สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แนะเสนอข่าวการกู้ภัย-ส่งกลับ ผู้ประสบภัยถ้ำหลวงฯ

 

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แนะเสนอข่าวการกู้ภัย-ส่งกลับ ผู้ประสบภัยถ้ำหลวงฯ


สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนปฏิบัติงานรายงานความคืบหน้าการกู้ภัยและเหตุการณ์หลังจากช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและร่วมกันนำเสนอประเด็นอย่างสร้างสรรค์
จากเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี่และผู้ฝึกสอน รวม 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่สามารถค้นหาจนพบแล้วเมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในสถานการณ์การรายงานข่าวต่อจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเคารพสิทธิของเด็กและผู้ประสบภัย ดังนี้

1. สื่อมวลชนควรร่วมหารือแนวทางการนำเสนอข่าวร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยและครอบครัว ในลักษณะของการทำข้อมูลร่วมกัน (Pool Interview) เพื่อให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องเสียเวลาในการตอบคำถามเดียวกันจากแต่ละสำนักข่าว และมีเวลาในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้เต็มที่ การรายงานสถานการณ์ควรร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางเดียวกันและแบ่งปันข้อมูลกันเพื่อให้เป็นระเบียบและไม่เกิดการแย่งชิงพื้นที่จนกระทบต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภัย และส่งผลต่อคุณภาพของการรายงานข่าวรวมทั้งอาจขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน

2. สื่อมวลชนควรทำงานร่วมกับแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ รูปแบบการตั้งคำถาม การปฏิบัติตัวต่อผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม พึงระวังไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แตกแยก สร้างความสะเทือนใจ สื่อควรทำหน้าที่รายงานข่าวเพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ และไม่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อประเด็นอันจะกระทบต่อผู้ประสบภัยในทางที่ไม่สมควร

3. พึงละเว้นการสืบค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็ก เยาวชน และผู้ฝึกสอน อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และกระทบต่อสิทธิในการกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ตกเป็นเป้าของสังคมผ่านการนำเสนอเจาะลึกชีวิตของสื่อ

4. พึงระวังการนำเสนอที่เป็นลักษณะของการพยายามหาคนผิดของเหตุการณ์ แต่ควรมีการรายงานข่าวที่นำไปสู่การหาทางออกและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงระบบ เช่น การถอดบทเรียนการบริหารจัดการ การจัดระเบียบและความปลอดภัยของการท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

ทั้งนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขอขอบคุณและชื่นชมสื่อมวลชนที่ร่วมกันนำเสนอสถานการณ์อย่างรอบด้าน ชัดเจน และช่วยกันตรวจสอบข้อมูลเพื่อเป็นที่พึ่งของสังคม โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการรายงานสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคม จากนี้ไปการขยายประเด็นข่าวให้มีความสร้างสรรค์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเป็นบทพิสูจน์คุณค่าของสื่ออาชีพในการเป็นที่พึ่งของสังคมอย่างแท้จริงต่อไป



สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
3 กรกฎาคม 2561