คณะสมาคมนักข่าวฯเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีข่าวสารกัมพูชา ได้รับคำชื่นชมช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ประชาชนสองประเทศ

 

คณะสมาคมนักข่าวฯเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีข่าวสารกัมพูชา ได้รับคำชื่นชมช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ประชาชนสองประเทศ

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) และประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Confederation of Thai Journalists) พร้อมด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (National Press Council of Thailand) ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ ที่ปรึกษาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ และกรรมการบริหารสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน (Confederation of ASEAN Journalists) และ นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ ที่ปรึกษาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ  และเลขาธิการสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน พร้อมคณะจำนวน 9 คน ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ เขียว กันหะริด รัฐมนตรีข่าวสารของกัมพูชา ในโอกาสเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodia Journalists) ระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤศจิกายน 2561

โดยนายเขียวได้กล่าวชื่นชมบทบาท และความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับสมาคมนักข่าวกัมพูชา ที่ช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนสองประเทศ สำหรับปัญหาที่ผ่านมา ระหว่างไทย กับกัมพูชาบริเวณชายแดน สื่อกัมพูชาเองก็เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องการเมือง ในระดับประชาชน คนสองประเทศไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันเลย การดำเนินชีวิต ทำมาค้าขายบริเวณชายแดนก็ดำเนินไปอย่างปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีความร่วมมือด้านสื่อบริเวณชายแดน 2 ประเทศ คือมีการจัดวิทยุร่วมกัน เช่นจังหวัดอุดรมีชัย กับจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีข่าวสารได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาคสื่อมวลชนในประเทศว่า กัมพูชามีสถานีโทรทัศน์ประมาณ 20 ช่อง ในจำนวนนี้เป็นช่องของรัฐบาล 1 ช่อง มีสถานีวิทยุระบบ FM กว่าร้อยสถานี โดยร้อยละ 90 เป็นของเอกชนดำเนินการ ขณะที่ในส่วนสื่อสิ่งพิมพ์นั้น มีหนังสือพิมพ์ประมาณ 600 ฉบับ แต่ที่ออกตีพิมพ์เป็นประจำมีประมาณ 150 ฉบับ ซึ่งสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมาก เนื่องจากสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ให้นโยบายรัฐมนตรี และข้าราชการต้องอ่านหนังสือพิมพ์ และตัวนายกรัฐมนตรีเองก็อ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกเช้า ดังนั้นหากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการบริหารงานที่บกพร่องของรัฐบาล ก็จะทราบเองในทันที นอกจากนี้ นายกฯ กัมพูชา ยังสนับสนุนให้รัฐมนตรี และข้าราชการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เข้ามาดูในหน้าเพจของนายกรัฐมนตรีบ่อยๆ เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนจะเข้ามาร้องเรียน แจ้งเรื่องเดือดร้อนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ

รัฐมนตรีข่าวสารของกัมพูชา ยังกล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีสร้างผลกระทบต่อสื่อดั้งเดิมมาก เนื่องจากคนมีช่องทางในการบริโภคข่าวสารมากขึ้น ทำให้รายได้จากการโฆษณาลดน้อยลง โดยเปรียบสื่อมวลชนกัมพูชาว่าเหมือนเสือ แต่ก็เป็นเสือผอม ซึ่งในส่วนนี้ ทางการก็พยายามหาทางช่วยเหลือวงการสื่อ โดยจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะสามารถหาหนทางอย่างไรได้บ้างที่สื่อจะสามารถสร้างรายได้ จนอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของข่าวปลอม ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมกัมพูชาเผชิญหน้าอยู่ ดังนั้นการยกระดับศักยภาพสื่อมวลชน  การทำให้สื่อกระแสหลักสามารถก้าวผ่านวิกฤติทางธุรกิจไปได้ ก็ถือเป็นอีกทางหนึ่ง เพราะตระหนักในความสำคัญสื่อกระแสหลักก็เป็นที่พึ่งของสังคมในแง่ความน่าเชื่อถือ

นายเขียวยังชี้แจงอีกด้วยว่าที่ผ่านมา มีกระแสข่าวรายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายามควบคุมสื่อ ซึ่งในประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง เพียงแต่ต้องการจัดระเบียบ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่มีการปิดเว็บไซต์ก็เนื่องจาก เว็บไซต์เหล่านั้นทำผิดโดยการแอบอ้างชื่อก็เท่านั้น และที่ผ่านมา กระทรวงก็ยังไม่เคยใช้กระบวนการทางกฎหมายมาจัดการกับสื่อ นอกจากนี้ ในกฎหมายสื่อโทษสูงสุดที่มีก็เพียงแค่โทษปรับ ไม่มีโทษจำคุก นอกจากนี้ในสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังให้คนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ด้วย