ผลิตเนื้อหา“พรีเมียม” มองหา “โมเดลธุรกิจใหม่” เร่งสร้างความน่าเชื่อถือ โอกาสรอดของสื่อไทยในวันที่ต้องเผชิญพายุดิสรัปชั่น
การสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “ทางรอดคนสื่อ” เมื่อวันที่ 19 ต.ค. จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
นายสุทธิชัย หยุ่น ในฐานะ content creator กล่าวว่า วิกฤติความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อมวลชน ที่ผ่านมาซึ่งหลายคนไม่ได้ปรับตัวเพราะคิดว่า พายุผ่านมาก็คงจะผ่านไป เขาก็คงจะอยู่ที่เดิม แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พายุไม่ได้สนใจว่าใครเป็นนายทุน บก.ข่าว โปรดิวเซอร์ พิธีกร รวมถึงคนทำข่าวที่น่าจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ต้องรู้ตัวว่าจะเกิดวิกฤติเพราะหน้าที่เขาคือเตือนภัยคนอื่นต้องรู้แต่ต้น
อย่างไรก็ตาม การจะถามว่าทางรอดของสื่อคืออะไรนั้น แต่ละคนจะต้องไปตัดสินใจเอง ไม่มีใครจะไปบอกได้คุณว่าต้องทำอะไร เปรียบเทียบเหมือนเวลาคุณหิวน้ำก็ไม่ใช่ต้องจูงคุณไปที่น้ำแล้วบอกว่าต้องกินน้ำ ถ้าไม่บังคับก็ไม่กิน การสร้างคอนเทนต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะต้องไม่ใช่เหมือนแบบที่คุณเคยทำมา ต้องหาว่ากลุ่มคนรับสารของตัวเองต้องการอะไร
“ผมเคยเปรียบเทียบเสมอว่าองค์กรสื่อเหมือนอยู่ในเรือเอี้ยมจุ๋น แล่นอยู่ในพายุ ผุพัง รั่วหลายจุด ผู้โดยสารเยอะกอดกันอยุ่ในเรือหวังว่าพายุจะผ่านไป อย่างนี้ไม่รอดแน่นอน ไม่มีเรือลำไหนไรอดในพายุดิสรัปชั่น จึงแนะนำให้กระโดดออกจากเรือหาเรือชูชีพ หากโชคดีก็เจอกันวันข้างหน้า หากโชคไม่ดีก็ตัวใครตัวมัน ซึ่งเรือชูชีพเล็กรับไม่ได้ทุกคน ต้องเฉพาะคนที่พร้อมจะปรับตัว” นายสุทธิชัยกล่าว
นายสุทธิชัย กล่าวว่า การจะอยู่รอดได้เร่ิมแรกต้องเร่ิมเปลี่ยน ทั้งการสร้างคอนเทนต์ ที่คิดว่าต้องทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ ซึ่งต้องขยัน ต้องเหนื่อย ต้องเรียนรู้ทุกวัน ต้องทดลอง ยอมเหนื่อย และไม่มีใครจะไปรู้คำตอบว่ารอดหรือไม่รอด นอกจากตัวคุณเอง การเปิดสื่อใหม่ต้องเลิกคิดแบบเก่าว่าจะต้องมีกล้องกี่ตัว ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ต้องเข้าใจโค้ดดิ้ง
ปัจจุบัน รายได้ของหนังสือพิมพ์บางแห่งเกินครึ่งมาจากซับสคริปชั่น ซึ่งต้องไปดูว่าทำไมคนยอมจ่าย ทั้ง วอลล์สตรีท นิวยอร์คไทม์ นิวยอร์คเกอร์ เพราะหาอ่านที่อื่านไม่ได้ คุณภาพเนื้อหาเขาสุดยอดแต่คุณภาพสื่อของเรายังไม่ถึง บิ๊กตู่พูดอะไรก็เขียนเหมือนกัน รูปเดียวกัน แล้วเขาจะมาอ่านของคุณทำไม เพราะเขารู้มาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เราจึงต้องสร้างคอนเทนต์ให้สุดยอด ทำข่าวแบบรูทีนไม่มีทางรอด ไม่มีใครยอมจ่ายเพราะหาอ่านที่ไหนก็ได้ คนที่จะจ่ายตังซื้อมีนะ หากเขาหาอ่านที่อื่นไม่ได้ เพราะต่อไปอีกปีสองปี A.I. ก็ทำข่าวรูทีนได้หมด
นายพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งทำงานด้าน Data Journalism กล่าวว่า หากถามถึงทางรอดของสื่อมีสองแง่คือ 1.ทางรอดทางด้านธุรกิจ ซึ่ง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการล้มหายไปเยอะ 2.ทางรอดในแง่ความน่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ Data Journalism เกิดขึ้นมานาน 200 ปี เพราะเรื่องของความไม่เชื่อ นักข่าวไม่เชื่อว่าคนมีอำนาจในเวลานั้นพูดตรงกับความจริงหรือไม่เขาจึงไปหาข้อมูลและมานำเสนอว่าสิ่งที่ผู้นำพูดไม่เป็นความจริง ด้วยการลงรายละเอียดเกือบ 7 หน้า ในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง หาเปรียบเทียบ ข่าวสืบสวนสอบสวนก็หมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ถูกนำเสนอให้เห็นภาพ แต่ Data Journalism นั้นเหมือนการนำเลโก้จากทะเลข้อมูลมาต่อเรียงกันให้เห็นภาพ
นายพีระพงษ์ กล่าวว่า หัวในสำคัญอยู่ที่การเล่าเรื่อง เรื่องที่มีคุณค่าต้องเกิดจากนักข่าวที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างเรื่อง Data Journalism ที่คนรีทวีตกันเยอะ เช่นการปกัหมุดว่าส่วนในในแผนที่ที่พลเรือน ทหาร ถูกสังหารในสังคราม หรือ ของไทยพับลิก้า เรื่องเมรุที่ไหนค่าใช้จ่ายสูง นำไปสู่เรื่องธุรกิจงานศพ
สำหรับการทำงานนั้น นักข่าวด้านData Journalism ของ หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียนมีแค่ 3 คน ก่อนหน้านี้เมื่อ 200 ปี ที่แล้ว คนทำต้องถึกนั่งย่อยข้อมูล แต่ปัจจุบัน จุดเปลี่ยนคือเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องแผนที่ วิชวลไลซ์ บิ๊กดาต้า ซึ่งต้องทำงานกันเป็นทีม ทั้งนักข่าว นักออกแบบไม่สามรถทำคนเดียวได้ ถามว่านักข่าวถึงขั้นต้องเขียนโค้ดเป็นหรือไม่ ก็ไม่ถึงขั้นนั้นเพราะวิศวกรที่จบมาเขียนโค้ดได้เงินเดือน 6-8 หมื่นบาทหากนักข่าวเขียนโค้ดเป็นจะมาทำข่าวไหม
นายพีระพงษ์ กล่าวว่า ตัวอย่างที่สามารถทำเป็น Data Journalism ได้ คือ การจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างๆต่าง ๆ ที่หากนำมาย่อยวิเคราะห์ก็จะเห็นว่าปัญหาของบ้านเราอยู่ที่ธุรกิจก่อสร้างผูกขาดอยู่ที่แค่ไม่เจ้า ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย ส่วนถามว่า Data Journalism จะเป็นทางรอดของสื่อในแง่ธุรกิจไหมก็อาจไม่ใช่คำตอบเพราะการทำมีต้นทุนสูง แต่ก็จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้สื่อ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ไม่ใช่แค่จะต้องทำให้สื่อรอด แต่ต้องทำให้สังคมรอดไปพร้อมสื่อด้วย อย่างการทำข่าวเชิงข้อมูลนี้ก็จะเป็นการทั้งเพิ่มคุณค่า และ ความน่าเชื่อถือ และทำไปใครก็ลอกข่าวไม่ได้ ถือเป็นการช่วยยกระดับสื่อ แต่อยู่ที่ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วยเหมือนอยากให้เด็กแข็งแรงแต่ไม่สร้างสนามกีฬาก็เป็นไปไม่ได้
นายชนวัฒน์ วาจานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่า ในฐานะคนทำสารคดีซึ่งเป็นที่นิยมในลำดับสุดท้าย ต้องไปต่อท้าย รายการประกวดร้องเพลง เกมโชว์ และอื่นๆ ทำให้เราต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จนตัวเลขรายได้จากปี 2016 ที่อยู่ 180 ล้านบาท และลดลงไปในปี 2017เหลือ 150 ล้านบาท แต่ปี 2018 กลับเพิ่มขึ้นมา 180 ล้านและสิ้นปีคาดว่าจะได้ 200 ล้าน โตขึ้น 35 %
ทั้งนี้ ถามว่าทำไมทำสารคดีธุรกิจถึงโตได้ เพราะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากลิขสิทธิ์เป็นของผู้จ้าง เป็นลิขสิทธิ์เป็นของเรา รวมทั้งผลิตงานระดับ “พรีเมียม” ลึก กว้าง ละเมียดละไม ซึ่งทีวีบูรพาเก่งเรื่องดราม่า เล่าให้คนร้องไห้ได้ ยิ่งเป็นเรื่องจริงผลกระทบยิ่งสูง ซึงจะหยิบจุดนี้มาเป็นจุดแข็งทางธุรกิจ
นายชนวัฒน์ กล่าวว่า เดิม รายการกบนอกกะลาที่เคยขายโฆษณาได้เต็ม แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 20 % 2-3 ปีที่ผ่านมา เหมือนพายุยังไม่หยุดพัด เราเลยต้องกระจายความหลากหลาย กระจายความเสียง เป็นธุรกิจต่างๆ 1 สร้างสรรค์เนื้อหารายการ 2. ธุรกิจดิจิตอล 3 มีเดีย 4. IMC และ 5 ตลาดนอกประเทศ เพราะเดิมตลาดในประเทศเราอยู่ลำดับสุดท้ายแต่ไปต่างประเทศสารคดีไม่ใช่ลำดับสุดท้าย
“เปรียบเหมือนกับอูเบอร์ ถามว่าทุกคนเลิกขึ้นรถจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยการว่าจ้างไหม ก็ไม่ แต่คนเลิกขึ้นแท็กซี่เพราะมีทางเลือกบิสซิเนสโมเดลใหม่ คนก็ใช้บริการแบบใหม่ได้ อยู่ที่ความต้องการของคน ซึ่งเราใช้คนไม่ต้องเหมือนกัน อย่างงานคอนเทนต์เราต้องการคนแบบเชิงลึก ผลิตสารคดีสวยงามมาตรฐานระดับโลก IMC ต้องการคนครีเอทีฟ ซึ่งเราต้องพัฒนาตัวเองเป็นงานยากกว่าเดิมซึ่งเราต้องรับสภาพ”
นายจักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Marketing กล่าวว่า ทางรอดทางธุรกิจต้องไปพร้อมกับความน่าเชื่อถือของข่าว ซึ่งธุรกิจไม่ควรจะพึ่งพิงเพียงแต่โฆษณา ต้องเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หากต้องขายของก็ต้องขาย แต่ก็มีการท้วงว่านักข่าวจะมาขายของได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันจะมารอเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียวก็ลำบากเพราะผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลายทาง
อย่างไรก็ตาม เวลานี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ต้องไปดูว่าการใช้เวลาของผู้บริโภคทุกวันนี้ใช้เวลาไปกับอะไรส่วนใหญ่ ทางรอดยังอาจอยู่ที่การลดขนาดองค์กร อย่าให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรไปอยู่กับแพลตฟอร์มที่ตายแล้ว เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป อยู่กับหน้าจอมือถือ คนทำงานจึงต้องมีทักษะหลาย รวมไปถึงการเติบโตของไมโครมีเดีย สื่อที่เจาะนิชมาร์เก็ต นำเสนอเรื่องราวที่ตัวเองถนัด
นายธีระพงษ์ เจียมเจริญ จาก Nanami Animation กล่าวว่า การจะ “รอด” ได้คนในวงการสื่อจะต้อง 1. รู้จักตัวเองก่อน 2.ต้องมีการปรับตัว สู่อุตสาหกรรมใหม่เพราะสิ่งที่มาดิสรัปคุณจะกระทบกับสื่อเก่าทั้งหมด อย่างการทำงานของบริษัทการจะออกแบบการ์ตูน สติกเกอร์สักชุดจะต้องทำการวิจัยดูความต้องการ ความพอใจและนำมาปรับปรุงต่อไป ปัจจุบันสื่อไม่ได้มีแค่รูปแบบเดิมๆ มีทั้ง เกมส์ การ์ตูน มีอาชีพ อย่างเกมแคสเตอร์ เกมสตรีมเมอร์ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่แต่ละคนมีค่าตัวแพง