand Sustainable Water Management Forum 2016" เพื่อประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักในความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ สู่การหาแนวทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน
โดยภายในงานนอกจากจะมีการเรียนรู้ประสบการณ์แนวทางบริหารจัดการน้ำจาก 3 ประเทศต้นแบบคืออิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์แล้ว ยังได้มีการอภิปรายกลุ่มย่อย ระดมสมอง เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ในหัวข้อ Water Supply, Water Demand และ Water Management
ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายกลุ่มย่อย ได้มีการเปิดเวทีสรุปผลภายใต้แนวคิด "การบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย"
โดย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ได้สรุปหัวข้อ อุปทานน้ำ (Water Supply) ที่วันนี้เน้นไปถึงการมองเรื่องพื้นที่ต้นน้ำซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่บนสุดเหนือสุด แต่จริงๆแล้ว กลางน้ำก็มีพื้นที่ต้นน้ำในที่สูง ที่เป็นแหล่งต้นน้ำให้ลำน้ำสาขา โดยการทำให้น้ำอยู่กับป่าได้นาน เพื่อซึมสู่ด้านล่างได้ สิ่งสำคัญคือป่าจะต้องสมบูณ์ ลำน้ำสาขาต้องมีฝายชะลอน้ำ
สำหรับพื้นที่ต้นแบบนั้น สามารถดูได้จากโครงการดอยตุงของสมเด็จย่า ในพื้นที่น้ำลาว ใช้วิธีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อลดเกษตรเชิงเดี่ยวโดยชุมชนร่วมกับเกษตรในพื้นที่ เน้นไม้ท้องถิ่น ให้มีการดูแลโดยเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรค เช่นไฟป่า และการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ในด้านวิธีการที่จะทำให้ป่ามีความสมบูรณ์มากขึ้น เสนอให้ใช้รูปแบบประชารัฐ คือ ป่าที่มีความหลากหลาย มีหลายชั้นเรือนยอด ไม่ใช่ป่าเชิงเดี่ยว ในกรณีป่าเศรษฐกิจ หรือป่าเชิงอนุรักษ์ ให้ฟื้นฟูด้วยไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล แล้วให้ผู้บุกรุกเป็นผู้ดูแล เพื่อสร้างรายได้ก็จะแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า และยังลดไฟป่าได้ด้วย
ส่วนรูปแบบการกักเก็บน้ำในพื้นที่กลางน้ำ ทำได้โดยอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ โดยโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ขณะนี้คือฝาย ต้องมีการขุดลอกเพราะตอนนี้ตะกอนเยอะ ขุดลอกแหล่งน้ำ เน้นเชิงลึกและคำนึงถึงโครงสร้างวิศวกรรม ในหน้าฝนก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ทะเล เช่นในน้ำโขงก็ต้องมีการจัดเก็บน้ำเอาไว้ ขณะเดียวกันหากน้ำโขงสูงขึ้น ก็ต้องมีการหามาตรการไม่ให้น้ำมารุกพื้นที่เกษตร
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบนิเวศน์ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่กลางน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติควรเน้นที่การฟื้นฟูมากกว่าเปลี่ยนแปลง และร่วมมือกับภาครัฐบาลในการแก้ปัญหา กำกับดูแล
สุดท้ายคือพื้นที่ปลายน้ำ แม้จะมีฝนมากแต่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำเค็มรุก ต้องอาศัยการบริหารจัดการอาคาร และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาแก้ปัญหาน้ำเค็ม ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีระบบอย่างการใช้น้ำบาดาล ต้องเติมน้ำเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนอยู่เสมอ
ด้านหัวข้ออุปสงค์น้ำ (Water Demand) มีนายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่องสาม เป็นผู้นำการอภิปรายซึ่งมีทั้งตัวแทนประชาชนกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำ ตัวแทนภาคเอกชน และภาครัฐ ได้เน้นในมุมของความท้าทาย และสิ่งที่อยากจะเห็นในการจัดการน้ำ
สำหรับความท้าทายนั้น สิ่งที่ชัดเจนคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณใช้น้ำเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาสมดุลย์ระบบน้ำ สิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นคือ การลดการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง ให้มีการจัดการความต้องการใช้น้ำเช่นเดียวกับการทำ Demand size management ของไฟฟ้า มีอุปกรณ์ประหยัดน้ำ เข้าไปดูแลจริงจังกับองค์กรที่ใช้น้ำฟุ่มเฟือย สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ต้องมีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ มีสระประจำไร่นาซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรทำอยู่แล้วใช้ได้จริง ปรับวิธีการใช้น้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ และพืชที่ปลูก ปรับวิธีเพาะปลูกเป็นแบบผสมผสาน
ในส่วนของอุตสาหกรรม ที่ประชุมมีการจุดประเด็นในการที่จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของภาษีการใช้น้ำภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำ เพื่อนำเงินส่วนนี้มาดูแลระบบนิเวศ คล้ายๆ กับภาษีเหล้าบุหรี่ เพราะคนต้นน้ำเป็นผู้ดูแลน้ำให้
เรื่องน้ำเพื่อการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศ ที่สำคัญคือสร้างป่าเพื่อกักเก็บน้ำบนภูเขา เพราะเป็นทางที่จะได้น้ำมาโดยไม่ต้องกักเก็บใหม่ สร้างฝาย สร้างความหลากหลายของป่า ส่วนในภาคครัวเรือนในการแก้ปัญหาน้ำเสีย อาจจะใช้กฎหมายมาบังคับให้มีระบบจัดการน้ำเสียตั้งแต่ภาคครัวเรือนในรูปของเทศบัญญัติ
ประเด็นสำคัญที่สุดคือคือ การถ่ายทอดข้อมูลความรู้ ต้องให้ทุกชุมชนหมู่บ้านสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ขิงตัวเอง อาจจะไม่ต้องขุดคลองใหม่ แต่เน้นการฟื้นฟู ทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไร้การสื่อสาร ต้องมีการสื่อสารไปยังทุกคนทุกองค์กรอย่างเท่าเทียม เพื่อประสานบูรณาการเป็นระบบเดียวกันต่อไป
ขณะที่ หัวข้อ การบริหารจัดการน้ำ (Water Management) ซึ่งนำการอภิปรายโดย ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้สรุปความคิดเห็นที่มาจากชาวบ้านที่มาจากนอกเขตชลประทานว่าจำเป็นจะต้องมีการทราบสถานะว่า ปริมาณน้ำที่แท้จริงมีอยู่แค่ไหน สถานะของน้ำในแต่ละสัปดาห์ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตัวคนในพื้นที่เองต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานะของปริมาณน้ำที่มีให้สมดุลแก่การใช้ชีวิต ขณะที่การจัดการน้ำในพื้นที่สูงและที่ราบเชิงเขา มีตัวอย่างความสำเร็จจากการทำป่า3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน และภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมโดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ต่อมาในพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาแก้มลิง มีกฏเกณฑ์ในการใช้น้ำร่วมกับ ในส่วนที่เป็นเมือง อยาก้ห็นแหล่งน้ำดิบที่เชื่อมโยงเป็นระบบ มีการสำรองน้ำที่ชัดเจน ซึ่งในตัวเมืองมีข้อเสนอให้ใช้ระบบไอที และต้องแก้ปัญหาน้ำรั่วไหลที่มีอัตราถึงร้อยละ 25 -30
นอกจากนี้ ในหัวข้อการบริหารจัดการน้ำ หน่วยงานภาครัฐระบุว่า การทำแผนที่ และแก้ที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กให้ชัดเจน จึงจะแก้ปัญหาต้นน้ำได้ มีการบูรณการร่วมกันทุกอย่าง และโยงไปกับระบบ Land Manager ที่ดูแลเรื่องตะกอน การไหลของน้ำ ในส่วนพื้นที่ชลประทานนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมองเรื่องความมั่นคง มีแผนระยะยาว มีแหล่งน้ำสำรองชัดเจน ไม่ใช่แค่ปีต่อปี ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถจัดหาน้ำเพิ่มได้ทั้งหมดดังนั้นหากไม่ลดพื้นที่เพาะปลูกก็จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปต้องมีแผนที่เหมาะสม
ประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการน้ำของไทยตลอดที่ผ่านมา ไม่ได้ทำในเรื่อง บริหารอุปสงค์(Demand management) เลย แต่ทำเรื่องบริหารอุปทาน(Supply Management)อย่างเดียว สิ่งต้องทำให้สมดุลย์ให้ได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
สุดท้ายกลุ่มย่อยเรื่องการบริหารจัดการน้ำอยากเห็นคือ องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกนช. มีลักษณะเหมือนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำแผนน้ำในรอบ 4 หรือ 5 ปี มีการทำนโยบาย งบประมาณให้เต็มรูปแบบ ในส่วนการพัฒนาให้ยึดหลักกระจาย แต่การบริหารในสภาวะวิกฤติต้องรวมศูนย์
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณ เอสซีจี ร่วม แก้ไขปัญหาน้ำ เชื่อมโยงรัฐและประชาชนได้ดี แนะ เตรียมรับมือ ปัญหาน้ำในทุกมิติ ขอทุกคนร่วมนำพระราชดำริในหลวงอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดการประชุม Thailand Sustainable Water Management Plan 2016 โดยระบุว่า เรียน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี รวมถึงผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนต่างๆ ตนมาวันนี้มีความสุขซึ่งเป็นความสุขไม่กี่อย่างที่มี เพราะมีปัญหาเยอะ แต่มางานนี้ได้เห็นความสำเร็จ ได้เห็นเกษตรกรชี้แจงด้วยตัวเองว่าบริหารจัดการกับปัญหาที่ตัวเองมีอยู่อย่างไร และที่สำคัญปัญหาน้ำที่เป็นปัญหามาช้านานได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง นี่คือความสุขของตนและความสุขของพวกท่านด้วย อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้เป็นความฝันของคนไทยทุกคน
นายกรัฐมนตรี ระบุต่อไปอีกว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานการสัมมนา “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ได้มาร่วมงานสัมมนาที่จัดโดยเอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมชูปถัมภ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นโอกาสที่ได้มาพบกับทุกท่านที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน และขอบคุณต่างประเทศที่มาร่วมงานทั้งอิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ มีอีกหลายประเทศที่เสนอตัวเข้ามาให้คำปรึกษาช่วยเหลือประเทศไทย ซึ่งยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ปัญหาที่โลกวิตกกังวลคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การก่อการร้าย โรคระบาด และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเดียวกัน ซึ่งทุกคนต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด เพื่อการเชื่อมโยงร่วมกันไปสู่การแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถ ประเทศไทยต้องเตรียมการให้พร้อม ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นหลัก วันนี้ต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันทุกโครงการให้เกิดขึ้นให้ได้ เราต้องแยกกิจกรรมน้ำอย่างชัดเจน ปัญหาวันนี้มีปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนก็ตกใต้เขื่อน เราต้องกลับมาแก้ไขว่าจะทำอย่างไร เริ่มตั้งแต่น้ำต้นทุน รัฐบาลพยายามกักเก็บน้ำในเขื่อนในประเทศไทย ทั้งทำแก้มลิง ทำฝายชะลอน้ำ ทำฝายขนาดเล็กเป็นแสนแห่ง วันนี้พยายามทำทุกอย่างที่ผ่านมาจะไม่โทษใคร แต่วันนี้เราต้องเดินตามสหประชาชาติด้วย ที่จะต้องพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าความมั่นคง การค้า การลงทุน สังคม จิตวิทยา
“เราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกษัตริย์นักพัฒนา อยากให้ทุกคนระลึกถึงพระองค์ท่าน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นฐานรากของประเทศไทย นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแนวคิดและทฤษฎีด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการดำเนินการตามแนว “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัดให้ก่อประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ให้ชุมชนมีน้ำใช้ สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของน้ำแล้งและน้ำท่วม เพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เราต้องให้ความสำคัญกับน้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ในเขื่อน ซึ่งเร็วๆนี้อาจจะเกิดลานีญาที่ฝนจะตกนานขึ้น ถามว่าวันนี้เราเตรียมความพร้อมหรือยัง ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องปัญหาภัยแล้ง แต่เราต้องดูเรื่องปัญหาน้ำท่วม เรื่องการกระจายน้ำต่างๆให้ได้ ให้เกิดประสิทธิภาพรวมทั้งปัญหาน้ำเน่าเสียด้วย นี่คือความท้าทายของทุกคนรวมถึง ดร.สุเมธ และเอสซีจี ด้วย เราจะต้องรักษาประเทศไทยให้มีศักยภาพด้านเกษตรกรรมมากที่สุด ประชาชนต้องร่วมมือกัน วันนี้ต้องขอบคุณบริษัทใหญ่ที่เข้ามาช่วยเหลือกัน ซึ่งเราไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรให้เลย มีแต่บริษัทต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือ เราต้องมีผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งเราต้องวางแผนเป็นภูมิภาค เพราะมีทรัพยากรที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศให้เป็นรูปแบบของความเชื่อมโยง เดินหน้าประชารัฐเจริญเติบโตไปด้วยกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตนขอขอบคุณที่ช่วยกัน วันนี้อยากให้ทุกคนนำพาประเทศชาติ ยืนยันวันนี้ไม่มีผลประโยชน์ให้ใคร เราต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่นประเทศเราให้ได้ ขอบคุณ กานต์ ตระกูลฮุน ขอบคุณสุเมธ ขอบคุณ รอยล จิตรดอน ที่ร่วมกันทำงาน และขอให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาประเทศ
ทั้งนี้ก่อนกล่าวปิดการประชุมเสวนา นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำ โดยได้กล่าวขอบคุณ เอสซีจี ที่มุ่งมั่นดำเนินการและเป็นส่วนหนึ่งสำคัญ ด้วยการสร้างกลไกการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นรอยต่อที่ดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน ได้ รัฐบาลยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่จะให้ท้องถิ่น ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม การบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งเราจะต้องร่วมกันเดินหน้าต่อไป