“โรงเรียนปลอดการบ้าน” โมเดลนำร่อง ยกระดับการศึกษาไทย

“การบ้านอาจจะไม่ใช่ยาขม ที่คุณครูหยิบยื่นให้กับเด็กเสมอไป เห็นเด็กๆเรียนอย่างมีความสุข และสนุกสนาน ก็รู้สึกว่าการบ้าน ช่วยจุดประกายให้เด็ก ได้เรียนรู้”

​ฟินแลนด์มีประชากรที่มีความสุขที่สุดในโลก หากมองถึงพื้นฐานการพัฒนาคน การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ฟินแลนด์จึงให้ความใส่ใจ วางรากฐานการศึกษา ดังนั้นระบบการศึกษาฟินแลนด์ จึงได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก นักเรียนพึงพอใจในชีวิตสูง มีสมดุลระหว่างชีวิตในโรงเรียน และเวลาว่าง ทำให้เด็กฟินแลนด์มีกิจกรรม นอกหลักสูตรต่างๆมากขึ้น เรียนจบออกมา เป็นผู้ใหญ่ที่มีสมดุลย์ในชีวิตการทำงานที่ดี

​สำหรับประเทศไทย มีหลายโรงเรียนที่นำ ระบบการศึกษาแบบฟินแลนด์มาใช้ 1 ในนั้นคือ “โรงเรียนวัดบวรนิเวศ” ประกาศเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน” หรือ No Homework School ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เพื่อเพิ่มความสุขให้นักเรียน และมีเสียงขานรับจำนวนมาก

​ดารินทร์ หอวัฒนกุล ผู้สื่อข่าว ช่อง 7 HD บอกกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดของ นายเขษมชาติ อารีมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้ต้นแบบที่ดีจากการไปศึกษา ดูงานประเทศฟินแลนด์ เห็นว่าระบบจัดการมีประสิทธิภาพ จึงนำมาปรับใช้กับโรงเรียน

​โรงเรียนวัดบวรนิเวศอยู่ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับรางวัล จากคุรุสภา ด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน จาก“หลักสูตรโรงเรียนกลับด้าน” ทำให้มีหลายโรงเรียน มาขอศึกษาดูงาน โดยเฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร มีการปรับตัวหลังจากสถานการณ์โควิด ปรับให้โรงเรียนปลอดการบ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระนักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งผลตอบรับดี

​การบ้านก็เหมือนกับแบบฝึกหัด ถ้าทำที่โรงเรียนก็คือ แบบฝึกหัดที่ทำในห้อง แต่ถ้าให้ไปทำที่บ้านก็คือการบ้าน โรงเรียนวัดบวรนิเวศปรับรูปแบบ จากแบบฝึกหัดในห้องเรียน เป็นรูปแบบกิจกรรม ให้เด็กมีส่วนร่วม จะได้ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และทำให้เด็กฝึกเรื่องวิเคราะห์ด้วย

​ ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกอีกว่า แนวคิดที่ไม่ให้เด็กมีการบ้านกลับ ทำให้เด็กมีเวลาค้นหาตัวเองเพิ่มมากขึ้น มีเวลาทำกิจกรรม ที่ตัวเองชื่นชอบ รู้ว่าต้องการอะไร ถนัดด้านไหน หรือเตรียมตัวที่จะเข้ามหาวิทยาลัย หรือช่วยงานบ้าน เด็กแต่ละคนในช่วงของมัธยมต้น และมัธยมปลาย จะเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวเอง บางคนยังไม่รู้ว่าเราเรียนจบแล้ว จะไปต่อสายไหนด้านไหน เขาก็สามารถทำกิจกรรม ในสิ่งที่เขาถนัดหรือสนใจได้

​ในเรื่องของหลักสูตร “โรงเรียนปลอดการบ้าน” การเรียนการสอน เป็นสิ่งสำคัญ โดยครูแต่ละคนต้อง ไปจัดทำ “หลักสูตรห้องเรียนกลับด้าน” เพื่อมาสอนเด็ก น่าสนใจตรงที่จากเดิมจะเห็นครูสั่งงาน แล้วให้เด็กทำ ก็จะกลับด้านกัน โดยครูจะทำหน้าที่สอนหนังสือ แบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว แต่ต้องปรับตัวเรียนรู้ ไปพร้อมกับเด็ก สอนในสิ่งที่เด็กสนใจ ให้เด็กไปค้นคว้าเพิ่มเติม อยากเรียนรู้หรืออยากทราบอะไร

​ห้องวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ เป็นแบบ Smart Classroom คือนำเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมประยุกต์ เช่น ใช้มือถือแทนกระดาษ ให้นักเรียนตอบคำถาม และจอโทรทัศน์แทนกระดานดำ ขณะที่คุณครูจะให้เด็กนักเรียน ออกมาตอบคำถามหน้าห้อง เพื่อทำความรู้จักกับเด็กมากขึ้น เรียนรู้ระหว่างกัน ว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร ลักษณะอุปนิสัยเด่นเป็นอย่างไร เป็นการสื่อสาร 2 ทาง

​ทำให้เด็กกล้าแสดงออก และฝึกเรื่องของการคิดวิเคราะห์ด้วย เพราะเวลาออกมา ตอบคำถามหน้าห้อง ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เป็นการเรียนที่ปรับรูปแบบ และค่อนข้างสนุกสนาน ส่วนวิชาภาษาอังกฤษก็น่าสนใจ ครูจะให้การบ้าน และแบบฝึกหัดทำในห้องเรียน โดยเปิดภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ ให้เด็กนักเรียนดู แล้วสอบถามคำศัพท์หรือเนื้อหา ส่วนไหนที่เด็กไม่เข้าใจ ทำให้การเรียนเข้าถึงตัวเด็กง่ายขึ้น

​เด็กโรงเรียนวัดบวรนิเวศ มีประมาณ 300 คน ทำให้การเรียนการสอนค่อนข้างใกล้ชิด ครูจดจำและรู้จักเด็กนักเรียน ได้เกือบทุกคน เพราะห้องหนึ่งจะมีเพียงไม่กี่คน ตรงนี้มีส่วนให้ช่วย ให้การเรียนการสอน ค่อนข้างง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจใช้รูปแบบการบ้าน ลักษณะนี้ไม่ได้ทั้งหมด อาจจะเป็นได้แค่บางวิชาเท่านั้น เพราะจำนวนนักเรียนมาก มีผลกับการทำกิจกรรมไม่ทั่วถึง


​“เมื่อทำการเรียนการสอน แบบห้องเรียนกลับด้าน เด็กทำกิจกรรมและมีคะแนนเก็บ จากในห้องเรียนหมดแล้ว ไม่ต้องกังวลว่า เด็กจะไม่ส่งการบ้าน หรือเด็กบางคนส่งการบ้านก็จริง แต่อาจจะลอกเพื่อนมาส่ง หรือมีปัญหาเรื่องสอบตก , เรียนไม่จบ แนวคิดนี้จึงถือว่า ส่งผลเป็นรูปธรรมมาก เป็นตัวช่วยหนึ่ง เพราะคะแนนต่างๆ อยู่ในห้องเรียนหมดแล้ว ช่วงระยะเวลา เพียง 3ปี ที่โรงเรียนนำแนวคิดนี้มาใช้ เด็กนักเรียนวัดบวรนิเวศ เรียนจบได้ 100%”

​ขณะที่ครูรุ่นเก่าประสบปัญหา ในเรื่องของทัศนคติ ในอดีตจะชินกับให้การบ้านเด็ก รู้สึกว่าการที่เด็กนักเรียน มีการบ้านมาส่ง คือ ความรับผิดชอบ ดังนั้นถ้าปรับเรื่องนี้ได้ ทุกอย่างก็ราบรื่น ส่วนครูรุ่นใหม่ ไม่มีปัญหาเรื่องการใช้ เทคโนโลยีต่างๆ สามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งข้อจำกัดในเรื่องของ เทคโนโลยีนั้นไม่ค่อยมี เพราะส่วนใหญ่โรงเรียน จะจัดอุปกรณ์ต่างๆ ช่วยสนับสนุนเด็กตรงนี้อยู่แล้ว

​สิ่งหนึ่งที่คุณครูได้รับจาก โครงการห้องเรียนกลับด้าน คือต้องปรับตัว พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า จะช่วยเสริมเพิ่มเติม ในส่วนที่คุณครูมีประสบการณ์ด้านไหน เพิ่มเติมด้านใดบ้าง ถือเป็นมุมบวกอีกด้านหนึ่ง ของคุณครูเช่นกัน ต้องจัดสื่อการเรียนการสอน ให้เข้ากับเด็กในยุคโซเชียล อาจต้องใช้ศัพท์วัยรุ่น ระหว่างครูกับนักเรียนมากขึ้น เพื่อความใกล้ชิด ปรับเปลี่ยนภาพจำว่า ครูจะต้องถือไม้เรียวเดินเข้าห้องเรียน หรือสวมแว่นตาหนา

“การบ้านอาจจะไม่ใช่ยาขม ที่คุณครูหยิบยื่นให้กับเด็กเสมอไป เห็นเด็กๆเรียนอย่างมีความสุข และสนุกสนาน ก็รู้สึกว่าการบ้าน ช่วยจุดประกายให้เด็ก ได้เรียนรู้และนำทักษะในห้องเรียน ไปต่อยอดได้จริงหรือไม่ เราเห็นว่าเด็กยุคนี้เล่นมือถือ แต่ความจริงแล้ว อาจจะขายของออนไลน์อยู่ก็ได้ เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป การที่เราปรับตัวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะถ้าหากทำให้การเรียน เป็นเรื่องสนุก เด็กก็อยากเรียนและหาความรู้เพิ่มเติม”

​แม้ว่าการลงพื้นที่ไปทำข่าว “โรงเรียนปลอดการบ้าน” ไม่ได้พบกับผู้ปกครอง แต่จากได้พูดคุยกับกับน้องๆ นักเรียนหลายคน บอกว่าชอบตรงที่ไม่มีการบ้าน กลับไปไปทำ ซึ่งผลประโยชน์อย่างหนึ่ง คือกระเป๋านักเรียนเบาลงมาก

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือ ระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5