6 องค์กรสื่อเดินหน้าหารือ บชน. ปรับมาตรการลดความเสี่ยงสื่อในพื้นที่ชุมนุม ย้ำปลอกแขนสื่อให้ออกโดยองค์กรสื่อเท่านั้น เตรียมปรับเปลี่ยนปลอกแขนใหม่ 1 เดือนข้างหน้า ให้คงทน เด่นชัดขึ้น

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564  ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นำโดยนายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  นายมงคล  บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  นายระวี  ตะวันธรงค์  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  เข้าพบ พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.ปิยะ  ต๊ะวิชัย  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล  เพื่อหารือสถานการณ์การทำข่าว ของสื่อมวลชนในการชุมนุม แสดงออกทางการเมือง  และร่วมกันหาวิธีให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ และลดความเสี่ยงจากการปะทะระหว่างมวลชนกับตำรวจ

การพบปะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของเหตุการณ์ชุมนุมในปี 2564  นับจากครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ตัวแทน 6 องค์กรสื่อได้ทวงถามถึง ข้อตกลงเดิมที่ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าให้องค์กรสื่อเป็นผู้กำหนดการออกปลอกแขนสื่อมวลชน  เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นการแสดงตนระบุฝ่ายตามหลักสากล  แต่เกิดกรณี มีการออกปลอกแขนโดยฝ่ายตำรวจขึ้นโดยไม่ได้แจ้งประสานองค์กรสื่อ

ประเด็นดังกล่าว  พล.ต.ต.ยิ่งยศ ได้แจ้งว่าเกิดจากความผิดพลาดจากการขาดการสื่อสารและไม่ทราบมาก่อนว่ามีการหารือระหว่างองค์กรสื่อกับทาง บชน. ประกอบกับมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีปลอกแขน อีกทั้งสถานการณ์ชุมนุมในขณะนั้นมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงมากขึ้น  ทำให้ตำรวจมีการออกปลอกแขนเป็นหมายเลขเพิ่มเติมให้กับสื่อมวลชน  บัดนี้ได้ทำความเข้าใจแล้ว ก็จะได้ปรับแนวทางปฏิบัติใหม่โดยให้องค์กรสื่อเป็นหลักในการออกปลอกแขนสื่อมวลชนแต่ฝ่ายเดียว

ภายหลังการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ประมาณ 2 ชั่วโมง  ทั้งสองฝ่ายได้มีการสรุปแนวทางที่จะดำเนินการในขั้นต่อไปเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน   ดังนี้

  1. เจ้าภาพหลักในการออกเครื่องหมายปลอกแขนคือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบขององค์กรวิชาชีพอื่นอีก 5 องค์กรที่เกี่ยวข้อง
  2. จำแนกผู้ได้รับปลอกแขนเฉพาะสื่อมวลชนที่มีสังกัด  สติงเกอร์  หรือฟรีแล้นซ์ที่มีองค์กรสื่อรับรอง  ซึ่งต้องเป็นสื่อมวลชนที่มีการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนจริง สามารถรับผิดชอบทั้งทางจริยธรรมและทางนิตินัยได้
  3. จัดให้มีกลไกการประสานงานระหว่าง บชน.กับสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม  เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน
  4. ให้ใช้สัญญลักษณ์ปลอกแขนเดิมที่ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไปก่อน จนกว่ามีปลอกแขนรุ่นใหม่ที่มีความเด่นชัดและคงทนยิ่งขึ้น จากนั้นจะยุติและยกเลิกการใช้ปลอกแขนเดิมทั้งหมด ก่อนประสานงานแจ้งให้ฝ่ายตำรวจได้รับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติรับทราบว่าเป็นเครื่องหมายระบุฝ่ายของสื่อมวลชน
  5. กำหนดสีสำหรับการจัดทำสัญลักษณ์เฉพาะของสื่อมวลชน  เพื่อให้เห็นเด่นชัด ในระยะไกลและในช่วงกลางคืน  เบื้องต้นรับทราบถึงการใช้สีเขียวสะท้อนแสงของสื่อภาคสนามที่มีการใช้อยู่ปัจจุบัน  โดยจะมีการกำหนดสีสำหรับจำแนกกลุ่มสื่อมวลชนให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากมีการตรวจสอบไม่ให้มีการใช้สีซ้ำกับกลุ่มอื่นๆ  อาทิ  กลุ่มแพทย์  กลุ่มผู้สังเกตการณ์  ทั้งนี้การใช้สีเป็นเพียงการบอกฝ่ายชั้นต้น โดยจะต้องประกอบด้วยมาตรการในการตรวจสอบในส่วนของปลอกแขน หรือบัตรประจำตัวสื่อมวลชนด้วย

ภายหลังการหารือ  พล.ต.ต.ยิ่งยศ  พล.ต.ต.ปิยะ  นายมงคลและนายระวี  ได้ ร่วมกันแถลงข่าวให้สื่อมวลชนรับทราบถึงแนวทาง ข้อหารือดังกล่าว และนัดหมายให้มีการหารืออีกครั้งภายหลัง มีการดำเนินการจัดทำปลอกแขนชุดใหม่ประมาณ 1 เดือนข้างหน้า

สำหรับสื่อมวลชนภาคสนามขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อรับทราบถึงแนวทางปฏิบัติความร่วมมือ ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุมต่อไป