TIJ จับมือ TJA หวังสื่อเป็นหนึ่งพลัง ช่วยลดการทำผิดซ้ำ -แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

วันที่ 19 -21 พฤศจิกายน 2564 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA)  ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดโครงการอบรมสื่อมวลชน “การรายงานข่าวด้านหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม”  ในประเด็น “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” จัดที่ ไมด้ารีสอร์ท อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี

ดร.พิเศษ สะอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวเปิดการอบรมตอนหนึ่ง โดยเล่าที่มาของการจัดตั้ง TIJ พร้อมกับระบุว่ามีความยินดีที่ TIJ ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมครั้งนี้ เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจ และร่วมคิดกับ TIJ ในการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ

เพราะภารกิจสำคัญของ TIJ คือการการสร้างกลไกความร่วมมือโดยมีสะพานองค์ความรู้ในมิติต่างๆ อาทิ การวิจัย การอบรม ผลักดันนโยบายในประเด็นที่สังคมสนใจ และการสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจและเติบโตในความคิดในเรื่องเหล่านี้

นอกจากนี้ TIJ ต้องการชวนให้สื่อมวลชนช่วยคิดในประเด็นปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำที่สูงสุดเคยมีจำนวนมากกว่า 3 แสนคนต่อปี ซึ่งต้องร่วมกันคิดร่วมกันว่า การลงโทษด้วยการลงโทษในคดีที่ความผิดเล็กน้อย ด้วยการคุมขังสามารถแก้ปัญหา ยับยั้งชั่งใจและลดการกระทำผิดได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

ดร.พิเศษ กล่าวด้วยว่า การอบรมครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะนำความรู้จากการอบรมนำไปต่อยอดในการทำงานข่าว เพื่อให้สังคมได้คิดร่วมกันในการต่อยอด ทั้งนี้เข้าใจดีว่าประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ Mass หรือสังคมสนใจมากนัก แต่ก็หวังว่าสื่อฯจะให้ความสนใจและติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยมี TIJ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่พร้อมจะให้ข้อมูลกับสื่อ เพื่อขยายมุมมองไปยังสังคมต่อไป

"หวังว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมองปัญหาร่วมกัน ที่มีปลายทางคือสังคมดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ด่วนนำเสนอและรีบสรุป และมีแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน"

สำหรับโครงการนี้มีสื่อมวลชนจำนวน 15 คน จากหลากหลายสังกัด เข้าร่วมการอบรม โดยลักษณะการอบรมจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการหรือ เวิร์คช็อป และมีโอกาสได้รับฟังการบรรยาย อาทิ

- หัวข้อ "พ้นโทษแล้ว ยังกลับคืนสู่เรือนจำ การกระทำผิดซ้ำ โจทย์ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม  โดย ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคุณชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

- แลกเปลี่ยนมุมมองหัวข้อ "การคุมขัง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำให้สังคมปลอดภัยจริงหรือ" กับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ

- ได้สัมภาษณ์ผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดซ้ำในคดียาเสพติด ในหัวข้อ "ชีวิตใหม่..ที่ยังมีเรือนจำยังติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง

- บรรยายหัวข้อ "นโยบายยาเสพติด มาถูกทางจริงหรือ เมื่อนักโทษคดียาเสพติดล้นเรือนจำ" โดยผศ.นพ.ดร.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยกาศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้านนางสาวพรทิพย์​ โม่งใหญ่ เวิร์คพอยท์ทีวีช่อง 23 หนึ่งในผู้เข้าอบรม ระบุว่า จริงๆ​ประสบการณ์ทำข่าวของตัวเองแทบ​ไม่ต้องไปอบรมก็ได้​ มีหลายคนบอกมา​  แต่เราเป็นนักข่าวก็อย่าทำตัวน้ำเต็มแก้ว​ หมั่นเติมความรู้ใหม่​ เพราะโลกหมุนไปไว​ การมาอบรมครั้งนี้​แม้จะไม่ได้ช่วยน้องเขียนข่าว​  ทำหน้าที่เหมือนแค่ไกด์ไลน์ให้เท่านั้น​  แล้วปล่อยให้น้องได้คิด​ แลกเปลี่ยน​  ฟังกัน​ ซึ่งในฐานะรุ่นพี่​ถือว่าได้เปิดประสบการณ์ฟังมุมของน้องๆ​ มาปรับเปลี่ยนวิธีคิดของนักข่าวรุ่นกลางอย่างเรา​ ที่เอามาผสมผสานกับข้อมูลวิชาการ​ นักวิชาการ​ ต่อการพัฒนาการนำเสนอข่าวสาระประโยชน์​  

"ต้องขอบคุณพลังน้องๆทุกคน​ ดูจากสีหน้าแววตา​ รู้สึกดีใจ​ สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของนักข่าวที่ต้องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น​  ทำให้ไฟในตัวพี่ที่กำลังมอด​จุดประกายมาอีกครั้ง​ ขาดแค่เชื้อเพลิงมาเติม​  "

สิ่งหนึ่งที่ได้จากการอบรม​นอกจากการเลือกใช้คำที่ลด​ เลี่ยงการตีตรา​อดีตผู้ต้องขัง​แล้ว​   คือ​ การได้เป็นจุดเริ่มต้น​  มันจะดีไหม​ถ้าเราได้เป็นจุดเริ่มต้น​ของการเปลี่ยนแปลงสังคม​ หรือสร้างพลวัต​  เช่นกัน​ ในภาวะการแข่งขันสื่อที่เน้นข่าวเรตติ้งดราม่า​ที่แทบจะไม่เหลือพื้นที่ข่าวสร้างสรรค์​  แต่ถ้าเราเลือกที่จะทิ้งแนวข่าวนี้ไป​ มันจะหายไปกับเวลา​กับการถูกตั้งคำถามว่า​ เราทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ดีพอหรือยัง​ แต่หากเราเลือกที่จะหยัดยืน​ ใช้ช่องทาง​ โอกาสและเวลาที่เหมาะสม​แล้วเลือกที่จะรักษาพื้นที่ข่สวสร้างสรรค์ไว้​ มันคือการสร้างจุดเริ่มต้นที่ยากแต่ควรทำ​ อย่างน้อย​วันหนึ่ง​ เมื่อคนดูเข้าใจ​ เมื่อสังคมยอมรับกับเนื้อหาที่นำเสนอ​ เราได้มองย้อนกลับมา​ เราจะภูมิใจกับมัน​

"เช่นเดียวกับตัวเรา พยายามนำเสนอ​ร่าง​​พรบ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย​มา​  4​ ปี​  ปีแรก​คนดูไม่เข้าใจ​ถึงเนื้อหา​ การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล​ ปีต่อมาถูกตั้งคำถามว่านำเสนออะไร​  น่าเบื่อ​ ไม่น่าสนใจ​ จนปีที่3และ4​ ที่ยังเดินหน้านำเสนอต่อ​  จนวันนี้​ ทุกคนเริ่มรู้จักร่างกฎหมายตัวนี้​  แม้ภาพรงมสังคมจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด​ แต่ถ้าวันหนึ่ง​กฎหมายได้ถูกบังคับใช้​  เจี๊ยบจะภูมิใจว่าตัวเองก็มีค่านะ​ เพราะเราก็มีส่วนร่วมในการผลักดัน​กฎหมายเพื่อประชาชน​เช่นกัน"

นางสาวณิชาภัทร อินทรกล่อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร ‘การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ’ ทำให้รู้ว่าคนที่เคยก้าวพลาด มีหลายปัจจัยที่ทำให้เขาต้องไปอยู่ในห่วงโซ่ของการมีชีวิตที่ไร้อิสรภาพ จากกำแพงความคิดและพื้นฐานเบื้องหลังชีวิตหลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ ความรัก ถูกทอดทิ้ง ไม่รู้กฎหมาย ฐานะยากจน ความสูญเสีย  ขาดทักษะอาชีพ ครอบครัวมีปัญหา เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ฯลฯ

ส่วนหนึ่งของการอบรม ทำให้ฉุกคิดก่อนตีตราใครที่ก้าวพลาดมันมีหลายมิติทางสังคม มันมีมากกว่าคนๆ หนึ่งทำผิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า มันมีโอกาสที่ทุกคนอาจได้รับไม่เท่ากัน และการตัดสินใจทำผิดอีกครั้งมันมีสภาพแวดล้อมที่มีผลกับระบบความคิดและจิตใจ 

อีกความประทับใจคือ เวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง “การคุมขัง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำให้สังคมปลอดภัยจริงหรือ?  ที่สะท้อนมุมมองของผู้ก้าวพลาดหลายมุม โดยเฉพาะเรื่องค่าเสียโอกาสเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และชีวิตหลังได้รับอิสรภาพ ผ่านการนิยามคำว่า ‘โอกาส’ ในโครงสร้างสังคมไว้ได้น่าสนใจ 

"มีประโยคหนึ่งที่ชอบคือ ทางเลือกคนเราไม่เท่ากัน เพราะโอกาสในชีวิตคนเราไม่เท่ากันอยู่แล้ว ถ้าอยากรู้มากกว่านี้รอสมัครครั้งต่อไปนะ การอบรม 3 วัน ได้ความรู้เรื่องการเขียนข่าวสำหรับคนที่เคยก้าวพลาด ได้ลงมือปฏิบัติจริง มีแต่ความประทับใจและมิตรภาพมากมาย ขอบคุณสมาคมนักข่าวฯ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่จัดงานนี้ขึ้นมา และเปิดให้เราได้รับโอกาสเติมความรู้ ประสบการณ์ ขยายมิตรภาพ กับพี่ เพื่อน น้องในแวดวงสื่อสารมวลชนนะคะ"