รายการ ‘เล่าข่าว’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 23 กันยายน 2552 00:01

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20090923/78385/เหรียญสองด้าน รายการ 'เล่าข่าว'.html

 

///////////////////////////////////////////////////////////

เหรียญสองด้าน รายการ 'เล่าข่าว'

โดย : กตัญญู บุญเดช/ วรุณรัตน์ คัทมาตย์

มี เดียมอร์นิเตอร์เผยผลสำรวจคนเมินอ่านข่าว แห่ดูรายการเล่าข่าวทางทีวี ข้อดีช่วยกระตุ้นบริโภคข่าวสาร นักวิชาการห่วงพิธีกรโชว์ลีลามากกว่าสาระ

ทุกเช้า เราคุ้นเคยกับการเปิดโทรทัศน์เพื่อรับชมรายการเล่าข่าวของช่องฟรีทีวี นอกจากจะมีเวลาในการเตรียมตัวไปทำงานได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้ทันข่าวสารในแต่ละวันไปพร้อมๆ กันด้วย

หากเปรียบเทียบการรับข่าวสารในอดีตกับปัจจุบัน พบว่าสังคมไทยในยุคนี้ห่างเหินกับการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์มากขึ้น เพราะรายการเล่าข่าวจาก สื่อโทรทัศน์ได้เข้ามาแทนที่หนังสือพิมพ์ ทำให้วงการสื่อโทรทัศน์เติบโต อย่างรวดเร็ว แม้ทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชนเหมือนกัน แต่ทิศทางในการนำเสนอข่าว สารสู่ประชาชนกลับแตกต่างกัน

ความแตกต่างในการถ่ายทอดสารสู่ผู้รับสารของสื่อทั้งสองประเภท ทำให้เกิด การวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ส่วนได้เสียจะตกอยู่กับใคร ระหว่างผู้ผลิตสารหรือตัวผู้รับสารเอง จึงเป็นที่มาของกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ ภายใต้การเสวนาหัวข้อ ‘เบื้องลึก..รายการคุยข่าว/ เล่าข่าว : บทสะท้อนคุณค่าต่อสังคม’ โดย ความร่วมมือระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทย สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)

ธาม เชื้อสถาปนศิริ ในฐานะผู้จัดการงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ เล่าถึงรายการคุยข่าว/เล่าข่าวว่า  ทุกวันนี้ ประชากรไทยเปิดรับรายการเล่าข่าวจากสื่อทางฟรีทีวีจำนวนมาก โดยเฉพาะรายการเรื่องเล่าเช้านี้ มีผู้ชมมากถึง 50% และอีก 30% พบว่า ประชากรไทยเลือกชมรายการข่าวสามมิติ

“สำหรับมีเดียมอนิเตอร์ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังสื่อ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อมวลชนโดยตรง เราทำการศึกษาสื่อทุกแขนงในการส่งสารออกสู่ประชาชน ในกรณีของรายการเล่าข่าวก็เช่นกัน จากการศึกษาพบว่าพิธีกรใช้ภาษาที่ตลก ขำขัน มีการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว รวมทั้งใช้ภาษาที่ชี้นำความคิดอีกด้วย” ธาม อธิบาย

นอกจากนี้ยังพบว่า จุดเด่นของรายการเล่าข่าวคือ การให้ผู้ชมมีส่วนร่วมด้วยการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ มายังรายการเล่าข่าวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าว เล่นเกมชิงรางวัล แจ้งข่าวสาร หรือเพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่นก็ตาม

ธาม ยังเล่าถึงข้อดี ข้อเสีย ของรายการเล่าข่าวว่า รายการเล่าข่าวมี ข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สามารถกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคข่าวสารกันมาก ขึ้น ข่าวถูกย่อยให้เข้าใจได้ง่าย และมีความสนุกสนานในการรับชม มีคุณค่าในแง่การสร้างสีสันให้สังคม เน้นการเล่าเรื่องที่เร้าอารมณ์ผู้ชม ประกอบกับส่งผลดีต่อฝ่ายผลิตรายการด้วย เพราะทำงานง่ายขึ้น ต้นทุนถูก สะดวก อีกทั้งได้กำไรสูง

แต่เมื่อมองอีกมุมกลับพบว่ารายการเล่าข่าวนี้กระทบต่อวงการวารสารศาสตร์ เนื่องจาก รายการเล่าข่าวเป็น การผลิตซ้ำข้อมูลจากหนังสือพิมพ์อีกทอดหนึ่ง นั่นส่งผลเสียไปถึงผู้ชม เพราะทำให้ผู้ชมได้รับข่าวสารที่ล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ และทำให้ความหลากหลายทางข้อมูลขาดหายไป

รวมไปถึง ทำให้เกิด ‘ภาวะปรสิต’ ในระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหมายความว่า เกิดการสูบเลือดเนื้อของนักข่าวหนังสือพิมพ์ การจะได้มาซึ่งข่าวแต่ละชิ้น นั้น นักข่าวหนังสือพิมพ์ต้องแบกรับความเสี่ยง ทั้งในการลงพื้นที่และในทางจริยธรรม แต่นักข่าวโทรทัศน์กลับไม่ต้องแบกรับ ภาระเช่นนั้นเลย

ในขณะที่ ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย กล่าวว่าหลักการทำงานในวิถีทางวารสารศาสตร์ ทำให้เรียนรู้ได้สองอย่าง คือ 1. ความเข้าใจในข่าวที่จะทำ  2. ความละเอียดลึกซึ้งต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม

ก่อเขตชี้แจงว่า มีความจำเป็นที่นักวารสารศาสตร์จะต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น การเขียนข่าวตาม หลักทางวารสารที่ครบถ้วนนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเรียนรู้ในบริบทของสังคมด้วย ตนมองว่านิสิตจบจากสาขาไหนไม่ สำคัญ สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ คุณสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากแค่ไหน

ด้าน อาจารย์พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์ อาจารย์สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพิ่มเติมในประเด็นการเล่าข่าว และจรรยาบรรณนักข่าวว่าคนไทยไม่ได้อยู่กับวัฒนธรรมการอ่าน แต่อยู่กับวัฒนธรรมการเล่ามาตั้งแต่อดีต ดังนั้นการถ่ายทอดเรื่องราวใดก็ ตาม ก็ต้องใช้วิธีการเล่าเพราะคนไทยคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก

สำหรับบทบาทของสื่อมวลชน อาจารย์พิษณุรักษ์เล่าต่อไปว่า การแข่งขันการเล่าข่าวทำให้เกิดสงครามพรีเซนเตอร์ที่ต้องสร้างความน่าสนใจ ของคนเล่าข่าวให้น่าสนใจ โดยบางครั้งอาจจะหลงลืมประเด็นที่เล่า เพราะมัวแต่สนใจลีลาของผู้เล่าคนนั้น

“อย่างข่าวข่มขืน ก็ใช้การเล่าเรื่องมาถ่ายทอดเหตุการณ์ จากข่าวธรรมดาก็ใส่อารมณ์ใส่ความคิดให้น่าตื่นเต้น บางครั้งข่าวก็ส่งผลเสีย ต่อเหยื่อความรุนแรงนั้น แต่เรื่องเล่าดีๆ ก็มี เช่น ในเหตุการณ์ สึนามิ ก่อให้เกิดความร่วมมือ ทำให้เรามองเห็นน้ำใจของคนไทยที่มาช่วยเหลือกัน ดังนั้น คนเราจะทำอะไรก็ต้องรู้ตัว ต้องรู้ว่าเล่าอะไรอยู่ มีผลกระทบต่อใครแค่ไหน” อาจารย์พิษณุรักษ์ กล่าว

ด้าน จำนงค์ นามมา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาการสื่อสารมวลชน เอกวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความคิดเห็นต่อรายการเล่าข่าวว่า ผู้ประกาศในรายการเล่าข่าวมี ลีลาการเล่าข่าวแตกต่างกันไป ตนเห็นว่าการที่ผู้ประกาศจะเล่าข่าวใดก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับโปรดิวเซอร์ของ แต่ละรายการว่ามีจุดยืนของรายการอย่างไร เช่น ช่องทีวีไทย พบว่าผู้ประกาศจะพูดทีละประเด็น เมื่อพูดจบก็ตัดเข้าภาพข่าว จากนั้นจึงตัดมาผู้ประกาศอีกครั้ง

“คิดว่าขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกาศข่าวด้วย เช่น คุณพิสิทธิ์ กีรติการกุล ผู้ประกาศข่าวช่อง7 ที่เขาพยายามจะปล่อยมุกตลก  อย่างคำว่า ..ทำไปได้.. อย่างนี้เป็นต้น ก็ออกแนวตลกฝืด แต่นั่นก็เป็นบุคลิกส่วนตัวที่ทำให้ผู้ชมจำ เขาได้” จำนงค์ แสดงความเห็น