กรธ. จับมือสมาคมนักข่าวฯ จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกันจัดอบรมโครงการ “เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ขึ้นที่สมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ อาคาร เกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วยสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ ระดับผู้สื่อข่าวภาคสนาม หัวหน้าข่าว จนถึงบรรณาธิการข่าวรวม 46 คน
ในการนี้นายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหาร และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ได้กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการโดยมีสาระสำคัญว่า ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทสำคัญที่จะต้องเกี่ยวพันกับทุกองคาพยพของสังคม ทั้งในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพื้นฐานของประชาชนชาวไทยทุกคน จึงมีความจำเป็นที่สื่อมวลชนจะต้องติดตามกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เข้าใจเหตุผลที่ กรธ. ชุดนี้ไม่เปิดให้สื่อเข้ารับฟังในกระบวนการยกร่างเหมือนคราวการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 เนื่องจากสถานการณ์ความเห็นแตกแยกในบ้านเมือง ที่อาจนำประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกไปขยายเพื่อหวังผลทางการเมือง จึงได้ประสานให้มีการแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง และมีกระบวนการให้สื่อมวลชนเรียนรู้สาระสำคัญจากผู้ยกร่าง
นายมงคลกล่าวด้วยว่าในโอกาสที่ กรธ. เสร็จสิ้นภารกิจการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิบฉบับ และสังคมกำลังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง รอบด้าน ไม่ถูกชักจูงด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยง่าย จนอาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงขอสนับสนุนและประสานให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมรับรู้แนวคิดแนวทางจากมุมของผู้ยกร่างให้เกิดความรอบด้าน
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ. ) กล่าวในฐานะประธานเปิดการอบรมว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญเกี่ยวกับทุกองคาพยพของบ้านเมือง ยิ่งในช่วงปัจจุบันที่มีความตื่นตัวอย่างที่สุด สื่อมวลชนเองก็สมควรจะรับรู้และเกิดความเข้าใจเพื่อถ่ายทอดต่อไป ผู้ยกร่างจะได้ไม่ถูกหาว่าหมกเม็ดกันในวันข้างหน้า เพราะบทบัญญัติก็เขียนกันให้เห็นให้อ่านกันชัดแจ้ง จะไปหมกเม็ดได้อย่างไร หวังว่าหลังจากบรรยายและเปิดให้มีการซักถามถกอภิปรายแล้ว สื่อมวลชนจะได้เกิดความเข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้ร่างตามเนื้อหาที่ปรากฏ
“ในช่วงปีกว่า ๆ ข้างหน้านี้ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะถูกหยิบยกถึงบ่อยครั้ง เพราะจะเป็นตัวชี้ขาด นำทาง บอกเล่าเก้าสิบว่าการดำเนินการแต่ละอย่างในบ้านเมืองถูกต้องหรือไม่ ควรจะไปยังไง แก้ไขยังไง หนีไม่พ้นต้องย้อนมาอ่าน หากเราไม่มาอ่านหรือทบทวนก่อน ถึงเวลานั้นเพิ่งจะมาอ่านก็จะไปตกอกตกใจทีหลัง” ประธาน กรธ. กล่าว
โครงการอบรมครั้งนี้ในเวลาทั้งสิ้น 32 ชั่วโมง จัดในวันเสาร์ของเดือนธันวาคมเป็นเวลา 4 เสาร์แรก หลังสูตที่นำมาบรรยายประกอบด้วยการอธิบายหมวดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจ อาทิ “การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ” “การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรี” “มาตรการใหม่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต” “กระบวนการได้มาและบทบาทของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ” และ”ความคาดหวังเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญใหม่” เป็นต้น โดยผู้บรรยายประกอบด้วย กรธ. และผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้าน เช่น นายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. นายบรรเจิด สิงคเนติ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า นายอธิคม อินทภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. เป็นต้น