แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน
หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาสามปีกว่า อันเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่บรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อเตรียมการเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมีขบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน มีพฤติการณ์เข้าข่ายคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ ตั้งแต่การตั้งข้อหาโดยมูลเหตุคลุมเครือ การปฏิบัติที่ดูคล้ายจงใจสร้างความลำบากให้กับผู้ถูกกล่าวหา เช่น การกักขังไม่ให้ประกันในชั้นเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิดและยังไม่ใช่ผู้ต้องหา ซึ่งควรได้รับสิทธิคุ้มครองในฐานะที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมายอาญา
ดังปรากฏในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหากับนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ว่ายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์รัฐบาล และ คสช. อีกทั้งกรณีนายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะอีก 4 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการไทยศึกษาของมหาวิทยาลัย
รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหากลั่นแกล้งกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่าบุกรุกสถานที่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. โดยปราศจากมูลความผิด ทั้งที่สื่อมวลชนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สั่งการให้สื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำรายงานพิเศษผลงานรัฐมนตรีผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่า ปัจจุบันมีการใช้มาตรการที่คลุมเครือ เหวี่ยงแห เพื่อข่มขู่ ปิดปาก ดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลมากขึ้น โดยอ้างว่า บุคคลเหล่านี้ยุยงให้เกิดความปั่นป่วน หรือสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นหลายกรณีเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ที่รองรับสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการสื่อความหมายในวิธีต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจรัฐได้เข้ามาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยอ้างเหตุผลความมั่นคง ทั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง และข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว โดยเฉพาะมาตรา 116 ที่มีบทลงโทษสูงจำคุกไม่เกิน7 ปี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดแจ้ง
สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการกลั่นแกล้ง แทรกแซงเสรีภาพสื่อมวลชน การตั้งข้อหาที่เกิดขึ้นเป็นการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตของกฎหมาย เป็นสัญญาณอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอให้รัฐบาล รวมถึง คสช. เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
24 สิงหาคม 2560