ขออาลัย “อดีตคนข่าวนักสู้ชีวิต”

ขออาลัย "อดีตคนข่าวนักสู้ชีวิต"
---

ทีมงานจุลสารราชดำเนิน ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายวีระพันธ์ วุฒิบุญญะ อดีตบรรณาธิการข่าวต้นชั่วโมง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและอดีตผู้สื่อข่าวสายการเมือง ประจำรัฐสภา หลังจากเสียชีวิตกระทันหันในช่วงเย็นวันที่ 11 ธ.ค. ที่โรงพยาบาลราชวิถี

นายวีระพันธ์ หรือ "ตุ่น" ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่ บริษัท Samco Thailand” ซึ่งทีมงานจุลสารราชดำเนิน ได้เพิ่งสัมภาษณ์มาประกอบรายงานเรื่อง "อาชีพเสริม-งานใหม่ คนข่าวเป็นรปภ.-ขายผ้าพันคอ-ทำบราวนี่" ลงเผยแพร่ล่าสุดในเวปไซด์สมาคมนักข่าวฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายวีระพันธ์จะเสียชีวิต

นายวีระพันธ์ เป็น 1 ในคนข่าว ที่เผชิญกับวิกฤตคนข่าวมาแล้วถึง 2 ครั้ง บทสัมภาษณ์ของเขาระบุว่า สิ่งที่ทำให้ตั้งหลักและผ่านไปได้ คือ “สติ” และการ “ไม่ดูถูก” อาชีพที่สุจริต

"ตุ่น" เล่าเส้นทางชีวิตไว้ว่า เริ่มทำงานข่าว มาตั้งแต่ประมาณปี 2536 ทำงานผู้สื่อข่าว ที่หนังสือพิมพ์ Thailand Time เป็นหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษในเครือวัฏจักร จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้ต้องออกจากงานแบบไม่ได้ตั้งตัว ตอนนั้นไปทำงานเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ ของโรงงานน้ำยาง ที่หาดใหญ่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานข่าวเลย แต่ก็มีช่วงที่ได้ใช้ทักษะจากการทำงานข่าวมา Apply คือทักษะการพูดคุย เพราะช่วงนั้นมีปัญหาคนงานลาออกจำนวนมาก จึงลงไปช่วยแก้ปัญหา พูดคุยเจรจากับคนงาน จนยอดคนลาออกลดลง

หลังจากนั้น ได้มีโอกาสหวนกลับมาทำงานข่าวอีกครั้ง ปี 2547 ในตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต้นชั่วโมง เป็นพนักงานอยู่กับบริษัทเอกชน ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่วมผลิตข่าวให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 12 ปี จนกระทั่งบริษัทหมดสัญญา มีบริษัทใหม่เข้ามาแทน และให้คนที่ทำงานอยู่ ไปเขียนใบสมัครกับบริษัทใหม่ เพื่อคัดเลือกคนที่เงินเดือนไม่สูงมากนัก แต่ตัวเขาฐานเงินเดือนสูง ทำให้มีการต่อรองลดเงินเดือนลง ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำงานต่อ

“ครั้งที่สองที่ต้องออกจากงานข่าว คือปี 2559 ช่วงแรกที่ออกไป ผมไปทำหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ให้กับมูลนิธิฯแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสงขลา แต่ทำแล้วรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง จึงตัดสินใจลาออก และกลับขึ้นมากรุงเทพฯ ก่อนจะไปสมัครงานเป็น รปภ. ที่บริษัท แซมโก้ เป็นบริษัท ที่ให้บริการด้านการจัดบุคลากรรักษาความปลอดภัย ไปลงตามหน่วยงาน ร้านค้า หรือสถานที่ต่างๆ สอบถามข้อมูลมาจากรุ่นน้อง และเดินเข้าไปกรอกใบสมัครและเลือกตำแหน่งนี้เอง ตอนนั้นคิดว่าต้องการหารายได้และอยากเรียนรู้งาน รปภ. เพื่อจะเอาไปเขียนเป็นเพจ เขียนหนังสือ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่เคยทำ”

เขาเล่าว่างานจะทำเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง คือ 8 ชั่วโมงปกติ และอีก 4 ชั่วโมงเป็นโอที หยุดอาทิตย์ละ 1 วัน แต่ถ้าร่างกายไหว ก็จะทำงานเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้มากขึ้นอีก โดยเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน ประมาณ 16,000 ถึง 20,000 บาท มีสวัสดิการทั่วไปอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

...อาชีพที่ผมทำอยู่ตอนนี้ อาจจะดูแตกต่างมากกับที่เคยทำมา แต่ผมมองว่างาน รปภ. ก็มีรายได้พอเลี้ยงตัว แต่จะคิดถึงขั้นเป็นเงินเก็บ ก็คงไม่ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่ประคองตัวเราได้ ถ้าเราประหยัด ก็คงพอมีเก็บบ้าง แต่ก็อยู่ที่ร่างกายเราจะไหวหรือไม่ ทำมาจนถึงตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ได้มีโอกาสทำเพจอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะเวลาหลังเลิกงาน เหนื่อยก็อยากพักผ่อน แต่ก็เก็บภาพเก็บข้อมูลไว้หมด ตั้งใจไว้ว่าวันหนึ่งหากมีโอกาส ก็จะเขียน ถ้าลาออกจากตรงนี้เมื่อไหร่ก็คงได้เริ่มเขียนอย่างจริงจัง

“อยากให้กำลังใจสำหรับใครที่อาจจะกำลังเผชิญวิกฤตอยู่ หรือกำลังรู้สึกกังวลความมั่นคงในอนาคตของตนเอง อยากบอกว่าในวันที่เราเป็นนักข่าวอยู่หรือทำงานในสายสื่อสารมวลชน ช่วงไหนที่สามารถเก็บออมเงินได้ ก็ควรที่จะเก็บเงินไว้ เพราะหากมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เราอาจจะต้องการใช้เงินจำนวนนี้ และหากถ้าวันหนึ่งเราต้องกลายเป็นคนที่อยู่ในสภาวะตกงาน อย่าท้อแท้ ให้ตั้งสติ และคิดให้รอบคอบ อยากให้สู้ อย่าไปคิดเลือกว่างานนั้นต่ำ-งานนั้นสูง ไม่มีงานอะไรที่จะต่ำหรือจะสูง ถ้ามันเป็นงานที่สุจริต งานทุกอย่างก็มีเกียรติเหมือนกัน” อดีตคนข่าวรุ่นพี่ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

ทีมงานจุลสารราชดำเนิน ขอแสดงความอาลัยอีกครั้ง และไม่นึกมาก่อนนี่จะเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นสุดท้ายของเขา ขอให้ดวงวิญญาณของพี่ตุ่นไปสู่สุขคติครับ

บทสัภาษณ์ นายวีระพันธ์ http://bit.ly/2PwNUMH