แถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยดูแลความปลอดภัยในการชุมนุมและให้การชุมนุมเป็นไปตามสันติวิธี

สืบเนื่องจากกรณีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนเหล็กหุ้มยาง (กระสุนยาง) ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งโดยโจทก์ซึ่งประกอบด้วยผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์

ดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” ขณะเดียวกันศาลระบุก็ระบุว่า “โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และได้มีข้อสรุปสถานการณ์ใจความว่า การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมบางส่วนนั้น พบว่า การจัดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม การใช้อาวุธ อุปกรณ์ ตลอดจนขั้นตอนในการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับหลักสากล จนส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ขณะที่ด้านกลุ่มผู้ชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งเช่นกัน

6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ตามรายนามท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้มีการรับฟังข้อเท็จจริงกับผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานในภาคสนามบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมดังกล่าว จึงขอเรียกร้องมายังฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งอย่างเคร่งครัดขณะปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชุมนุม ประกอบกับใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ มีมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ตามหลักปฏิบัติทางกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ต่างๆที่อาจส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์การชุมนุมครั้งที่ผ่านๆมา และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้หารือกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564 

ว่าจะใช้กระสุนยางตามหลักปฏิบัติสากล โดยจะมีการเตือนอย่างชัดเจนทุกครั้งก่อนการปฏิบัติการและจะระมัดระวัง

ไม่ให้ผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าในการใช้กระสุนยาง รวมทั้งการออกปลอกแขนสำหรับสื่อมวลชนโดยไม่ได้มีการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อตามที่ได้ตกลงกัน

2. สื่อมวลชนทุกแขนงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ระบุไว้ในเอกสาร “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งมีใจความสำคัญ อาทิ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องแสดงบัตรหรือสัญลักษณ์แสดงตนของสื่อมวลชน เว้นแต่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องรายงานข่าวและภาพข่าวตามข้อเท็จจริง ถูกต้องครบถ้วน รอบด้าน โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ และให้พื้นที่ข่าวอย่างสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นต้น 

3. แม้ว่าผู้ชุมนุมจะมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย แต่การชุมนุมนั้น จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้สิ่งเทียมอาวุธต่างๆ ย่อมไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมข้างต้น และอาจทำให้ผู้ที่มาชุมนุมที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับบาดเจ็บด้วย ดังนั้น ผู้จัดการชุมนุมจะต้องวางกลไกในการควบคุมและตรวจสอบกันเองในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม

 4. ขอเรียกร้องให้มีกลไกหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อันจะช่วยให้ลดการเผชิญหน้า ลดความรุนแรงและเกิดความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ควรมีความรับผิดชอบในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด เข้าใจในสิทธิของผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบ และหน้าที่ของสื่อมวลชน ส่วนผู้นัดหมายการชุมนุม แกนนำการชุมนุม และผู้เข้าร่วมชุมนุม ควรมีหน้าที่ที่จะสื่อสารถึงผู้ชุมนุม ในการยึดมั่นการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิตอย่างเคร่งครัด  และทบทวนรูปแบบการชุมนุมทุกครั้งที่มีแนวโน้มไปในแนวทางการใช้ความรุนแรง

ท้ายที่สุดนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอยืนยันหลักการว่า ในทุกสถานการณ์การชุมนุม สื่อมวลชนไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง โดยผู้ชุมนุมต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง ขณะที่รัฐบาลต้องมีแนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักการสากล โดยให้เป็นไปตามขั้นตอน และได้สัดส่วนที่เหมาะสม ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ที่ใช้

ความรุนแรงแบบแยกแยะ ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงอันทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

หรือทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

11 สิงหาคม 2564