งานรวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯแสดงความอาลัย
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
เวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
คำกล่าวรายงาน
นายอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๓
มีบันทึกว่า เมื่อครั้งยังทรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย ได้ทรงใช้กล้องบันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยทางการถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนไทย มีมานับแต่ครั้งที่ทรงเป็นช่างภาพสมัครเล่นแล้ว เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงเข้าพระทัยในงานและอาชีพสื่อมวลชนอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสตรัสไว้ในครั้งหนึ่ง ว่าหน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งเป็นเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดี และถูกต้องให้เกิดขึ้นในหมู่คนประชาชนทั่วไป การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวัง แม้แต่เพียงนิดเดียวก็สามารถทำร้ายทำลายผู้อื่นให้ถึงตายได้ เปรียบเหมือนกับฟองอากาศนิดเดียวแต่ถ้าหลุดเข้าไปในเส้นเลือด ก็สามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน
แสดงให้เห็นว่า ทรงเข้าพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อได้อย่างลึกซึ้ง จึงทรงเตือนอยู่เสมอว่า ให้ตระหนักถึงหน้าที่ และงานที่ต้องมีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นี้
ในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เปิดที่ทำการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ถนนสามเสนได้ทรงมีพระราชดำรัสเตือนไว้เป็นใจความตอนหนึ่งว่า นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้เสนอข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น และรวมทั้งเป็นปากเสียงแทนผู้อื่น จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ รอบคอบ สุจริต และยุติธรรม และด้วยความสำนึกรับผิดชอบเป็นพิเศษ
แนวพระราชดำรินี้ จะคงอยู่ในหัวใจสื่อมวลชนทุกสำนัก และทุกสายสาขาในการน้อมนำไปปฏิบัติตลอดไป
ส่วนพระปรีชาสามารถในด้านวรรณกรรม สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น ต่างก็เป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดี ทั้งในด้านงานเขียนและงานแปล ปรากฎเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์มีเช่น “พระมหาชนก” “ทองแดง” “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นอาทิ ที่แต่ละเรื่องล้วนแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะวรรณกรรม สมดังที่ได้รับพระราชสมัญญาว่า อัครศิลปิน
อนึ่ง โรงเรียนวังไกลกังวลที่อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพัฒนาปรับปรุงมาโดยลำดับ นับตั้งแต่แรกตั้ง ทั้งด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากเงินพระราชกุศลเป็นรายปี โรงเรียนจึงมีค่าเล่าเรียนถูกมากก็เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้โอกาสทางด้านการศึกษา ทรงสร้างโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพและทรงสอนให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนที่ตนอยู่ ดังพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนไกลกังวลที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในปีหนึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า ถ้าหากไปอยู่ที่ไหนก็ขอให้บอกอย่างภาคภูมิใจว่า จบไปจากโรงเรียนไกลกังวล โรงเรียนบ้านนอกเล็กๆ แห่งนี้
พระราชดำรัสดังว่านี้ จึงเปรียบเสมือนดั่งธงชัยที่นำทางให้กับนักเรียนวังไกลกังวลในทุกรุ่นตลอดมา
ข้าพระพุทธเจ้าในฐานะนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนศิลปินแห่งชาติ และเป็นนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวลคนหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ในนามนักเขียนและสื่อ ๑๕ สถาบัน ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า
นายอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๓