ผ่าไส้ใน “ปัญหารถเมล์กทม.” จากอดีตถึงปัจจุบัน

“ขสมก.ขาดทุน ตั้งแต่วันแรกเริ่มที่มีการก่อตั้ง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังขาดทุนเช่นเดิม ปัญหาหนี้สะสมของขสมก. ล่าสุดปัจจุบันผู้อำนวยการขสมก.พูดไว้คือ 132,000 ล้านบาท”
ที่ผ่านมาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เคยกำหนดแผนฟื้นฟู ระยะเวลาตั้งแต่ 2558-2567 โดยมียุทธศาสตร์ปรับลดค่าใช้จ่าย 5 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงเส้นทางเดินรถเมล์ , โครงการระบบบัตรโดยสาร อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความสูญเสีย จากการเก็บค่าโดยสารที่ไม่ครบถ้วน , โครงการเชื่อมโยงระบบบัตรโดยสารร่วม , โครงการจัดดหารถเมล์ NGV 3,183 คัน เพื่อทดแทนรถเมล์ที่ใช้ดีเซล , โครงการสร้างอู่จอดรถเมล์ใหม่ เพื่อลดภาระค่าเช่าอู่เอกชน , โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด ปรับลดพนักงานลง 2,000 คนต่อปี และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

“วสวัตติ์ โอดทวี ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ฐานเศรษฐกิจ” พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงไส้ในของปัญหารถเมล์ในกทม. ที่สะสมมาจนปัจจุบัน ที่ประชาชนสงสัยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ รอรถนานกว่าเดิม บางสายดูเหมือนจำนวนรถที่วิ่งลดน้อยลงไปบ้างไหมและอีกสารพัดปัญหาว่า รถเมล์มีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องบริหารจัดการ ของ ขสมก.ซึ่งเป็นหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมจึงจำเป็น ต้องดูแลในเรื่องของ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงเก็บค่าโดยสารต่ำ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้รถเมล์มีรายได้น้อย การคิดค่าโดยสารต้องไม่หวังผลกำไร ทำให้ค่าโดยสารต้องต่ำกว่าราคาต้นทุน ที่ใช้ในการบริการ

ขณะที่รถเมล์ครีมแดงหรือรถร้อน 2,800 คัน จาก 3,000 กว่าคัน ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิง ที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ราคาค่าโดยสาร อยู่ที่ 8 บาท ขณะที่รถร่วมบริการ ซึ่งเป็นคู่รับสัมปทานของ ขสมก. ติดหนี้จำนวนมาก ทำให้ขสมก.เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา รถเมล์ส่วนใหญ่ที่เป็นครีม-แดง อายุปัจจุบันอยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป เมื่อมีสภาพเก่าจึงต้อง จ่ายค่าซ่อมบำรุง 1,000 กว่าล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายบุคลากรของ ขสมก. ปัจจุบัน ซึ่งมีพนักงานอยู่ 13,000 คน และยังได้รับทั้งเงินสวัสดิการ , บำนาญ , เงินสนับสนุน และสวัสดิการอื่นๆ จำนวนมาก ถือว่าเป็นดินพอกหางหมู ในเรื่องของค่าใช้จ่าย จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่อง

“ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุน ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งองค์กร คือ 1 ต.ค.2519 หากย้อนหลังไป มีการออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งขสมก.เป็นครั้งแรก ตอนนั้นขาดทุนคือ ใช้งบประมาณของ ขสมก. 370 ล้านบาท ไปซื้อรถโดยสาร จากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเป็นภาคเอกชน มา 2,000 กว่าคัน ใช้ในภารกิจของ ขสมก.แต่ได้รับการจัดสรรงบฯ จากรัฐบาลเพียง 329 ล้านบาท ทำให้ ขสมก.ขาดทุน ตั้งแต่วันแรกเริ่มที่มีการก่อตั้ง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังขาดทุนเช่นเดิม ปัญหาหนี้สะสมของขสมก. ล่าสุดปัจจุบันผู้อำนวยการขสมก.พูดไว้คือ 132,000 ล้านบาท”

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการหนี้ และการปฏิรูปเส้นทางต่างๆ เป็นที่มาของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ช่วงแรกๆ ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นำหน่วยงานต่างๆที่ขาดทุน ทั้งรถไฟ , ขสมก. , การบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2562 ได้จัดทำแล้ว แต่สุดท้ายแผนนี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงนำมาสู่การตีกลับหลายครั้ง

การแก้ไขปัญหาขสมก. ด้วยการบริหารหนี้ และการจัดหารถใหม่ ล่าสุดรัฐบาลยังไม่ได้เคาะออกมา แต่จากแผนปฏิรูปรถเมล์หรือแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้ ทั้งเบื้องหน้าและที่ได้พูดคุยกับแหล่งข่าว เบื้องต้นน่าจะมีการทบทวน ฉบับล่าสุด ตอนนี้ที่ประชุมคนร.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สั่งการให้ขสมก.ไปดูในเรื่องต่างๆ ให้ครบถ้วน แล้วกลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบ ในเดือนต่อไป

ส่วนแผนเรื่องการจัดซื้อรถเมล์ 3,000 คัน อยู่ในแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุด ที่จะต้องมีการจัดซื้อ เคยผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ มาจากการเลือกตั้ง นโยบายก็เลยเปลี่ยน แผนที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 จึงถูกเปลี่ยนหมด การจัดซื้อจัดจ้างกลายเป็น จ้างเหมาเอกชนแทน

นอกจากนี้ยังมีรถเมล์ EV หรือรถเมล์ไฟฟ้า เข้ามาร่วมด้วย ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหามลภาวะ แต่ตกราคาประมาณ 14,000,000 บาทต่อคัน แม้ค่าเชื้อเพลิงของรถ EV ถูก แต่ต้องสร้างสถานีชาร์จไฟ ลงทุน 300 กว่าล้านบาท ต่อ 1 สถานี หากจะตั้งสถานีได้ ต้องขอให้การไฟฟ้า มาตั้งสถานีไว้ข้างๆด้วย เพราะจะดึงไฟฟ้ารอบๆ อาจเกิดปัญหาไฟดับตามมาได้ ถ้ารถเข้าไปชาร์จไฟทีเดียวพร้อมกัน

หากรถ EV วิ่งในกรุงเทพ และบรรทุกผู้โดยสารค่อนข้างเยอะ แล้วรถเกิดติดตรงคอสะพานสูงๆ เช่น พระปิ่นเกล้า , พระรามเก้า จะเกิดอันตรายมาก เพราะระบบของรถและเกียร์ยังไม่เสถียร มีความเสี่ยงที่รถจะไหลลงมาได้ ดังนั้นควรที่จะศึกษาก่อน หากจะจัดซื้อจัดจ้างรถ EV ออกมาใช้เป็นรถเมล์ และต้องศึกษาเส้นทาง ที่เหมาะสมจริงๆ ไม่ไช่ว่าใช้ในเส้นทาง ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของรถ

“สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเชื่อว่าถ้าเสียงสะท้อน ของประชาชนออกมาดังๆ จะช่วยปฏิรูปให้ ขสมก.ทำงานได้จริง พัฒนาได้ดีขึ้น และทำงานเพื่อคนที่ใช้บริการได้จริง แผนต่างๆ จะต้องมีการปรับปรุงแน่นอน เมื่อปรับปรุงแล้ว จะช่วยในเรื่องของการอำนวยความสะดวก ในการเดินทาง ให้คนกทม. ได้ไม่มากก็น้อย เชื่อว่าไม่นานเราก็จะได้เห็น”

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5