ฝ่ายเสรีภาพสื่อฯ TJA แนะแนวทางรายงานข่าว ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายธีรนัย จารุวัสตร์  อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าการสู้รบระหว่างสองประเทศจะสงบลงในเร็ววัน 

ดังนั้น อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ จึงขอเสนอแนวทางสำหรับสื่อมวลชนไทย ในการรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤติสงครามในประเทศยูเครน เพื่อให้มีความเป็นกลาง มีวิจารณญาณ และตั้งอยู่บนจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้:

ระมัดระวังในการใช้ภาพและคลิปจากโซเซียลมีเดีย สื่อมวลชนควรตรวจสอบรูปภาพ คลิปวิดิโอ และสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าเป็นภาพการสู้รบในประเทศยูเครนให้รอบคอบ ก่อนที่จะนำเสนอในช่องทางของสำนักข่าวตนเอง เนื่องจากในขณะนี้ มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากนำเอาภาพหรือคลิปจากเหตุการณ์อื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น ภาพข่าวเก่า, ฉากในภาพยนตร์, หรือแม้กระทั่งวิดิโอเกม มาโพสต์ใหม่และระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศยูเครน 

ในกรณีที่สื่อมวลชนทราบภายหลังว่าได้เผยแพร่คลิปหรือภาพที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ควรปรับแก้เนื้อข่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้อ่านหรือผู้ชมโดยไม่ชักช้า

นำเสนอข่าวสารทางการจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบคอบ ในสถานการณ์สงครามไม่ว่าจะยุคใด ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบย่อมใช้ปฏิบัติการทางข่าวสาร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจฝ่ายตนเองและทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะด้วยการอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามสูญเสียจำนวนมาก, ปกปิดความเสียหายของฝ่ายตน, นำเสนอวีรกรรมของฝ่ายตนเกินความเป็นจริง, กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ากระทำสิ่งโหดร้ายต่างๆ ฯลฯ 

ดังนั้น สื่อมวลชนควรตระหนักว่า ข้อมูลจากทางการในยามสงคราม มิได้เป็นข้อเท็จจริงเสมอไป และเมื่อสื่อมวลชนเสนอข่าวสารที่อ้างอิงจากข้อมูลทางการต่างๆ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นคำอ้างของหน่วยงานใด ฝ่ายใด และคำกล่าวอ้างนั้นๆมีหลักฐานใดๆหรือไม่  

เน้นเสนอข่าวเกี่ยวกับประชาชนที่ประสบภัยสงคราม สื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามเฉพาะในแง่แสนยานุภาพ กำลังอาวุธหรือยุทธวิธีอย่างเดียว แต่ควรเน้นนำเสนอชะตากรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ตลอดจนการประท้วงต่อต้านสงครามของประชาชนในประเทศต่างๆ 

นอกจากนี้ สื่อมวลชนควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ ในการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสงคราม เช่น สภากาชาดยูเครน, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ,  สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น  

การเสนอภาพข่าวความสูญเสียในสงคราม ย่อมกระทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ในโลกความเป็นจริงของสงคราม แต่การนำเสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ ควรยึดเอาจริยธรรมสื่อมวลชนเป็นสำคัญ อยู่ในขอบเขตของความพอดี หลีกเลี่ยงภาพหรือคลิปที่อุจาดตาหรือหวาดเสียวเกินความจำเป็น และไม่นำเอาความสูญเสียในสงครามมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเรตติ้งหรือยอดคลิกจนเกินงาม 

ควรเลือกแปลข่าวสารจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น สื่อมวลชนไทยที่มีหน้าที่แปลข่าวต่างประเทศควรตระหนักว่า สำนักข่าวต่างประเทศมีความน่าเชื่อถือและคุณภาพแตกต่างกันไป เนื่องจากสื่อหัวสีชื่อดังในต่างประเทศจำนวนมาก มีประวัติเผยแพร่ข่าวสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหลายครั้งหลายหน อีกทั้งยังใช้วิธีเสนอข่าวแบบ “ใส่ไข่” (sensational) เพื่อเรียกยอดคลิกเป็นสำคัญ ต่างจากสื่อประเภท “wire service” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการสื่อมวลชนสากลในแง่ของความเป็นกลาง ข้อมูลเที่ยงตรง และตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม นักข่าวไทยจึงควรเลือกแปลข่าวสารจากสำนักข่าวประเภทหลังเป็นหลัก  

ทั้งนี้ สื่อมวลชนควรตระหนักด้วยว่า สำนักข่าวที่ควบคุมโดยรัฐบาลต่างๆ ย่อมเสนอข่าวสารที่มีลักษณะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แตกต่างจากสำนักข่าวที่ดำเนินการโดยอิสระ สื่อไทยสามารถนำข่าวสารจากสำนักข่าวประเภทนี้มาใช้ประกอบการรายงานข่าวได้ แต่ต้องเน้นย้ำกับผู้อ่านว่าเป็นข่าวจากกระบอกเสียงของรัฐ ไม่ควรนำมาแปลหรือนำเสนอทั้งชิ้นโดยไม่ระบุที่มาที่ชัดเจน 

สื่อควรเข้าใจว่าความขัดแย้งกรณียูเครน มีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่ว่าในมิติประวัติศาสตร์ การเมืองในประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม ฯลฯ  สื่อมวลชนจึงควรเน้นนำเสนอมุมมองเชิงวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณวุฒิและน่าเชื่อถือเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการนำเสนอหรือผลิตซ้ำข้อความจากโซเชียลมีเดียที่เลื่อนลอย, ปราศจากบริบทหรือข้อเท็จจริง, กระพือความเกลียดชังหรืออคติ, หรือลดทอนความขัดแย้งให้กลายเป็น “เรื่องผัวเมีย” เป็นต้น  

ชั่งน้ำหนักในการเป็นกระบอกเสียงให้ชาติที่มีบทบาทในความขัดแย้ง ในกรณีที่สื่อมวลชนมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้แทนคณะทูตของประเทศที่เป็นคู่กรณีโดยตรงในวิกฤติสงครามยูเครน ผู้สื่อข่าวควรใช้โอกาสดังกล่าวเน้นซักถามในประเด็นที่ประชาชนสงสัย และตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-check) คำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์ก่อนนำเสนอข่าวสาร ไม่ควรเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นการพูดหรือเสนอข้อเท็จจริงฝ่ายเดียว 

ในกรณีที่เผยแพร่จดหมายหรือบทความที่เขียนโดยผู้แทนคณะทูตของประเทศที่เป็นคู่กรณี ควรมีพื้นที่ให้กับผู้แทนคณะทูตของประเทศที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการให้พื้นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำเสนอมุมมองของตนอยู่เพียงฝ่ายเดียวผ่านสื่อมวลชน  

นอกจากนี้ สื่อควรแยกแยะระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ไม่ควรเหมารวมว่าการกระทำหรือนโยบายของชาติต่างๆ เป็นเรื่องเดียวกันกับความคิดเห็นหรือทัศนคติของประชาชนทั้งหมดในชาตินั้นๆเสมอไป สื่อควรแสวงหาความคิดเห็นที่นอกเหนือไปจากตัวแทนรัฐ เช่น สัมภาษณ์ความเห็นของชาวรัสเซียและชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประกอบการรายงานข่าวด้วย เป็นต้น 

ท้ายสุดนี้ นายธีรนัยกล่าวว่า ตนหวังว่าสื่อมวลชนไทยจะได้ประโยชน์จากแนวทางต่างๆข้างต้นไม่มากก็น้อย และหวังว่าสื่อมวลชนไทยจะสามารถถอดบทเรียนการรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามในประเทศยูเครน เพื่อนำหลักการต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการรายงานข่าวความขัดแย้งอื่นๆในโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปาเลสไตน์ ซีเรีย เยเมน และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในประเทศไทยของเราเอง