สมาคมนักข่าวฯ จับมือองค์กรสื่อ-วิชาการตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62

สมาคมนักข่าวฯ จับมือองค์กรสื่อ-วิชาการตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 มุ่งให้ฐานข้อมูลประชาชนเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพให้พรรคการเมืองต่อรองการร่วมรัฐบาลด้วยนโยบายแทนเก้าอี้ รมต.

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรเครือข่าย  ตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62  ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลความรู้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  จัดเวทีรับฟังเสียงความต้องการของกลุ่มประชาชน  และเวทีแสดงวิสัยทรรศน์ของพรรคการเมือง  เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ  และผลักดันให้พรรคการเมืองนำนโยบายที่ใช้หาเสียงไปสู่การปฏิบัติจริง  ด้วยการเป็นประเด็นต่อรองการร่วมรัฐบาลแทนการต่อรองด้วยเก้าอี้รัฐมนตรี

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดงานเปิด “ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 2562” พร้อมจับมือกับ 8 พันธมิตร ได้แก่ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมขับเคลื่อนวาระเลือกตั้ง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับประชาชน เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะ พร้อมเปิดวงเสวนาฟอรั่มส่งเสียงประชาชนครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เสียงประชาชน...จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ดำเนินวงเสวนาโดย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


การเปิดศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้นักการเมือง ได้นำเสนอนโยบาย และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้นำเสนอข้อเสนอภาคประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมือง  โดยจะนำเสนอผ่านทุก Platform ไม่ว่าจะเป็น On Air Online และ On Ground และยังมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งการให้ข้อมูลวิเคราะห์เจาะลึกทาง www.thaipbs.or.th/Election62  

นส.วิลาสินี  พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพิบีเอส แถลงว่า อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่ให้สื่อติดตามความเคลื่อนไหวการเลือกตั้ง  แต่ควรทำให้คนทั้งประเทศเติบโต ตื่นตัว  ติดตามการเลือกตั้งทางนโยบาย  เป็นที่มาของการเชิญองค์กรพันธมิตรมาทำงานร่วมกันโดยไทยบีเป็นองค์กรสาธารณะที่พร้อมเป็นพื้นกลางที่ดึงทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน  ให้มีฐานข้อมูลในการติดตามตรวจสอบว่านโยบายถูกนำมาใช้จริงหรือไม่  รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดเวทีเชิญพรรคการเมือง  ประชาชนและฝ่ายต่าง ๆ มาร่วมถกแถลงอภิปราย  เพื่อทำให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญ  ให้น้ำหนักกับการทำนโยบายมากขึ้น  ตลอดจนมาทำข้อตกลงร่วมกัน

ผอ.ไทยพีบีเอสกล่าวว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ภายใต้วาระ  “ส่งเสียงประชาชน  ให้เสียงของประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง”  โดยมีกรอบ 1 ปีอย่างหลวม ๆ โดยจะเข้มข้นจนถึง พ.ค. มิ.ย. หลังจัดตั้งรัฐบาล  เพื่อติดตามผลักดันให้นโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองไปสู่การปฏิบัติจริง  นอกจากนี้ไทยพีบีเอสยังได้ออกแบบเวปไซด์พื้นที่กลางในการให้ข้อมูลกับสื่อโดยรวม  เพื่อให้การรายงานข่าวเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการรายงานบนพื้นฐานของข้อมูล

นส. ลัดดาวัลย์  ตันติวิทยาพิทักษ์ ตัวแทนจากพีเน็ตกล่าวว่า ทางพี่เน็ตพร้อมช่วยในการจัดเวทีกระตุ้นการเลือกตั้ง เชิญนักการเมืองทุกจังหวัดมาถามชุมชน  เพื่อตอบโจทย์ของชุมชน  และพีเน็ตก็ยังคงทำหน้าที่เรื่องการสังเกตการณ์  การรับแจ้งเหตุให้ครบทั้ง 77 จังหวัดควรคู่ไปด้วย  เสนอว่าควรให้ความสำคัญกับกระบวนการรณรงค์เกี่ยวกับนโยบาย

นายมงคล  บางประภา อุปนายก และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า  เราควรจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการเมือง  โดยอาศัยกลไกการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม  ที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายหาเสียงเพื่อเก็บเกี่ยวคะแนนบัญชีรายชื่อให้เป็นประโยชน์

“ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งที่จัดตั้งขึ้น  ควรจะร่วมมือกับสื่อมวลชนด้วยการช่วยกันถามพรรคการเมืองแต่ละพรรค  ว่าหากจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม  จะมีนโยบายไหนของพรรคที่ต้องยืดหยัดและตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อรองการเข้าร่วมรัฐบาล  ไม่ใช่ต่อรองด้วยเก้าอี้รัฐมนตรี  เพราะในอดีตที่ผ่านมาเวลาพรรคการเมืองหาเสียงแล้วเกิดเป็นรัฐบาลผสม  มักอ้างว่านโยบายที่หาเสียงทำไม่ได้เพราะไม่สอดคล้องกับพรรคอื่น ๆ ที่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน”  นายมงคลกล่าว                                                    

อุปนายกและเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่าหากสามารถสร้างวัฒนธรรมการเมืองดังกล่าวได้  จะทำให้พรรคการเมืองต้องฟังเสียง ต้องรู้ความต้องการของประชาชนมากขึ้น  เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย  แล้วนำนโยบายนั้นมาหาเสียงซึ่งเมื่อได้รับเลือกมาก็ถือเป็นการผ่านการรับรองด้วยประชามติจากเสียงของประชาชนที่เลือก  และมีหน้าที่ไปผลักดันเป็นนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง  ถือเป็นการรักษาสัญญาประชาคมในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง