ปิดการอบรมสื่อฯกับการคุ้มครองผู้บริโภคยกระดับการทำข่าวนำไปสู่การแก้ปัญหา-ปลุกสังคมรู้ทันกลโกงผู้บริโภค
จบลงไปด้วยดีสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อมวลชนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) มุ่งหวังให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกระบอกเสียงและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภค
โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการจัด ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้าอบรมที่เป็นสื่อมวลชนจากหลากหลายสำนัก ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีโอกาสรับฟังสถานการณ์จริงจากวิทยากรจาก สคบ. การบรรยายแนะแนวทางในการทำข่าวในรูปแบบต่างจากสื่อมวลชนรุ่นพี่ รวมทั้งการคิดต่อยอดประเด็น และผู้อบรมได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติ-ผลิตข่าว ที่สามารถออกอากาศได้จริง ในพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ร่วมวิพากษ์ผลงานของผู้เข้าอบรม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ บรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สคบ.
นายจิติภัทร์ บุญสม ได้กล่าวสรุปในช่วงพิธีปิดการอบรม โดยย้ำว่า แต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ปีละกว่า 8,000 เรื่อง แต่ระยะเวลาและบุคลากรที่จำกัด ทำให้ผลักดันการแก้ปัญหาได้เพียง ร้อยละ 50 ของปัญหาทั้งหมด จึงคาดหวังว่าการอบรมของสื่อมวลชนครั้งนี้จะทำให้สามารถช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้บริโภคเพื่อให้รู้เท่าทันและรู้วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้มิหวังดี เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงเสียชีวิต
“เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความดูแลของ สคบ. มีหลากหลายเรื่อง แต่ละเรื่องมีรายละเอียด และข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน หากมีการอบรมรุ่นที่ 2 อีกในอนาคต จะถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และสคบ.ยินดีให้ความร่วมมือ ร่วมจัดการอบรมให้กับสื่อมวลชนอีก”
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ขณะที่นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวปิดการอบรม โดยเชื่อว่า การเป็นสื่อมวลชนต้องวางตัวให้เป็นกลาง ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุต่างๆนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่สื่อต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมทั้งระบุว่า เห็นด้วยกับการขยายเวลาอบรมเพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้การอบรมยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ แต่จะมีการจัดเสวนาเชิงวิชาการ “ราชดำเนินเสวนา” หัวข้อ “ผ่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สังคมได้อะไร” ในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม เวลา 10.00- 12.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน (ตรงข้ามรพ.วชิระพยาบาล) ซึ่งจะเป็นเวทีสอดรับกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 สิงหาคม 2562 ว่าจะมีความแตกต่างหรือมีหลักคิดคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมเวที
เสวนาการจับประเด็น หัวข้อ สถานการณ์และปัญหาในพื้นที่ภูมิภาค (เทศบาลเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี) โดย ดร. ธรรมนูญ หินคำ นิติกรชำนาญการ เทศบาลเมืองพัทยา นายปฐวี เยาวลักษณ์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สคบ. นายประยงค์ เฉลิมทิศ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สคบ.
เทคนิคการคิด การต่อยอดประเด็น การวางแผนข่าว โดย นางสาวจิราพร คำภาพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายวสวัตต์ โอดทวี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นางสาวบุศรินทร์ วรสมิทธิ์ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี
วิพากษ์ผลงานผู้เข้าร่วมอบรม โดย นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สคบ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ บรรณาธิการข้าวการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ