วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 21:10:43 น. มติชนออนไลน์
กก.ปฏิรูปชงรื้อใหญ่ช่อง 11 เป็นองค์การมหาชน ป้องกันการเมืองแทรกแซง "สาทิตย์"ยังยึกยัก
เสนอรื้อใหญ่ช่อง 11 แปรสภาพเป็น"องค์การมหาชน" สร้างกลไกป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้ง ผอ.คุ้มครองและรักษาความเป็นอิสระสถานีให้ปลอดจากการแทรกแซง ระบุชัดต้องเผยแพร่การดำเนินการของผู้นำฝ่ายค้าน ให้เกิดความเป็นธรรม
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย"มติชนออนไลน์"เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐซึ่งมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปสถานีโทรทัศน์วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.)ช่อง 11โดยให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนแยกออกจากกรมประชาสัมพันธ์ต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ
แต่ปรากฏว่า นายสาทิตย์ยังไม่มีท่าทีตอบรับข้อเสนอของคณะกรรมการฯทั้งๆที่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวนายสาทิตย์แสดงท่าทีว่า จะดำเนินการตามที่คณะกรรมการฯเสนอโดยเฉพาะหลังจากเกิดเเหตุการณ์การถ่ายทอดสดรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์"ขัดข้องและมีการสั่งย้ายด่วนผู้อำนวยการ สทท.11
แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐได้เสนอให้แปรสภาพ สทท.11 เป็นองค์การมหาชนโดยเสนอเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.-National Television of Thailand-NTT) พ.ศ....ตามพ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 และให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังจากประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกามีสาระสำคัญคือ ในการบริหารและการดำเนินกิจการ สทท..ให้มีคณะกรรมการ สทท. 9 คน แบ่งเป็น กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในกิจการโทรทัศน์ การบริหารจัดการ การเงิน กฎหมายหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถานีซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาพัฒนาการเมือง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาทนายความ สมาคมส่งสถาบันกรรมการบริษัทไทยและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งละ 1 คนโดยกรรมการผุ้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
สำหรับผู้อำนวยการสถานีให้คณะกรรมการ สทท.เป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้งและถอดถอน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการนอกจากมีหน้าที่ในการบริหารกิจการของสถานีแล้ว ยังมีอำนาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และยังมีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
ในร่างพระราชกฤษฎีกา พยายามที่จะสร้างกลไกป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและให้เกิดความเป็นธรรมในการนำเสนอข้อมูลข่าวโดยในวัตถุประสงค์ของ สทท. นอกจากระบุให้มีหน้าที่ในประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารและการดำเนินงานของส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังระบุว่าต้องเผยแพร่การดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้นำฝ่ายค้าน ฝ่ายตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปคกรองระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนั้นยังให้คณะกรรมการ สทท.มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองและรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการของ สทท.และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานของสถานีให้ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ
ขณะเดียวกันโครงสร้างของคณะกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่งจากหัวหน้าส่วนราชการเพียง 3 คน ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกซึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการและนักการเมืองถึง 6 คนซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร
อย่าางไรก็ตาม ร่างพระราชกฤฎีกาดังกล่าว ยังให้อำนาจรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล(ไม่ใช่ควบคุมบังคับบัญชา)การดำเนินการของคณะกรรมการและสถานีให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับคณะกรรมการและสถานี
นอกจากนั้นยังให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำของสถานีที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการและสถานีได้
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวของรัฐมนตรีให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรและให้สถานีแจ้งคำสั่งในรายการข่าวและสื่อประชาสัมพันธ์ของสถานีด้วย
ขณะเดียวกันกรณีที่มีสถานการณ์อันอาจกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือภัยพิบัติสาธารณะฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้คณะกรรมการและสถานีดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน แก้ไข หรือบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อมีมติเช่นนั้นแล้ว
ให้คณะรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งเหตุผลความจำเป็นและแนวทางการดำเนินงานต่อรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า โดยต้องแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในรายการข่าวและสื่อประชาสัมพันธ์ของสถานีด้วย