สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต: บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ?
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย , สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาในหัวข้อ สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ? เมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา
โดยมีศาสตราจารย์พิเศษนประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการสัมมนา ซึ่งประธานวุฒิสภากล่าวในที่สัมมนาว่า การรับรู้รับฟังข้อมูลข่าวสารถือเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของประเทศ สื่อจึงถือเป็นองค์กรที่อยู่ระหว่างรัฐและประชาชน การสื่อสารจึงถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องมี 3 สิ่ง คือ 1.เสรีภาพในการสื่อสาร 2.จิตสำนึกที่ดี และ 3.ต้องมีจิตวิญญาณความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผลงาน แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยตกอยู่ในสภาพความสับสนวุ่นวายจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคลื่อนไหวจนมีแนวโน้มนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง สถานการณ์เช่นนี้สื่อมีบทบาทค่อนข้างมากในการสร้างความเข้าใจที่ดี ดังนั้นสื่อควรทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เพื่อสร้างความสมานฉันท์และผลประโยชน์ต่อประชาชน
พร้อมด้วยผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ผ่านการคัดเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ,ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สาธารณะ แห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสนทนาโดย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
เวทีการสนทนาเริ่มเปิดประเด็นจาก ดร.โวฟกัง ชูล์ส ผู้อำนวยการสถาบันฮานส์ เบร์โดว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก นำเสนอประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานของสื่อในภาวะวิกฤตจากเยอรมนี และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้
ดร.โวฟกัง กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศเยอรมนีนั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งมีการผลักดันให้กำหนดสิทธิเสรีภาพของสื่อไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จนปัจจุบันนี้ได้มีการระบุอำนาจหน้าที่ของสื่อสาธารณะของเยอรมนี ที่ถือว่าเป็นกติกาใช้ร่วมกันในประเทศสำหรับธุรกิจสื่อสารมวลชน
“ประวัติศาสตร์ของเยอรมนี เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว นาซีควบคุมกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือชวนเชื่อ พอหลังสงครามโลก ก็มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับสื่อ เพราะทุกคนรู้ว่าสื่อเป็นเครื่องมือกำหนดความคิดเห็นในสังคม คำถามคือจะต้องมีการกำหนดคนที่จะเข้ามาใช้ไว้อย่างไรหลังจากอยู่ภายใต้เผด็จการมาหลายปี”
ผอ.สถาบันฮานส์ กล่าวว่า ประเทศเยอรมนีจึงได้เริ่มกำหนดให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์มีเสาหลัก 4 ส่วน เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเป็นเครื่องมือของสังคม ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐ
โดยเสาหลักทั้ง 4 ได้แก่ 1.ตกลงในร่างรัฐะรรมนูญประเทศเยอรมนีว่า อำนาจในการออกกฎหมายให้รัฐแต่ละรัฐออกกฎหมายควบคุมสื่อในแต่ละรัฐเอง โดยที่รัฐบาลกลางจะไม่สามาถใช้เป็นเครื่องมือได้
2.วิทยุโทรทัศน์ เป็นนิติบุคคล ไม่ได้เป็นของรัฐ แต่มีสถานะคล้ายๆอยู่กึ่งกลาง ได้รับการประกันฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ห้ามรัฐบาลเข้าแทรกแซงการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกอากาศ และรัฐบาลจะต้องไม่แทรกแซงเนื้อหา
3.ระบบวิทยุและโทรทัศน์ ต้องไม่ได้รับเงินจากภาษี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมว่าจะหาทางออกด้วยวิธีไหน เพราะถ้าใช้วิธีเก็บค่าธรรมเนียม ทุกคนในเยอรมนีก็อาจจะต้องจ่ายค่าดูโทรทัศน์ ซึ่งบางคนบอกว่าค่อนข้างแพง บางคนบอกว่าดูเฉพาะเอกชน หรืออินเตอร์เนท แต่บางคนเห็นว่าสื่อสาธารณะเป็นประโยชน์ของทุกคน แม้ไม่ได้ใช้แต่ก็ได้ประโยชน์ ทุกคนต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
และ 4. ระบบวิทยุโทรทัศน์ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่รับผิดชอบต่อรัฐ โดยมีการตั้งสภาขึ้นมาในแต่ละองค์กร ให้สภามีตัวแทนกลุ่มในสังคมต่างๆไปนั่ง ร่วมกับสมาชิกพรรคการเมืองด้วย
“สื่อสาธารณะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ มีการพูดกันว่าเราจะสร้างพลังให้กับประชาชนเยอรมนีอย่างไร ประเด็นที่คิดถึงได้มีการสร้างแนวคิดให้กับสื่อใหม่ ว่าต้องเป็นการทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่แค่รายง่านแต่ต้องอธิบายด้วย ต้องประเมิน แยกแยะให้ชัดเจน”
ดร.โวฟกัง ให้ความเห็นอีกว่า ภาพรวมของสื่อวิทยุโทรทัศน์ของเยอรมนีนั้นมีรายการที่เกี่ยวกับการศึกษาน้อยลง และมีบทบาทในการให้ข้อมูลทางการเมืองด้วย
“ในส่วนของยุโรปแล้ว แต่ละรัฐบาลได้มีการพูดคุยกันว่าสื่อมีเสรีภาพแค่ไหน ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีกฎระเบียบของเขาเอง และมีหลายระดับในการคุ้มครองสื่อ เช่นบทบัญญัติข้อที่ 10 แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีการประสานกันระหว่างชาติต่างๆ”
ผอ.สถาบันฮานส์ ยกตัวอย่างบทบัญญัติของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้สื่อมีการกำหนดหน้าที่ของสื่อร่วมกันว่าต้องส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งบทบัญยัตินี้ได้สนับสนุนกฎหมายของเยอรมนีที่ระบุว่าสื่อต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งต่างจากก่อนสงครามโลก ที่หากคนเยอรมนีไปฟังข้อมูลจากรายการของต่างประเทศจะต้องได้รับโทษ
“บทบัญญัตินี้กำหนดให้มนุษย์มีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลจากหลายแหล่ง มีเสรีภาพในการสื่อสารทางอินเตอร์เนท นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญกลาง เป็นประเด้นที่สำคัญมาก เพราะมีคดีที่ศาลต้องตัดสินประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อหลายคดี จากการรายงานข่าว บุคคลสาธารณะมีการฟ้องร้องกัน ศาลเป้นผู้ชี้ขาดในกระบวนการสุดท้าย ต้องหาความสมดุลระหว่างคนกับสื่อ” ดร.โวฟกัง กล่าวและว่า
ในอดีตเคยมีนายกรัฐมนตรีไม่พอใจสื่อสาธารณะ แล้วไปตั้งบริษัทเอกชนขึ้นมาทำเอง โดยเจ้าของคือรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ประเด็นนี้มีการฟ้องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการตัดสินว่าสื่อมีบทบาในสังคม ไม่ควรมีกลุ่มใดควบคุมสื่อนั้น ระหว่างการพิพากษาของศาลได้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ทำให้คนในประเทศจำนวนมากเห็นนายกรัฐบมนตรีลุกขึ้นมาบอกว่าศาลตัดสินผิด ซึ่งทุกคนหัวเราะกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแสดงออก
ดร.โวฟกัง กล่าวต่อไปอีกว่า ในอดีตศาลไม่ได้มีอำนาจในการจำกัดดูแลสื่อดั้งเดิม ซึ่งต่อมาได้มีการระบุเป็นกฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงสื่ออินเตอร์เนต ทำให้ศาลมีอำนาจกำกับดูแลกว้างขวางขึ้น
ทั้งนี้ สื่อภาคเอกชนในเยอรมนี 40 เปอร์เซนต์ของรายการโทรทัศน์วิทยุ เป็นรายการที่ผลิตจากสื่อสาธารณะ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ส่วนที่เหลืออีก 60 เปอร์เซนต์เป็นการผลิตรายการของเอกชน
ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในเยอรมนี ดร.โวฟกัง บอกว่า ทางภาคเหนือของประเทศมีคนอ่านหนังสือพิมพ์มากถึง 72 เปอร์เซนต์ แต่ปัญหาในปัจจุบันที่พบคือ คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอ่าน ทำให้เป็นปัญหาของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆที่ต้องไปแก้ว่าจะเจาะตลาดกลุ่มคนหนุ่มสาวอย่างไร
“ในเยอรมนีมีสื่อออนไลน์ ซึ่งคนหนุ่มสาวใช้อินเตอร์เนต ทำให้เกิดปัญหาการกำกับดูแลทางกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เหมือนมีระเบียบใหม่ในเยอรมนี บทเรียนที่ได้จากสิทธิเสรีภาพของสื่อในเยอรมนีก็คือ เมื่อมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาก ทั้งในสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะรักษาจรรยาบรรณของนักข่าว เพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ”
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ทำอย่างไรที่จะดูแลพฤติกรรมในการใช้สื่อที่เปลี่ยนไป เราจะสนองตอบการใช้สื่อใหม่ๆอย่างไร ความ้ทาทายคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ทำอย่างไรที่จะมาดูแลปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีโอกาสใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่นสื่อรากหญ้า นักข่าวพลเมืองใช้ blog ซึ่งในอนาคตอาจจะเข้ามาทดแทนสื่อแบบเดิม”
“สื่อในเยอรมนีมีอิทธิพลต่อความคิดเห็น เราจะเรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้ กลไกในการดูแลสื่อเป็นอย่างไร ตรงนี้ในเยอรมนีมีการให้ความสำคัญฝึกอบรมนักข่าวให้มีจรรยาบรรณ และมาตรฐานสูง อีกทั้งยังมีกลไกในการป้องกันการแทรกแซงจากเศรษฐกิจและโฆษณา”
ด้วยปัญหาจากการแทรกแซงสื่อนี้ ดร.โวฟกัง ให้ความเห็นว่า วิธีป้องกันคือต้องให้การคุ้มครองเสรีภาพของสื่อจากศาลที่แข็งแรง เพราะสื่อในฐานะประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับนักวิชาการ และสถาบันต่างๆ ต้องเรียกร้องให้สื่อมีบทบาทที่ถูกต้องและเฝ้าระวังสื่อด้วยกันเสมอ
“สื่อ สาธารณะในเยอรมนีมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานให้กับสื่อเอกชน สื่อสาธารณะมีการรายงานข่าวที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งทำให้สื่อสาธารณะมีส่วนกำหนดมาตรฐานให้สื่อเอกชนดำเนินกิจการให้มี มาตรฐานเท่ากับสื่อสาธารณะ ซึ่งในเยอรมนีสื่อสาธารณะถือว่าเป็นสื่อที่ประสบความสำเร็จมากกับคนหนุ่มสาว”
“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าไม่มียาวิเศษใดที่จะแก้ไขปัญหาของสิทธิเสรีภาพของสื่อได้ทุกประเทศ เนื่องจากวัฒนธรรม และประชาสังคมของแต่ละประเทศไม่เหมือนเยอรมนี ที่อยากเน้นคือพวกโครงสร้างต่างๆถ้าไม่เหมาะสมกับปัจจัยในประเทศประเทศ ก็ต้องมีการทำโครงสร้างใหม่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าการเปรียบเทียบปัญหาที่พบเจอของสื่อระหว่างประเทศต่างๆเป็นเรื่องยาก แม้ว่าปัญหาจะคล้ายกันแต่โครงสร้างทางวัฒนธรรม และปัจจัยในประเทศต่างกัน”
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
“สื่อในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมามีความสำคัญ เราต้องกลับมาทบทวนช่วงที่บ้านเมืองมีวิกฤตอยู่ที่ว่าเราต้องการสื่อเพื่อจุดปัญญา จุดแสงสว่างให้สังคม หรือต้องการให้สื่อจุดไฟของความร้อนแรง แล้วทำให้คนไทยแตกแยกฆ่ากันตายมากขึ้น”
“ผมคิดว่าสื่อเป็นตัวชี้นำ ในขณะเดียวกันนั้นสื่อก็เป็นตัวทำลายสุขภาวะของสังคมด้วย ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพฯ แต่หมายถึงต่างจังหวัดด้วย สื่อมีโอกาสถูกปู้ยี่ปู้ยำในทางการเมือง ผมเคยทำสื่อชุมชน 3-4 ปีที่ผ่านมา วิทยุชุมชนถูกนำไปเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ในการที่ใช้สรรพกำลังในการปลุกระดมให้ลุกขึ้นมาแตกแยกกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามสี หรือสงครามแตกแยกกัน ทัศนะทางชนชั้นก็ตาม”
นพ.นิรันดร์ ให้ความเห็นว่า ระบบธุรกิจการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ทำให้ 10 กว่าปีที่ผ่านมาของสังคมไทยได้ตระหนักว่า การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง แต่พยายามประกาศให้เป็นเรื่องของอุดมการณ์ของการต่อสู้ของประชาชน กลายเป็นสงครามการเมืองที่ต้องการต่อสู้ไม่มีที่สิ้นสุด และทำให้เกิดความแตกแยก
“สิ่งที่สื่อช่วยประโคมโหม ก็คือว่า กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ต้องการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ประการต่อไปก็คือว่า สงครามการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เหล่านั้น ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อกันอย่างมากมาย แล้วพยายามใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทุกหย่อมหญ้าเพื่อจะได้จัดตั้งมวลชนของแต่ละฝ่าย ตรงนี้มันเป็นลักษณะของการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการทำสงครามมวลชน ไปจนถึงเรื่องที่เราวิตกกันสงกรานต์เลือดที่ผ่านมา ว่าจะกลายเป็นสงครามประชาชน หรือปฏิวัติประชาชนไปเลย กลายเป็นเครื่องมือของผู้ต้องการแสวงหาอำนาจในสังคมไทย แต่ท้ายที่สุดสื่อเองก็กลายเป็นตัวทำให้เกิดความแตกแยก ความหวาดกลัว ความไม่เข้าใจ นี่ผมคิดว่าในสังคมไทยเราที่ยังขาดภูมิคุ้มกันหลายอย่าง ทั้งเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ภูมิคุ้มกันของเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องเศรษฐกิจ และฐานะทางสังคม ภูมิคุ้มกันของการที่ตกอยู่ในสภาพของความยากจนหรือความด้อยโอกาส ผมคิดว่าสื่อตรงนี้ต้องตระหนัก ว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่กลายเป็นสื่อเทียม สื่อเฉพาะกิจ สื่อที่ปล่อยข่าว หรือเต้าข่าวขึ้น”
“และขณะนี้สื่อกำลังถูกมองว่า สื่อมี 2 มาตรฐานไหม เลือกข้างไหม ประเด็นเหล่านี้ผมคิดว่าถ้ามองในด้านร้ายก็เหมือนกับสื่อโดนโจมตี แต่ถ้ามองในด้านดี ผมคิดว่าต้องผ่านวิกฤตตรงนี้ สิ่งที่เราพบในธุรกิจการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ต้องสะท้อนให้เห็นว่าสื่อจะเผชิญกับภาวะเรื่องทุนนิยมทางสื่อสารการตลาดที่เข้าไปจัดการกับตัวสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาธารณะ สื่อธุรกิจ หรือสื่อของภาคประชาชน เดี๋ยวนี้วิทยุชุมชนหลายพันสถานีกลายเป็นปากกระบอกเสียงของนักธุรกิจ และนักธุรกิจการเมืองด้วย ตรงนี้เราจะจัดการได้อย่างไร”
“ประการที่สองก็คือว่าสื่อที่การเมืองเข้าไปแล้วเลือกข้าง มันกลายเป็นสื่อเทียม มันกลายสื่อปลุกระดม มันกลายเป็นสื่อตอกย้ำความแตกแยกมากเพิ่มขึ้น ตรงนี้รัฐบาลหรืออำนาจรัฐจะใช้ท่าทีอย่างไรเข้าไปจัดการ การใช้มาตรการทางกฎหมายหรือการใช้อำนาจนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อาจจะได้ผล แต่จริงๆเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุดในสังคมที่ต้องการระบบประชาธิปไตย”
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อในการที่จะทำให้สื่อเกิดการประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องมี 2 ประเด็น คือ 1. การใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อที่มีต่อสังคมไม่ใช่ต่อการเมือง 2.สื่อต้องมีมาตรฐานทางสังคมเพื่อตรวจสอบการเข้ามาแทรกแซงของธุรกิจ
“ต้องย้ำในเจตนาสิทธิเสรีภาพของสื่อที่มีต่อสังคมไม่ใช่ต่อการเมือง ถ้าเรามองว่าสื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองแล้ว สื่อจะสามารถที่จะแสดงทัศนะบอกความจริงให้ทุกฝ่าย สังคมจะได้รู้ว่าคนโกงโกงอย่างไร คนดีดีอย่างไร ในทางวิชาชีพผมคิดว่าต้องมอง 2 ระยะ เรื่องคนต้องอยู่ที่จริยธรรมและศีลธรรมของสื่อ แต่ในของเรื่องสังคมองค์กรของสื่อต้องหันกลับมาดูว่าเข้มแข็งแค่ไหนในการตรวจสอบสื่อด้วยกันเอง ถ้าสื่อมีสิทธิในการนำเสนอข้อมูลทุกทาง สื่อก็ต้องมีหน้าที่ต่อตัวเองคือจรรยาบรรณ และต้องมีองค์กรที่ดูแลกันเองไม่ใช่พิทักษ์สื่อด้วยกัน”
“เรื่องความรับผิดชอบผมคิดว่าอยู่ที่ประเด็นทางสังคมที่จะทำให้สื่อตระหนัก มาตรการทางกฎหมายผมไม่คิดว่าจะเป็นทางออก แต่สังคมต้องตื่นตัวเรื่องมาตรการทางสังคม เพราะสื่อเองก็เคยถูกมาตรการทางกฎหมายแทรกแซง และสื่อต้องระวังในเรื่องของการหลงทาง หลงทิศทางเรื่องการเมืองในประเด็นเชิงโครงสร้าง แต่ไม่คิดถึงภาคประชาชนในเชิงพื้นที่ จนทำให้คนยากจน ด้อยโอกาส ไม่ว่าเรื่องของฐานทรัพยากร เกษตร แรงงาน ไม่มีพื้นที่ในสื่อเลย”
อดีต สว. สรุปว่า อำนาจทางการเมืองและอำนาจทุนจะเข้ามาละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อที่มีผลต่อสังคมในเรื่องคุณประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันอำนาจของประชาชนก็ถูกใช้ที่จะทำให้สื่อมีความหวาดกลัว ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ สื่อที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแล้วจุดไฟในสังคมไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือสงครามจลาจลและก่อการร้าย
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มธ.
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ เริ่มประเด็นจากการตั้งข้อสังเกตถึงเสรีภาพของสื่อเยอรมันว่า ถ้ามีเสรีภาพของสื่อจริงทำไมจึงไม่สามารถสื่อเครื่องหมายนาซีได้ถ้า หรือสื่อความเห็นของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นเป็นเรื่องโกหก
โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเชื่อมโยงสิทธิเสรีภาพของสื่อในประเทศเยอรมันในประเด็นที่ว่า เยอรมันมีเสรีภาพคือเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีเสรีภาพที่จะพูดโกหก กล่าวถึงการทำลายล้างในเชิงมนุษยชาติที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง โดยสิทธิเสรีภาพของสื่อ
“ประเทศเยอรมันตั้งขึ้นมาบนฐานของการปฏิเสธอาชญากรรมของฮิตเลอร์ ถ้าตรงนี้ถูกทำลายไป เยอรมันทุกวันนี้ก็ถูกทำลายด้วย จึงเป็นตำนานการสร้างชาติของเยอรมันก็ว่าได้ เพราะเขาห้ามแตะต้องเรื่องนี้ คล้ายๆกับประเด็นที่เราเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพของเอมริกา อเมริกาตั้งได้เพราะไปด่ากษัตริย์อังกฤษ การตำหนิกษัตริย์เป็นสิ่งที่ชอบธรรมอย่างยิ่งในอเมริกา เพราะฉะนั้นใครกล้าตำหนิกษัตริย์คนนั้นมีเสรีภาพ ซึ่งเสรีภาพนี้รวมไปถึงเสรีภาพที่จะด่าว่ากษัตริย์ทุกองค์ในโลกนี้ด้วย โดยไม่ต้องถูกลงโทษเพราะถือว่าเป็นเสรีภาพทางการพูด มันเกิดจากฐานทางความเชื่อที่แตกต่างกัน”
“สิ่งที่สำคัญมากในเวลานี้คือว่าความเข้าใจในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อ และเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทยไม่ตรงกัน พวกหนึ่งเรียนมาจากอเมริกาเพราะฉะนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด พวกหนึ่งเรียนมาจากยุโรปบอกว่าต้องมีขอบเขตจำกัด สิ่งที่สำคัญมากอยู่ตรงที่ สิ่งที่ปรากฏขึ้นในประเทศไทยก็คือว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะโฆษณาความเกลียดชังต่อกลุ่มชนซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากเรา ไม่ได้โฆษณาเพื่อให้เกลียดชังความประพฤติ แต่เป็นการโฆษณาให้เกลียดชังบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าในประเทศเยอรมันติดคุก คือการโฆษณาดูถูกเหนีดหยามศักดิ์ศรีกัน ทำให้คนกลายเป็นสัตว์ หรือการพูดออกสู่ที่สาธารณะว่าคนพวกนี้เป็นสัตว์เดรัจฉาน ติดคุกเลย ไม่ใช่เสรีภาพ เพราะเป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง และเป็นต้นทางของการทำลายล้างกันและกัน สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่เข้าใจในประเทศเรา เป็นความเข้าใจผิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่สำคัญมาก น่าศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างอเมริกาและเยอรมันเป็นอย่างไร”
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ให้ความเห็นว่า คุณค่าของประชาธิปไตยไม่ได้ถูกส่งเสริมจากสื่ออย่างจริงจัง โดยคาดหวังว่าในอนาคตสื่อตระหนักได้ว่าตนเองเป็นสะพานข้ามของคุณธรรม เป็นสะพานข้ามของความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จากความสัมพันธ์ตามชาติกำเนิดมาเป็นความสัมพันธ์ตามสมัครใจของคนสมัยใหม่
ทั้งนี้ นักกฎหมาย มธ. แนะว่า คุณธรรม 4 ข้อของสื่อมวลชน เป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก ได้แก่ 1.บทบาทของสื่อต้องต่อสู้ให้การปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ 2.สื่อมวลชนต้องต่อสู้เพื่อประชาสังคม 3.สื่อมวลชนต้องต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมประชาธิปไตย คือการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมความคิดเห็นหรือผู้ที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างเสมอภาค ถ้อยทีถ้อยอาศัย และ 4.สื่อมวลชนต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
“ขออนุญาตอธิบายถึงภูมิทัศน์ของสื่อในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ภาพในอดีตที่เรามองสื่ออาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่าปัจจุบัน การปฏิรูปสื่อซึ่งมีมาตั้งแต่พฤษภาทมิฬถึงแม้ว่าจะลุ่มๆดอนๆบ้างบางช่วงแต่ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อก่อนเราอาจจะมองภาพสื่อว่าเป็นสื่อรัฐ สื่อเอกชน มองโดยใช้ฐานของความเป็นเจ้าของเป็นการแบ่ง หรือมองในเรื่องกลุ่มของเป้าหมาย เช่น หนังสือพิมพ์หัวสี หนังสือพิมพ์คุณภาพ เวลาเข้าใจอย่างนั้นมันเข้าใจโลกของสื่อได้ไม่ยาก”
ผศ.ดร.พิรงรอง อธิบายว่า เมื่อประเทศไทยมี มาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้มีการปฏิรูปสื่อ มี พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ เป็นการเปิดพื้นที่ทำให้เกิดสื่อประเภทใหม่ๆ ที่มีอุดมการณ์แตกต่าง ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดภูมิทัศน์ของสื่อตามวัตถุประสงค์หลักของ การดำรงอยู่ของสื่อนั้นๆ ได้ 5 ประเภท ดังนี้ 1.สื่อเพื่อการเมือง 2.สื่อเพื่อสาธารณะ 3.สื่อเพื่อธุรกิจ 4.สื่อชุมชน และ 5. สื่อประชาชน
“อย่างแรกสื่อการเมือง เพื่อการเมือง สื่อที่เป็นตัวแทนแนวความคิดหรือผลประโยชน์ทางการเมือง สื่อประเภทนี้เป็นสื่อที่ถูกจับตา ถูกวิพากษ์วิจารณอย่างกว้างขวางว่าสื่อประเภทนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วน ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม”
“อย่างที่ 2 สื่อสาธารณะซึ่งนอกจากเราจะมีไทยพีบีเอสแล้ว เรายังมีสื่ออื่นๆที่มี scale เล็กกว่า อย่างวิทยุชุมชนในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนที่ไม่ใช่ format แต่เป็นวิทยุชุมชนในเชิงประเด็น เช่น ที่บ่อนอก ที่ได้ยกระดับเป็นวิทยุสาธารณะ เพราะสิ่งที่เขาแตะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสาธารณะ”
ผศ.ดร.พิรงรอง อธิบายต่อไปอีกว่า ภูมิทัศน์ที่ 3 ของสื่อคือ สื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งการแบ่งภูมิทัศน์แยกแยะประเภทของสื่อลักษณะนี้ไม่ได้ตัดขาดจากกัน การดำเนินการหลายๆอย่างซ้อนกันได้ เช่น อาจจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินกิจการเพื่อธุรกิจแต่ก็แอบอิงขั้วทางการเมืองอยู่บ้าง สามารถเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจไปทางไหน
“ถามว่าเป็นสื่อการเมืองไหม ก็เป็น แต่หลักของการดำรงอยู่ของเขาคืออะไร ทำไมต้องทำแบบนั้น เพราะว่าเขาต้องการดำรงอยู่เพื่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด”
“อีกประเด็นหนึ่งถัดมาคือสื่อชุมชน community media สื่อประเภทนี้ถือว่าเป็นผลผลิตที่มาจากการปฏิรูปสื่อ เมื่ออก่อนคนตัวเล็กไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อ วิทยุชุมชนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ขณะนี้เริ่มมีโทรทัศน์ชุมชนแล้ว โดยวิทยุชุมชนก็เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ ลักษณะหลักของวิทยุชุมชนก็แบ่งเป็น 2 สาย คือวิทยุชุมชนภาคประชาชน ซึ่งทำเพื่อผลประโยชน์หรือทำเพื่อรองรับจริงๆ กับวิทยุชุมชนที่เน้นเอียงไปทางธุรกิจ ซึ่งก็สามารถไปซ้อนกับสื่อเพื่อธุรกิจก็ได้ สุดท้ายคือสื่อประชาชน หรือสื่อเพื่อพลเมือง ยกตัวอย่างจะเห็นได้ชัดว่าค่อนข้างจะเป็นสื่อที่รองรับปัจเจค หรือกลุ่มบุคคลมากกว่า เช่น web board, blog เป็นต้น นี่ก็เป็นสื่อซึ่งแต่ละปัจเจคบุคคลสามารถเลือกได้ ว่าจะนำเสนอจะแลกเปลี่ยนอย่างไร เฉพาะกลุ่มชัดเจน”
นอกจากนี้ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน จุฬาฯ ยังได้วิเคราะห์ ถึงจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้สื่อข่าวว่า ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในการแก้วิกฤตของประเทศไทยในปัจจุบัน
“เพราะว่าวิกฤตประเทศไทยปัจจุบันเป็นวิกฤตแห่ง 2 นคราประชาธิปไตย มี 2 ขั้ว ตอนนี้ภูมิทัศน์ของสื่อมันได้เปิดกว้างขึ้น จากเมื่อก่อนคนต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ ต้องฟังสื่อรัฐอย่างเดียวหรือสื่อเอกชน ที่มีมุมมองค่อนข้างที่จะเป็นคนเมืองและชนชั้นกลางในสังคม ซึ่งก็ไม่เข้าใจคนต่างจังหวัด”
“ทำไมถึงมองว่าจรรยาบรรณไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ก็เพราะว่าจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนที่เราร่ำเรียนกันมาส่วนใหญ่ก็มาจากตะวันตก ซึ่งตะวันกตกก็เป็นมุมมองของคนเมือง อุดมการณ์วิชาชีพของสื่อสารมวลชนถูกสร้างขึ้นมาบนรากฐานนั้น เขาไม่ได้มาเข้าใจความละเอียดอ่อนของสังคมเรา ตอนนี้เขาก็ไม่ได้รู้ด้วยว่าสังคมเรา สื่อได้ปฏิรูปไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเราก็ยังใช้อันเดิมว่าต้องเป็นกลาง ต้องไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย ต้องมีวัตถุวิสัย แต่ตอนนี้มันไม่เข้ากับบริบทเลย บริบทมันไปมากกว่านั้นแล้ว อุดมการณ์วิชาชีพบอกว่าสื่อต้องนำเสนอในสิ่งที่คุณเห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง ต้องไม่แคร์ในสิ่งที่คุณเห็น ตอนนี้ไม่ได้ ต้องแคร์ ต้องแคร์ไปจนถึงว่านี่มันเป็นวิกฤตของชาติ คุณต้องไปไกลกว่านั้นแล้ว ไม่ใช่นำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องวิเคราะห์ให้สังคมเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมมันมาถึงตรงนี้ได้”
“ต้อง เน้นเรื่องของเหตุผล แทนที่จะเล่นเรื่องอารมณ์ คืออารมณมันเป็นเรื่องสำคัญ สื่อเล่นเรื่องอารมณ์ทั้งนั้น เพราะมันทำให้คนดู ทำให้คนอ่าน ต้องเอาเรื่องอารมณ์ลง เอาเรื่องเหตุผล เอาเรื่องที่มา ความสำคัญ การวิเคราะห์ที่อยู่บนพื้นฐานที่มันเกิดขึ้นจริงมานำเสนอมากขึ้น แล้วเอาอารมณ์ลง”
“และที่สำคัญมากคือ สื่อต้องตรวจสอบความจริง ถ้ารู้ว่าเขาโกหกก้ต้องให้ออก แต่เราต้องมีมาตรการตรวจสอบความจริงด้วย ต้องมีการตรวจสอบในตัวว่าคุณโกหกหรือไม่โกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการอ้างอะไรที่ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบต่อสังคม” ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
“สื่อทำอะไรในช่วงที่ผ่านมา สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงวิกฤต 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่วิจารณ์มาก็ยอมรับหมด เพราะว่าเวลางิจารณ์มันถูกหมดอยู่แล้ว เพราะมีความหลากหลายอยู่ ในเรื่องความไม่เป็นกลาง เรื่องสองมาตรฐาน ทำไมสีนู้นทำไม่เสนอ ไม่รอบด้านว่าทำไมกลุ่มนั้นไม่เจาะลึก วิถีชีวิตเสื้อเหลืองเจาะลึก ทำไมเสื้อแดงไม่เจาะเลย”
“สิ่งที่อยากจะโยนประเด็น อยากทบทวนให้ชัดเจนว่าเรามีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง อันแรกคือเรื่องโครงสร้าง โครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ บางคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ โครงสร้างหลักขณะนี้ถ้าพูดถึงทีวี วิทยุ ก็เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ไทยพีบีเอสนี่ของรัฐ เพียงแต่อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่คิดว่าน่าจะเป็นอิสระได้ เพราะว่าเอาเงินของเราไปตั้งปีละ 1,700 ล้าน โดยประมาณ ก็เป็นของรัฐแบบหนึ่ง ที่อื่นเป็นของรัฐแบบของฝ่ายบริหาร ที่รัฐควบคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะทำ แต่เผอิญก็ถูกเซ้งลี้ไปหมด ปัญหาก็คือจะทำอย่างไร ผมก็เคยถามนายกรัฐมนตรีว่าจะเอาอย่างไร ของทหาร 200 ของกรมประชาฯ 100 กว่า ของ อ.ส.ม.ท. 60-70 รวมแล้ว 500 กว่าสถานี แล้วอีก 5-6 ช่อง จะเอายังไง จะให้เขานั่งทับไว้หรือ กองทัพเขามี 2 ช่อง จริงหรือเปล่า อ.ส.ม.ท. ก็มี 2 ช่อง จริงหรือเปล่า กสช.ที่เกิดขึ้นจะกล้าทุบหม้อข้าวพวกนี้ไหม”
“ถ้ารัฐบาลมีนโยบายว่าจะกระจายพวกนี้ให้หมด คุณไม่มีปัญญา ไม่ต้องไปเซ้งลี้ คุณจะจ่ายผลตอบแทน บนโต๊ะ ผมเน้นว่าบนโต๊ะ ที่ทหารอ้างว่าเป็นสวัสดิการทหาร บนโต๊ะเท่าไหร่ ใต้โต๊ะไม่เกี่ยว เอาเท่าไหร่ เพราะว่าพอรับได้เรื่องตอบแทนอย่างนั้น ให้สวัสดิการเป็นก้อนไป แต่จะมีใครกล้าหาญ ถ้าเกิดไม่กระจายตรงนี้ถึงจะมีสื่อชุมชนอีก 4,200 สถานี ซึ่งยังไม่รู้จะทำยังไง เมื่อ 4,200 สถานีถ้าเป็นยักษ์ออกจากตะเกียงแล้วจะทำอย่างไร ใครถูกจี้ มันเกินกฎเกณฑ์ โดนปิด โดนอะไรก็เดินประท้วงกันอุตลุด 4 พันกว่าสถานีจะทำยังไง ผมคิดว่าเป็นปัญหาหนักมากซึ่งเราไม่รู้จะจัดการกับมันยังไงดี”
นายกสมาคมนักข่าวฯ ยังได้กล่าวถึงเรื่องของทุนต่อไปอีกว่า ต้องยอมรับกันว่า ปัญหาหลักของบริษัทสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ เมื่อต้องตกอยู่ภายใต้รูปของเครื่องมือทางการเมือง หรือเครื่องมือต่างๆ จะมีวิธีจัดการอย่างไร เมื่อกิจการต้องคำนึงกำไร และพนักงานอีกจำนวนมาก
“จะทำอย่างไร จะให้อยู่รอดได้ไหม ยิ่งเค้กก้อนเล็กลง คือโฆษณาก้อนเล็กลง ขณะนี้จะเอาอย่างไรแล้วก้อนที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้บอกให้ตรงๆ เค้กก้อนใหญ่ที่สุดคือโฆษณา งบประมาณของรัฐ ในแง่โฆษณาประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไร ซึ่งคนที่คุมก็คือนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองคุม สปอตโฆษณาออกทีวีเป็นหน้านักการ เมืองทั้งนั้น จะทำอย่างไร จะให้อยู่รอดไหม พวกผมเอาให้ตกงานไหม พูดลงลึกไปถึงระดับลูกจ้าง ว่าพร้อมจะตกงานหรือเปล่า อันนี้พูดความจริงกัน โครงสร้างการจัดการจะยอมเป็นสื่อแบบทุนนิยมแบบนี้ โดยรัฐ จะเอาอย่างไรกับมัน สังคมจะทำอย่างไร ก็พูดข้อเท็จจริงว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ผมแก้ไม่ได้หรอก ให้ผมแก้ผมก็โยนได้แค่นี้”
“ข้อที่ 2 เรื่องศักยภาพนักข่าว จะเห็นว่านักข่าวมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่ผมไม่ได้เรียกร้องแบบตำรวจว่า รายได้น้อยก็ต้องขอไถกันบ้าง ไม่ใช่ แต่ปัญหาว่าเราเป็นนักข่าวมาทำงานอย่างไร ศักยภาพของนักข่าวโดยตัวเองมีปัญหา ทุกคนยอมรับ ผมหงุดหงิดจริงๆ ต้องขอโทษน้องๆ ที่รัฐสภา เรื่องตั้งพรรคพันธมิตรฯ ล้มละลายกับล้มละลายโดยทุจริตนี่ มันชัดเจนอยู่แล้ว คุณไม่รู้กฎหมายก็ไปเปิดดูเสียหน่อย ไปนั่งถามให้ กกต.พูดเลอะเทอะอยู่ได้ เคยล้มละลายโดยทุจริต มันก็ 10 ปี ง่ายๆ ของพวกนี้ ไม่ยาก ก็ไปถามให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่คนละประเด็น แล้วโฆษก พิธีกรใหญ่ในทีวีก็มาพูดกันเรื่อง เสียเวลาตั้งหลายนาที และก็มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมว่าเป็น เรื่องที่สำคัญมาก คือเรื่องอำนาจขององค์กรอิสระ ถูกฮุบโดยคนๆ เดียว โดยที่วุฒิสภาก็ไม่ทำอะไร ไม่ใช่นักข่าวอย่างเดียวนะครับ ที่เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาไม่ทำอะไร แล้วนักข่าวก็ไม่ได้ค้นหา ปล่อยให้คนๆ เดียวใช้อำนาจของคณะกรรมการ คตง.อยู่ได้เป็นเวลาถึง 2 ปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้สรรหาใหม่ตั้งแต่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ภายใน 120 วัน ผู้นำฝ่ายค้านตั้งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ป่านนี้มันกี่วันแล้ว ทำไมไม่มีการเลือกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าฯ คตง. ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้คนๆ เดียวใช้อำนาจของผู้ว่าการ และกรรมการ คตง.อยู่ได้ ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ด้วย ไปดูอันไหนขัดแย้ง รัฐธรรมนูญเขามีกระบวนการสรรหาอยู่ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว นักข่าวไม่เคยถาม ประธานวุฒิฯ ก็นั่งใบ้ ส.ว.ก็นั่งใบ้ทั้งสภา แล้วจะไปหวังอะไรกับนักข่าว ทั้งๆที่นักกฎหมายเต็มสภา”
“จะ 2 ปีแล้ว ที่ไม่มี คตง.เพราะหมดวาระตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2550 ไม่มีการทำอะไรเลย นักข่าวก็ไม่ถาม วุฒิสภา 150 คนนั่งทำอะไร ผมก็ไม่รู้ เพราะอย่างนั้นไม่ต้องหวังกับนักข่าว นักกฎหมาย วุฒิ ครึ่งสภานักกฎหมายทั้งนั้น นี่คือเรื่องคุณภาพ ศักยภาพ นี่คือปัญหาเรื่องศักยภาพ นี่คือข้อเท็จจริง มีปัญหา ผมเองผมก็มีปัญหา ผมไม่รู้ทุกเรื่อง”
“ต่อมาอันที่ 2 คือเรื่อง เราจะยอมรับหรือเปล่าให้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ เราจะยอมรับความจริงไหม วันนี้ถ้าเกิดพรรคพันธมิตรฯ ตั้ง ASTV บอกไม่ใช่ของพรรคหรอก มันเป็นเครื่องมือทางการเมืองแน่นอน จะยอมรับกันหรือเปล่า ถ้ายอมรับก็ต้องแก้มาตรา 48 นี่ เถียงกันให้ตก อย่าไปอีแอบอยู่ จะเอาให้ตกก็ตก นักการเมืองควรไปจัดรายการไหม คนที่เป็นนักการเมืองครึ่งหนึ่ง เดี๋ยววันดีคืนนี้วันนี้เป็น ส.ว. วันนี้เป็นนักการเมือง พอตกงาน สอบตกไปจัดรายการวิทยุ จะเอาไหม พอเราปรับกิจการจะเอาอย่างไร จะเล่นบทไหน วันหนึ่งสอบตกโผล่มาเป็นกลุ่มนี้ วันหนึ่งสอบได้กลับมาเป็นนักการเมือง วันหนึ่งตกไปโผล่ตรงนี้อีก จะเอาอย่างไร เอาให้ตก ไม่ต้องมานั่งเถียงกันแล้ว ว่าถ้ามีคลื่นความถี่สามารถบริหารจัดการสื่อโดยตรง หรือโดยอ้อม จะเอาอย่างไรก็เอาให้ชัด ถ้าแก้ไม่ได้ สื่อท้องถิ่นทุกวันนี้ นักการเมืองท้องถิ่นทั้งนั้นเป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ เขาโวยวายตั้งแต่ต้นตอนร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าเกิดทำไม่ได้ผมก็ไม่รู้อย่างไร ของเยอรมันบอกต้องทำตามรัฐธรรมนูญ ให้ได้ ของเราบอกขอแหกให้ได้ก่อน มันตรงกันข้าม เรื่องวัฒนธรรม เถียงให้ตกนะครับ แล้วแก้ ถ้าไม่แก้ก็อยู่อย่างนี้ เถียงกันไป เดี๋ยวก็ยื่น ก็คงยื่นศาลรัฐธรรมนูญ”
“อันที่ 3 ผมเห็นด้วยทุกอย่าง ที่เครือข่ายหยุดความรุนแรง เขาใช้คือ คุณแตกต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง อย่ายุให้เกิดความเกลียดชัง ที่ผ่านมาก็ยุการให้เกลียดชัง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำไมเราถึงด่าสัตว์เดียรัจฉานล้วรู้สึกเฉยๆ เพราะเราด่าคนเป็นควายกันอยู่แล้ว เวลาปกติเราด่ากันเราก็ด่า เราด่าคนเปรียบเทียบกับสัตว์อยู่แล้วเราอาจจะรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ เพราะงั้นถ้าเราด่าเราก็ด่าเลวยิ่งกว่าเดียรัจฉาน มันอาจเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่เราไม่รู้สึก เวลาด่ากันบนเวทีพวกนี้เราไม่ค่อยรู้สึก เราพูดเล่นแต่อาจเป็นจริงก็ได้ แต่ว่าสื่อที่ใช้ความรุนแรง จริงๆ องค์กรที่เราน่าส่งเสริมให้เติบโตและมีความโปร่งใส ในการทำงานมากขึ้น คือมีเดียมอนิเตอร์ เสียดายมันมีคนอยู่ไม่กี่คน มีการมอนิเตอร์มา พอมอนิเตอร์เสร็จ สมมุติว่ามอนิเตอร์ทีวี เวลาจะเสนอข่าว นักข่าวทีวีไม่เคยมาทำข่าวเลย เวลาทำหนังสือพิมพ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ต้องมาทำข่าว มีแต่ข่าวทีวีออก ต้องฟังสิ่งที่วิจารณ์ตัวเองจากมอนิเตอร์ไม่ได้ นั่นคือปัญหาว่าเราไม่ยอมฟังความผิดพลาดของตัวเองส่วนหนึ่งด้วย”
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส
“ผมไม่ประหลาดใจกับผลการสำรวจความเห็นที่สถาบันพระปกเกล้า ทำไว้เมื่อ 3-4 ปีก่อน คำถามอยู่ที่ว่า ให้จัดลำดับของสถาบันในสังคมที่มีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุดคือ ปรากฏว่านักการเมืองกับสื่อมวลชนชิงกัน เฉือนกันคะแนนสูสีมาก ก็แสดงว่าความรู้สึกของคนในสังคมต่อนักการเมืองต่อสื่อมวลชนมันไม่ค่อยดีอย่างมาก ผมคิดว่าเป็นอะไรบางอย่างที่เมื่อพูดถึง สื่อมวลชนจะแกล้งทำเป็นไม่รับรู้ไม่ได้ และผมคิดว่าในภาวะวิกฤตบ้านเราขณะนี้ทำให้สื่อมวลชนถูกคำถามที่มากยิ่งขึ้น”
“วิกฤตครั้งนี้ ทุกคนก็รู้กันดีอยู่ว่าเป็นวิกฤตที่ไม่เหมือนวิกฤตใดๆที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมา 4 ปีเต็มแล้วที่สังคมและสื่อมวลชนต้องทำงานในภาวะวิกฤต จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สิ่งที่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อยู่ทุกวันมันได้สะท้อนภาพจริงๆของวิกฤตได้แค่ไหน ผมคิดว่าบทบาทของสื่อจริงๆไม่ใช่เฉพาะบทบาทที่อยู่ในวิกฤตอย่างเดียว บทบาทที่สำคัญของสื่อก็คือว่าจะทำอย่างไรให้มีส่วนป้องกันไม่ให้วิกฤตนี้เกิดขึ้นด้วย แล้วถ้าวิกฤตเกิดขึ้นจริงๆสื่อต้องมีส่วนทำให้สังคมฉลาดและรู้เท่าทันมากขึ้นหลังวิกฤตทุกครั้งไป แต่เมื่อลองย้อนกลับไปดู ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไรว่าคนไทยฉลาดขึ้น รู้เท่าทันมากขึ้นหลังวิกฤต เราเหมือนจะยอมให้วิกฤตเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และปล่อยให้ตัวละครที่ทำให้เกิดวิกฤตสาเหตุแห่งปัญหาก็เป็นตัวเดิมๆ ทำให้วิกฤตมันเกิดขึ้นมาตลอด ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนต้องหันกลับมองว่าในภาวะปกติ สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ก่อนจะตอบว่าทำหน้าที่ในภาวะวิกฤตได้ดีแค่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะวิกฤตเกิดขึ้น”
ทั้งนี้ นายเทพชัย กล่าวว่า ในประเด็นที่ได้พูดกันในวงสัมมนา มีการพูดถึงบทบาทของสื่อในเยอรมันตามความคาดหวัง ซึ่งตามกฎหมายที่มีอยู่ ระบุว่าสื่อไม่มีหน้าที่แค่การรายงานข่าวอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายด้วย (Not only to report, but also to explain.)
“ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ถามว่าสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนในช่วงวิกฤต หรือก่อนวิกฤตที่เกิดขึ้นมา ผมคิดว่าคำถามนี้ต้องถามเลย เพราะว่าสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ report ได้ดีมาก ใครยิงใคร ใครฆ่าใคร ใครเป็นอะไร ได้ดีมาก แต่ว่า explain อธิบายให้คนเข้าใจบริบท เข้าใจที่มาที่ไป เพื่อจะรู้เท่าทันมากขึ้น ผมคิดว่าตรงนี้ค่อนข้างที่จะขาดมากๆ”
“แล้วคำว่าไม่ใช่ report อย่างเดียว แต่ explain ด้วย มันจะนำมาสู่อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ยอมรับความสำคัญของสื่อมวลชนในการใช้ opinion making ก็คือการทำให้สังคม คนในสังคม มีความเห็น มีความเห็นเพื่ออะไร เพื่อนำไปสู่ to argue ก็คือเมื่อมีความเห็นแล้วก็สามารถเอาข้อมูลที่มีอยู่ไปถกเถียงในสังคมได้ ซึ่งในสังคมไทยนั้นข้อมูลที่จะนำไปสู่การถกเถียงกัน มันมีจำกัด สิ่งที่ได้ยินทุกวันหรือบ่อยๆ มันจะเป็นความเห็นมากกว่าเป็นข้อมูล ก็คือเอาความเห็นมาเป็นพื้นฐานในการโต้เถียงกันมากกว่าเป็นข้อมูลหรือว่าสิ่งที่ควรจะรู้ มันก็เลยกลายเป็นการพูดแสดงความเห็นมากกว่าที่จะเป็นการโต้เถียงกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง หรือว่าที่หลากหลาย ที่รอบด้าน”
“เพราะฉะนั้นมันก็เป็นคำถามใหญ่เหมือนกันว่า ทำไมคนไทยถึงได้หันไปหาสื่อที่จะเรียกว่าเป็นสื่อทางเลือก หรือสื่อเลือกข้างก็แล้วแต่ ที่เป็น ASTV และเป็น D-Station ถามว่าทำไมสื่อมวลชนที่เป็น Main Stream Media หายไปไหน ทำไมสื่อมวลชนทุกวันนี้ที่มีบทบาทอย่างมากเลยในการทำให้คนมีอารมณ์ ทำให้คนโกรธแค้น ทำให้คนชอบ ไม่ชอบ เอาอะไร ไม่เอาอะไร กลายเป็นสื่อที่เลือกข้าง มีสีของตนชัดเจนหมดเลย แต่สื่อที่ตามหลักการแล้วควรจะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่ดี ที่ถูกต้อง และสามารถนำความคิดเห็น นำข้อมูลเหล่านี้มาโต้เถียงกันได้ ค่อนข้างที่จะบทบาทหายไปจากสังคมนี้มากทีเดียว กลับกลายเป็นสื่อสองขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึก เป็นคนกำกับความเห็นของประชาชน ค่อนข้างสูง”
“นี่ยังไม่พูดถึงสื่อที่ อาจารย์พิรงรอง ที่เราพูดถึงนี่เป็นสื่อออนไลน์ กลายเป็นว่าการถกเถียงกันในเรื่องของการเมืองอาจจะถกเถียงกันด้วยความรู้สึกหรือความเห็นก็แล้วแต่ ไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ ในแชตรูม มากกว่าปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรืออยู่บนทีวี ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ ที่ประชาชนแคร์ สนใจที่จะถกเถียงกันในเรื่องนี้ แต่อันตรายอยู่ที่ว่าเป็นการถกเถียงบนข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลที่รอบด้าน หรือถกเถียงด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นการถกเถียงตามความเห็นที่ได้ยินมาจากที่อื่น หรือจากแหล่งที่เป็นสื่อที่เลือกข้างแล้วเข้ามาทุกวัน