8กย52-สกศ. เผย ผลวิจัยสื่อส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม

ไทยรัฐออนไลน์  8 กย. 2552

สกศ. เผย ผลวิจัยสื่อส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ โรงแรม เอส.ดี อเวนิว กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสัมมนาเรื่อง การสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ด้านการปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม โดย รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากผลการวิจัยเรื่อง สถานภาพสื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ด้านการปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม ของ สกศ. พบว่าในส่วนเนื้อหาของสื่อโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ของไทยมีรายการส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม ร้อยละ 17.46 ซึ่งช่องไทยทีพีบีเอส มีรายการประเภทดังกล่าวมากที่สุด

สำหรับในส่วนของหนังสือพิมพ์ พบว่า มีคอลัมน์ที่ส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม ร้อยละ 2.23 โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีคอลัมน์ที่ส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรมมากที่สุด ขณะที่นิตยสาร พบว่า เมื่อพิจารณาจากคอลัมน์ที่อยู่ในนิตยสารต่างๆ จะมีคอลัมน์ที่มีเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม ร้อยละ 3.23 โดยนิตยสารรักลูก จะมีคอลัมน์ที่มีเนื้อหาดังกล่าวมากที่สุด

รศ.ธงทอง กล่าวต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ โดยสอบถามจาก 16 กลุ่มอาชีพ รวม 3,735 คน พบว่า ร้อยละ 35.64 จะดูโทรทัศน์ 7-9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 31.78 จะดูโทรทัศน์ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยช่วงเวลาที่มีการดูรายการโทรทัศน์มากที่สุด คือ 20.00 - 22.59 น. คิดเป็นร้อยละ 28.22 ช่องที่ชอบดูมากที่สุดคือ ช่อง 7 ร้อยละ 25.92 เนื้อหารายการที่ชอบดูมากที่สุด คือ ละคร

สำหรับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อสิ่งพิมพ์ ในส่วนหนังสือพิมพ์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.03 จะอ่านหนังสือพิมพ์ 1-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ที่ชอบมากที่สุด คือ ไทยรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18.05 ขณะที่เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ ที่ชอบอ่านมากที่สุด คือ คอลัมน์ประจำ และข่าวบันเทิง ส่วนนิตยสาร พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 28.78 จะอ่านนิตยสาร 10 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ นิตยสารที่ชอบอ่านมากที่สุด คือ แพรว และลิซ่า ส่วนหนังสือการ์ตูน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญจะอ่านหนังสือการ์ตูน 4-6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบว่าสื่อโทรทัศน์จะมีผลกระทบมากที่สุด เมื่อดูถึงผลกระทบด้านอารมณ์ พฤติกรรม และสติปัญญา พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เนื้อหาของนิตยสารส่วนใหญ่มีการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น ไม่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ มองภาพพจน์สตรีไปในทางลบ เห็นเป็นวัตถุทางเพศ ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยได้เสนอแนวทางแก้ไข คือ ควรเพิ่มรายการที่มีเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม ในช่วงเวลาไพรม์ ไทม์ ควรให้ความรู้ผู้บริโภคสื่อ รัฐบาลควรลงทุนจัดตั้งสำนักงานสื่อสร้างสรรค์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ