พลังชี้นำ วัฒนธรรมเล่าข่าว

พลังชี้นำ วัฒนธรรมเล่าข่าว

“ต้นทุนต่ำ- กำไรสูง”

โดย- กองบรรณาธิการ

ข่าวๆๆๆๆๆๆๆ

ในยุคสงครามข่าวสารทะลักล้นล้อมตัว

“รายการเล่าข่าว” ผุดขึ้นกลาดเกลื่อนหน้าจอทีวีตั้งแต่รุ่งเช้ายันดึกถึงหัวนอน  บางช่องมี

รายการเล่าข่าวสาระปนเฮฮาเป็นวงจร24 ชั่วโมง

จนรายการเล่าข่าว กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมข่าวสารของสังคมไทยในยุคไอที

ถ้าไม่คิดอะไรมาก “เล่าข่าว” สร้างความบันเทิงดูไปก็เพลิดเพลิน สนุกกับข่าวปนความเห็นผสมแอ็คติ้งของเหล่าดารา พิธีกร เลยเถิดไปถึงการเม้าธ์คนนั้นคนนี้อย่างสนุกสนานตามหน้าจอทีวี

หนักกว่านั้น การเล่าข่าวที่ใช้ต้นทุนต่ำจากข่าวหนังสือพิมพ์ เล่มละ 10-20 บาท คละเคล้าหลายเล่มเป็นวัตถุดิบไปนั่งอ่าน อ้างอิงหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่อ้างบ้าง พลางใส่น้ำเสียง วิเคราะห์ แดกดัน ผสมปนเป  โดยใช้“พิธีกรดัง” สร้างเรตติ้งเล่าข่าวเกิดโฆษณาแฝงทำกำไรให้กับสถานีมากมาย

แยกไม่ออกระหว่าง “ข่าว” “ความเห็น”  “วิเคราะห์” ตัดสินถูกผิด ชี้นำสังคมในภาวะบ้านเมืองแตกแยก

ชี้นำ -ผิดจริยธรรม

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกฯสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า 

ปัญหาเล่าข่าวมีมากหลายเรื่อง การเล่าข่าวที่ง่ายที่สุด คือ การหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านและก็มา

เล่า   และบวกข้อวิจารณ์เข้าไป ตรงนี้คนฟังอาจมีวิจารณาณแยกเองได้ แต่บางส่วนก็แยกไม่ได้ ฉะนั้นก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่เล่าเป็นเนื้อข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์หรือเป็นความเห็นของคนเล่าข่าว

“การแสดงความเห็นตรงนั้นเป็นความเห็นของคุณด้านเดียวและก็ใส่ตลอด ซึ่งตัวแหล่งข่าว และคน

ฟัง ก็จะมีคำถามว่า  เป็นตรรกกะที่ถูกหรือไม่ ผมเห็นว่า บางเรื่องไม่ถูก ฉะนั้น พอมันปนกันมั่วมันก็เกิดความเสียหายได้

“การเล่าข่าวควรเล่าข้อเท็จจริง แต่การเอาคอมเม้นท์คุณไปใส่ แสดงท่าทีเฮฮาไปด้วย

ตลก แหย่เล่นกัน ทั้งเรื่องส่วนตัว เสื้อผ้า ผิวสี ใส่เสื้อผ้าสีอะไร  ยังมีการฉลองวันเกิดให้กับพิธีกรอีก มันเลยเลอะเทอะเกิน ถ้าเราเล่าข่าวเพื่อแค่อธิบายเพราะบางเรื่องอาจเข้าใจยากจริงๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การแจกเงินมีกี่ระบบ อันนี้ผมยังรับได้ นี่คือ ข้อดี แต่ไม่ต้องคอมเม้นท์ว่า อันนี้มันชั่ว มันน่าประหารชีวิตเพราะมันข่มขืน อันนี้มันเกินไป”

ส่วนปัญหาเรื่องจริยธรรมที่มีการหยิบหนังสือพิมพ์โดยไม่อ้างที่มา ประสงค์เห็นว่า การหยิบจาก

หนังสือพิมพ์ หรือ เวปไซต์โดยไม่อ้างแหล่งข่าว เป็นเรื่องมารยาทที่สื่อไทยโดยรวมมักไม่ค่อยกระทำ หรือ โดยจริยธรรมก็ต้องอ้าง แต่พออ้างสำนักข่าวต่างประเทศกลับอ้างได้

“มันสับสันหมด ไม่รู้ใครเป็นต้นตอข่าว จึงไม่สามารถตรวจสอบที่มา  อีกประเด็นคือ  คนเล่าข่าว

มักเล่าทุกเรื่อง ความจริงไม่มียอดมนุษย์คนไหน ถ้าไม่ทำการบ้านอย่างหนัก แล้วจะรู้ทุกเรื่องและวิจารณ์ได้ถูกเพราะมันมีความซับซ้อนของเรื่อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายเช่น ถ้านักข่าวส่งข่าวผิด ส่งผิด พิธีกรไปอ่านอีก โอ้โหไปเลยคนละเรื่อง  การเล่าข่าวมันไม่ใช่รายการข่าว ผมถือว่า เป็นทอค์โชว์”

ผลวิจัยเล่าข่าวคึก8 ช่อง 29 รายการ

“มีเดียมอนิเตอร์” โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำวิจัยเรื่องรายการคุยข่าวไว้อย่างน่าสนใจ  โดยสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 5-11 และ 26-27 เม.ย.  2551 ทั้ง 8 ช่อง พบสัดส่วนรายการเล่าข่าวในแต่ละวันรวม  29 รายการ คิดเป็นเวลาออกอากาศ 11,260 นาที/สัปดาห์

สถานีโทรทัศน์ที่มีสัดส่วนรายการ “คุยข่าว-เล่าข่าว” มากที่สุดคือ เรียงจากมากไปน้อยคือ

อันดับ 1 ช่อง ASTV มี 5 รายการ รวม 2,830 นาที/สัปดาห์ เช่น ยามเช้าริมเจ้าพระยาม สภา

ท่าพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์

อันดับ 2 ช่อง 3  มี 8 รายการ รวม 2,330 นาที/สัปดาห์ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์

ข่าววันใหม่ เช้าวันใหม่ เรื่องเด่นเย็นนี้

อันดับ 3 ช่อง Nation มี 4 รายการ รวม 2,175 นาที/สัปดาห์ ได้แก่ รายการห้องข่าวรับอรุณ เก็บตกจากเนชั่น ภาคเช้า ภาคเที่ยง และ ภาคค่ำ

อันดับ 4 ช่อง NBT มี 4 รายการ รวม 1,630 นาที/สัปดาห์  เช่น ข่าวเช้า NBT, News

Line

อันดับ 5 ช่อง 5 มี 3 รายการ รวม 925 นาที/สัปดาห์  เช่น สถานีสนามเป้า สยามเช้านี้

อันดับ 6 ช่อง TPBS มี 2 รายการ รวม 720 นาที/สัปดาห์ เช่น  ข่าวเช้า

อันดับ 7 ช่อง 7 มี 1 รายการ รวม 375 นาที/สัปดาห์ คือ รายการจมูกมด

อันดับ 8 ช่อง 9 มี 1 รายการ รวม 150 นาที/สัปดาห์ คือรายการข่าวข้นคนข่าว

 

 

สำหรับ พิธีกรข่าวที่มีความโดดเด่น ได้แก่  สรยุทธ สุทัศนะจินดา จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้-เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ กนก รัตน์วงศ์สกุล จากรายการเก็บตกจากเนชั่น จมูกมด และรายการข่าวข้นคนข่าว ธีระ ธัญญไพบูลย์ จากรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ และรายการเก็บตกจากเนชั่น กฤษณะ ไชยรัตน์ จากรายการข่าววันใหม่ และรายการเก็บตกจากเนชั่น วิศาล ดิลกวณิช จากรายการเช้าวันใหม่ จักรพันธุ์ ยมจินดา จากรายการสถานีสนามเป้า จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ จากรายการจมูกมด กรุณา บัวคำศรี จากรายการข่าวเช้าทีวีไทย เติมศักดิ์ จารุปราณ และ อัญชลีพร กุสุมภ์ จากรายการ news hour

ฯลฯ

ชำแหละเทคนิคนักเล่าข่าว

มีเดียมอนิเตอร์  ชี้ว่า รายการเล่าข่าวจะเน้นเนื้อหา “ง่ายต่อการทำความเข้าใจ“  ด้วย 8 กลวิธี

1.การเล่าเรื่อง โดยเรียบเรียงเนื้อหาไล่เรียงตามลำดับจากง่ายไปยาก

2.การสมมุติตนเองเป็นแหล่งข่าวโดยเฉพาะแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองระดับประเทศ  โดยจะพูด

คำพูดของแหล่งข่าวคนนั้นในลักษณะตามภาษาปาก มีโทนเสียง ท่าทางมือไม้ประกอบในจังหวะ-ลีลาเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานขบขัน หรือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่าแหล่งข่าวพูดเช่นนั้นจริงๆ

3.การพูดคุยให้เป็นเรื่องสนุกสนาน ผ่านมุขตลก   มีทั้งมุขเสียดสี ประชดประชัน ล้อเลียน หรือ

นำเอาบุคลิกของแหล่งข่าว ความผิดพลาด ความน่าขบขันของเหตุการณ์มานำเสนอ

4.การแสดงความเห็นส่วนตัวลงไปในข่าวกว่าครึ่งของข่าวที่ถูกรายงาน โดยพบ 3 ลักษณะ คือ

-ความคิดเห็นที่มีผลให้คุณให้โทษแก่แหล่งข่าว มีลักษณะเป็นอคติ สนับสนุนหรือต่อต้าน

แหล่งข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มักพบในข่าวการเมืองที่มีความขัดแย้งรุนแรง

-ความคิดเห็นที่ไม่ให้คุณให้โทษแก่แหล่งข่าวเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง  มักเป็นความเห็นที่เกี่ยวข้อง

กับบทสรุปของเนื้อหาข่าว พบในข่าวสังคม เศรษฐกิจ อาชญากรรม

-ความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว มักเป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับข่าวบ้างแต่ไม่ชัดเจน

เป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของพิธีกรข่าวที่พูดคุยเล่าให้ผู้ชมฟัง

5.การแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีหน้า แววตา น้ำเสียง หากเป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคมที่มี

ความเศร้า รันทด ก็จะแสดงสีหน้าเศร้า น้ำเสียงสั่นเครือ หากเป็นข่าวที่มีความจริงจัง เคร่งเครียด

6.การใช้ภาษาที่ง่าย เช่น ภาษาปาก-กึ่งทางการ ไม่สลับซับซ้อนพบมากในข่าวเศรษฐกิจ

7.การเรียบเรียงประเด็นข่าวให้น่าสนใจ โดยนำข่าวที่เร้าอารมณ์ ตื่นเต้นไว้ในลำดับต้นๆ

8. บุคลิก บทบาท และลีลาการนำเสนอของพิธีกรข่าว ให้การคุยข่าวมีความน่าสนใจ ได้แก่  รูปร่างหน้าตา  น้ำเสียง  ความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ มีอารมณ์ขัน สนุกสนาน ทำงานร่วมกับผู้อื่น  เป็นทีม

มีเดียมอนิเตอร์ได้สังเคราะห์การใช้ภาษาของพิธีกรข่าวพบว่า การใช้ภาษาของพิธีกรข่าวมี 5

ลักษณะ  ส่วนใหญ่เป็นภาษาลีลาที่ช่วยสร้างสีสันในเชิงตลกขบขัน ภาษาเชิงจินตนาการ ขณะที่ภาษาในเชิงชี้นำความคิดและอคตินั้นพบน้อย

ภาษาตลกขำขัน  เช่น หยิก หยอก ล้อเล่น แซว กัดแหล่งข่าวหรือระหว่างพิธีกรข่าวด้วยกันเอง

ภาษาที่มุ่งไปยังการแสดงความคิด ความรู้สึกของผู้พูด ทัศนคติ  โดยการให้ความหมายในเชิง

คุณค่า ถูกผิด ดีเลว และการแสดงทัศนคติส่วนตัวรวมกัน

ภาษาเชิงจินตนาการ  ใช้สำนวนเหมือนนวนิยาย การมีตัวละคร  การเลียนแบบบุคลิกแหล่งข่าว

การบรรยายเล่าเป็นฉากๆ เสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์

ภาษาที่ชี้นำความคิด ใช้คำพูดหรือท่าทางที่สื่อนัยยะในการบอกใบ้  กำหนดความคิด ความรู้สึก

ของผู้ชมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

การใช้คำที่มีอคติ ปรากฎในสรรพนาม คุณศัพท์ ในการเรียกชื่อบุคคล คำกริยา คำขยายสิ่งใดก็

ตามที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์

ผลการศึกษายังชี้ว่า  พิธีกรหรือผู้ประกาศข่าวของรายการคุยข่าวมีลักษณะที่เป็น “ผู้รู้ข่าวสาร/นาย

ประตูข่าวสาร” (Infotainers/Gatekeeper) มีบุคลิกที่ดูสนุกสนาน ซีเรียสจริงจังในบางคน ขณะที่พิธีกรข่าวบางคนมีบุคลิกเป็นเพียง “ผู้แสดงข่าว” มีหน้าที่เพียง “อ่านข่าวและแสร้งทำเป็นรู้เรื่องราวข่าวนั้นเป็นอย่างดี” พิธีกรข่าวที่มีบุคลิกเช่นนี้จะพูดคุยข่าวแบบไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาข่าว ก้มหน้าอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ตลอดเวลา หรือเรียกว่าเป็น News Actors หรือนักแสดงสื่อข่าวที่มีความสามารถในการแสดงให้ผู้ชมเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าวมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในจิตวิญญาณของผู้สื่อข่าว

ให้ข้อมูลผิดสร้างปัญหา

ประเด็นสำคัญ เรื่อง คุณภาพของข่าวนั้น มีเดียมอนิเตอร์พิจารณาใน 3 ประเด็นดังนี้

  1. การให้ความสำคัญของข่าว พบว่า ประเด็นข่าวของรายการคุยข่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับ

รายการข่าวปกติ  แต่มีการอธิบายเนื้อหาข่าวมากขึ้น  มักให้ความสำคัญกับข่าวเบา เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวชาวบ้าน ที่มีเรื่องราวสะเทือนใจ ฉาวโฉ่ ลึกลับ หากเป็นข่าวการเมืองก็จะใส่สีสันลงไปในการเล่า พูดคุยให้สนุกมากขึ้น

2.แหล่งข้อมูลของข่าว พบว่ามี  3 ประเภท

- จากหนังสือพิมพ์  โดยกว่าครึ่งนำเอาข้อมูลมาจากหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ระบุและไม่ระบุชื่อ

หนังสือพิมพ์ บางรายการก็นำเสนอข่าวจากเว็บไซต์ออนไลน์มาประกอบ

- จากสำนักข่าว/ทีมข่าวของช่อง/รายการ แม้จะใช้หนังสือพิมพ์เป็นแหล่งข้อมูลหลัก แต่บาง

รายการก็มีข้อมูลข่าวที่ผลิตขึ้นโดยทีมข่าวของตนเองมีสกู๊ปพิเศษ เช่น รายการข่าวข้นคนข่าว สยามเช้านี้

- จากแหล่งข่าวบุคคล เช่นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หรือเชิญแหล่งข่าวมาสัมภาษณ์สดในห้อง

ส่ง เช่นรายการเก็บตกจากเนชั่น รายการเรื่องเด่นเย็นนี้

3. คุณภาพของเนื้อหาข่าว

การพิจารณาคุณภาพข่าวมาจาก 3 องค์ประกอบ คือ  ความถูกต้อง ครบถ้วน  ความสมดุลและ

เป็นธรรม ความชัดเจนและกะทัดรัด ผลการศึกษาพบว่า

-ความถูกต้อง ครบถ้วน  ภาพรวมค่อนข้างครบถ้วนในระดับหนึ่ง แต่ยังคงขาดความถูกต้องของข้อมูลเช่น ตัวเลข ชื่อแหล่งข่าว ชื่อองค์กร หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในข่าวที่มีรายละเอียดซับซ้อนเช่นข่าวสังคม-เศรษฐกิจ ข่าวต่างประเทศ

ลักษณะของข้อมูลที่ค่อนข้างผิดพลาดนั้น เป็นไปในลักษณะของการรายงานข่าว

ที่ผู้คุยข่าว-เล่าข่าวพยายามสรุปความอย่างสั้นๆ โดยเฉพาะการพูดเรื่องตัวเลขที่มีหลายหลัก-ตำแหน่ง

- ความสมดุลและเป็นธรรม ภาพรวมทำได้ดีในระดับหนึ่ง ยกเว้นข่าวการเมืองหรือข่าวที่มีความ

ขัดแย้งรุนแรง ที่บางรายการอาจขาดความสมดุลของแหล่งข่าว  พบทั้งในสื่อฟรีทีวีและเคเบิ้ลทีวีบางช่อง-บางรายการ

สรุปแล้ว มีเดียมอนิเตอร์ชี้ว่า  รายการเล่าข่าว  พิธีกรจะมีบทบาทสำคัญสูง ด้วย

เทคนิคลีลาของแต่ละคน แต่หลายครั้ง “คนเล่าข่าว” ให้ข้อมูลผิดพลาดด้วยความที่ไม่เข้าใจ และยิ่งใส่ความเห็นไปด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น

ผิดจริยธรรม ไม่ให้เครดิตนสพ.

ปัญหาคุณภาพคนเล่าข่าวนี้ทำให้ “ประสงค์” ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า “นายทุนทีวี” เหตุใดถึงมักง่าย ไม่ลงทุนพัฒนาคุณภาพพิธีกรของตนเอง ไปช็อบคนเล่าข่าวเอาจากตลาดทำให้เกิดภาพวิ่งลอกทุกช่อง

“พิธีกรคนหนึ่งตระเวณทุกช่อง แล้วคุณเอาความคิดเล่าข่าวใส่ให้ทุกช่อง ตอนเช้า ตอนสาย ตกดึก อย่างนี้มักง่าย ผมถามว่า ทำไมนายทุนซึ่งรวยมหาศาลจากรายการต่างๆมักง่ายอย่างนี้ ในส่วนคนเล่าข่าวถามหน่อยว่า เวลาเขาวิ่งจากช่องนั้นไปช่องนี้เขามีเวลาศึกษาข้อมูลหรือ  ซึ่งเขาต้องมีทีมงานที่แข็งมาก ไม่งั้นคุณไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะคุยได้ทุกเรื่อง สุดท้ายความผิดพลาดก็เกิดขึ้น  และก็ยังเอารายการมาโฆษณาแฝงสินค้า เต็มไปหมด มีถ้วยน้ำ คอมพิวเตอร์ จับรายการชิงโชค ห้างนั้นห้างนี้ มันปนกันไปหมด คนดูแยกไม่ออกว่าที่คุณเล่าข่าว มันเป็นข่าวสารบริการ คือข่าวโฆษณาได้เงิน คือ มันปนจนเอาเปรียบผู้บริโภคเกินแล้ว”

เช่นเดียวกับ สุนทร ทาซ้าย บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เห็นว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ

กรณีคนเล่าข่าวไม่เป็นกลาง ใส่ความเห็นในทำนองยั่วยุ  ปลุกปั่น ซึ่งอาจซ้ำรอยสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ที่มีการใช้สื่อปลุกระดมให้ฆ่ากันเกือบเป็นสงครามกลางเมืองกว่าจะเยียวยาต้องใช้เวลานาน   ยิ่งปัจจุบันมีสื่อที่แบ่งแยกประชาชนเป็นเสื้อแดง เสือเหลืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างความเกลียดชังในสังคมจึงต้องระวังให้มาก

นอกจากนี้ การหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน ควรอ้างอิงให้เครดิตหนังสือพิมพ์นั้นด้วย

“การเล่าข่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องของการบริการประชาชน เพราะปัจจุบันคนอาจไม่มีเวลา

อ่านหนังสือพิมพ์ แต่การหยิบยกหนังสือพิมพ์มาใช้ จำเป็นต้องอ้างอิงให้เครดิตหนังสือพิมพ์นั้นๆ และต้องแยกให้ประชาชนทราบว่าเรื่องไหนคือข้อเท็จจริงแล้วส่วนใดคือการแสดงความคิดเห็นของผู้เล่า ไม่ใช่ผสมกันไปจนผู้ชมคิดว่าความเห็นในข่าวนั้นคือส่วนหนึ่งของข่าว” สุนทร ระบุ

มุมมองของ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สอดคล้องกับ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)ที่ชี้ว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง แต่ใช้เวลาดูทีวีมากขึ้น

ธนนุช ตรีทิพยถะบุตร เลขาธิการ สสช.  เปิดเผยผลสำรวจความเห็นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2552 ว่า จากการสำรวจพบว่าคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือลดลง จาก 69% ในปี 2548 เป็น  66%  ในปี 2551 และจากจำนวนคนที่ไม่อ่านหนังสืออีก 33% นั้น ใช้เวลาเพื่อดูโทรทัศน์ถึง 54%  รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน ไม่สนใจหรือไม่ชอบอ่านหนังสือและอ่านหนังสือไม่ออก

ในกลุ่มของคนที่อ่านหนังสือนั้นก็ลดลง จากเดิมในปี 2548 เฉลี่ย 51 นาทีต่อวัน เหลือ 39 นาทีต่อวัน ในปี 2551 โดยมีกลุ่มเยาวชนอ่านหนังสือมากที่สุด 46 นาทีต่อวัน

ผิดหลักนิเทศศาสตร์

หันมาดูในเชิงนิเทศศาสตร์กันบ้าง  รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์

และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า  รายการเล่าข่าว นอกจากผิดจรรยาบรรณด้านข่าวแล้ว ยังไม่เป็นธรรมกับผู้รับสารด้วย เพราะเนื้อหาข่าวเป็นข้อเท็จจริงนอกจากถูกผู้เล่าข่าว นำเอาไปปะปนกับ ความเห็น จุดยืน ของตัวผู้เล่าข่าวทั้งโดยตั้งใจและโดยไม่ตั้งใจ และทั้งมีและไม่มีวาระซ่อนเร้น

“ในแง่นิเทศศาสตร์มันไม่สะดวกที่จะใช้ข้อมูลตัดสินใจ เพราะเวลาเราเสพข่าว ข้อเท็จจริงต้องมี

ความสมดุล เป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่มีอคติ และผมเชื่อว่าตัวข่าวเองก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ชิ้นที่ดีที่สุด ก็ใช่ว่าจะได้ข้อเท็จจริงรอบด้านที่ดีพอ เมื่อไปผนวกกับการคัดเลือกและความเห็นของผู้เล่าข่าว จึงถือว่าเป็นทุกขเวทนาของผู้รับสารแบบผม ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าถูกผิด แต่ผลกระทบคือคนรสนิยมแบบผมจะยุ่งยากลำบาก แต่ถ้าเพื่อความเพลิดเพลินก็ถือว่าบรรลุ”

แล้วประชาชนจะแยกแยะได้หรือไม่ รุจน์ มองว่า  ส่วนที่พยายามแยกแยะแล้วเหนื่อย ก็ไม่ดูเลย

อีกส่วนคือปรากฏการณ์แฟนพันธุ์แท้ ซึ่งเรื่องรักโลภโกรธหลงเป็นธรรมดา พวกนี้ก็จะหรี่ตาข้างหนึ่ง เพราะเป็นแฟนเขาแล้ว ซึ่งก็อาจทำให้ยุ่งยาก  ที่น่าตกใจคือกลุ่มแฟนพันธ์แท้บางคนคือกลุ่มปริญญาตรี อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่รายการเล่าข่าวของสรยุทธ์ รุ่งมาก มีนักศึกษาที่มาสอบเข้าเรียนปริญญาโท 200-300 คน มีข้อสอบถามถึงเรื่องรายการเล่าข่าว แต่มีแค่ 5 คนที่ตั้งคำถามกับรายการข่าว นอกนั้นก็จะชื่มชมตามแบบแฟนพันธุ์แท้

ฆ่าคนบริสุทธิ์กลางอากาศ

หันมองดู “ตัวละครในข่าว” ที่เกี่ยวข้องโดยตรง   สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร

ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  สะท้อนทัศนะว่า ไม่เพียงแต่  คนเล่าข่าวพยายามใส่ความเห็นส่วนตัว  หลายครั้งยังมีเรื่องอคติและมีลักษณะพิพากษาตัวละครในข่าวด้วยซ้ำไป แม้บางคนบางรายการจะพยายามสร้าง ดุลของข่าว หรือวางตัวเป็นกลางในพื้นที่ของข่าวแต่ก็เลือกที่จะประดิษฐ์ ประดอยความเห็นของตัวเองเติมลงไปเพื่อเบี่ยงเบนเนื้อหาของข่าว หรือทำให้อีกฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบ ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางอ้อม

สุริยะใส  ยกตัวอย่างกรณีม็อบ “เหลือง-แดง” จากการชุมนุมที่ผ่านมา

เรื่องแรก เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมช่วงตี 2 ของวันที่ 2 ก.ย  2551  ที่ แกนนำนปช. เคลื่อนขบวนมาปักหลักที่สี่แยก จปร. และปะทะกับการ์ดพันธมิตร จนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือมีคนของกลุ่มเสื้อแดงเสียชีวิต 1 คน ข่าวตอนนั้นกลายเป็นว่าพันธมิตรฯ โหด มีอาวุธ ฆ่าคนตาย  ทำให้ต้องเข้าสายทั้งทีวี วิทยุทั้งคืน คนเสื้อเหลืองจำนวนมากตกเป็นผู้ต้องหา โดยที่นักข่าวไม่ถามอีกฝ่ายคือ นปช.ว่าเคลื่อนขบวนมาทำไม ก็รู้อยู่ว่าถ้ามาประจันหน้ากันโอกาสเกิดความรุนแรงมันสูง แม้เราจะพยายามห้ามเต็มที่ก็ตาม

เรื่องที่สอง เหตุการณ์ที่บุกสถานีโทรทัศน์ NBT ที่นักข่าวรายงานเฉพาะการจับกุมชายฉกรรจ์ 85

คน แต่ไม่มีใครสนใจว่า ทำไมประชาชนต้องลุกฮือ ซึ่งถ้าย้อนไปดูก็ต้องยอมรับกันว่า NBT เป็นภาษีประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองของนักการเมือง ที่สำคัญผู้เล่าข่าว  2 ท่าน ที่อ้างว่าถูกทำร้ายจากชายฉกรรจ์ ก็เล่าข่าวซ้ำทั้งวันว่าถูกทำร้ายอย่างโน้น อย่างนี้ ในลักษณะฟ้องประชาชนขอความเห็นใจข้างเดียว ซึ่งพวกเขากำลังทำหน้าที่ทั้งคนเล่าข่าวและในฐานะเหยื่อไปพร้อมๆ กัน

“คุณนึกดูสิคนอีก 85 คนถูกจับยัดคุกโดยที่เขาไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเลย สิทธิผู้ต้องหาหายไปไหน      นี่สะท้อนถึงการเล่าข่าวแบบตัดตอนและมีเจตนาบิดเบือน เสมือนเป็นการพิพาษาผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านศาล ”

แล้วทางออกต่อกรณีบทบาทของคนเล่าข่าว ควรอยู่ตรงจุดไหน

“เราคงห้ามไม่ให้คนเล่าข่าวออกความเห็นส่วนตัวคงไม่ได้ แต่มันสามารถวาง

กรอบให้คนเล่าข่าวได้ สมาคมฯนักข่าว อาจขอความร่วมมือรายการเล่าข่าวทั้งหลายวางระเบียบทางวิชาชีพร่วมกันได้ เช่นแทนที่จะใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปก็สามารถนำประสบการณ์เทียบยกเอาบทเรียน อุทาหรณ์เพื่อเป็นการเตือนสติคนดูก็ได้ ซึ่งคนเล่าข่าวต้องทำการบ้าน ไม่ใช่อ่านหนังสือพิมพ์ ก่อนเข้ารายการ 10 - 20 นาทีแล้วก็เล่าๆๆ ผิดถูกบ้าง จนบางครั้งฆ่าคนบริสุทธิ์กลางอากาศก็มี ผู้เล่าข่าวต้องลดกิ้รโน้มนำให้มากที่สุด”

ขณะที่พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย บอกว่า รายการเล่าข่าวส่วนใหญ่เป็นกลาง แต่มี

พิธีกรบางคนซึ่งก็รู้อยู่ว่า คือใคร โจมตีพรรคเพื่อไทยตลอด บางครั้งช่วงพรรคพลังประชาชนถูกยุบ หรือ ในการลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี  นักเล่าข่าวบางคน ก็เล่าข่าวแบบมีอคติ  จนตนเองต้องส่งเอสเอ็มเอสไปยังรายการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง  ปรากฎว่า ไม่ขึ้นให้ซักข้อความ เมื่อได้ให้ทีมงานกระหน่ำส่งเอสเอ็มเอสต่อ   ก็ไม่ลงให้อีก  ไม่เป็นกลางแม้แต่การส่งข้อความที่ต้องเซ็นเซอร์ความเห็นก่อน

เช่นเดียวกับ สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ เห็นว่า

ถึงเวลาที่ผู้ดำเนินรายการประเภทเล่าข่าวต้องยอมรับถึงปัญหานี้และมานั่งคุยกันถึงแนวทางการวางตัว มาตราฐานวิชาชีพที่ควรปฏิบัติเมื่อดำเนินรายการ เพื่อลดพื้นที่ข่าวขัดแย้ง และลดการใช้อคติ

เธอมองว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับการผลักดันจากสมาคมสื่อก่อน    ที่สำคัญ

รายการข่าวควรมีการลงทุนทำข่าว มีเสียงสัมภาษณ์ของแหล่งข่าวจริง มิใช่ข่าวอ้างจากแหล่งข่าวในหนังสือพิมพ์โดยไม่มีข้อพิสูจน์และการลงทุนใดๆ

นั่นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการชี้นำต่อสังคม แต่เหตุใด รายการคนเล่าข่าวถึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

หรือเพราะ “ต้นทุนต่ำ- กำไรสูง” สะดวกซื้อ ขายคล่อง

ค่าโฆษณาวรรคทองเรือนแสน

ข้อมูลจาก “ที่สุดในธุรกิจหนังสือ ปี 2551” ระบุถึงหนังสือที่มียอดขายในซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์

สูงสุด ในรอบปี 2551 ปรากฏว่า หนังสือเพื่อคนรักสุขภาพ กินเป็นลืมป่วย ติดอันดับขายดี 1 ใน 10 ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2549 และอยู่ในอันดับขายดีที่สุดในปีที่ผ่านมา

ทนง  โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ “ซีเอ็ดยูเคชั่น”  บอกว่า หนังสือที่สามารถทำยอดขายขึ้นติด

10 อันดับขายดี เกือบทั้งหมดเป็นหนังสือที่ได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาผ่านรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะการแนะนำผ่านรายการเล่าข่าว

นับว่า รายการคนเล่าข่าวมีอิทธิพลต่อการโฆษณาสินค้ามหาศาล อาศัยพิธีกรที่น่าเชื่อถือ เพียงแค่

พูดไม่กี่ประโยคก็สามารถดึงดูดให้คนดูทางบ้านตามไปซื้อได้

ในเรื่องนี้ วิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย   ระบุว่า  การเลือก

ลงโฆษณาในรายการเล่าเข่าเกิดจากคนในวงการโฆษณาเห็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคผ่านรายการเหล่านี้ แล้วก็เข้าไปคุยกับรายการ ถามเขาว่า พูดถึงสินค้าตัวนั้นตัวนี้ได้ไหมในช่วงใดช่วงหนึ่งของรายการ

รายการเล่าข่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อโฆษณาเลือกใช้ช่องทางนี้ส่วนการเลือกว่า จะให้ใครพูด ใน

รายการใดหรือช่วงเวลาใด ก็แล้วแต่บุคคลิกของคนเล่าข่าว แน่นอนว่า เราต้องเลือกจากรายการที่มีคนดูมาก ดูว่าตัวผู้พูดกับตัวสินค้ามีความเหมาะเจาะกันม่ เช่น ถ้าเป็นสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี สื่อสาร  โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ค พรินเตอร์ การให้ สรยุทธ์พูดในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ น่าจะเหมาะ แต่ถ้าเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ก็ต้องให้ 4 สาว จากผู้หญิงถึงผู้หญิงเป็นคนพูดจะเหมาะกว่าสินค้ากลุ่มกีฬา ก็เป็นคุณเอกราชพูด เป็นต้น”

ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับ สินค้า  ช่วงเวลาของรายการ และบุคคลที่จะเป็นผู้พูด   ขั้นต้นอยู่ใน

ระดับ 100,000-200,000 บาทต่อการพูดสั้นๆ ในรายการเป็นเวลาติดต่อกัน 2-3 วัน  แต่บางบริษัทโฆษณาอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละราย เช่น หากต้องลุกขึ้นใส่เสื้อโชว์หรือพูดยาวขึ้น ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

วิทวัส เล่าว่า การลงโฆษณานอกจากการพูดแล้ว ยังมีพร็อตต่างๆ ซึ่งราคาก็แตกต่าง

กันไป แต่ในหลายครั้ง ผู้ดำเนินรายการให้ความเห็นถึงสินค้าโดยที่ไม่ได้รับค่าโฆษณาด้วยซ้ำ เช่น การพูดถึงภาพยนตร์เรื่องโหมโรงของสรยุทธ์ ซึ่งในเวลานั้นผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่ได้มาจ้างพูด แต่การพูดของสรยุทธ์มีผลทำให้มีผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงแรกอย่างชัดเจน

“ทุกคนที่พูดไม่ว่าจะเป็น คุณสรยุทธ์  คุณกนก หรือคนอื่นๆ ทุกคนก็ต้องดูว่า สิ่งที่ให้เขา

พูดมันเหมาะสมหรือเปล่า จะทำให้ภาพลักษณ์ของเขาเสียไปหรือไม่ ถ้าเขาคิดว่า มันเกินไป เขาก็ปฏิเสธงานเรา ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การให้พูดโฆษณาสรรพคุณสินค้า ที่เขาไม่แน่ใจว่า มันมีผลอย่างไร เขาก็ปฏิเสธที่จะไม่รับงานนี้”  นายกสมาคมโฆษณาฯ กล่าว

ทั้งหมดคือ สิ่งที่ ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สรุปว่า การเล่าข่าวคือ กระบวนการแปลงข่าวให้เป็นสินค้าบันเทิงเพื่อให้ขายได้ และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป

สินค้าที่คนชอบบริโภค คือ วัฒนธรรมในการแสวงหาความรู้ การเสพสื่อ สินค้าที่ขายได้ในประเทศนี้ไม่ค่อยเป็นสินค้าความรู้เท่าไร

“ถ้ามาดูตัวโครงสร้าง ต้นทุนผลประโยชน์ เราจะเห็นว่า เมื่อคนชอบมันก็เข้ากับจริตผู้บริโภคไทยที่

ชอบอะไรที่เป็นบันเทิง เริงรมย์เข้าถึงคนง่าย วงกว้าง โฆษณาก็ตามมา ความสำเร็จทางธุรกิจก็ตามมาในขณะที่ต้นทุนของการเล่าข่าวมันต่ำ เพราะคุณไม่ต้องไปหาข่าวเอง หลายรายการก็เปิดหนังสือพิมพ์อ่าน ฉะนั้นมันก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มันคุ้มค่าและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเลือกวิธีนี้ง่ายขึ้น”

สมประโยชน์ สังคมความเห็น

“ปรากฎการณ์ที่เห็นพบว่า คนทำโทรทัศน์เลือกเองว่า ประชาชนต้องการอะไรก็ให้

อย่างนั้น  ประชาชนอยากให้คนมาย่อยข่าวให้ฟัง  แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการที่เราอยากเห็นหรือไม่ เราอยากเห็นสื่อทำหน้าที่มากกว่านั้นหรือไม่ เช่น สมัยผมแต่ก่อนเมื่อ 15 ปี เราเคยมีรายการข่าวฮาร์ทนิวส์ที่ให้ข้อมูล วิเคราะห์เจาะลึก ผมคิดว่า ข่าวเหล่านี้มันหายไปเยอะ เดี๋ยวนี้มีละครสองช่อง หรือ ถ้าไม่ละครก็เป็นรายการข่าวที่เล่าเรื่องแสดงความเห็น แสดงอารมณ์ในบางครั้ง มันถูกแทนที่ด้วยเรื่องแบบนี้

“รากของปัญหาคือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมอ่าน หรือ ลงลึกในการศึกษาข้อมูล แต่เป็นสังคมที่

เผยแพร่ความรู้จากการพูด คนไม่อ่าน แต่คนชอบฟัง คนชอบเล่า วัฒธรรมเล่าข่าวมันจึงไปกันได้กับจริตแบบไทยๆฝั่งคนเสพสื่อก็ชอบรายการแบบนี้ ทุ่นเวลา ไม่ต้องไปอ่านเอง ขณะที่ผู้ผลิตก็ง่ายอยู่แล้ว ถ้าเราบอกว่า ผู้บริโภควัฒนธรรมแดกด่วน ผู้ผลิตสื่อเมืองไทยก็มีวัฒนธรรมแดกด่วนเหมือนกัน ก็สมประโยชน์ซึ่งกันและกันภายใต้วัฒนธรรมแดกด่วนแบบไทยๆ ”

ต้นทุนต่ำ เอาเปรียบหนังสือพิมพ์ไหม?  ปกป้อง แย้งว่า  ถ้าบอกว่า คนเล่าข่าวในทีวีไปหยิบข่าว

ตามหน้าหนังสือพิมพ์มาอ่านสรุป โดยที่ไม่ต้องลงแรงมาก ก็ต้องไปดูว่า แล้วนักข่าวหนังสือพิมพ์ลงแรงมากขนาดไหน แน่นอนนักข่าวที่ลงแรงมากก็มี แต่วัฒนธรรมการทำงานบางอย่างในหนังสือพิมพ์ ก็มีวัฒนธรรมแดกด่วนเหมือนกัน เช่น ลอกข่าวกัน เรื่องการสรุปประเด็นในเนื้อที่จำกัด ตัดประเด็นผิด ประเด็นถูก มันเป็นปัญหาทั้งระบบ ซึ่งมันสะท้อนของทุกปัญหาในภาพใหญ่ของมัน นั่นคือ โครงสร้างสังคมข่าวสารในเมืองไทย ที่มีผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาครัฐ  มันไม่ใช่เพราะมีสิ่งนี้ มีการเล่าข่าว มันถึงทำให้มันเกิดวัฒนธรรมแดกด่วน เกิดวัฒนธรรมไม่เรียนรู้ในสังคมทำให้นักข่าวขี้เกียจลง ทำให้มีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ระหว่างคนเล่าข่าวกับคนทำข่าวในสนาม วัฒนธรรมอย่างนี้ถึงทำให้การเล่าข่าวเป็นที่นิยม

“นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า สื่อกับทุนมันสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างไร ในบางกรณีเราเห็นชัดแจ้ง

นักการเมืองเป็นเจ้าของธุรกิจ  ถ้าไปด่าเขา เขาก็ถอนโฆษณาอันนี้มันชัด แต่อันนี้เป็นทุนในแง่ตลาดต้องการ คนลงโฆษณาก็อยากลงเพราะไปถึงผู้บริโภค รายการอย่างนี้ก็ยิ่งได้รางวัล มันเป็นโครงสร้างการให้รางวัล ทำให้ผู้ผลิตอยากมาผลิตรายการอย่างนี้มากขึ้น เพราะถ้าคุณจะผลิตข่าวเจาะลึก ต้นทุนก็สูง ใช้เวลานาน โฆษณาก็ไม่มี  ขณะที่แบบนี้ ง่าย คนชอบ โฆษณามา นี่เป็นโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยว ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ไม่ได้ลอยๆ มันมีสิ่งที่หนุนอยู่ข้างหลังก็คือ วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มันผิดที่ผิดทาง คือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมความรู้  แต่เป็นสังคมความเห็น

“เราไม่ควรห้ามเขาเล่า อยากเล่าก็เล่าไป แต่เมื่อวันหนึ่งสังคมโตพอที่จะให้ค่า หรือ ไม่ให้ค่า

รายการแบบไหนอย่างไรก็ว่าไป แต่ของเรามีแต่รายการแบบนี้ มันไม่มีทางเลือก ซึ่งมันก็ไม่ต่างจาก ตลาดหนังสือเมืองไทย ซึ่งสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือแบบเข้มข้นในเชิงภูมิปัญญาอยู่ยาก  และหนังสืออะไรขายได้แบบหมื่นเล่ม มันเป็นเหมือนกันทั้งระบบ วัฒนธรรมความรู้เรามันมีปัญหา”

ปกป้องทิ้งท้ายว่า ปรากฎการณ์เล่าข่าวเป็นปัญหาที่คนในแวดวงสื่อต้องคุยกันว่า ภาพสื่อสารมวลชนที่อยากเห็นคืออะไร

“ สื่อสารมวลชนที่ก้าวพ้นจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน มันเกิดขึ้นได้จริงไหม  แต่กรณีเล่าข่าวมันเป็นผลพวงว่า ทุนกับรัฐช่วยกันบั่นทอนข่าวอย่างไร แต่มันไม่ได้โทษทุนกับรัฐอย่างเดียว ส่วนหนึ่งก็คือ ความเข้มแข็งของตัวสื่อด้วย และต้องโทษสังคมไทยด้วยที่เราอยากดูรายการแบบไหน เพราะสุดท้ายตลาดก็เป็นตัวตัดสิน   แต่คิดว่า วัฒนธรรมการเล่าข่าวมันจะปรับตัวไปเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งคนเล่าข่าวอาจเล่าข่าวที่มีคุณภาพมากขึ้น  อีกส่วนสังคมก็เริ่มวิจารณ์เรื่องนี้มากขึ้น เหมือนอย่างวันนี้เราก็ตั้งประเด็นนี้มาคุยกัน และ การเกิดใหม่ของผู้เล่นใหม่ เช่น ทีวีไทย ซึ่งมันก็ช่วยเขย่าวงการอยู่มันก็อาจจะเปลี่ยน แต่อาจไม่ทันใจพวกเรา” ปกป้องระบุ

0-0-0-0-

 

 

มุมวิพากษ์

ฉาบฉวย ไม่ทำการบ้าน

เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย วิพากษ์รายการเล่าข่าว

0มองปรากฎการณ์การเล่าข่าวในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ในแง่หลักการเล่าข่าวต้องทำด้วยความระมัดระวัง การเล่าข่าวที่ดีควรเป็นการขยายความ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม และเพิ่มมุมมองที่ไม่ใช่ของพิธีกร แต่เป็นมุมมองคนอื่นที่พิธีกรอาจได้มาเพิ่มเติม หรือได้พูดคุยมา แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่การเล่าข่าวจะเป็นมุมมองของพิธีกรเอง ตรงนี้เป็นจุดทำให้รายการเล่าข่าวถูกโจมตีมาก คือ พิธีกรใส่ความเห็นตัวเอง  ทำให้คนดูแยกแยะไม่ได้ว่านี่เป็นข้อเท็จจริง เป็นความเห็น

บางทีพิธีกรหลายคน เล่าข่าวจนทำเป็นอาชีพ ก็จะมั่นใจ อาจมีสถานภาพเป็นดารา พูดอะไรก็ได้ คนก็ฟัง แต่ควรแยกแยะความเป็นดารากับข่าวสาร เพราะข่าวสารต้องเป็นความถูกต้อง แต่ความเป็นดาราคือ การสร้างสีสัน การทำให้คนดูชอบ

0ความโด่งดังก็เป็นปัญหา

พิธีกรหลายคนติดลมแล้วมีคนชื่นชม สังเกตได้ว่า พิธีกรเหล่านี้ก็จะให้ความสำคัญกับการทำการบ้านที่น้อยลง จะมีการขวนขวายหาข้อมูล ออกไปพบกับแหล่งข่าว หรือวิเคราะห์น้อยลง เพราะไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองแล้ว คิดว่าประชาชนยอมรับแล้ว รายการติดแล้วตัวนี้เป็นอันตรายเหมือนกัน

จริงๆแล้วการทำการบ้าน การหาความรู้ ไม่ใช่แค่คนเล่าข่าวอย่างเดียว แต่คนที่ทำงานสื่อทุกส่วน ทั้งบรรณาธิการ นักข่าว ต้องพัฒนาตัวเองตลอด ต้องมีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ มีมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่หยิบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เห็น ๆ อยู่ ทางเว็บไซต์บ้าง หนังสือพิมพ์บ้าง หรือกระทั่งดูแต่ข้อมูลในกองบรรณาธิการของตัวเองเพียงอย่างเดียว คนเป็นพิธีกร คนเล่าข่าวก็เหมือนคนอ่านข่าว ต้องมีแหล่งข้อมูลของตัวเอง  เพราะถ้าอ่านจากหนังสือพิมพ์เดียวกัน เว็บไซต์เดียวกัน ข้อมูลจากนักข่าวที่ตามข่าวเดียวกัน ความแตกต่างนักเล่าข่าวแต่ละช่องก็จะไม่เกิดขึ้นจะมีก็แค่สีสันของผู้ดำเนินรายการมากกว่าเนื้อหา

0ทุกวันนี้นักเล่าข่าวส่วนใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์เหมือน ๆ กัน ก๊อปปี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างตรงที่ลีลา

(หัวเราะ) แนวโน้มเป็นอย่างนี้ตลอด ไม่ดีนัก ถ้านักสื่อสารมวลชนมองว่า ทำอย่างนี้ก็ได้ แค่มีลีลา มีสีสัน ตลกโปกฮา พูดถูกใจคนดูก็เพียงพอก็น่าเป็นห่วง

นี่คือสิ่งที่น่าห่วง คือ การลอกข่าว การให้เครดิตข่าว หากเทียบในต่างประเทศหากมีสื่อหนึ่งหยิบข้อมูลจากสื่ออื่นขึ้นมาอ่าน เขาจะให้เครดิตสื่อนั้น แต่ก็จะไม่ทำทุกวัน เพราะมันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรของตัวเอง ยิ่งการไม่ให้เครดิต วงการสื่อจะถือกันมาก ถือเป็นการลอกข่าว นี่เป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงสุดในวงการสื่อสารมวลชน เป็นการละเมิดจริยธรรมด้วยซ้ำ

เรื่องการให้เครดิตข่าวที่นำมาอ่านสำคัญมาก แต่ก็ต้องเป็นข่าวที่สำคัญ ไม่ใช่ข่าวอะไรหยิบขึ้นมาก็ให้เครดิตชื่อทุกคน แต่การที่ข่าวอะไรไม่รู้ก็หยิบขึ้นมาอ่าน นี่ก็แสดงถึงความขี้เกียจของนักเล่าข่าว แสดงถึงความไม่พยายาม และเป็นเรื่องของมารยาท บ้านเราความจริงจังในเรื่องนี้น้อยมาก แต่เราต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องของโทรทัศน์ลอกหนังสือพิมพ์อย่างเดียว

ตอนนี้มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การลอกข่าวกลับไปกลับมาระหว่างสื่อต่าง ๆ ด้วยกันเองโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่คือเว็บไซต์ ซึ่งอันตรายมาก เพราะเว็บไซต์เป็นสื่อที่เน้นความรวดเร็ว มันไม่ถูกต้อง 100% เอาเร็วไว้ก่อน แล้วแนวโน้มคือ เว็บไซต์ไหนยิงข่าวขึ้นก่อนอีกไม่กี่นาทีให้หลังเว็บไซต์อื่นก็ยิงข่าวขึ้นตาม โทรทัศน์ก็เอามาด้วย

0จุดไหนทิ่คิดว่า จะนำไปสู่การพัฒนาการเล่าข่าวของไทยในอนาคต

ทุกวันนี้การเล่าข่าวที่ทำมันผิดจากหลักการทำโทรทัศน์อย่างมาก เพราะโทรทัศน์เป็นเรื่องของภาพ ถ้าเล่าข่าวอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องดูภาพก็ได้ ใช้วิธีฟังวิทยุก็ได้ แต่เหตุผลที่โทรทัศน์ต้องต่างจากสื่ออื่นคือ มันต้องมีภาพ ต้องมีเรื่องของการผลิต แต่ที่ผ่านมา การเล่าข่าวให้ความสำคัญกับการพูดมากกว่าภาพ ถ้าถามว่าจุดไหนถึงขั้นพัฒนา ก็ต้องถึงจุดที่ว่า นักเล่าข่าวพูดให้น้อยลง แต่มีเรื่องของการผลิตให้มากขึ้น โดยทำให้คนเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วยภาพ

ตอนนี้การเล่าข่าวเป็นแฟชั่น เป็นการเลียนแบบกัน หากมองย้อนกลับไปการเล่าข่าวเริ่มตั้งแต่เคเบิลทีวี โดยไทยสกายเป็นเจ้าแรกที่เริ่ม และเนชั่นทีวี เพราะเคเบิลทีวีต้องประหยัดเงิน ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเล่าข่าวต้นทุนไม่เยอะ ก็เข้าใจว่ามีเหตุผล เพราะเขาเป็นเคเบิลทีวี แต่ถ้าเป็นสถานีโทรทัศน์ ปีหนึ่งรายได้หลายพันล้านบาท ผมจึงอยากเห็นการเล่าข่าวที่จริงจังกว่านี้ มากกว่าที่จะจ้างคนมานั่งเล่าข่าวแล้วใช้ข้อมูลเดียวกัน แล้วก็ไม่ได้ทำโปรดักชั่นเพิ่ม กลายเป็นลงทุนในการผลิตต่ำ แต่ลงทุนในตัวพิธีกรสูง

0ถ้าถึงจุดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เล่าข่าวหลายคน

มีเหตุผลหนึ่งที่คนไม่พูดกัน ก็คือการเล่าข่าวเป็นรายการที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะใช้ภาพเดียวกับข่าวที่ถ่ายมาแล้ว หนังสือพิมพ์ก็ไม่กี่บาท ซื้อมาแล้วก็ใช้ด้วยกัน ฉะนั้นถ้าจะทำให้เต็มรูปแบบ อาจต้องส่งคนลงพื้นที่ สัมภาษณ์คนเจาะลึกให้มากขึ้น แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าการเล่าข่าวเสียเงินกับพิธีกรเป็นหลัก ใช้แหล่งข่าวที่ทีมข่าวทำอยู่แล้ว หนังสือพิมพ์ถูก ๆ ฉบับละไม่กี่บาท จึงเป็นเหตุผลที่คนไม่พูดกัน

0 ทำไมทีวีไทยถึงไม่มีรายการเล่าข่าว

ไม่คิดจะมี เพราะนโยบายข่าวของเราจะแตกต่างจากช่องอื่น เราเชื่อในการนำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ข่าวไม่สามารถแสดงความเห็นส่วนตัว หรือพูดโดยไม่มีโครงสร้างวิธีนำเสนอได้ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด ดูแล้วไม่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นนโยบายของเราคือ ข่าวที่นำเสนอทุกเรื่องดูแล้วคนดูได้ประโยชน์จริง ๆ  ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็ยิ่งดี ไม่ใช่แค่เป็นข่าว ดูแล้วสนุกหัวเราะชอบใจ

 

0-0-0-

ให้ความจริงปนเท็จ

สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้ปฏิวัติรายการข่าวทีวี

“การเล่าข่าวเป็นการทำลายความถูกต้องของข่าว แต่เป็นการสร้างสีสันเพื่อดูเพลินๆ และผิด

หลักการสื่อมวลชนอย่างมาก สิ่งที่ผมทำเมื่อ 2528-2535 คือ การผลิตรายการข่าวที่มีผู้สื่อข่าวเป็นทางการหลายๆ คนตระเวนไปทั้งในและนอกประเทศ มีการยืนรายงานข่าวตามรูปแบบโทรทัศน์ตะวันตก มีการตัดต่อผสมเสียงภาพต่างๆ ให้เป็นศิลปะการผลิตโทรทัศน์ที่เป็นข่าวและสารคดี อีกทั้งพยายามทำข่าวให้สมบูรณ์แบบอย่างที่เห็นในโลกตะวันตกที่เป็นต้นแบบจนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำ

ตอนนั้นตัวผมและผู้ประกาศร่วมกัน เช่น คุณ กรรณิกา ธรรมเกษร ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศคู่กัน

แล้วก็พัฒนาเป็นการนั่งอ่านข่าวมากกว่า 2 คน แต่เราไม่เคยเอาข่าวมาคุยหรือวิพากษ์วิจารณ์ข่าว ไม่เอาหนังสือพิมพ์มากางหรือการเอาข่าวมาวิจารณ์ แต่โทรทัศน์ทุกวันนี้ทำให้ข่าวสารทางโทรทัศน์เสียหายตั้งแต่วินาทีแรก

เช่น รายการข่าวภาคค่ำ พอเข้ารายการ ผู้ประกาศข่าวสองคนก็จะหันหน้าเข้าคุยกันและเริ่มบอก

ว่าวันนี้มีข่าวอะไรบ้าง อันไหนเป็นข่าวดี อันไหนเป็นข่าวไม่ดี  ทั้งที่เขายังไม่ได้ให้ผู้รับสารรู้เลยว่าข่าวนั้นเป็นอย่างไรแต่สรุปก่อนว่าข่าวไหนเป็นข่าวดีหรือไม่ดี พูดง่ายๆ คือ เขาได้ทำลายทฤษฎี Gate Keeper ที่เป็นการกำหนดว่าข่าวไหนเป็นข่าวอย่างไร

ผู้ประกาศเหล่านั้นกำลังทำตัวเป็นคนกำหนดทั้งวาระสำคัญเราควรจะดูอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้ว

เราควรจะคิดอย่างไรกับข่าว ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่เห็นข่าวด้วยซ้ำ เริ่มต้นก็ทำลายกระบวนการสื่อสารมวลชนแล้ว

ส่วนการเล่าข่าวแบบเอาหนังสือพิมพ์มากาง อย่างรายการของคุณสรยุทธ์  ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นทุกวินาที ทั้งต้นข่าว ต้นรายการ ท้ายข่าว ส่วนความเสียหายในตัวเนื้อหาหรือสคริปของข่าวอย่างเป็นทางการผู้ประกาศอาจจะไม่ทำให้เกิดมากนัก เพราะอ่านตามบท แต่ถ้าเมื่อใดอ่านตามบทแล้วมีลูกเล่นซ่อนอยู่ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น โอ้โห อื้อหือ เอาอีกแล้ว ตายแล้ว ฯลฯ ระหว่างอ่านไปก็แสดงอารมณ์ผสมกับเนื้อหาข่าว อันนี้เสียหาย เพราะเป็นการบิดเบือนความจริง ถ้าดูรายการข่าวที่เป็นทางการของทุกช่องก็จะเจออย่างนี้ ก็จะทำให้เสียหายทั้งชั่วโมง

รายการเล่าข่าวแท้ ๆ อย่าง รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ของคุณสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา และคุณกนก

รัตวงษ์สกุล รวมถึงคนอื่นๆ ถ้ามีข่าวมาก็จะเล่าไป จำอะไรได้ก็เล่าไป ถ้าจำไม่ได้ก็บอกว่า “ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะเป็นอย่างนี้” เมื่อนึกขึ้นได้ว่าถูกต้องหรือไม่ ประโยคสุดท้ายก็จะบอกว่า “หรือเปล่า”

นักเล่าข่าวเหล่านี้ให้ความไม่จริงปนจริงอยู่ตลอดทั้งชั่วโมงที่เขาทำงาน แต่ได้ความรู้สึกว่าอะไรควรเป็นอะไร อันไหนไม่ดีในเนื้อข่าว นักเล่าข่าวจะเป็นคนกำหนด ดังนั้นคนที่ไม่มีพื้นทางการศึกษาดีหรือไม่มีประสบการณ์กับข่าวนั้นๆ ก็จะเชื่อหมด โดยเฉพาะเด็กๆ หรือชาวบ้านที่ดูด้วยอารมณ์ ถ้าเชื่อคุณสรยุทธ์ก็พัง เพราะเขาก็จะมีคำว่า “หรือเปล่า” หรือ “อันนี้ผมไม่แน่ใจ” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าอันตราย เพราะหลักการสื่อสารมวลชนหรือจริยธรรมวิชาชีพที่คนทำสื่อต้องยึดถือ คือ ต้องยึดมั่นในความจริง และต้องมีวิธีการตรวจสอบความจริงเพื่อจะส่งความจริงนี้ไปยังสาธารณชน รวมทั้งต้องจงรักภักดีต่อสาธารณชน ซึ่งถือเป็นสามหลักที่สำคัญมาก

การทำเช่นนี้เพราะเห็นว่าสื่อกระแสหลักไม่มีจรรยาบรรณอันเป็นหลักการพื้นฐาน ตื่นเช้ามาก็พูด

ตามใจชอบ โดยไม่รู้เลยว่าถูกหรือผิด ถ้าเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เรารับจากคุณสรยุทธ์หรือคุณกนกหรือนักเล่าข่าวคนอื่นๆ ถูกหรือผิดก็เรื่องอันตราย เพราะสังคมไม่ได้อยู่ในความจริง

ทางออกที่ดี คือ เราไม่ต้องพึ่งเขา  คือ ไม่ต้องดู ไม่ต้องฟัง เมื่อคิดว่าสื่อนั้นไม่จำเป็นกับเรา เราก

เลิกรับ เพราะในอเมริกาก็มีข้อมูลว่าคนเลือกรับสื่อมวลชนสาธารณะลดลงและหันไปหาสื่อใหม่ เช่น  google news หรือ yahoo news เพราะเป็นข่าวแท้ๆ ของรอยเตอร์ เอพี และข่าวเอสเอ็มเอสที่ไม่มีสีสัน มีแต่เนื้อๆ การต้องพึ่งและเสียเงินซื้อสื่อจึงลดลง  เมื่อ 10 ปีในอเมริกาฯ เกิดปัญหาแบบนี้ คณะกรรมการผู้ห่วงใยสื่อสารมวลชนในอเมริกาพบว่าประชาชนเริ่มไม่แคร์สื่อสารมวลชนสาธารณะ เพราะสื่อมวลชนเริ่มไม่เป็นที่ไว้วางใจ ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง หากเราเชื่อเขาก็รับข้อมูลที่ผิดพลาด ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงจัดสัมมนาเพื่อหาทางออกและพบว่าจำเป็นต้องควบคุมให้สื่อมวลชนมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมากขึ้นและได้รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ The Element of Journalist

รายการเล่าข่าวในเมืองไทยหรือรายการข่าวสารในอเมริกาฯ ก็มีปัญหาคล้ายกัน เพราะมีการ

สอดแทรกธุรกิจเข้าไปกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ เพราะบางทีก็ไม่รู้ว่าเป็นการโฆษณาหรือเป็นข่าวกันแน่ เพราะองค์กรข่าวทั้งหลายมีสปอร์นเซอร์และสปอนเซอร์ก็มักจะมีข่าวของสปอร์นเซอร์แทรกอยู่ ซึ่งในเมืองไทยก็ทำอยู่ อย่างคุณสรยุทธ์ก็จะมีให้เห็นทุกเช้า เช่น เอาถ้วยกาแฟมาวาง เป็นต้น

อันตรายของการเล่าข่าว คือ การสร้างความเข้าใจผิดที่ระยาวจะทำลายสังคม เพราะสะสมข้อมูลที่

ผิดพลาดจนสร้างความจริงในใจ หากพูดตามตำราเรื่อง public opinion หรือความเห็นสาธารณะของวอร์เตอร์ ลิปส์แมน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังก็จะบอกว่าการที่สังคมสะสมความจริงเหล่านี้ในหัวแล้ว อะไรที่เข้ามาทีหลังจะไปแทรกฐานความจริงเดิม ความจริงเดิมที่มาจาก propaganda หรือความเข้าใจผิดก็อยู่อย่างนั้น เนื่องจากเป็นความทรงจำแล้วตรงนี้มีปัญหามาก เพราะความจริงที่สะสมในหัวของผู้คนอาจจะเป็นองค์ประกอบของความไม่จริงของความนึกคิด ซึ่งสังคมสะสมมาจากสรยุทธ์หรือกนกหรือใครต่อใครที่พูดมา

แม้ว่ารายการเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย แต่ผมมองว่าการเลิกเสพของคนดูนั้นคงเป็นไป

ได้ยาก เชื่อว่าคนดูในระดับที่มีความเปลี่ยนสังคม คือ ระดับปัญญาชนลดลงอยู่แล้ว ส่วนชาวบ้านเราไม่รู้ เพราะเขาอาจจะเพลิน เนื่องจากเป็นการฟังข่าวที่เข้าใจง่าย การจะให้เลิกเมื่อใดนั้นคำตอบง่ายนิดเดียว เพราะทีวีเป็นธุรกิจ ถ้าโฆษณาลดก็เลิกทั้งนั้น สำหรับคุณสรยุทธ์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีนั้นเลิกยาก เพราะขายดีมาก ถ้าผมมีบทบาทในสถานีจะปลดรายการเหล่านี้ออกให้หมด ถ้ายังขายดีขายได้ก็ให้มาเป็น ผู้ดำเนินรายการ ไม่ให้เขาตกงาน รูปแบบเหล่านี้เป็นการให้ความเท็จที่เป็นความจริงผสมไม่จริง ทำลายสังคมแน่นอน

มีวิธีหนึ่งผมคือ  การนำหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ผู้ฟังฟังนั้นถือเป็นเรื่องไม่สมควรทำของโทรทัศน์

ดังนั้นหนังสือพิมพ์ ควรเขียนคำว่า “สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำไปใช้ในเชิงการค้า นอกเหนือจากการได้รับอนุญาต” หรือจะเขียนแบบเย้ยหยันกันเลยว่า “ห้ามโทรทัศน์ช่องต่างๆ เอาไปใช้”   ใครเอาไปใช้ก็รวบรวมแล้วฟ้องให้เจ๊งไปเลย หนังสือพิมพ์ลงทุนแทบตาย แต่คนพวกนี้ก็เอามาจิ้ม ๆ ชี้ๆ เขาได้ตังค์มากกว่าอีกหลายเท่า ทั้งที่โทรทัศน์มีศักยภาพมากกว่าทางด้านเทคโนโลยีกลับเอากล้องราคาแพงๆ มาถ่ายตัวอักษรบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ถือเป็นการใช้ของที่ไม่มีประสิทธิภาพและถือทำเรื่องที่น่าสนใจไม่ให้น่าสนใจถือว่าผิดหลักการทำงานของวิชาชีพ

0-00-

มุมชี้แจง

ผมเป็นคอลัมน์นิสต์ทางทีวี

กนก รัตน์วงศ์สกุล คนเล่าข่าวชื่อดัง ตอบโต้เสียงวิจารณ์ต่อรายการเล่าข่าว

0ตอนนี้การเล่าข่าวหรือคุยข่าวมันมีปริมาณเยอะเกินไปจนเหมือนจะเฟ้อไปแล้ว และไม่น่าสนใจเพราะมันเหมือนๆกั นหมด

ใช่ ผมก็คิดว่าเฟ้อนะ และคนทำงานรุ่นต่อมา ยังไปเข้าใจผิด มันเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เออ คู่นี้เขาคุยข่าวแล้วคนฟังเยอะ เขาเลยตั้งใจมาคุยข่าวเลย ซึ่งเข้าใจผิด เพราะถ้าเขาสังเกตดีๆอาจจะเห็นว่ารูปแบบใช่หล่ะ เราคุยกัน แต่เนื้อหามันมี เรามีความคืบหน้าของข่าวนะ  แต่เด็กรุ่นใหม่จดจำแต่รูปแบบมา นี่มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เฟ้อ

0นักวิชาการวิจารณ์ว่าการแสดงความเห็นของนักเล่าข่าวเป็นการลดความจริงในข่าวลง

นักวิชาการวิจารณ์ถูกต้องว่าคนดูต้องการเนื้อข่าว แต่อย่าลืมนะว่าในสังคมการบริโภคข่าวสารของบ้านเรา คนต้องการเนื้อข่าวที่เขาเข้าใจ เขาฟังแล้วรู้เรื่อง ที่ผ่านมาอ่านข่าวไปแต่ละเลยความเข้าใจของชาวบ้าน  บางข่าวคนอ่านก็ยังไม่รู้เรื่องเลย

หน้าที่ผมคือถ้าผมสนใจข่าวนี้ผมต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจข่าวนี้ ผมคิดว่ามันใกล้ตัวชาวบ้าน สมัยก่อนไม่มีใครมาอธิบายเรื่องยากๆให้ชาวบ้านฟัง คุณเคยคิดกันมั้ยว่าอ่านข่าวนี้ไปแล้วประเทศชาติจะเป็นยังไง คิดแค่ไม่ตกข่าวนี้นะ อ่านให้ฟังแล้ว แต่ไม่คิดหรือว่าพูดข่าวนี้ไปแล้วชาวบ้านรู้เรื่องหรือไม่

0คิดเห็นอย่างไร กรณีนายกฯอภิสิทธิ์ ห่วงว่า ความเห็นของนักเล่าข่าวบางครั้งเป็นอันตรายต่อสังคม

ผมว่าท่านมองในเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าถ้าบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่แตกแยก ขัดแย้งรุนแรงเหมือนสมัยก่อน นายกฯไม่มาตั้งข้อสังเกตหรอก แต่ที่ท่านพูดเพราะในยุคที่แสดงความเห็นชี้นำทางการเมือง ผมคิดว่ารายการที่ท่านนายกฯพูดถึงมันมีส่วนน้อย ความจริงท่านน่าจะพูดมาให้ชัดๆเลยว่ารายการไหน ส่วนใหญ่นะ พูดตรงๆเป็นรายการที่แสดงความเห็นชี้นำทางการเมือง ซึ่งมาโดยการเมือง แล้วก็จะไปโดยการเมือง เราก็รู้อยู่แล้วว่ารายการอะไร แต่ท่านมาพูดอย่างนี้เท่ากับว่ารายการคุยข่าวมันอันตรายหมด ซึ่งมันไม่ใช่

สำหรับผมเนี่ย ผมมีความเห็นผมก็ต้องแสดงความเห็น  เหมือนกับหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อที่มีทั้งข่าวคือหน้า 1 มีการเล่าข่าวคือคอลัมน์ที่อยู่ข้างใน อ้าวแล้วทำไมทีวีถึงทำแบบหนังสือพิมพ์ไม่ได้ ทำไมทีวีต้องมีแต่ข่าวหน้า 1 อย่างเดียว ทีวีจะมีคอลัมนิสต์ไม่ได้เหรอ พวกผมนี่แหล่ะเป็นคอลัมนิสต์ทางทีวี

0แต่หนังสือพิมพ์นั้นข่าวกับคอลัมน์แยกกันชัดเจน แต่ในรายการเล่าข่าวผสมกันหมด

มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องปรุงรูปแบบของผมให้ดีว่า อ้าววันนี้นายกฯพูดอย่างนี้ กรณีบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ มท.2 เป็นอย่างนี้ อ้ะ จบแล้วนะครับนี่คือข่าวหน้า 1 นะครับ ทีนี้ผมเป็นคอลัมนิสต์แล้วนะครับ ทำไมคุณบุญจงไม่ออกหล่ะ จะอยู่ไหวเหรอ อันนี้ไม่ใช่ข่าวแล้ว นี่คือหน้าที่ของผมในฐานะสื่อที่ต้องวิจารณ์  ตรวจสอบรัฐบาลด้วย  ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์อย่างเดียวนี่  ส่วนความเห็นของผมมันจะชี้นำหรือไม่อยู่ที่คนดู ถ้าความเห็นผมมันไม่เข้าท่านะ ผมอยู่ไม่ได้หรอก คนบริโภคข่าวสารวันนี้มันชี้นำเขาไม่ได้หรอก คุณจะโดนเขาเหยียบเอา

0ในสถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งทางความคิดรุนแรงมีหลักในการแสดงความเห็นอย่างไรไม่ให้ชี้นำไปสู่การเผชิญหน้าหรือตอกลิ่มความขัดแย้ง

ผมจะระวังมากในการแสดงความเห็นทางการเมือง ทั้งเหลืองทั้งแดง ผมไม่เลยนะ  ผมเอาแต่เนื้อๆเลยไม่แสดงความเห็นเลย เพราะเชื่อมั้ยคุณพลาดนิดเดียว คุณโดนถล่มเละเลย ทางที่ดีใครพูดอะไรผมก็จะรายงานไปเท่านั้น  และถ้าเลือกได้ผมจะไม่เล่าเองจะให้ปล่อยภาพปล่อยเสียง เพราะถ้าเล่าเองเดี๋ยวเอาอีก มีถึงขั้นเนี่ย กนกมันเล่าข่าวนี้ด้วยน้ำเสียงแปลกๆ สงสัยเข้าข้างฝ่ายโน้น(หัวเราะ)

0สื่อทีวีมีผลกระทบมากกว่าหนังสือพิมพ์ หลายฝ่ายจึงเป็นห่วงว่าความเห็นของนักเล่าข่าวจะสร้างผลกระทบกว้างขวาง

ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าคุณบอกว่าเพราะสื่อทีวีมีอิมแพ็คมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องแสดงความเห็นเลย อ่านข่าวอย่างเดียวเลย มันไม่ใช่ คือมันช่วยไม่ได้การแสดงความเห็นจะต้องทำมันอยู่ที่เจตนาของคนที่แสดงความเห็น โดยเฉพาะรายการทีวีที่มาจากการเมือง ชี้นำการเมืองมากๆนั้น เขาไม่ใช่คนเล่าข่าวนะ แต่เขาเป็นนักการเมืองที่ปลอมตัวมา เป็นสื่อปลอมไม่ใช่สื่อจริง เขามีจุดประสงค์ทางการเมือง รายการก็ได้มาโดยการเมือง จัดรายการทุกวัน  อันนั้นแหละไม่มีข่าวเลย คุยล้วนๆ

องค์กรสื่อจะต้องตรวจสอบสื่อด้วยกันเอง จะปล่อยให้บางรายการเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร องค์กรสื่อต้องจัดการทั้งที่รู้ว่ารายการนี้มันไม่ใช่ มิหน้ำซ้ำคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ก็เป็นด้วย อย่างคอลัมนิสต์หน้าบันเทิง หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ชัดเจนว่าเลือกข้าง ผมไม่ได้บอกว่าสีอะไรถูกหรือผิด ถ้านักเล่าข่าวแสดงความเห็นแล้วอันตราย ผมก็คิดว่าคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์คนนี้ก็อันตรายมาก คือยุให้บ้านเมืองแตกแยก คุณใช้ปากกาทำลายฝ่ายตรงข้ามทุกคน เข้าข้างรายการที่มาโดยการเมืองตลอด คอลัมนิสต์อย่างนี้มีอยู่มาก แต่องค์กรสื่อก็ไม่ทำอะไร เพราะเขาอยู่ค่ายใหญ่ใช่มั้ย เลยเกรงใจใช่มั้ย องค์กรสื่ออย่างสมาคมนักข่าวเนี่ย ผมเห็นทำได้แต่ออกแถลงการณ์ประนาม ประฌามไปเถอะ ประฌามไป เดี๋ยวพวกนี้ก็เอาหินปาปึ้งๆๆ ก็ออกเสื้อยุติความรุนแรงมา โธ่..จะบ้าตาย องค์กรสื่อทำอะไรกันอยู่ปล่อยให้คนพวกนี้ยุยงให้เกิดความแตกแยกได้อย่างไร

0คิดอย่างไรที่คนฝั่งทำหนังสือพิมพ์โวยว่านักเล่าข่าวหากินจากหนังสือพิมพ์มากเกินไป

ผมเห็นด้วยนะ มีแน่นอน โดยเฉพาะเด็กใหม่ๆ เฮ้ย...คู่นี้เขาชูหนังสือพิมพ์ กูชูบ้าง ทีนี้เลยชูเปรอะไปหมดเลย ตอนหลังหนักถึงขนาดไป “คอป”  หนังสือพิมพ์มาเลย คอป ทั้งพาดหัว คอปทั้งรูป ยิงขึ้นเลย เด็กบางคน คอปมา แล้วอ่านข่าวไล่ไปทีละบรรทัดเลย  ผมบอกเฮ้ย! มึงมากไปแล้ว คือบทมันจะลอกเลียนมันเอาทุก แต่ถ้าพูดตรงๆหลายข่าวมันก็เหมือนกันข่าวในหนังสือพิมพ์มันก็เหมือนกับในเว็ปไซต์ ผมไม่จำเป็นต้องเอาจากหนังสือพิมพ์ก็ได้ นายกฯพูดถึงเรื่องนี้มันก็ลงทุกฉบับ ยกเว้นข่าวเอ๊กคลูซีพฉบับเดียวของคุณ อันนี้ผมต้องให้เครดิตเขานะ

แต่หลายครั้งที่เวลาผมชูหนังสือพิมพ์เนี่ย ผมถือว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคุณนะ ผมกำลังวิพากษ์วิจารณ์คุณ บางทีผมก็แซวนะ เอ๊ะ! พาดหัวอย่างนี้ พาดไปได้ยังไง นี่มันไม่ใช่พาดหัว นี่มันด่ากัน โอ้โห ไปด่าเขาถ่อย สถุน คุณใช้ศัพท์อย่างนี้ได้ยังไง ผมไม่ได้โปรโมตคุณ แต่ผมวิจารณ์คุณ

ผมถือว่าผมเล่าข่าวแล้วผมวิจารณ์สื่อด้วย สื่อมันก็ต้องรู้จักตอมกันเองบ้าง แต่ผมก็มีหลายครั้งที่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถ่ายรูปสวย ทุกปีเวลามีรางวัลภาพยอดเยี่ยม ผมจะชูเลย ภาพนี้ คนๆนี้เป็นคนถ่าย สวยมาก หรือผลงานคดีนี้เป็นผลงานการสืบสวนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้นะ

0แต่หลายรายการดึงข่าวหนังสือพิมพ์ไปเล่าราวกับว่าเป็นเจ้าของข่าวนั้นเอง

ใช่ๆ บางทีมันทำเหมือนข่าวของมันเลยนะ จริงๆข่าวมันเริ่มต้นที่โน่น อย่างข่าวซีฟของเขาก็ต้องเป็นของเขา  เราก็ต้องบอกคนดู เด็กรุ่นใหม่บางทีพูดง่ายๆมันหากินง่าย มันมีแบบว่าทีมช่างภาพไม่ได้ไปถ่ายมา แต่เขาอยากพูดข่าวนี้ ไม่มีภาพอินเสริ์ท ทำไง กูก็เอาง่ายๆ อินเสริ์ท พาดหัวหนังสือพิมพ์ซึ่งมันไม่ใช่

0ทิศทางการเล่าข่าวในอนาคตจะไปอย่างไร

แม้ว่ารายการเล่าข่าวจะเฟ้อ มีเต็มไปหมด แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าถ้าจะมีใครหลีกหนีความเฟ้อ หันกลับไปจัดรายการแบบอ่านข่าวแบบเดิม คนดูจะรับนะ สำหรับคนเล่าข่าวจะแสดงความคิด ความเห็นอะไรก็ต้องประเมินตัวเองให้ได้ว่าอะไรมันมากไป มันน้อยไป ต้องอย่าลืมตัว ผมไม่เชื่อว่า 10 ข่าวที่คุยนั้นจะแสดงความเห็นได้ทั้ง 10 ข่าว อยากให้ความเห็นมันเป็นแค่ตุ๊กตาสำหรับคนดู ทิ้งคำถามเอาไว้ แล้วที่เหลือก็ให้เขาคิดไปเอง ไม่ใช่โอ้โห มีความเห็นไปหมดทุกข่าว มันก็ไม่ไหว

/-/-/-/-/-/-/-/-/-

นสพ.ยังใส่ความเห็นได้

สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการเล่าข่าว

“เล่าข่าวมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีชัดเจนทำให้คนดูข่าว สนใจข่าวมาก คือมันก็เข้ากับวิถีชีวิตของคนที่ต้องการความรวดเร็ว ได้แลกเปลี่ยน เข้าใจง่าย มันคือรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอในบางช่วงเวลา แต่ไม่ได้แปลว่า ทุกช่อง ทุกรายการจะต้องทำเล่าข่าวทั้งหมด ซึ่งมันผิดเวลา ผิดกาละ

จะยกตัวอย่างให้ฟัง ตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเล่าข่าว แต่ถ้าเล่าข่าวภาคค่ำ จะไปเล่าข่าวมันก็ตลก แต่เวลาเช้าเป็นเวลาที่คนตื่นมา ทำกับข้าว กุ๊กกริ่งอยู่ในครัว จะมาดูทีวีก็ไม่ใช่ สิ่งที่เขาจะทำได้ก็คือการฟัง

จุดกำเนิดของมันก็คือการเล่าให้เห็นภาพ คือคุณไม่ต้องดู ไม่ต้องมาอ่าน ไม่ต้องใช้สายตา และมันก็ง่ายที่จะรับ แต่ขณะนี้รายการเล่าข่าวมันเพิ่มขึ้น ไอ้ที่อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ ต้องหายไปก็มี การเล่าข่าวก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนากันไป

ข้อเสียคือมันง่าย คนก็ทำกันใหญ่ แต่คนมาทำตรงนี้ก็ต้องพูดมาจากสิ่งที่เข้าใจ เราทำข่าวมา และเราก็ติดตามสถานการณ์ข่าวทั้งวัน เราจึงพอจะคาดการณ์ได้ว่า พรุ่งนี้พาดหัวหน้าหนึ่งจะมีอะไรบ้าง บางครั้งเราก็ต้องโทรศัพท์สอบถามแหล่งข่าวเอง ในกรณีคนที่เราพอรู้จัก ว่าเรื่องนี่ เรื่องนั้น ความชัดเจนคืออะไร

รายการเล่าข่าวมีคนดูหลากหลาย คนอาจจะคิดว่าเป็นกลุ่มแม่บ้านเท่านั้น แต่ไม่ใช่ คนดูของเราหลากหลายทั้งแม่บ้าน คนทำงาน และเด็กก็ดูได้ อย่างข่าวต่างประเทศ เราต้องคิดกันมากว่า จะทำยังไงให้มันใกล้ตัว ช่วงแรกก็ยาก เพราะที่ผ่านมา พอเป็นข่าวต่างประเทศ คนก็เปลี่ยนช่องแล้ว ดังนั้นเราต้องเลือกเวลาในการนำเสนอแต่ละช่วงให้ดี การเล่าข่าวต่างประเทศในรายการของผม ก็นำมาเล่า เพราะข่าวที่เกิดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่รออ่านจากหนังสือพิมพ์มันไม่ทันแล้ว เพราะตอนที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ก็ปิดต้นฉบับกันไปหมดแล้ว

พอเราเอามาเล่าตอนเช้า มันก็ทำให้เกิดความสดใหม่ หรือการเล่าข่าวที่มีความละเอียดอ่อนกับสังคม ก็ต้องเลื่อนไปพูดในช่วงท้ายรายการประมาณ 8 โมง เพราะเวลานั้นเด็กๆ ก็เข้าโรงเรียนไปหมดแล้ว

ถ้าพูดถึงความระมัดระวังในการเล่าข่าว เช่น การใช้น้ำเสียง การใส่ท่าทาง เราก็ระมัดระวังเรื่องน้ำเสียงให้ไม่มากเกินไป แต่การเล่าข่าวมันต้องทำให้เห็นภาพเราก็ต้องมีบ้าง ส่วนลีลา ท่าทาง มือไม้มันเป็นธรรมชาติของผมอยู่แล้ว มันเป็นอยู่แล้ว เรื่องการใส่ความเห็นลงไปในข่าว ถามว่าในหนังสือพิมพ์ไม่มีการแสดงความเห็นหรือ แต่ทุกอย่างมันก็ต้องมีขีดขั้น มีความเหมาะสม แล้วการทำโทรทัศน์มันเร็ว ผลตอบกลับมีทันที ถ้าคุณพูดในสิ่งที่ไม่ถูกหรือขัดกับความเป็นจริง จะมีคนโทรศัพท์เขามาวิจารณ์คุณได้ทันที ไม่เหมือนฟีดแบ็คของหนังสือพิมพ์

ส่วนการเลือกหนังสือมาอ่านนั้น ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าโฆษณาเลย ช่วงหนึ่งที่ผมอ่านข่าวของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์บ่อยๆ ก็เพราะข่าวเขาดี ข่าวมันโดน แล้วตอนหลังเขาก็มาซื้อพื้นที่โฆษณาในรายการเท่านั้นเอง”

0-0—0-

ดึงโค้ท  สรยุทธ์


0-0-0-

ต้องมีด้านบวกและลบ

สู่ขวัญ บูลกุล พิธีกรคู่สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา รายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์

“ในอดีตรายการเล่าข่าวไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร กระทั่งปัจจุบันรูปแบบการเล่าข่าวที่เปลี่ยนไปทำให้รายการข่าวเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความหลากหลายของแต่ละรายการ

ทุกรายการที่มีการสื่อสารผ่านโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นละคร เกมโชว์ การอ่านข่าวปกติ หรือการเล่าข่าว เพียงแต่รายการเล่าข่าวจะมีผลต่อการชี้นำสังคมมากกว่ารายการประเภทอื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

ยอมรับว่าความเป็นห่วงของคุณอภิสิทธิ์ต่อรายการเล่าข่าว เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และผู้เล่าข่าวต้องระมัดระวัง เพราะการใส่ความเห็นของพิธีกรคนนั้นเพียงอย่างเดียว ค่อนข้างอันตราย เราไม่สามารถบอกได้ว่า ความคิดเห็นนั้นมันถูกหรือผิด ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดของการทำรายการเล่าข่าวคือ การทำให้รายการมีความสมดุล สำหรับผู้ชม หากเห็นว่าดูรายการไหนแล้วไม่ดี ก็อย่าเสียเวลาดู ควรจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการชมรายการ”

///////////

 

New layer...
New layer...