สโลแกนวันเสรีภาพสื่อฯโลก กระจกสะท้อน “เสรีภาพ” ของประเทศ
“ทวงคืนเสรีภาพสื่อ ปลดล็อกคำสั่ง คสช.” สโลแกนของ “เหน่ง” หรือ “นางสาวอัญชลี บุญชนะ” ผู้สื่อข่าวสายการเมือง จาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า คือสโลแกนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดในวันเสรีภาพสื่อมวลชนในปีนี้จากผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 35 สโลแกน
“อัญชลี” ระบุเหตุผลในการคิดสโลแกนนี้ว่า “หลัง คสช. รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 สื่อถูกจำกัดเสรีภาพ ในการแสดงออก ไม่สามารถเสนอข่าวสารและวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างอิสรเสรี และคนทำสื่อยังถูกคุกคามในลักษณะต่างๆ แม้องค์กรวิชาชีพจะพยายามรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. หยุดลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อก็ตาม จึงเป็นเวลาที่จะต้องทวงคืนเสรีภาพสื่อกลับคืนมา โดยวิธีการก็คือ การปลดล็อก หรือ การยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช.”
ส่วนแนวคิดในการตั้งสโลแกน นักข่าวนสพ.แนวหน้า เล่าว่า เริ่มจากการตีโจทย์ในกติกาของการประกวด ที่ให้ยึดเนื้อหา จากคำสั่งและประกาศ ของ คสช. ที่มีผลจำกัดต่อสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคุมการทำงานของสื่อ นับตั้งแต่มีรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่อีก 1 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาล
“โดยพยายามคิดคำที่ตรงกับโจทย์ที่ให้มา สั้น กระชับ และใช้คำเข้าใจง่ายมากที่สุด และศึกษาจากสโลแกนที่ชนะเลิศปีที่แล้ว ที่มีการตีตรวนสื่อ ปีนี้ซึ่งใกล้จะเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่มีการปลดล็อก กฎหมาย ของ คสช. ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน เช่น ให้อำนาจ คสช. สามารถปิดการทำงานของสื่อได้ สื่อจึงจำเป็นต้องทวงคืนเสรีภาพ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง และเชื่อว่าหากมีการปลดล็อกคำสั่งและประกาศต่างๆ ของ คสช.ได้ ก่อนการเลือกตั้ง นอกจากจะเป็นการคืนสิทธิเสรีภาพให้กับสื่อมวลชนได้อย่างแท้จริงแล้ว จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร อย่างรอบด้าน เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือก คนที่จะมาเป็นรัฐบาล บริหารประเทศต่อไปในอนาคตได้”
แต่นอกจากรางวัลยอดเยี่ยมแล้วยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล ที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินลำบากใจไม่น้อย คือสโลแกนที่ว่า “คืนเสรีภาพสื่อ คืนสิทธิ์รับรู้ประชาชน” ของ “แจ๊ค-นายอนุพนธ์ ศักดิ์ดา” จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ สโลแกน "เลิก" ปิดกั้นสื่อ "หยุด" ครอบงำประชาชน” ของ “แมน-นายอนุชา ทองเติม” จากหนังสือพิมพ์มติชน และ สโลแกน “เอาคำสั่ง คสช. คืนไป เอาเสรีภาพสื่อคืนมา” ของ นางสาวเขมิกา พลายงาม จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายวัน
นายอนุชา ทองเติม 1ในผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชย เล่าถึงที่มาของสโลแกนที่ส่งเข้าประกวดว่า ตีโจทย์จากกฎหมายที่ คสช. ใช้ควบคุมสื่อ นำมาวิเคราะห์ให้เป็นข้อความ “มีหลายมาตราที่เป็นการควบคุม ปิดกั้น การทำงานของสื่อ หากสื่อ “แหลม” ออกไป ก็อาจโดนสั่งปิดได้อย่างง่ายดาย เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103 / 2557 ซึ่ง คสช. อ้างความสงบเรียบร้อย เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอ พร้อมยังสั่งให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ คสช.ต้องการ และยังห้ามวิจารณ์ คสช.ด้วย เสมือนการครอบงำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งเมื่อใดที่สื่อมวลชนถูกปิดกั้นการนำเสนอ ประชาชนก็จะถูกปิดหูปิดตาจากการรับรู้ไปด้วยเช่นกัน ทำให้รับรู้ได้แค่สิ่งที่ “รัฐ” ต้องการให้ “รู้” เท่านั้น แต่ไม่สามารถที่จะรู้ในสิ่งที่ควรรู้อย่างแท้จริงได้ นอกจากนี้การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ถ้าสื่อหมดสิทธิ์ในการทำหน้าที่นั้น ก็จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้”
แต่จากข้อมูลการส่งประกวดสโลแกนวันเสรีภาพสื่อฯ ไม่เพียงแต่สื่อมวลชนสายการเมือง ยังมีสื่อฯอีกหลายสาย อย่างเช่น “สายอาชญากรรม” ที่ส่งสโลแกนเข้ามาร่วมประกวดด้วย อย่าง “นางสาว เบญจลักษณ์ เจริญศักดิ์” จากสถานีโทรทัศน์นิวทีวีช่อง18 (NEW18) โดยมีมุมมองว่า คำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ ที่ออกมา ไม่ได้มีผลเพียงแค่รัฐบาลหรือด้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือส่วนราชการต่างๆ ที่ดูจะเพิกเฉย ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำถามของประชาชนในประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นสังคม
“ สโลแกนที่ได้ส่งประกวด คือ “ห้ามสื่อให้หาความจริง เหมือนห้ามให้ประชาชนหายใจ” มาจากประสบการณ์ตรงที่เจอ จากการทำข่าวสายอาชญากรรม คือ คดีของชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ที่ด่านตรวจ อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2560 โดยรัฐอ้างว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งจนถึงปัจจุบันความจริงยังไม่กระจ่าง ซึ่งคดีนี้ ได้พยายามประสานของภาพจากกล้องวงจรปิด จนผ่านมาเป็นปี เพิ่งจะมีการส่งหนังสือจากเจ้าหน้าที่กลับมาว่าให้เดินทางไปรับภาพวงจรปิดได้ แต่เมื่อเราไปถึง กลับได้รับคำชี้แจงว่า ภาพถูกลบไปแล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าแม้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้บอกตรงๆว่าไม่ให้ภาพ แต่การทำแบบนี้ มันคือการยื้อเวลาออกไป เป็นการห้ามกลายๆ ที่จะไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวนั้น”
“หลายครั้งข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ จะพบว่ามักมีวิธีการเบี่ยงเบน พลิกไปพลิกมา ไม่ใช่การโกหก แต่เป็นยืดเรื่องให้ช้าลง เบี่ยงเบนให้สื่อสับสน เห็นได้จากหลายๆคดีที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีกฎหมายที่กำหนดกรอบเวลาในการชี้แจงข้อเท็จจริงกับสาธารณชน จึงไม่ต่างกับการห้ามสื่อไม่ให้เสนอความจริงไปโดยปริยาย”
ขณะที่นักข่าวภูมิภาคก็มีส่วนร่วมในครั้งนี้ อย่าง “นายภานุภพ ยุตกิจ” จากหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ประจำ จ.อุบลราชธานี ที่แม้สโลแกน “ปากกาต้องไร้ด้ามปืน” ที่เขาส่งมา จะไม่ได้รับรางวัล แต่ก็ต้องการที่จะสะท้อนมุมมองของตัวเองเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อฯ ในรัฐบาลทหารปัจจุบัน ซึ่งเขามองว่ามีการจำกัดบทบาทในการนำเสนอความจริงไปยังประชาชน
“ผมเป็นสื่อมวลชนภูมิภาค ที่ผ่านการทำงานมาทั้งยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการรัฐประหาร มีความรู้สึกว่าการทำงานของสื่อทุกวันนี้ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะนักหนังสือพิมพ์ ที่เปรียบเสมือนผู้มี “ปากกา” เป็นอาวุธ คอยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แต่วันนี้เราถูก “ปลายกระบอกปืน” มาเสียบอยู่บนด้ามปากกาของเรา แม้ไม่ใช่การห้ามโดยตรง แต่ก็เหมือนควบคุมให้เรานำเสนอสิ่งนั้น สิ่งนี้
ไม่มีอิสระที่จะสะท้อนความจริงในสังคมได้เต็มที่ อย่างไม่ถูกบังคับ หรือชี้นำ”
“ โดยประสบการณ์ตรง ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านจะไปรวมตัวกัน 30 คน เพื่อร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเรื่องสาธารณูปโภค แต่ถูกฝ่ายความมั่นคง “ขอ” ว่าอย่ามาร้องเรียนเลย โดยยกข้อกฎหมายของ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุม ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าคำสั่งนั้น เป็นการควบคุมการชุมนุมทางการเมือง เราเป็นสื่อ ทำได้แค่บอกชาวบ้านว่า การรวมตัวแบบนี้มันไม่ผิด เพราะพวกเขามาเนื่องจากเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องการเมือง นอกจากนี้ในการทำงานของสื่อส่วนภูมิภาค เวลาที่เรานำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้วส่งขึ้นไป บางครั้งก็ไม่ได้ถูกนำเสนอ เราไม่ได้รับ “สิทธิ” นั้น ถ้าไปกระทบต่อนโยบายของภาครัฐ มันกลายเป็นว่าเราไม่สามารถสะท้อนสังคมได้เต็มที่”
จึงน่าสนใจว่า “สโลแกน” ที่ถูกกล่าวถึงในการประกวดสโลแกน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” หรือ World press freedom day ปีนี้ ที่ตรงกับ 3 พฤษภาคม 2561 บ่งบอกได้ถึงบรรยากาศสถานการณ์ความมีเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่เป็นกระจกสะท้อนการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางบรรยากาศที่ประเทศไทย กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการเลือกตั้ง มีการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน แต่ทว่ายังคงมีการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ “ตีกรอบเสรีภาพ” อยู่หลายฉบับ