“ขอย้ำจุดยืนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน คือห้ามรัฐบาลใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าใครจะมาอยู่ในรัฐสภา รัฐฯก็ไม่สามารถลงโทษสื่อไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ นี่เป็นจุดยืนและหัวใจหลักของการร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ฉบับนี้ครับ ”
ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เคยถูกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนคัดค้านอย่างหนัก ถึงขนาดที่ตั้งชื่อใหม่ว่าร่างกฎหมายคุมสื่อ" และมีการรณรงค์ "หยุดตีทะเบียนสื่อ" อย่างกว้างขวางอยู่พักใหญ่ โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีความเห็นในเรื่องการ ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุดที่ผ่านมา ว่าเป็นร่างที่องค์กรสื่อมีส่วนร่วมในการยกร่าง และให้ความเห็นผ่านวิปรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเรายืนยันมาตลอดว่าต้องไม่มีการจำกัดเสรีภาพหรือกระทบการทำหน้าที่ของสื่อซึ่งร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่าน ครม. ฉบับนี้ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อ แต่ในทางกลับกันมันจะส่งเสริมให้การกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นการกำกับดูแลตามความสมัครใจ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จริง ๆเราต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ใน ม.47 ที่บอกว่าการคุ้มครองวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น ภายใต้กรอบจริยธรรม หมายถึงว่าหากเราเป็นสื่อแล้วเราเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ แล้วเราอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมเราจะได้รับการคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากว่ามันเป็นข้อความตามรัฐธรรมนูญ เวลามันเกิดปัญหาขึ้นมา มันก็จะใช้บังคับยาก อย่างกรณีเหตุการณ์ตัวอย่างกบฏไอทีวี ประมาณปี 2542 ยุคนั้นผู้สื่อข่าวไอทีวี พยายามที่จะใช้รัฐธรรมนูญในการต่อสู้กรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่ว่าก็ใช้ได้แบบไม่เต็มที่เพราะมันมีกฏหมายประกอบ
เรื่อยมาจนกระทั่ง รัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติอยู่ในม. 46 ปี 2553 หลังเหตุการณ์กระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง รัฐบาลในยุคนั้นที่มีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี พยายามที่จะปฏิรูปสื่อ โดยระบุว่ามีกฎหมายตรงนี้อยู่นะ แต่ยังไม่มีกฎหมายประกอบ จึงได้เชิญชวนให้ทางองค์กรสิทธิสื่อรวมยกร่างกฏหมายชื่อว่ากฏหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนร่างก็ไม่ได้อยากให้มีการคุ้มครองสื่ออย่างเดียว อยากให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการนำเสนอข่าวของสื่อด้วย พอยกร่างเสร็จเราก็ส่งต่อให้กฤษฏีกาพิจารณา ระหว่างนั้นก็เกิดเหตุการณ์ยุบสภาเสียก่อน นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่เป็นคุณยิ่งลักษณ์ จากพรรคเพื่อไทย ทางองค์กรวิชาชีพสื่อก็พิจารณากันว่าจะร่วมกันผลักดันต่อดีหรือไม่ เพราะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล สุดท้ายก็ล้มพับโครงการไป
หลังจากนั้นสื่อก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องในเรื่องการไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลกำกับการควบคุมสื่อด้วยกันเอง สามารถดูแลได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น และมีสมาชิกที่ไม่พอใจวิธีการทำงานของสภาการวิชาชีพสื่อ ก็สามารถลาออกไป เราไปกำกับดูแลเขาไม่ได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ทั้งนี้พอถึงยุครัฐประหารปี 2557 คสช. ได้มีการตังสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมา โดยมีคณะกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการหยิบยกปัญหานี้ไปพิจารณาและได้มีการตั้งธงว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
จึงอยากให้มีกฎหมายขึ้นมา จึงมีการหยิบตัวร่างที่เคยร่างไว้ในปี 2553 มาพิจารณา โดยใช้ชื่อเดิมเลยแต่มีการเปลี่ยนหลักการ คือไม่ได้นำเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพสื่อเป็นหลัก และตามด้วยการให้สื่อมีความรับผิดชอบทางด้านจริยธรรม ในกฎหมายเดิมจะมีการตั้งชื่อว่าคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อและส่งเสริมมาตรฐานสื่อมวลชน แต่เขาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรม หากใครไม่เป็นสมาชิกสภาการหนังสื่อพิมพ์ เขาจะเข้าไปกำกับดูแลโดยตรงเลย ให้มีโทษในการปรับ หากไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมจะมีโทษปรับ5หมื่นบาทขึ้นไป ตอนนั้นองค์การวิชาชีพสื่อก็ได้มีการคัดค้านอยู่บ้าง เพราะการออกกฎหมายลักษณะนี้น่าจะเข้ามากำกับสิทธิเสรีภาพสื่อหรือไม่ หากคณะกรรมการวิชาชีพถูก แทรกแซงโดยรัฐบาล อาจจะกระทบต่อเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อ แต่ผมก็คัดค้าน ซึ่งหลังจาก สปช. สิ้นสุดลง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือสปท. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยทำหน้าที่แทน สปช. ได้นำร่างนั้นมาต่อยอด
หลังจากเนื้อหาร่างกฎหมายที่ผ่านการปรับปรุงโดย สปท. ปรากฏ ก็เกิดกระแสคัดต้านอย่างหนักโดยเฉพาะจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาขัดกับหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อ กระทั่งถูกเรียกว่า กฎหมายคุมสื่อ มี 3 ประเด็นหลักในร่างกฎหมายที่ถูกคัดค้านในขณะนั้น คือ การตีทะเบียนสื่อ กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต โดยให้ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการและสมาชิกที่เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ มีอำนาจในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาต มีโทษทั้งจำคุกและปรับ
การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐมาคุม และการนิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ระบุถึงบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสารและเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมองว่าเป็นนิยามที่กว้างขวางเกินไปจนกระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป
โดยเหตุผลที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มองว่าเป็นเพราะร่างกฎหมายที่ไม่ได้อยู่บนหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เน้นการควบคุมสื่อโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว จึงมีคำถามว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นหรือไม่ การคัดค้านอย่างต่อเนื่องทำให้ สปท. ทบทวนเนื้อหาบางส่วน
ชวรงค์ ยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้บริหารสื่อทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยอยากให้มีส่วนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านระบบซูม ในวันพฤหัส ที่ 20 มกราคม ตั้งแต่เวลา 13:00 – 16:00 น. ซึ่งมองว่าสิ่งที่เรากังวลขณะนี้มีเรื่องเดียวคือเมื่อร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาแล้วเราจะทำอย่างไรให้คงหลักการนี้ไว้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระอีก ก่อนหน้านี้มีหลายคนเคยถามผมส่วนตัวว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีกฎหมาย ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่การมันมีพ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมามันก็ทำให้สังคมสบายใจขึ้นว่าอย่างน้อย หากมีสื่อนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรม ก็ยังมีองค์กรที่เข้าตรวจสอบได้ สุดท้ายกระบวนการตรวจสอบองค์กรทั้งหลายก็ไม่มีอำนาจไปลงโทษสื่อ อันนี้เป็นสาระสำคัญมากกว่า เราจึงมีความเห็นว่าเราจำเป็นต้องมีกฏหมายควบคุมการทำหน้าที่สื่อ เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจขึ้น
ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5