สื่อมวลชนกับการสืบสานพระราชปณิธาน “ในหลวง ร.9”

 

 

สื่อมวลชนกับการสืบสานพระราชปณิธาน “ในหลวง ร.9”

 

คุณชายดิศนัดดา ชี้โลกออนไลน์รุนแรง ส่งผลให้ "สังคมเอาแต่ใจ" ตั้งคำถามสื่อ เรียกร้องเสรีภาพ แต่หน้าที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาพัฒนาบ้านเมืองหายไปไหน  เสนอเปิดพื้นที่ สะท้อนผลกระทบความเหลื่อมล้ำ ที่ไทยติดอันดับ 3 ของโลก เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานในหลวง ร.9

 

เนื่องในโอกาสวันนักข่าว 5 มีนาคม ของทุกปี และในปีนี้ เป็นโอกาสครบรอบ 62 ปีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2560 และปาฐกถา หัวข้อ "สื่อมวลชนกับการสืบสานพระราชปณิธาน ในหลวง ร.9"  โดย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า หลายท่านคงเกิดไม่ทัน แต่คงได้เรียนรู้และศึกษามาไม่มากก็น้อย เกี่ยวกับการทรงราชย์ของรัชกาลที่ 9 ว่าต้องทรงเผชิญกับความทุกข์ยากอย่างมหาศาล เพราะเพิ่งเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อจากนั้นยังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่และโรคระบาด ดังนั้นบ้านเมืองกำลังทรุดโทรมอย่างหนักตอนที่ท่านทรงครองราชย์ใหม่ๆ

นอกจากนั้นประเทศไทยยังเกิดการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธ คนไทยจึงเข่นฆ่ากันเองยาวนานหลายปี

สถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อรัชกาลที่ 9 ทรงราชย์แล้ว ก็ไม่ได้ทรงเกษมสำราญ ตามที่พระเจ้าแผ่นดินทั่วไปควรจะเป็น แต่กลับต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศ จนมีพระราชดำรัสที่ทรงถ่ายทอดมาถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วกันว่า "การเป็นกษัตริย์นั้น ถ้าทำให้ประชาชนมีความสุขไม่ได้ ก็นับเป็นความล้มเหลว" นี่คือสัญญาประชาคม

ปัจจุบันเราได้ยินเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ทุกวัน เพื่อพัฒนาประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและยืนบนจุดแข็งของตนเอง เช่น อุตสาหกรรมเกษตร นวัตกรรมด้านบริการ และสินค้าทางวัฒนธรรม แต่ถ้าเราลองย้อนหลังกลับไปดู ตั้งแต่ไทยแลนด์ 1.0 ก็ดี 2.0 ก็ดี 3.0 ก็ดี ซึ่งเป็นช่วงส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก จะเห็นความสอดคล้องกับโครงการพระราชดำริในแต่ละช่วง

นั่นคือ ช่วงต้นรัชกาล ที่ประเทศไทยยังยากลำบากมาก จึงเกิดโครงการผลิตวัคซีน ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อปี 2494 เกิดฟาร์มโคนมแห่งแรกของประเทศไทยปี 2505 เกิดโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ตามพระราชดำริ 2506 ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริเรื่องน้ำ และเป็นโครงการแรก ที่ต่อมาจึงเกิดโครงการปลานิลพระราชทานในปี 2508 และหน่วยแพทย์พระราชทานในปี 2510

และการเกิดปัญหาฝิ่นและเฮโรอีนตามแนวชายแดน จึงเกิดโครงการหลวงขึ้น เมื่อปี 2512 ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการแก้ปัญหายาเสพติดและการเกษตรสมัยใหม่ โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง จึงมีพระราชดำริในการศึกษาเรื่องน้ำ ดิน ป่า เกษตร และพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อประเทศมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ก็ยังทรงเตือนสติให้ประเทศไทยยึดฐานการเกษตรไว้ให้มั่นคง พร้อมกับพระราชทานแนวการบริหารราชการเอาไว้ ตั้งแต่ปี 2522 ศูนย์การศึกษาพัฒนานั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ค้นคว้าและวิจัยในท้องที่ เพราะแต่ละที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน และเป็นสถานที่ให้กระทรวงและกรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทุกด้าน เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสานกัน

ศูนย์ศึกษาพัฒนา จึงเป็นแหล่งรวบรวม แหล่งรวมของข้าราชการทุกกรมกอง ทางด้านการเกษตร สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีเป้าหมายปลายทางร่วมกันคือ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ นั่นคือทรงเห็นว่า เกษตรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดังนั้นต้องทำให้ดีขึ้น โดยใช้หลักวิชาการและภูมิปัญญาชาวบ้าน

 

+ ชำแหละขรก.ยังทำงานตัวใครตัวมัน+

 

"ส่วนราชการนั้น ต้องทำแบบบูรณาการกัน แต่ทุกวันนี้ยังทำกันเป็นแท่งๆ กรมใครกรมมัน เป็นอาณาจักรของตัวเอง ทำงานกันแบบไซโล เราต้องทลายไซโลให้ได้ ต้องทำงานแบบแนวตั้งและแนวนอนด้วย นั่นคือในแนวตั้งหรือกรมกองทั้งหลาย ต้องทำงานจากล่างขึ้นบน บนลงล่าง ไปพร้อมๆ กัน และขึ้นลงอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ขึ้นแล้วขึ้นไปเลย แต่ต้องลง ขึ้นลงๆ อย่างไม่มีที่หยุดยั้ง ต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด"

และในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คิดด้วยกัน วางแผนร่วมกัน ทำไปพร้อมๆ กัน โดยเอาปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง อันนี้สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าเราอยากจะคิดอะไร ในห้องแอร์จากที่กรุงเทพฯ แล้วยัดเยียดลงไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯก็ยัดเยียดลงไปที่ปลัดจังหวัด ส่งไปที่อำเภอ อำเภอส่งไปที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการบ้าน ไม่ใช่ ต้องเข้าไป identify ให้ได้ว่าปัญหาของชาวบ้านคืออะไร ความต้องการของชาวบ้านคืออะไร

รัฐเป็นผู้ประคองชาวบ้าน แต่ต้องแก้ปัญหา และความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวเองคิดจากที่นี่แล้วยัดเยียดลงไป

ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังวิ่งเพื่อเป็นเสือตัวใหม่ ปัญหาต่างๆ กลับเพิ่มขึ้น ภาคเกษตรและชนบททรุดลงอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน สาเหตุมาจากน้ำและการศึกษา

 

+ ในหลวง ร.9 ทรงทำเป็นตัวอย่าง +

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพาทำเรื่องน้ำมาโดยตลอด นั่นจึงทรงพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงไปในพื้นที่จริง ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ควรแก้ไขปัญหาอย่างไร

เวลาที่ท่านนั่งพับเพียบแล้วเอาแผนที่กางลงไป แล้วมีคนที่ถอดเสื้อ นุ่งผ้าขะม้าแดงดำแล้วยกมือไหว้ ตัวดำๆ ผมถามท่านทั้งหลาย ท่านผู้สื่อข่าว บุคคลนี้คือใครครับ สำหรับผมคืออาจารย์ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านศึกษาแผนที่อย่างถ่องแท้ แล้วนายทหารแผนที่กลัวท่านใจจะขาด แล้วท่านยังไปถามชาวบ้าน ใครจะรู้ดีกว่าชาวบ้าน เขาเกิดที่นั่น เขารู้เลยว่า น้ำมาจากที่ไหน มาอย่างไร มาเท่าไหร่ปีต่อปี ดังนั้นท่านไปดับเบิลเช็คกับชาวบ้าน ผมถึงเรียกว่า บุคคลคนนี้คือพระอาจารย์ของพระเจ้าอยู่หัว และท่านก็ไปหมู่บ้านอื่นต่อไป แล้วก็ถามอีกเหมือนกัน ดังนั้นไม่ใช่ดับเบิลเช็ค ทริปเปิลเช็ค ถามสี่ครั้งสามครั้งด้วย จนแน่พระทัยถึงจะเอามาแก้ไขแล้วพูดกับอธิบดีกรมชลฯ ต่างๆ นาๆ ที่จะแก้ไข ท่านทำมากมายก่ายกองเรื่องน้ำ

"ถามทีว่า รัฐบาลไหนเอาเรื่องน้ำเป็นวาระของชาติบ้าง มีไหมครับ ไม่มีครับ ทำไมครับ ผลก็คือคนทั้งหลายก็ไหลเข้าเมือง จนวันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นอันดับที่สามของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย เรื่องนี้มันรุนแรงมาก เพราะทั้งสองประเทศนั้นใหญ่โตมาก ส่วนประเทศไทยเล็กนิดเดียว มีประชากรแค่ 70 ล้านคน แต่ช่องว่างกว้างเหมือนฟ้ากับเหว"

เพื่อแก้ไขและแบ่งเบาความทุกข์ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มโครงการมากมาย เช่นถนนรัชดาภิเษก เมื่อปี 2515 ซึ่งเป็นโครงการถนนวงแหวน แก้ไขปัญหารถติดในเมือง โครงการวงแหวนอุตสาหกรรมในปี 2538 ซึ่งเป็นโครงการถนนวงแหวน แก้ไขปัญหารถติดรอบนอก และช่วยขนส่งสินค้า และโครงการถนนบรมราชชนนีปี 2539

ผมคงไม่สามารถพูดได้ทั้ง 4,000 กว่าโครงการ อยากให้ท่านทั้งหลายเห็นภาพว่า การทรงราชย์ของรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่เรื่องความสุขความสบาย การทรงงานนั้นสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัย และประชาชนก็ได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากโครงการพระราชดำริ

 

+ ชี้ 70 ปี ขรก.ไม่ได้เรียนรู้พระราชดำริ +

 

รัชกาลที่ 9 ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ถ้ามีคนเอาไปดำเนินงานต่อ ก็จะสร้างประโยชน์และพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

"เสียดายนะครับ ตามเสด็จกันมา 70 ปี ไม่ได้เรียนรู้อะไร และไม่ได้ทำตามท่าน ข้าราชการกี่ยุค กี่สมัย ผมเสียดาย จนเมื่อปี 2555 ยังพระราชทานงานออกมาจากโรงพยาบาลศิริราช 5 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ โครงการสุดท้าย นั่นคือทรงขอให้ช่วยกันทำให้โรงเรียนผลิตคนดีให้สังคม ไม่ใช่มุ่งผลิตแต่คนเก่ง แต่ชั่ว ส่งผลให้เกิดโรงเรียนพอเพียงและโรงเรียนคุณธรรมขึ้นมา 2 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ โดยมีมูลนิธิยุวสถิรคุณ มารับช่วงดำเนินการจนถึงปัจจุบัน

ลองนึกดูว่า การที่ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศปลูกฝิ่น การที่เรามีปลานิลกิน ในช่วงอดอยาก และกลายมาเป็นอาชีพสำคัญในปัจจุบัน การที่เด็กๆ มีนมสดดื่ม ร่างกายใหญ่โตขึ้น แข็งแรงขึ้น การนั่งรถผ่านถนนรัชดาภิเษก ถนนบรมราชชนนีหลายอย่างที่กล่าวมาแล้ว ถามว่ามีท่านไหนในห้องนี้ ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ ง

 

+ ออนไลน์รุนแรงส่งผล"สังคมเอาแต่ใจ"+

 

3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมขึ้นหลายแห่ง โดยไม่แคร์ ม.44 เช่น ชุมนุมต้านโรงไฟฟ้า ชุมนุมวัดพระธรรมกาย และชุมนุมต้อนรับนักร้องเกาหลี ซึ่งมีมวลชนมากพอกัน เถียงสิครับ แต่เป็นที่สังเกต การเอาชนะกันอย่างหนัก ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ต่างฝ่ายต่างเชียร์ฝ่ายตน และประนามฝ่ายตรงข้าม โดยสังคมออนไลน์เข้าไปมีบทบาทมาก เพราะมีสมาร์ทโฟนในมือ ทุกคนก็พร้อมที่จะเป็นแหล่งข่าวกันหมด อีกหน่อยนักข่าวตกงานแน่ครับ

ทุกวันนี้ อิทธิพลของโลกออนไลน์รุนแรงเกินกว่าที่ใครจะยับยั้งได้ ส่งผลให้สังคมกลายเป็นสังคมออนดีมานด์มากขึ้นเรื่อยๆ  นั่นคือขอให้ได้ดังใจตัวเอง ก็ถือว่าถูกต้อง แย่แล้วครับประเทศไทย

อีกด้านหนึ่งสังคม มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง และกลายเป็นรากฐานของความยุ่งยากอื่นๆ ตามมา เช่น โอกาส การศึกษาน้อย งานไม่ดี รายได้ต่ำ ส่งผลให้ประเทศไทยมีหนี้สิน 80% ของจีดีพี เมื่อประชาชนมีหนี้สินล้นผลตัว เอ็นพีแอลก็จะเพิ่มขึ้นและเมื่อเอ็นพีแอลสูงขึ้น ต่างชาติก็ไม่อยากลงทุน

 

+ การศึกษาไม่ตอบโจทย์การพัฒนาปท.+

 

"ต้องถามต่อไปว่าทำไม ผมอยากจะตอบว่า เพราะการศึกษาไม่ตอบโจทย์ การศึกษาของเราตั้งแต่เด็กจนมาเป็นผู้ใหญ่ ไม่ตอบโจทย์ แล้วการศึกษามีไว้ทำไม ทำไมไม่ตอบโจทย์ ก็มีไว้สำหรับพัฒนาประเทศ เห็นไหมครับ มันไม่ตอบโจทย์จริงๆ ถามว่าเด็กจบมา ก่อนไปเรียนหนังสือชาวบ้านก็ต้องกู้เงินไปเรียน เป็นหนี้เป็นสิน กู้เสร็จไปเรียนหนังสือ กู้แล้วก็จน พอเรียนหนังสือจบ ออกมาไม่มีงานทำอีก เพราะเรียนมาแล้ว ทำงานไม่ได้

ท่านที่เป็นสปอนเซอร์ ที่นั่งอยู่ที่นี่ ท่านรับคนเข้ามาไหม เคยไปจองไหม ปีสามไปจองไหม ว่าจะเอาใครมาทำงานกับท่าน ไม่มีหรอกครับ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยอะไรทั้งนั้น

"ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยอีกไม่นานเกินรอ ในประเทศไทยต้องปิดเป็นร้อยๆมหาวิทยาลัย เพราะไม่ตอบโจทย์ในการสร้างคน เพื่อมารันประเทศชาติ"

ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยช่วยคนมี ไปปล้นคนจน ถามว่าทำไม ก็เพราะว่าเค้าต้องไปกู้เงิน  ชาวบ้านต่างจังหวัดชนบทไปกู้เงินเป็นแสน ที่ส่งลูกไปเรียนหนังสือ แล้วก็ไปทำงานไม่ได้ พอโทรศัพท์มาที่บ้าน พ่อแม่เห็นก็กลัวว่าขอเงินอีกแล้ว ดังนั้นพวกนี้ก็กลายเป็นขี้ข้าของบริษัทต่างๆ นานา แล้วก็พยายามไปทำพวกนี้ เพื่อไปปล้นพ่อแม่พี่น้องอีก เพราะไปโฆษณา

 

+ แนะสื่อตระหนักคุณธรรมเหนือเงิน +

 

พวกสื่อมวลชนก็เกี่ยวข้องนะครับ ไม่ใช่ไม่เกี่ยว ดังนั้นเวลาท่านจะไปรับงานคนอื่น ท่านต้องคิดว่า มันมีคุณธรรมไหมด้วยผมก็อยากจะขอร้องทางสื่อมวลชน ให้ตระหนัก ไม่ใช่เห็นแต่เงินเป็นพระเจ้า แต่ต้องเห็นว่าคุณธรรม อยู่ที่ไหนด้วย

ขณะเดียวกันเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีหนี้สินมาก จึงต้องอพยพเข้าเมืองมาหางานทำ ส่งผลให้ชุมชนแออัด ต้องสร้างรถไฟใต้ดิน หรือไม่ก็ต้องกู้นอกระบบ ดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน ทราบกันไหม ถ้าไม่ทราบก็ทราบซะ ไม่ใช่ 5% 10% ครับ 20% ต่อเดือน ส่งผลให้ที่ดิน ตกไปอยู่ในมือคนรวย ความเหลื่อมล้ำก็ขยายตัวมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องทำให้เมืองกับชนบทใกล้เคียงกันมากขึ้น นั่นคือมีงานทำอย่างดีในชนบท สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และอยู่ดีกินดีได้ ซึ่งเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยในเมือง และคนจนในชนบทอย่างแท้จริง

พวกเราทุกคนอยู่ในวัฏจักรนี้ ไม่มีใครไม่ได้ผลกระทบ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมา ท่านเห็นไหมว่าต้องปิดกิจการและเลิกจ้างกันไปหลายราย สื่อมวลชนก็ถูกกระทบนะครับ ไม่ใช่ไม่ถูก แล้วเราจะทำกันอย่างไร เมื่อปัญหายังหนักเท่าเดิม

แต่โลกออนไลน์ทำให้คนแยกเป็นฝ่ายเป็นกลุ่ม ปัญหาจะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าสังคมยังไม่มีเอกภาพ หรือไม่มีความรู้ แล้วเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง

 

+ เหลื่อมล้ำรุนแรง เป็นเหยื่อการเมือง +

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงสรุปจากการทรงงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานว่า เมื่อประชาชนยังเดือดร้อน ย่อมไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งพิงคนอื่น และกลายเป็นปัญหาในการพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อคนจนถูกจำกัดด้วยโอกาส จนจนมุม จึงกลายเป็นเหยื่อการเมืองโดยง่าย เป็นมวลชนของแต่ละฝ่าย และมุ่งแต่จะเอาชนะกันทุกเรื่อง สุดท้ายจึงเกิดรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ารัฐประหารกี่ครั้ง ก็กลับมาเหมือนเดิม ถามว่าทำไม เพราะเราอาจจะมองข้ามรากเหง้าของปัญหาไป นั่นคือเมื่อคนยังยากจน และมีความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างรุนแรง จึงไม่มีอิสระในชีวิต และไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ตอนนี้เราพูดถึงคนจน คนชนบท คนเมือง รัฐบาล ทหาร และความเป็นประชาธิปไตย

 

+ แนะสื่อเน้นข่าวเหลื่อมล้ำให้คนรู้ความจริง +

 

แต่ว่าเราต้องพูดถึงสื่อมวลชนด้วยครับ ระหว่างประชาชนและรัฐบาล มีสื่ออยู่ตรงกลาง ถึงเรียกว่าสื่อมวลชน ผมขอตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงและเป็นรากฐานของวิกฤตต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สื่อมวลชนช่วยให้สังคมเห็นปัญหา และเป็นเวทีให้เกิดการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน เราได้เสนอข่าวและเป็นตัวกลางระดมความคิดเพื่อหา ทางออกหรือไม่

ข้าราชการทำงานแบบไซโล ต่างคนต่างทำ ชาวบ้านพึ่งพาไม่ได้ สื่อเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนครับ ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเวลาในทีวี มีข่าวความทุกข์ยากของชนบทมากแค่ไหนครับ หรือไม่มีเลย ผมคิดเอาเองว่า ถ้ามีข่าวแบบนี้มากๆ และอย่างสม่ำเสมอ คนในชาติก็จะได้รู้ความจริงว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร โอกาสในการแก้ไขให้สำเร็จ ก็จะมีมากขึ้น แต่ทุกวันนี้เด็กเมืองไม่รู้ว่า ต้นหญ้าและต้นข้าวแตกต่างกันอย่างไร

 

ผู้ใหญ่ในเมืองบางคนบอกว่า ปลูกข้าวแล้วขาดทุน จะโง่ปลูกไปทำไม หลายๆ ครั้งที่ผมพาสื่อมวลชนไปดูงานในพื้นที่ ผมพบว่ามีหลายประเด็นที่นักข่าวไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่เคยสัมผัส เช่น มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้ปีละไม่ถึง 3 หมื่นบาท ด้วยเหตุนี้ ปัญหาชนบทจึงเป็นปัญหาของคนชนบท คนเมืองไม่เกี่ยว

สื่อมวลชนให้พื้นที่มากกับเรื่องการเมือง ความขัดแย้ง อาชญากรรม บันเทิง ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติ แต่เป็นพื้นฐานของการรายงานข่าว ซึ่งสิ่งที่เป็นข่าวได้ต้องสด ใหม่ และน่าตื่นเต้น เพราะเป็นพฤติกรรมของคนเป็นเช่นนั้น หรือเราคิดว่า เค้าเป็นอย่างนั้น ดังที่พูดกันว่า หมากัดคน ไม่เป็นข่าว แต่ถ้าคนกัดหมา เป็นข่าว ซึ่งต้องแปลกต้องดึงดูด

 

+ ชี้สื่อร้องเสรีภาพ แต่บทบาทช่วยปท.หาย +

 

"แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รัชกาลที่ 9 พยายามแก้ไขมาตลอด กลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าที่ควร น่าเสียดายนะครับ ที่เลือกเป็นเรื่องร้าย กัดกินประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่องหลัก ที่เราทุกคนมาร่วมกัน ช่วยกันแก้ รวมทั้งสื่อมวลชนที่มีธิพลต่อความคิดของคนหมู่มาก หากสื่อใส่ใจทำและทำอย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดกระแสผลักดันให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนได้แน่ครับ  ผมมั่นใจ 100% เมื่อสื่อต้องการสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ต้องการเสรีภาพในการรายงานข่าว แล้วหน้าที่ของสื่อในการร่วมแก้ไขและพัฒนาประเทศล่ะครับ หายไปไหน เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยากจน ขาดการศึกษา ควรหรือไม่ที่สื่อจะมีบทบาทช่วยคนที่ลำบาก ถ้าสื่อไม่ช่วย สื่อมวลชนจะทรงคุณค่าเฉพาะการรายงานว่า ใครพูดอะไร ทะเลาะอะไรกับใครเท่านั้นหรือครับ"

 

+ แนะสื่อเปิดพื้นที่ชี้ผลกระทบเหลื่อมล้ำ +

 

ท่านนายกสมาคมนักข่าว ได้ขอให้ผมพูดว่า สื่อมวลชนน่าจะมีบทบาทอย่างไร ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอบคุณอย่างมากเพราะนับเป็นการเปิดกว้างอย่างมาก ดังนั้นผมขอเสนอเพียงข้อเดียวครับ สื่อควรเปิดพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ด้วยการสื่อออกไปให้กว้างขวางที่สุด และอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้แหละครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่า ในไม่ช้าสังคมก็จะดีขึ้น ทุกท่านเองก็จะดีขึ้น และจะเป็นการร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานตลอดระยะการทรงราชย์ 70 ปี ที่มีพระราชประสงค์ให้ประชาชน อยู่ดีมีสุข และอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยถ้วนหน้า

การที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเสนอว่า จะนำสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่เป็นแขกของสมาคมไปเรียนรู้งานพระราชดำรินั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่การทำให้คนไทยด้วยกันเข้าใจประเทศไทย ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานและร่วมกันพัฒนาชุมชนสังคมและประเทศชาติต่อไปให้ยั่งยืน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งพระราชหฤทัยและได้ทรงพาทำ ให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วนั้น ก็สำคัญอย่างมหาศาล และนับเป็นประโยชน์กับเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนควรจะต้องร่วมมือร่วมใจทำอย่างจริงใจและจริงจัง

และหากมีสิ่งใดที่ผมทำได้ ผมยินดีอย่างยิ่ง ที่จะร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและท่านทั้งหลายที่อยู่ในห้องนี้ ในการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9