6 องค์กรสื่อ ยื่นกสม. ให้ตรวจสอบรัฐบาลคุกคามการแสดงออกประชาชน และสื่อมวลชน

วันที่ 30 ก.ค. 64 เวลา 13.00 น. นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายธีรนัย จารุวัสตร์ กรรมการบริหาร  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายระวี ตะวันธรงค์  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

 ตัวแทน 6 องค์กร วิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมรัฐบาลคุกคามการแสดงออกของประชาชน และสื่อมวลชน

หลังจากมีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ11 และข้อกำหนดฉบับที่29 ตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน โดยเนื้อหาของหนังสือระบุว่า

จากกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยข้อ 11 ในข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึง “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การเสนอข่าว หรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ดังมีรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้มีการประชุมหารือกัน จนมีข้อสรุปว่า การออกข้อกำหนดฯ โดยมีมาตรการเพื่อมิให้บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ ในฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 การเสนอข่าว ระบุความชัดเจนว่า ห้ามการเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด 19 อันไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับ หรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน 

ดังนั้น การตัดข้อความอันเป็นเงื่อนไขสำคัญในฉบับที่ 27 ดังกล่าว จึงเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ดุลยพินิจ จนอาจกระทบต่อการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนได้ 

ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด พร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้นำข้อกำหนดดังกล่าวไปเป็นเครื่องมือปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้พยายามประสานขอความชัดเจนจากผู้แทนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเวทีพูดคุยสาธารณะ และช่องทางสื่อสารอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมาโดยตลอด และปรากฏว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความใน Facebook กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการในข้อกำหนดดังกล่าวอย่างจริงจังต่อสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ  

ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ได้แสดงถึงการยืนยันเดินหน้าบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ต่อไป โดยไร้ขอบเขต หรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นับเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจึงมีแถลงการณ์ร่วมกันในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวทันที แต่รัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังเดิม 

ล่าสุด วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 29 ออกมาตอกย้ำความพยายามที่จะละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งยังเป็นสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตรา 19 ด้วย

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใช้อำนาจความตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

1. ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลเหตุ และเจตนาของรัฐบาลในการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของพลเมืองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 19 อีกด้วย

2. ตรวจสอบกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการ และพนักงานในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ข้อกำหนดข้างต้น ใช้อำนาจตามข้อกำหนดนี้ข่มขู่ และดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล 

3. เสนอแนะแนวทาง หรือมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ อันเป็นกฎหมายลำดับรอง มาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัด และคุกคามเสรีภาพประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามด้วย